สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ผมร่วง ผมบาง(Alopecia/Baldness)

มีสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้หลายอย่าง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกันทางกรรมพันธุ์ เช่น ศีรษะเถิก ศีรษะล้าน หรืออาจมีสาเหตุจากโรคต่างๆ เช่น ซิฟิลิส เอสแอลอี ภาวะขาดไทรอยด์ กลาก ขาดอาหาร หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็เป็นได้ ภาวะนี้มักพบได้บ่อยในคนทุกวัย พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสาเหตุที่พบได้บ่อยผมร่วงผมบาง

ผมร่วงตามธรรมชาติ
บนศีรษะของคนเรามีเส้นผมอยู่ประมาณ 100,000 เส้น และจะงอกยาวขึ้นวันละ 0.35 มม. มีอายุนาน 2-6 ปี แล้วจึงหยุดเจริญงอกงาม และหลุดร่วงไปในระยะ 3 เดือน การหลุดร่วงของเส้นผมจะเกิดได้ง่ายขึ้นเมื่อมีการหวีผมหรือสระผม ผมจะร่วงไม่เกินวันละ 100 เส้นทุกวันในคนปกติซึ่งเป็นการร่วงตามธรรมชาติ และจะมีเส้นผมใหม่งอกขึ้นมาแทนวนเวียนกันไปเรื่อยๆ แบบเดียวกับเซลล์ของผิวหนังที่มีบางส่วนตายและหลุดลอกออกมาเป็นขี้ไคลในทุกๆ วัน

บางคนอาจมีอาการผมร่วงเมื่อมีความวิตกกังวล เกิดการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น อาจรู้สึกไปเองว่ามีอาการผมร่วงผิดปกติ และกลัวว่าจะเป็นโรคอื่นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วผมที่ร่วงเป็นการร่วงตามธรรมชาติ คือ ไม่เกิน 100 เส้นในแต่ละวัน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะมีแต่เพียงอาการของโรคกังวล และจะไม่มีความผิดปกติอื่นๆ แต่อย่างใด ผู้ที่ชอบบ่นว่ามีอาการผมร่วงมักจะพบภาวะผมร่วงชนิดนี้ได้บ่อยที่สุด

การรักษา
ให้การดูแลรักษาแบบเดียวกับโรคกังวล และให้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม และไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใดในอาการผมร่วง ภาวะเช่นนี้จะไม่ทำให้ผมบางหรือศีรษะล้านจึงควรให้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดธรรมชาติ แต่ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงถ้าให้การรักษาแล้วภายใน 1 เดือน อาการยังไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ซิฟิลิส เอสแอลอี หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ

ผมร่วงกรรมพันธุ์
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผมร่วงชนิดนี้ พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามกรรมพันธุ์ เส้นผมจะมีอายุสั้นกว่าปกติเนื่องจากรากผมบริเวณที่ร่วงมีความไวต่อฮอร์โมนเพศชาย ที่เรียกว่า ไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน ทำให้เส้นผมบริเวณนี้ร่วงเร็วกว่าบริเวณที่ปกติ ขนาดของเส้นผมที่ขึ้นมาใหม่ก็จะเล็กบางและสั้นลงจนเป็นเส้นขนอ่อนๆ ทำให้ดูเหมือนผมบางหรือไม่มีผมและมักจะพบอาการนี้บริเวณหน้าผากและกลางศีรษะ ส่วนด้านข้างและด้านหลังยังคงปกติ

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไปมักจะเริ่มแสดงอาการ และจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในผู้ชายถ้าเป็นไม่มากผมก็จะบางเฉพาะบริเวณหน้าผากทำให้ศีรษะเถิก คล้ายรูปตัว M แต่ถ้าเป็นมากก็จะทำให้ศีรษะล้านแบบที่เรียกกันว่า ทุ่งหมาหลง หรือดงช้างข้าม ได้

ในผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็จะแสดงอาการผมร่วงแลดูผมบางลงให้เห็น มักเป็นบริเวณกลางกระหม่อม อายุที่มากขึ้นก็จะทำให้มีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ และขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ด้วย หรืออาจเกิดร่วมกับการมีรังแคมากทำให้มีอาการคัน และมีขี้รังแคมากในบางราย

การรักษา
เนื่องจากกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนดจึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจและยอมรับสภาพของตน ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของคนคนนั้น ไม่ควรซื้อยาปลูกผมที่โฆษณาเกินความจริงมาใช้เองทั้งแบบแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ผู้ป่วยควรจะใส่ผมปลอม ทอผม หรือผ่าตัดปลูกถ่ายผม ถ้ารู้สึกว่าน่าเกลียดหรือมีปมด้อย

ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในรายที่เริ่มมีอาการศีรษะล้าน โดยแพทย์จะให้กินยากลุ่มยับยั้งแอลฟารีดักเทสเพื่อลดฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน เช่น ไฟนาสเตอไรด์ ชื่อการค้าคือ โพรพีเซีย ขนาด 1 มก. วันละครั้ง หลังจากใช้ยาได้ 6 เดือนจึงเห็นผล และเมื่อใช้ยาไปประมาณ 2 ปีก็จะให้ผลเต็มที่ ควรใช้ยาติดต่อกันทุกวันเพราะผมอาจร่วงได้อีกถ้าหยุดยา ยานี้จะใช้เฉพาะในผู้ชาย ถ้าใช้ในผู้หญิงมักไม่ได้ผล และอาจทำให้เกิดความผิดปกติของการสร้างอวัยวะเพศชายในทารกได้ถ้าใช้ในหญิงตั้งครรภ์

ยานี้มักจะใช้ไม่ได้ผลถ้าศีรษะล้านแล้ว จึงควรจะใช้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่ผมเริ่มบาง และอาจพบภาวะองคชาตไม่แข็งตัวเป็นผลข้างเคียงได้บ้างเป็นส่วนน้อย

ในบางรายอาจทาด้วยยาน้ำไมน็อกซิดิลชนิด 2% หรือ 5% ทุกวัน หลังใช้ 4-6 เดือนถ้าได้ผลผมก็จะเริ่มงอก ควรทายาติดต่อกันทุกวัน และเมื่อใช้ไป 12 เดือนก็จะให้ผลสูงสุด ยานี้เป็นยาลดความดันมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดจึงพบว่าเมื่อใช้ยานี้จะทำให้ขนดกขึ้น

ผมร่วงจากซิฟิลิส
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ 3 ระยะ แต่อาการผมร่วงมักแสดงเมื่อผู้ป่วยเป็นซิฟิลิสในระยะที่ 2 ซึ่งผู้ป่วยจะมีไข้ รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ปวดเมื่อยตามตัว หรือมีผื่นร่วมด้วย เวลาหวีผมผมอาจร่วงเป็นกระจุกๆ ในจำนวนที่ผิดปกติ บริเวณที่ผมร่วงจะมีลักษณะของหนังศีรษะคล้ายถูกแมลงแทะเป็นหย่อมๆ หรือผมอาจร่วงทั่วศีรษะก็ได้ในบางราย มักสังเกตเห็นบริเวณหมอนและที่นอนจะมีเส้นผมตกอยู่ และผมจะหลุดร่วงง่ายกว่าปกติเมื่อดึงเพียงเบาๆ

ก่อนที่จะมีอาการผมร่วงเพียงไม่กี่เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจมีแผลขึ้นที่อวัยวะเพศซึ่งเป็นซิฟิลิสในระยะแรกแต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยมักมีประวัติเที่ยวผู้หญิง หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้มาก่อน

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรส่งผู้ป่วยไปตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลที่โรงพยาบาล และควรให้การรักษาแบบซิฟิลิสในระยะที่ 2 ถ้าเป็นโรคนี้จริง ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รักษาให้ถูกต้องอาจเป็นอันตรายได้เมื่อกลายเป็นซิฟิลิสในระยะที่ 3

