สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ฝี(Abscess/Boils/Furuncles)

เป็นภาวะที่ต่อมไขมันและขุมขนมีการอักเสบ พบโรคนี้ได้บ่อยในคนทุกวัย และอาจพบเป็นฝีได้บ่อยในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือกินสตีรอยด์เป็นประจำ ส่วนใหญ่ฝีจะขึ้นเพียงหัวเดียว แต่ที่ขึ้นหลายๆ หัวติดกัน เรียกว่า ฝีฝักบัว ก็อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยบางราย และถ้าเกิดรอบทวารหนัก จะเรียกว่า ฝีรอบทวารหนัก

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มสแตฟีโลค็อกคัส การติดต่ออาจจะเกิดจากการสัมผัสจากผู้ป่วยโดยตรง

อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีตุ่มลักษณะแข็งขึ้น หรือเป็นก้อนบวมแดงและปวด กดถูกเจ็บ มีผมหรือขนขึ้นอยู่ตรงกลาง จะเจ็บมากขึ้นเมื่อตุ่มนี้ขยายโตออก และจะค่อยๆ นุ่มลงจนกลัดหนอง ในบางครั้งอาจแตกเองได้เมื่อฝีเป่งมากๆ แล้วอาการเจ็บปวดก็จะทุเลาลงไปด้วย

บางครั้งอาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงด้วย เช่น อาจปวดที่ไข่ดันหรือต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบถ้าเป็นฝีที่เท้า หรืออาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ถ้าเป็นที่มือ หรืออาจมีไข้ อ่อนเพลียร่วมด้วยในรายที่เป็นฝีฝักบัว อาการทั่วไปมักเป็นปกติในรายที่เป็นฝีหัวเดียว และเมื่อหายแล้วมักจะมีแผลเป็นเกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นฝีที่ไต กระดูกอักเสบเป็นหนอง หรือโลหิตเป็นพิษได้ถ้าเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือด

เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสมองเป็นอันตรายถึงตายได้ ถ้าเป็นฝีตรงบริเวณกลางใบหน้า เช่น กลางสันจมูก หรือริมฝีปากบน แล้วบีบแรงๆ

การรักษา
1. ประคบด้วยผ้าที่ชุบน้ำอุ่นจัดๆ วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที

2. ให้ยาแก้ปวดลดไข้

3. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน ไซโพรฟล็อกซาซิน โคอะม็อกซิคลาฟ หรืออีริโทรไมซิน นาน 5-7 วัน

4. อาจใช้เข็มเจาะดูด หรือผ่าระบายหนองออก ถ้าฝีสุกแล้ว พร้อมกับใส่ผ้าเป็นหมุดเพื่อระบายหนอง ทำความสะอาดแผลและเปลี่ยนหมุดทุกวันจนกว่าแผลจะตื้นขึ้น และควรส่งโรงพยาบาลเพื่อผ่าระบายหนองออกถ้าเป็นฝีรอบทวารหนัก

ข้อแนะนำ
1. เนื่องจากการขาดอาหาร โลหิตจาง เบาหวาน เอดส์ หรือกินสตีรอยด์นานๆ อาจทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำจนทำให้เป็นฝีได้บ่อยๆ จึงควรตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เช่น การตรวจปัสสาวะเพื่อหาระดับน้ำตาล อาจพบว่าเป็นเบาหวาน ซึ่งจะได้ให้การดูแลรักษาโรคที่เป็นสาเหตุต่อไป

2. ไม่ควรบีบหัวฝีที่ขึ้นตรงกลางใบหน้าเพราะอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าสมองได้

3. ควรอาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง และกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดฝี

4. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดถ้ามีอาการแสดงของการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ตุ่มนูน ตุ่มหนอง ฝี แผลอักเสบ แผลเรื้อรัง เป็นต้น และเมื่อให้การรักษาแบบสาเหตุที่เกิดจากฝีแล้วไม่ได้ผล ซึ่งในบางครั้งผู้ป่วยอาจเป็นเมลิออยโดซิส ก็ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า