สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปัญหาสุขภาพจิต

โรคเครียด หรือโรคจิตโรคประสาท รวมทั้งโรคซึมเศร้ากลายเป็นโรคที่รู้จักกันมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้คงเป็นเพราะบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับผู้นำประเทศ เช่น จักรพรรดินีมิชิโกะแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ยังตกเป็นเหยื่อของโรคเครียด มีอารมณ์ซึมเศร้าถึงกับไม่พูดจาเป็นเวลานานๆ เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน จนเป็นข่าวไปทั่วโลก

ในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์นี้ ดูเหมือนว่าใครที่ไม่รู้สึกเคร่งเครียด ไม่กังวล จะเป็นคนที่โชคดีอย่างยิ่ง การพบ พูดคุย หรือรักษากับจิตแพทย์ กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันมากขึ้นในสังคมไทย แต่เป็นแฟชั่นที่ปฏิบัติกันทั่วไปในหมู่ดาราฮอลลีวูด

การรักษากับจิตแพทย์เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปในหมู่ดาราฮอลลีวูด ดาราคนใดที่ยังไม่มีจิตแพทย์ประจำตัวถือว่ายังไม่ใช่ดาราใหญ่ ผลงานวิจัยในสังคมไทยบ่งชี้ว่าประชาชนคนไทยทั่วๆ ไป โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวและวัยรุ่น มีภาวะอารมณ์เครียดหรือภาวะซึมเศร้า ค่อนข้างสูงอย่างน่าเป็นห่วง คืออยู่ระหว่างร้อยละ 20 ถึง 50 จึงพบเห็น ข่าวคนคลุ้มคลั่งอาละวาดทุบตีทารุณกรรมระหว่างสามีภรรยาหรือลูกเล็กๆ ตลอดจนข่าวคนฆ่าตัวตายในหน้าหนังสือพิมพ์กันอยู่เนืองๆ

ปัญหาสุขภาพจิต

ลักษณะอย่างไรจึงจะถือว่าสุขภาพจิตไม่ดี เจ็บป่วยทางจิตประสาทพฤติกรรมหรือความเจ็บป่วยส่งผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนผู้อื่น

ในกรณีนี้เจ้าตัวมักจะไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่คิดว่าตัวเองมีปัญหาหรือเจ็บป่วยอะไร ไม่รับรู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจนก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นหรือสังคม หรือรู้ตัวแต่ควบคุมพฤติกรรมของตนเองไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนรอบข้าง ตัวอย่างเช่น คนที่เคยมีนิสัยเรียบร้อย พูดจาสุภาพอ่อนหวาน กลายเป็นคนอารมณ์ร้อนฉุนเฉียว เอาแต่ใจตัวเอง ชอบทำอะไรเกินเหตุและแผลงๆ เช่น จุ้นจ้านไม่เกรงใจใคร บางคนเปิดทีวีหรือเปิดวิทยุเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน บางคนกลายเป็นคนพูดจาหยาบคาย ด่าทอแม้กระทั่งบุพการี จนกระทั่งท่านอาจทนไม่ได้ ถึงกับคิดตัดขาดความเป็นพ่อแม่ลูกกันและจะไล่ออกจากบ้าน เพราะ “เดือดร้อนจะเป็นบ้ากันทั้งบ้าน” หรือ “ลูกคนเดียวฉันตัดได้ ยังมีลูกคนอื่นอีกที่จะต้องดูแล”

บางรายมีอาการระแวง คิดว่าเพื่อนบ้านกลั่นแกล้งคอยจับผิด เลยอาละวาดด่าทอเพื่อนบ้าน มีเรื่องฟ้องร้องเป็นคดีความกัน บางคนเป็นโรคคลั่งดาราขนาดหนัก คลั่งหรือหลงเสน่ห์คนเด่นดังคนที่มีหน้ามีตาในสังคม คอยติดตาม ให้เป็นที่น่ารำคาญและน่ากลัวว่าจะทำร้ายเอาด้วยความลุ่มหลง หลายๆ รายก่อเรื่องจนเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าอาละวาดคลุ้มคลั่ง โทษว่าเป็นการเมาสุราเมายาบ้า ที่จริงแล้วอาจเป็นอาการของโรคจิตโรคประสาทกำเริบแล้วหันไปพึ่งยากล่อมประสาทชนิดต่างๆ ด้วยความคึกอย่างขาดสติ ซึ่งทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งวุ่นวายเด่นชัดและรุนแรงยิ่งขึ้น

