สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สมุนไพรที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพทางจิตใจ

เป็นการใช้พืชหรือสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีสรรพคุณทางยา ในการช่วยลดอาการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความไม่สบายใจ และส่งผลไปสู่สุขภาพทางกายด้วย ปัญหาสุขภาพทางจิตใจมีสมุนไพรจากพืช และสัตว์บางชนิดสามารถนำมาใช้ป้องกันปัญหานี้ได้

ขอบเขตของวิทยาศาสตร์กับสมุนไพรเพื่อการป้องกันปัญหาสุขภาพทางจิตใจ
ร่างกายและจิตใจที่มีความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า หากไม่บรรเทาลงอาจก่อให้เกิดเป็นความเครียด และซึมเศร้าได้ สารต้านอนุมูลอิสระตัวหนึ่งในวิตามินซีจะเปลี่ยนกรดอะมิโนให้กลายเป็นสารที่จำเป็นต่อสมอง ทำให้สมองทำงานได้เป็นปกติ อาการผิดปกติทางจิตอาจเกิดขึ้นหากร่างกายขาดวิตามินซี มีพืช ผัก และผลไม้พื้นบ้านมากมายที่มีวิตามินอยู่สูง สามารถใช้ป้องกันปัญหาสุขภาพทางจิตใจได้ เช่น ย่านาง สะเดา ขี้เหล็ก มะระขี้นก ฟักข้าว สมอไทย และมะขามป้อม เป็นต้น ซึ่งในดอกขี้เหล็ก 100 กรัม จะมีวิตามินซีอยู่ 484 มิลลิกรัม ยอดสะเดา 100 กรัม จะมีวิตามินซีอยู่ 194 มิลลิกรัม มะระขี้นก 100 กรัม จะมีวิตามินซีอยู่ 190 มิลลิกรัม ฟักข้าว 100 กรัม จะมีวิตามินซีอยู่ 178 มิลลิกรัม ใบย่านาง 100 กรัม จะมีวิตามินซีอยู่ 141 มิลลิกรัม สมอไทย 100 กรัม จะมีวิตามินซีอยู่ 116 มิลลิกรัม

พืชบางอย่างเหล่านี้อาจมีฤทธิ์กล่อมประสาทด้วย บางอย่างก็ช่วยบำรุงประสาท ทำให้จิตใจสงบ อาจนำมาใช้ในรูปแบบของอาหารหรือใช้เป็นน้ำมันนวดตัวก็ได้ โดยเฉพาะน้ำมันงาจะสามารถซึมสู่เนื้อเยื่อและเซลล์ของร่างกายได้อย่างทั่วถึง ส่วนสมุนไพรจากสัตว์ที่มีผลต่อจิตใจ เช่น น้ำผึ้ง

นอกจากนี้ อาจเกิดความสบายใจเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในครัวเรือน การปลูกไม้มงคลตามความเชื่อก็ทำให้เกิดความสบายใจขึ้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีบทบาทส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจได้ด้วยเช่นกัน

บทบาทของสมุนไพรในการป้องกันปัญหาสุขภาพทางจิตใจ
ควรเพิ่มวิตามินซีให้กับร่างกายด้วยพืช ผัก และผลไม้ที่มีวิตามินสูง หากรู้สึกว่าจิตใจไม่สงบ หรือไม่สบายใจ ด้วยการนำมาปรุงเป็นอาหารในมื้อต่างๆ กรดอะมิโนที่อยู่ในพืชผักเหล่านี้จะเปลี่ยนไปเป็นสารที่จำเป็นต่อสมอง ทำให้รู้สึกสงบ และสบายใจขึ้นได้

จากการศึกษาวิจัยของระดับน้ำตาลในเลือดคนว่ามีความสัมพันธ์กับอารมณ์อย่างไร พบว่า เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลตับอ่อนจะปล่อยอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้มีทริปโทแฟนเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อทริปโทแฟนไปกระตุ้นสมองก็ทำให้เกิดการหลั่งเซอโรโทนิน ซึ่งเป็นสารพวกนิวโรทรานส์มิทเทอร์ หรือสารสื่อสัญญาณประสาท ที่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาทขึ้นมา ทำให้ความเครียดลดลง แต่น้ำตาลที่ร่างกายได้รับต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะซึ่งอาจจะเป็นน้ำผึ้งก็ได้