ผมร่วงเนื่องจากผมหยุดเจริญชั่วคราว
ในแต่ละวันมีเส้นผมที่เสื่อมและหลุดร่วงไปประมาณ 100 เส้น จากการหยุดเจริญงอกงามเมื่อมีอายุ 2-6 ปีแล้ว แต่เส้นผมที่กำลังเจริญก็อาจหยุดลงในทันที จนทำให้เส้นผมเสื่อมและหลุดร่วงเป็นจำนวนมากในบางภาวะ สาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะผมหยุดการเจริญชั่วคราว เช่น

-ผู้หญิงหลังคลอด หลังจากคลอดได้ 3 เดือน มักจะมีอาการผมร่วง เนื่องจากขณะคลอดเส้นผมบางส่วนเกิดหยุดการเจริญในทันทีและทำให้ร่วงในอีก 2-3 เดือนต่อมา

-ทารกแรกเกิดในระยะ 1-2 เดือนแรกอาจมีอาการผมร่วง โดยผมใหม่จะค่อยๆ งอกขึ้นมาแทนที่

-มีอาการผมร่วงหลังจากมีไข้สูงจากโรคต่างๆ ประมาณ 2-3 เดือน เช่น ไข้รากสาดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ เป็นต้น

-ผมร่วงที่เกิดจากได้รับการผ่าตัดใหญ่

-ผมร่วงที่เกิดจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น วัณโรค เบาหวาน โลหิตจาง ขาดอาหาร เป็นต้น

-ผมร่วงที่เกิดจากการเสียเลือด หรือการบริจาคเลือด

-ผมร่วงจากการใช้ยา เช่น ยาคุมกำเนิด อัลโลพูรินอล โพรพิลไทโอยูราซิล เฮพาริน เป็นต้น

-ผมร่วงเพราะภาวะเครียดทางจิตใจ เช่น ตกใจ เสียใจ เศร้าใจ เป็นต้น

หลังจากสาเหตุเหล่านี้ประมาณ 2-3 เดือนผู้ป่วยมักจะมีอาการผมร่วงผิดปกติทั่วศีรษะ และจะหายได้เองอย่างสมบูรณ์หลังจากเป็นอยู่นาน 2-6 เดือน

การรักษา
ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใดถ้ามีสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน เช่น หลังคลอด หลังผ่าตัด หรือภาวะเครียด ควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยและรอการงอกขึ้นมาใหม่ของเส้นผม แต่ถ้าหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดจากโรคอื่น ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด

ผมร่วงจากโรคอื่นๆ
ผู้ป่วยอาจมีอาการผมร่วง ผมบาง ร่วมกับอาการของโรคบางอย่างเหล่านี้ได้ เช่น เอสแอลอี ภาวะขาดไทรอยด์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น โดยผู้ป่วยอาจมีไข้เรื้อรัง ปวดตามข้อ มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า หรือต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหากสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ เช่น เอสแอลอี ภาวะขาดไทรอยด์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ผมร่วงจากยาและการฉายรังสี
ยาหลายชนิดอาจทำให้เกิดอาการผมร่วงขึ้นได้ เช่น ยารักษามะเร็ง สารกันเลือดเป็นลิ่ม เช่น เฮพาริน ยารักษาคอพอกเป็นพิษ ยาคุมกำเนิด คอลซิซีน อัลโลพูรินอล ซึ่งเป็นยารักษาโรคเกาต์ หรือแอมเฟตามีน เป็นต้น รวมทั้งการฉายรังสีในการรักษามะเร็งก็อาจทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน

การรักษา
ควรแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปปรึกษาแพทย์ที่รักษาอยู่เดิมถ้ามีความสงสัย

โรคผมร่วงหย่อมไม่ทราบสาเหตุ
อาจมีสาเหตุจากเชื้อรา ซิฟิลิส การถอนผม รอยแผลเป็น หรือสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ ในอาการผมร่วงเป็นหย่อม