ในต่างประเทศคนพวกนี้จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยจากจิตแพทย์ แต่ในเมืองไทยบุคคลเหล่านี้อาจจะถูกจับซ้อม ถูกอบรม หรือส่งเข้าคุมขังเพื่อดัดสันดาน โดยไม่ได้แก้ไขหรือรักษาสาเหตุที่แท้จริง คนกลุ่มนี้จัดอยู่ในประเภทโรคจิตวิกลจริต (psychoses) คือมีอาการประสาทหลอน ที่พบได้บ่อยๆ คือ หูแว่วหรือมีความคิดหลงเชื่อผิดๆ เช่น หลงผิดคิดระแวงว่ามีคนกลั่นแกล้ง คิดร้าย เป็นความคิดหลงผิดที่พบบ่อยที่สุด หลงผิดคิดว่าตัวเองมีอิทธิฤทธิ์ เป็นใหญ่เป็นโต เป็นศาสดา เจ้าฟ้า เจ้าหญิง คนมีชื่อเสียง เป็นต้น หรือคิดระแวงว่าสามีหรือภรรยาของตัวเองนอกใจ คบชู้ ทำให้มีความหึงหวงสุดขีด สร้างปัญหาและเป็นอันตรายต่อสมาชิกครอบครัวอย่างยิ่ง ลูกเมียแทบจะหาความสงบไม่ได้ หลายรายถึงกับทะเลาะทุบตีหรือฆ่ากัน ดังเป็นข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนืองๆ

ยังมีความคิดหลงเชื่อผิดๆ อื่นๆ อีกมากมายหลายรูปแบบ ที่อันตรายมากก็คือคนไข้ประเภทนี้มักไม่ตระหนักถึงความเจ็บป่วยของตัวเอง ไม่รับรู้ว่าตัวเองป่วย ทำให้ไม่ยอมรับการตรวจวินิจฉัยหรือรักษา จึงรบกวนและสร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานได้มากๆ ความผิดปกติกลุ่มนี้ได้แก่โรคจิตประเภทต่างๆ เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) หรือโรคจิตชนิดหลงผิด (Delusion disorder) ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ที่ไม่อยู่ในกลุ่มโรคจิต แต่ชอบก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง คือกลุ่มบุคลิกภาพเบี่ยงเบนหรือบกพร่อง พวกนี้จะมีนิสัยที่เป็นแบบแผน (หรือสันดาน) ที่ปฏิบัติมานานจนเป็นเรื่องธรรมดาของเจ้าตัว เจ้าตัวไม่รู้สึกเดือดร้อน แต่คนรอบข้างต่างหากที่รับเคราะห์ จำเป็นต้องทนอยู่ร่วมอย่างอึดอัดและไม่มีความสุข หรืออาจป่วยประสาทเครียดตามไปด้วย

มีผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อตนเองในด้านต่างๆ

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเป็นกุญแจสำคัญที่จะตัดสินว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ หลังจากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งในสองข้อแรกแล้ว จะถือว่ามีการเจ็บป่วยทางจิตใจหรือสุขภาพจิตไม่ดีถ้ามีผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพชีวิต มีผลเสียหายต่อประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เช่น ผลการเรียนตก ทำงานไม่ได้ เข้าสังคมไม่ได้ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น คนเคยมีนิสัยร่าเริง ช่างพูดช่างคุย กระตือรือร้น กลายเป็นหวาดกลัว ไม่กล้าพูดคุยหรือพบหน้าผู้คน เพราะกลัวถูกดูถูก รังเกียจ เลยไม่ยอมออกจากบ้าน ถ้ายังเป็นนักเรียนนักศึกษาก็ไม่ยอมไปเรียน ไม่ยอมไปมหาวิทยาลัย บางคนคิดท้อแท้ถึงกับไม่อยากเรียนต่อ คิดจะลาออก เลิกเรียนกลางคัน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้วก็หยุดงานเอาดื้อๆ ไม่ยอมไปทำงาน เมื่อถูกบ่นถูกว่ามากเข้าจากญาติพี่น้องก็ขอลาออกจากงานเสียเลย ทำให้เสียอนาคต ขาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย บางคนระแวงว่ามีคนคอยวางยาพิษ บางครั้งระแวงแม้กระทั่งพ่อแม่ตัวเอง เลยไม่ยอมรับประทานอาหารจนร่างกายผอมแห้งอดโซ เนื้อตัวสกปรก

