สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ฝีสมอง(Brain abscess)

ผู้ป่วยมักมีประวัติการติดเชื้อของหูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมพอง เป็นไข้เรื้อรัง หรือเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ โรคนี้เป็นภาวะร้ายแรงที่สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ฝีสมอง

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่พึ่งออกซิเจน คือ สแตฟีโลค็อกคัส ลุกลามจากอวัยวะที่มีการอักเสบอยู่ก่อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ โพรงมาสตอยด์อักเสบ ไซนัสอักเสบ รากฟันเป็นหนอง เป็นต้น หรืออาจแพร่กระจายทางกระแสเลือดจากแหล่งติดเชื้ออื่น เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคหัวใจแต่กำเนิดที่มีอาการเขียว โรคติดเชื้อเรื้อรังในปอด ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นต้น อาจพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อน ฝีสมองในผู้ป่วยเอดส์มักเกิดจากโปรโตซัว หรืออาจเกิดจากเชื้อราแอสเปอจิลลัส

อาการ
ผู้ป่วยจะมีไข้สูง รู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เกิดอาการทางสมองเช่น ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม เพ้อคลั่ง ชัก แขนขาอ่อนแรง เดินเซ เห็นภาพซ้อน หรือตาพร่ามัวลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นแบบรุนแรงอาจมีอาการหมดสติและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

สิ่งตรวจพบ
ตรวจพบมีอาการไข้สูง แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ชัก คอแข็ง รูม่านตาข้างที่มีฝีจะโตกว่าปกติ และไม่หดลงเมื่อใช้ไฟส่อง

การรักษา
ถ้าเกิดอาการชักอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากสงสัยว่าจะเกิดโรคควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์อาจทำการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นสมอง หรือตรวจพิเศษอื่นๆ มักต้องผ่าตัดระบายหนองออก และให้ยาปฏิชีวนะหากพบว่าเป็นฝีสมอง

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอัมพาตหรือโรคลมชักแทรกซ้อนเมื่อรักษาฝีสมองหายแล้ว อาจต้องให้ยารักษาโรคลมชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทาล เฟนิโทอิน หรือการรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมด้วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า