สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บรรยากาศของการรักษาผู้ป่วยจิตเวช

บรรยากาศของการรักษานี้ ได้เคยอธิบายไว้ เมื่อกล่าวถึงจิตบำบัดขั้นต้นและชั้นกลาง ตอนนี้จะกล่าวถึงบรรยากาศของการรักษา ในการทำจิตบำบัดชั้นสูง

บรรยากาศของการรักษา หมายถึง การที่ผู้ป่วยถาม และผู้รักษาตอบ หรือ ผู้รักษาถาม และผู้ป่วยตอบ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ สำหรับสร้างมนุษยสัมพันธ์ และแตกต่างจากการสนทนาธรรมดา ผู้ป่วยจะค่อยๆ เรียนรู้ว่า ผู้รักษาสนใจที่จะศึกษา ความคิดของผู้ป่วย โดยไม่ติเตียน ดุด่าว่ากล่าว หรือพูดว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ปกติหรือผิดปกติ ถึงแม้ว่า ผู้รักษา อาจจะรู้สึกว่า ความคิดหรือพฤติกรรมของผู้ป่วยนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หรือผิดปกติก็ตาม แต่ผู้รักษาจะไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เลย

การใช้คำว่า ผิดปกติ หรือเป็นโรคจิตเวชนั้น หมายความว่า “ไม่ดี” เมื่อไม่ดีก็ต้องถูก “ลงโทษ” ผู้รักษาหรือนักจิตบำบัดจึงหลีกเลี่ยงไม่ยอมพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ผู้รักษามีความประสงค์จะให้ผู้ป่วยพูดหรือเล่าความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมทุกๆ อย่างออกมา โดยไม่ต้องกลัวว่า ผู้รักษาจะวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหาย การที่ผู้รักษาทำเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้ผู้ป่วย กล้าเล่า “ความจริง” ทุกอย่าง โดยไม่บังคับ

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นหญิง อายุ 26 ปี เมื่อเริ่มการรักษา ผู้ป่วยเล่าว่า ไม่อยากอยู่บ้านคนเดียวในเวลากลางคืน ผู้ป่วยต้องปิดประตูหน้าต่างทุกบาน ผู้รักษาต้องการทราบความคิดของผู้ป่วย แต่พบ Resistance โดยผู้ป่วยถือว่า ความคิดของตนเองนั้นไม่แตกต่างกับคนธรรมดา ทั่วไป
ผู้รักษาถามว่า

“อะไรทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจ เวลาคุณอยู่คนเดียว ?”
ผู้ป่วยตอบอย่างเลี่ยงๆ ว่า
“หนูไม่ทราบ กังวลใจอย่างไรบอกไม่ถูก”
ผู้รักษาจึงถามอีกว่า
“ถ้าเช่นนั้น คุณกังวลใจเรื่องอะไร?”
ผู้ป่วยตอบว่า
“กลัวคนจะบุกรุกเข้ามา”
ผู้รักษาถามอีกว่า “ผู้ชายหรือ ?”
ผู้ป่วยเริ่มหัวเสีย และพูดว่า
“แน่นอน แต่หนูไม่เห็นจะผิดปกติตรงไหน ผู้หญิงทุกคนก็ต้องรู้สึกอย่างเดียวกับหนู”
ผู้รักษาจึงอธิบายว่า

“ในการรักษาชนิดนี้ เราไม่สนใจว่าอะไรผิดปกติ อะไรเป็นของปกติ จะเป็นเรื่องธรรมดาหรือผิดจากธรรมดา ผมต้องการทราบว่า คุณมีความคิดอย่างไรเท่านั้น จะเหมือนคนอื่นหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ผมเห็นด้วยกับคุณว่า ผู้หญิงทุกคนย่อมกลัว และไม่อยากอยู่คนเดียวในเวลากลางคืนที่ผมต้องการทราบ คือ ความคิดของคุณ และถ้าผู้ชายบุกรุกเข้ามา คุณกลัวอะไรบ้าง ?”

ข้อสังเกต
ผู้ป่วยรายนี้ แบ่งแยกความคิดของตนเองออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกถือว่าปกติ เพราะเหมือนกับความคิดของคนทั่วไป ส่วนที่สอง เป็นสิ่งผิดปกติตามความคิดเห็นของผู้ป่วย ผู้ป่วยถือว่าควรจะพูดแต่สิ่งที่คิดว่า “ผิดปกติ” ส่วนความคิดที่รู้สึกว่า “ปกติ” นั้น ไม่ควรหรือไม่จำเป็นต้องนำมาพูดกับผู้รักษา เพราะฉะนั้น ผู้รักษาต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่า ผู้รักษา ต้องการทราบความคิดความรู้สึกทุกอย่างของผู้ป่วย โดยไม่คำนึงถึงว่าจะ “ผิดปกติ” หรือไม่

เมื่อผู้รักษาสามารถอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจวิธีการรักษาแล้ว ผู้ป่วยที่เป็น Suitable Type ก็จะให้ความร่วมมือดี และเมื่อผู้ป่วยเข้าใจตัวเองดีแล้ว ผู้ป่วยก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนความคิด หรือพฤติกรรมของตนเอง หรือจะเก็บรักษาไว้อีกก็ได้

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า