ผู้หญิงสาวบางคน เวลาเจ็บป่วยขึ้นมามีอารมณ์เพศและควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นฝ่ายเชิญชวนผู้ชายมาหลับนอนร่วมเพศทั้งที่แปลกหน้าไม่รู้จักกัน เป็นที่เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล และยากที่ครอบครัวญาติพี่น้องจะยอมรับได้บางคนเลยถูกจับล่ามโซ่ขังไว้ในบ้าน ผู้ป่วยอารมณ์ซึมเศร้ารุนแรงมักจะมีความคิดอยากฆ่าตัวตายควบคู่ไปด้วย ถ้าไม่ได้รับความเข้าใจให้การดูแลรักษา ก็อาจจะพยายามฆ่าตัวตายและเสียชีวิตได้จริงๆ ยิ่งระยะหลังนี้มักจะมีข่าวฆ่าตัวตายกันทั้งบ้าน พ่อบ้านไม่อยากตายคนเดียว ด้วยความรักความเป็นห่วงเลยฆ่าลูกๆ ตายตามไปด้วยอย่างน่าสลดใจ ความเสียหายในด้านต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งอันตรายจากการสูญเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่แก้ไขป้องกันหรือรักษาได้

โรคจิตประสาทมีสาเหตุจากอะไร

ความเจ็บป่วยทางจิตใจมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ซึ่งในแต่ละคนมีปัจจัยไม่เหมือนกัน จำแนกได้เป็น 3 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ -กรรมพันธุ์หรือพันธุกรรม โดยทั่วๆ ไปกรรมพันธุ์มีอิทธิพลประมาณ 10-20% หรือสูงถึง 40-50% ในคู่แฝดเหมือนที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน

กรรมพันธุ์อาจเป็นตัวกำหนดว่าจะเจ็บป่วยทางจิตประเภทใด เมื่ออายุใด โดยถ่ายทอดผ่านทางยีนส์ที่ควบคุมการทำงานของสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ชนิดต่างๆ ในสมอง ทำให้สมองทำงานแปรปรวน แสดงออกทางพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ที่ผิดปกติ -สภาพสังคมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเหตุการณ์หรือปัญหาชีวิตในปัจจุบันที่กดดันบีบคั้นจิตใจ ความผิดหวัง สูญเสีย หรือพรากจากครอบครัว คนรัก -การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก รวมทั้งบรรยากาศในครอบครัวและประสบการณ์ชีวิตดูจะมีอิทธิพลมากที่สุดต่อการเกิดปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตใจ ความผูกพันและความรักความอบอุ่นในครอบครัวจึงเป็นภูมิคุ้มกันป้องกันโรคจิตโรคประสาทได้อย่างดี

โรคจิตประสาทแก้ไขหรือรักษาอย่างไร

ผู้ป่วยโรคจิตประสาทหลายคนถูกมองว่าถูกผีเข้า ถูกของ หรือถูกเสน่ห์ยาแฝด หลายคนจึงถูกนำไปรักษาทางไสยศาสตร์ด้วยวิธีต่างๆ เคยมีบางคนถูกเฆี่ยนตีเพี่อไล่ผี เมื่อถูกตีมากเข้าเจ้าตัวทนไม่ไหวถึงกับ ทำร้ายไล่ฟันหมอผีเสียเอง โดยทั่วไป

ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก เจ้าตัวยังคงอดทนควบคุมอาการได้บ้าง ก็หาทางลดทอนหรือบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีที่เป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันทั่วไปในสังคม ได้แก่ การเที่ยวเตร่ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นการเปิดหูเปิดตาและหาโอกาสรู้จักผู้คนมากขึ้น การเล่นกีฬาหรือออกกำลังแบบต่างๆ และการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ อีกมาก ส่วนใหญ่ครอบครัวจะเป็นหลักสำคัญในการดูแลรักษาหรือประคับประคองให้กำลังใจผู้ป่วย อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นหรือไม่ก็ขึ้นกับท่าทีหรือความเข้าใจของครอบครัวญาติพี่น้อง บางคนไม่เข้าใจหาว่าผู้ป่วยแกล้งทำ ถึงกับตบตีเอาก็มี แต่รายที่มีอาการรุนแรงใช้วิธีการต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นแล้วไม่รู้สึกว่าดีขึ้น ก็ควรปรึกษา หรือรักษากับผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจ แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติและตรวจให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีโรคทางกายที่จะเป็นสาเหตุของอาการแสดงทางจิต

