สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ฝีมะม่วง(Lymphogranuloma venereum/LGV)

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มักพบโรคนี้ได้ประปราย

สาเหตุ
ติดต่อโดยการร่วมเพศ หรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง เชื้อที่เป็นสาเหตุ คือ เชื้อคลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis serotype L1-L3) ระยะฟักตัวของโรคใช้เวลาประมาณ 3-30 วัน

อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตพบในระยะเริ่มแรก และภายใน 2-3 วันก็จะหายไปได้เอง และในเวลาต่อมาต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่และเจ็บมาก ตรงกลางเป็นร่องของพังผืดคล้ายร่องของมะม่วงอกร่อง จึงเรียกกันว่า ฝีมะม่วง อาจพบเป็นเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และจะมีการอักเสบ บวม แดง ร้อนของผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีร่วมด้วย บางรายอาจทำให้เดินไม่ถนัดเพราะปวดฝีมาก หรืออาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดข้อ ตาอักเสบ ผื่นขึ้นตามตัว

ในผู้หญิงน้ำเหลืองจากอวัยวะเพศจะระบายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องเชิงกรานมากกว่ามาที่ขาหนีบจึงทำให้พบโรคนี้ได้น้อยกว่าในผู้ชาย

ฝีอาจยุบหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือนแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่บางรายฝีอาจแตกออกเป็นรูหลายรูและมีหนองไหและอาจกลายเป็นแผลเรื้อรังได้

โรคนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบของทวารหนักจนตีบตัน ถ่ายอุจจาระไม่ออกเนื่องจากการลุกลามของโรค แต่ภาวะนี้มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้บริเวณอวัยวะเพศของผู้ป่วยมีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลือง ทำให้มีอาการบวมของอวัยวะเพศภายนอกได้ เช่น ปากช่องคลอด หรืออัณฑะ เป็นต้น และในบางรายอาจเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ หรือเป็นฝีคัณฑสูตร ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ อาจเกิดการตีบตันของช่องทวารหนัก ซึ่งมักจะต้องทำการแก้ไขด้วยการผ่าตัด

การรักษา
1. ให้ยาแก้ปวดแก่ผู้ป่วย และให้ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน หรืออีริโทรไมซิน ขนาด 500 มก. วันละ 4 ครั้ง หรือดอกซีไซคลีน ขนาด 100 มก. วันละ 2 ครั้ง โดยให้ยาติดต่อกันนาน 14 วัน

2. ถ้าฝีไม่ยุบและมีลักษณะนุ่ม ไม่ควรผ่าเพราะจะทำให้แผลหายช้า และอาจทำให้มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณนั้นได้ ควรใช้เข็มเบอร์ 16-18 ต่อเข้ากับกระบอกฉีดยาแล้วเจาะดูดเอาหนองออก

ข้อแนะนำ
1. ควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวีเช่นเดียวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นหลังจากรักษาได้ 3 เดือนแล้ว

2. ทางวงการแพทย์ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า สาเก หน่อไม้ หูฉลาม อาหารทะเล เป็นต้น เป็นของแสลงสำหรับโรคนี้ แต่ผู้ป่วยควรงดดื่มแอลกอฮอล์ 1 เดือนเพราะอาจทำให้อักเสบเป็นหนองมากขึ้น ส่วนอาหารอย่างอื่นก็ควรงดถ้าทำให้หนองไหลมากขึ้นหรือมีอาการกำเริบ

การป้องกัน
ไม่ควรสำส่อนทางเพศ หรือเพื่อป้องกันการเกิดโรคควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และอาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้างเมื่อดื่มน้ำก่อนร่วมเพศหรือถ่ายปัสสาวะทันที หรือการฟอกล้างสบู่ทันที หลังร่วมเพศ แต่ก็อาจไม่ได้ผลทุกราย

ส่วนการกิน “ยาล้างลำกล้อง” ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อไม่ใช่ทำลายเชื้อ มักไม่ได้ผลในการป้องกัน ยานี้มักทำให้ปัสสาวะมีสีแปลกๆ เมื่อกินเข้าไป เช่น สีแดง หรือสีเขียว

การป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศโดยการกินยาปฏิชีวนะอาจจะได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกับที่ใช้รักษาซึ่งดูแล้วไม่คุ้ม ควรรอให้มีอาการแสดงแล้วค่อยรักษา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นก็ไม่สามารถป้องกันด้วยยานี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า