เมื่อมีการตรวจวิเคราะห์น้ำผึ้ง พบว่า มีน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหรือโมโนแซคคาไรด์(Monosaccharide) ประกอบอยู่ถึง 79% สามารถให้พลังงานได้เร็วกว่าน้ำตาลธรรมดาหลายเท่าเพราะร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันทีเพื่อซ่อมแซมร่างกายที่สึกหรอในส่วนต่างๆ และในน้ำผึ้งก็มีแร่ธาตุจากธรรมชาติหลายชนิด ซึ่งไม่สามารถพบได้ในน้ำตาลชนิดอื่น เช่น ฟอสฟอรัส เหล็ก แมกนีเซียม กำมะถัน แมงกานีส แคลเซียม วิตามินบีรวม วิตามินซี และกรดมด จะช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดีได้เมื่อรับประทานน้ำผึ้งแท้วันละ 1-2 ช้อนชา

งา มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ช่วยควบคุมโคเลสเตอรอลไม่ให้มีมากเกินไปในร่างกาย ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิด น้ำมันในเมล็ดงามีอยู่ถึง 35-37% และกรดอะมิโนในโปรตีนจากงาก็มีความจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งกรดอะมิโนชนิดนี้มักไม่มีในพืชทั่วไป แร่ธาตุต่างๆ ในงาก็มีอยู่อย่างมากมาย มีวิตามินบีที่ช่วยบำรุงประสาท ป้องกันโรคเหน็บชาอยู่เกือบทุกชนิด และมีสารที่ช่วยลดโคเลสเตอรอลที่เรียกว่า เลคซิทิน อยู่ด้วย ร่างกายจะได้รับวิตามินบีไปบำรุงประสาทและสมองเมื่อกินงาเข้าไป

วิธีการกินงา
นำงามาล้างให้สะอาด ผึ่งจนแห้ง นำไปคั่วให้สุกมีกลิ่นหอม นำไปบดพอแตก ใช้โรยในอาหารรับประทาน ประมาณ 1-2 ช้อน

น้ำมันงามีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงผิวหนัง ช่วยหล่อลื่น บำรุงกระดูก บำรุงประสาท ทำให้จิตใจสงบ สามารถซึมผ่านผิวหนังสู่เนื้อเยื่อและเซลล์ของร่างกายได้ทั่ว เมื่อนวดตัวกับน้ำมันงาจึงทำให้จิตใจสงบได้ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิตใจ

วิธีนวดด้วยน้ำมันงา
นวดตามร่างกายให้ทั่วด้วยน้ำมันงาดิบ ใช้เวลานานประมาณ 5-10 นาที ให้นวดมาตั้งแต่กระหม่อม ลงมาที่ศีรษะ ตามด้วยบริเวณหลังหู ลำคอ ไหล่ ข้อศอก ข้อมือ และทั่วแขน จากนั้นก็ให้นวดช่วงลำตัวโดยเริ่มจากหน้าอกและท้อง ไล่ลงมาถึงสะโพก ต้นขา หัวเข่า ขาช่วงล่างและฝ่าเท้า น้ำมันงาที่ใช้นวดจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อทำให้อุ่นเล็กน้อย

สภาพแวดล้อมมักจะส่งผลต่อสุขภาพทางจิตใจ อาจทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น เมื่อได้ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในครัวเรือน เช่น อาจปลูกไม้มงคลตามความเชื่อเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและส่งผลไปสู่จิตใจ

ในตำราพรหมชาติได้บอกถึงทิศที่จะปลูกต้นไม้มงคลและไม้ศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า
ให้ปลูกมะยม ซึ่งเป็นไม้มงคล ไว้ทางทิศตะวันออก เชื่อว่าจะมีคนนิยมชมชอบ หรือเป็นเมตตามหานิยม

ให้ปลูกมะตูม ซึ่งเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นไม้ที่มักใช้ในพิธีกรรมและพิธีมงคลของไทย

ให้ปลูกมะขาม ซึ่งเป็นไม้มงคล ไว้ทางทิศตะวันตก เชื่อว่าจะทำให้คนเกรงขาม

ให้ปลูกขนุนที่เป็นไม้มงคล ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เชื่อว่าจะทำให้คนเกื้อกูลและอุดหนุนจุนเจือ

หรือให้ปลูกมะยมไว้หน้าบ้าน ปลูกมะขามไว้กลางบ้าน และปลูกขนุนไว้หลังบ้าน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. เยาวภา ปิ่นทุพันธ์
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า