การรักษาทางจิตเวชมี 2 แบบใหญ่ๆ คือ

การรักษาแบบไม่ใช้ยา โดยการให้คำแนะแนว แนะนำ หรือทำจิตบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง มีความมั่นใจในตนเอง และมีมนุษยสัมพันธ์พอที่จะใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไปได้ บ่อยครั้งที่ต้องให้คำแนะนำและรักษาทั้งครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้องหรือคู่สมรส เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของโรคจิตโรคประสาทหรือความเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเรื้อรังและเป็นๆ หายๆ หายแล้วก็กลับเป็นอีกได้ ครอบครัวหรือคู่สามีภรรยาจำเป็นต้องให้ความร่วมมือดูแลรักษาผู้ป่วย การรักษาจึงจะเป็นผล และช่วยผู้ป่วยได้มาก

การรักษาแบบใช้ยาหรือด้วยไฟฟ้า

บางคนมีความเห็นว่า เมื่อเป็นโรคของจิตใจการรักษาก็อยู่ที่การ “ทำใจหรือข่มสติ” ตนเอง ไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่จากการศึกษาวิจัยในช่วงหลายสิบปีนี้ พบว่ายาที่ออกฤทธิ์ปรับการทำงานของสารสื่อประสาท สามารถช่วยรักษาหรือควบคุมอาการของโรคทางจิตได้อย่างน่าพอใจ จนผู้ป่วยสามารถดูแลตนเอง ควบคุมจิตใจ และปฏิบัติหน้าที่การงานได้เกือบเป็นปกติ

ยาสงบประสาทมีหลายกลุ่มได้แก่
-ยาคลายเครียด ใช้รักษาอาการประสาทเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ เป็นต้น
-ยาแก้ซึมเศร้า ใช้รักษาผู้ป่วยอารมณ์ซึมเศร้ามาก แต่ก็สามารถใช้รักษาโรคปวดเรื้อรัง โรคปวดศีรษะไมเกรน และโรคประสาทยํ้าคิดยํ้าทำได้
-ยาแก้โรคจิต ใช้รักษาอาการหลงเชื่อผิดๆ ประสาทหลอน หรืออาการคลุ้มคลั่งอาละวาด
-ยาแก้อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ได้แก่ ยาลิเธียม และยาแก้โรคลมชักบางชนิด ซึ่งนำมารักษาพวกวุ่นวายก้าวร้าวได้ดี

ยาสงบประสาทแต่ละขนานมีผลข้างเคียง จึงควรใช้ยาโดยได้รับคำแนะนำจาก แพทย์ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ใช้ได้ปลอดภัย ผู้ป่วยหลายคนจำเป็นต้องใช้ยาสงบประสาทร่วมกัน 2-3 ขนาน เพื่อควบคุมอาการให้ได้รวดเร็ว และช่วยลดผลข้างเคียงของยาแต่ละชนิด

บางคนกลัวว่าจะติดยาประเภทนี้จนหยุดยาไม่ได้ซึ่งไม่จริง แต่เป็นเพราะธรรมชาติของโรคทางจิตใจเองที่มักจะเรื้อรังยาวนานกว่าจะเป็นปกติ เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่ฟื้นตัวได้ช้า เมื่อป่วยครั้งแรกผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาไปนานเกือบปีหรือเป็นปี หากมีอาการกำเริบสองครั้งขึ้นไปก็ต้องรับประทานยาไปตลอด หยุดรับประทานยาไม่ได้ ยาสงบประสาทแตกต่างจากยาหรือสารกลุ่มเสพย์ติด คือยากลุ่มหลังนี้ผู้เสพต้องเพิ่มขนาดยาหรือสารนั้นขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากร่างกายมีความ “ดื้อ” ยาสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ยาสงบประสาทที่ใช้เพื่อควบคุมหรือพยุงไม่ให้อาการกำเริบนั้นจะใช้ยาในขนาดต่ำ คือประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณยาที่ใช้รักษาขณะอาการรุนแรง