แต่โรคผมร่วงหย่อมไม่ทราบสาเหตุ มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง และความเครียด พบภาวะนี้ได้เป็นครั้งคราว และพบมากในวัยหนุ่มสาว ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปมักพบได้น้อย พบเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และความเครียดก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการขึ้นได้

ผมของผู้ป่วยจะร่วงเฉพาะที่ โดยจะแหว่งหายไปเป็นหย่อมๆ ลักษณะเป็นวงกลมหรือรี มีขอบเขตชัดเจน ตรงกลางไม่มีเส้นผม แต่จะเห็นรูขน หนังศีรษะบริเวณนั้นจะไม่แดง ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่เป็นเกล็ดหรือขุย ซึ่งปกติดีทุกอย่าง มักจะพบเส้นผมหักโคนเรียงอยู่บริเวณขอบๆ ในระยะแรก หรืออาจพบเส้นผมสีขาวขึ้นในบริเวณนั้นในบางราย

ผู้ป่วยอาจมีผมร่วงเป็นหย่อมเพียง 1-2 หย่อม หรืออาจจะมากกว่า 10 หย่อมก็ได้ อาการอาจลุกลามจนทั่วศีรษะจนไม่มีเส้นผมเหลืออยู่เลยแม้แต่เส้นเดียวถ้าเป็นมากๆ หรืออาจมีอาการขนตาขนคิ้วร่วงร่วมด้วยในบางราย เรียกว่า ผมร่วงทั่วศีรษะ อาจต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ แล้วจึงหายได้เองตามธรรมชาติ หลังจากหายแล้วอาจมีอาการกำเริบได้ใหม่ หรือเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง ผู้ป่วยมักจะมีอาการกำเริบซ้ำอีกภายใน 5 ปี หรืออาจมีคนในรอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยโดยที่โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด หรือบางครั้งอาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิต้านตนเอง โรคแอดดิสัน โรคด่างข่าว โรคภูมิแพ้ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หวัดจากการแพ้ หรือหืด เป็นต้น

การรักษา
ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากซิฟิลิสหรือเชื้อรา แพทย์อาจต้องเจาะตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล หรือขูดเอาหนังส่วนนั้นไปตรวจ

ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคผมร่วงหย่อมไม่ทราบสาเหตุจริง ก็จะให้ใช้ครีมสตีรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ หรือครีมบีตาเมทาโซนชนิด 0.1% หรือทาด้วยขี้ผึ้งแอนทราลิน ชนิด 0.5% วันละครั้ง ถ้าใน 1 เดือนยังไม่ได้ผล แพทย์อาจจะฉีดยาสตีรอยด์ เช่น ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ เข้าใต้หนังบริเวณที่เป็นทุก 2 สัปดาห์ หรืออาจต้องให้เพร็ดนิโซโลนชนิดกินในรายที่เป็นรุนแรงจนผมร่วงทั่วศีรษะ จะช่วยกระตุ้นให้ผมงอกเร็วขึ้นเมื่อใช้ยานี้

ข้อแนะนำ
1. โรคเชื้อราที่ศีรษะอาจมีลักษณะคล้ายกับโรคนี้ จึงต้องตรวจให้แน่ชัดด้วยการขูดเอาขุยที่หนังศีรษะไปตรวจ และมักพบเชื้อราที่เห็นต้นเหตุถ้าเป็นโรคจากเชื้อรา และควรนึกถึงโรคผมร่วงหย่อมไม่ทราบสาเหตุถ้ารักษาแบบเชื้อราแล้วอาการไม่ดีขึ้น

2. ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะเกิดการแพร่โรคโดยการสัมผัสใกล้ชิด เพราะโรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ

3. การใช้ยาสีฟัน ยาขัดรองเท้า น้ำมันมะกอก ยาสมุนไพร หรือยาปลูกผมชนิดต่างๆ ทาแล้วได้ผล อาจเป็นเพราะตรงกับจังหวะที่ผมใหม่จะงอกขึ้นมาพอดี ไม่เกี่ยวกับการใช้ยานี้แต่อย่างใด ซึ่งโรคนี้มักจะหายได้เองตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่ควรสิ้นเปลืองในการรักษา หรือควรขอคำแนะนำจากแพทย์ถ้าจะใช้ยา และมักจะได้ผลดีเมื่อใช้สตีรอยด์ทาหรือฉีด

ผมร่วงจากเชื้อรา
เกิดจากการติดเชื้อราที่ลุกลามมาจากบริเวณอื่นของร่างกาย มักพบภาวะนี้ได้บ่อยในเด็ก

โรคผมร่วงหย่อมไม่ทราบสาเหตุมักทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมๆ คล้ายกับโรคนี้ แต่โรคนี้มักจะมีผื่นแดงขึ้น มีอาการคัน และเป็นขุยหรือเกล็ด และบริเวณมือ เท้า ลำตัว หรือในร่มผ้า มักพบร่องรอยของโรคเชื้อราร่วมด้วย

มักจะพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุเมื่อขูดเอาขุยที่หนังศีรษะหรือเส้นผมในบริเวณนั้นไปละลายด้วยน้ำยาโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์แล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

การรักษา
ให้กินยา เช่น กริซีโอฟุลวิน นาน 4-6 สัปดาห์ หรือไอทราโดนาโซล นาน 4 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อรา

ผมร่วงจากการถอนผม
พบภาวะนี้ได้บ่อยในเด็ก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัญหากดดันทางจิตใจ เช่น ปัญหาทางครอบครัว หรือปัญหาเกี่ยวกับการเรียน เป็นต้น หรืออาจไม่มีปัญหาทางจิตใจก็ได้ในเด็กบางคน แต่อาจชอบถอนผมเล่นจนกลายเป็นนิสัย

ผู้ป่วยมักจะถอนผมตัวเองเล่นจนร่วงหรือแหว่ง บางรายอาจนำมาเคี้ยวกินเล่นจนเกิดการอุดกั้นของกระเพาะลำไส้ได้ถ้ากินเข้าไปมากๆ

เด็กบางคนจะถอนผมเฉพาะเวลานอน ซึ่งมักจะสังเกตเห็นว่าผมตกอยู่ที่หมอนทุกวันและเส้นผมนี้จะไม่มีต่อมรากผม

หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงมักจะไม่มีผื่นคัน หรือเป็นขุย แต่จะมีเส้นผมที่เป็นตอสั้นๆ อยู่มากเนื่องจากถอนออกได้ไม่ถนัด

การรักษา
ถ้าหยุดถอนผมก็จะขึ้นได้เอง ผู้ปกครองจึงควรค้นหาสาเหตุและหาทางห้ามปรามเด็กไม่ให้ถอนผมเล่น หรืออาจให้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพมในรายที่มีปัญหาทางจิตใจ หรือปรึกษาจิตแพทย์ถ้าให้การรักษาแล้วยังไม่ได้ผล

รอยแผลเป็นที่หนังศีรษะ
รอยแผลเป็นที่หนังศีรษะและไม่มีผมขึ้นอย่างถาวร อาจเกิดจากบาดแผล ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ถูกสารเคมี หรือเกิดจากการติดเชื้อรุนแรงจากแบคทีเรีย เช่น ฝี พุพอง ชันนะตุ โรคเชื้อรา หรืองูสวัด เป็นต้น

การรักษา
ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการผ่าตัดปลูกผม เพราะไม่มียาที่ใช้รักษาได้ผล

ผมร่วงจากการทำผม
อาจทำให้มีอาการผมร่วงได้จากการทำผมด้วยการม้วนผม ดัดผม เป่าผม แต่ไม่ถือว่าเป็นสาเหตุที่ร้ายแรงในภาวะนี้

การรักษา
ควรหลีกเลี่ยงการม้วนผม ดัดผม เป่าผม ถ้ามีอาการผมร่วงมาก และอาการผมร่วงก็จะทุเลาลงเมื่อหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ถ้ายังไม่ได้ผล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า