การรักษาด้วยไฟฟ้า
การรักษาแบบนี้ทำโดยใช้ไฟฟ้าขนาด 70-130 โวลต์ ให้วิ่งผ่านสมองส่วนหน้าเป็นเวลานาน 0.1-1 วินาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (จันทร์ พุธ ศุกร์) รวมกันประมาณ 6-12 ครั้ง โดยแต่ละครั้งผู้ป่วยจะชักเกร็งกระตุก ทั้งตัวนาน 40-50 วินาที การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นวิธีที่ใช้กันมานานแล้ว ใช้ก่อนที่จะมียาสงบประสาทเสียอีก เป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากดีกว่าการใช้ยา แต่อาจฟังดูน่ากลัวจึงไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันเท่าใดนัก ทั้งที่เป็นการรักษาที่ปลอดภัยมาก ปลอดภัยกว่าการใช้ยารักษาเสียอีก การรักษาวิธีนี้จึงนิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ผู้ป่วยซึมเศร้ารุนแรง ผู้ป่วยที่อาละวาด คลั่ง วุ่นวาย หรือผู้ป่วยโรคจิตที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล เป็นต้น

ข้อเสียก็มีบ้างคือผู้ป่วยมักจะมีอาการงงๆ และหลงลืมจะลืมในเรื่องใหม่ๆ ส่วนความจำในเรื่องเก่าๆ จะยังดีอยู่ แต่สติและความจำจะดีขึ้นเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ ปัจจุบันนี้เรามียาดีๆ หรือมีวิธีรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดี ไม่เหมือนในอดีตที่ผู้ป่วยอาจจะถูกครอบครัวหรือญาติพี่น้องล่ามโซ่ กักขัง หรือทอดทิ้งไว้ในโรงพยาบาลโรคจิตนานเป็นสิบๆ ปี ในยุคนี้จึงไม่ควรประนาม รังเกียจ ทอดทิ้ง หรือกักขังผู้ป่วยให้ทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยทางจิตไปตลอดชีวิต อย่างที่ปฏิบัติกันในสังคมไทยสมัยสิบยี่สิบปีก่อน

ที่เป็นปัญหามากอีกอย่างคือ ผู้ป่วยเองไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย และต่อต้านไม่ยอมมารับการตรวจรักษาโดยเฉพาะผู้ป่วยคลั่งวุ่นวาย หรือซึมเศร้ารุนแรง หรือโรคจิตระแวง ในต่างประเทศครอบครัวญาติพี่น้อง สามารถติดต่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปพาตัวมารับการตรวจรักษา และจิตแพทย์ก็มีอำนาจทางกฎหมายที่จะควบคุมตัวผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาล เพื่อการตรวจรักษานานอย่างน้อย 72 ชั่วโมง แม้ผู้ป่วยจะไม่ยินยอม หากแพทย์พิจารณาเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะขาดสติ อาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น

ในบ้านเราที่เห็นปฏิบัติกันก็คืออาศัยญาติเองบังคับจับตัวผู้ป่วยมาตรวจ หรือไปไหว้วาน ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ตำรวจ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือแม้กระทั่งยามหมู่บ้านพาตัวผู้ป่วยมาตรวจรักษา หากพาผู้ป่วยมาตรวจไม่ได้จริงๆ และผู้ป่วยก็ก้าวร้าว ระแวง วุ่นวาย และรบกวนครอบครัวมาก หรืออาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง อาจจำเป็นต้องใช้ยาสงบประสาทขนานหนึ่ง แอบผสมในนํ้าหรืออาหารให้ผู้ป่วยรับประทาน ยานี้ไม่มีสีไม่มีรสและไม่มีกลิ่นให้จับได้ ซึ่งก็ใช้ได้ ผลมาแล้วมากราย ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากใช้วิธีนี้ ทางที่ดีคือควรพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ด้วยตนเองจะดีกว่า เพื่อให้การรักษาได้ผลอย่างเต็มที่

ที่มา:ดวงใจ กสานติกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า