สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปอดอักเสบ/ปอดบวม(Pneumonia)

หมายถึงการอักเสบของเนื้อปอด ทำให้ปอดทำหน้าที่ได้น้อยลง หายใจหอบเหนื่อย อาจรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้ปอดบวม

โรคนี้เกิดจากหลายสาเหตุ จึงมีความรุนแรงและอาการแสดงต่างกันออกไป พบได้มากในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจวายเรื้อรัง ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น

อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส โรคมือ-เท้า-ปาก ไอกรน ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ครู้ป หลอดลมพอง หลอดลมฝอยอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบอื่น เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส เป็นต้น

ผู้ใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อเช่นผู้ที่เสพยาเสพติด มีโอกาสติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสหลายเป็นโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงได้

อาจพบในผู้สำลักสารเคมีในบางครั้ง เช่น สำลักน้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน น้ำย่อยในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน น้ำและสิ่งปนเปื้อน เศษอาหาร ทำให้ปอดอักเสบระคายเคืองจากสารเคมี หรือติดเชื้อ เรียกว่าปอดอักเสบจากการสำลัก(aspiration pneumonia)

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ ที่เกิดจากสารเคมีมีน้อย

การติดเชื้อที่สำคัญคือ
-การติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่เชื้อปอดบวม ชื่อว่า นิวโมค็อกคัส(pneumococcus) หรือ สเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) ทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรง

ที่เกิดจากแบคทีเรียอื่น เช่น ฮีโมฟีลุสอินฟลูเอนเซ (Hemophilus influenza) ซึ่งเป็นสาเหตุของปอดอักเสบในทารกและผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สแตฟีโลค็อกคัสออเรียส(Staphylococcus aureus) ซึ่งทำให้เกิดปอดอักเสบชนิดร้ายแรง พบบ่อยให้ผู้ติดยาเสพติดที่ใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดร่วมกัน อาจพบภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ เชื้อเคล็บซิลลา (Klebsiella pneumonia) ทำให้เป็นปอดอักเสบชนิดร้ายแรงในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน(anaerobes) เป็นสาเหตุสำคัญของปอดอักเสบจากการสำลัก เชื้อลีจันเนลลา(legionella) สามารถแพร่กระจายไปในระบบปรับอากาศ เชื้อเมลิออยโดซิสพบมากทางภาคอีสาน เชื้อคลามีเดีย(Chlamydia pneumonia) พบบ่อยในวัยรุ่นหนุ่มสาว เป็นต้น

-การติดเชื้อไมโคพลาสมา(Mycoplasma pneumonia) คล้ายกับเชื้อแบคทีเรียแต่ไม่มีผนังเซลล์ ก้ำกึ่งระหว่างไวรัสกับแบคทีเรียมักทำให้อาการปอดอักเสบที่ไม่ชัดเจน ทำให้มีไข้ ไอ ปวดเมื่อย คล้ายกับไข้หวัดใหญ่หรือหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน แต่ไม่มีอาการหอบรุนแรง ตรวจฟังปอดระยะแรกไม่พบเสียงผิดปกติ พบมีการระบาด พบบ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว หากเกิดในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรง

-การติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยเช่น ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส-งูสวัด ไวรัสอาร์เอสวี ไวรัสค็อกแซกกี เริม เป็นต้น

-การติดเชื้อรา  ที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบในผู้ป่วยเอดส์ได้แก่ นิวโมซิสติสคาริไน(Pneumocystis carinii) และที่เป็นเชื้อราอื่นๆ เช่น Histoplasma capsulatum, Blastomyces dermatitidis, Coccidioides immites, Cryptococcus, Aspergillus เป็นต้น

การติดต่อเข้าสู่ปอด มีดังนี้
1. ทางเดินหายใจ โดยกาสูดเอาเชื้อที่แพร่กระจายในอากาศเข้าไป หรือเชื้อที่มีอยู่ในช่องปากและคอหอยเช่น สเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน เข้าไปในปอด

2. การสำลัก จากเชื้อโรคที่อยู่ในช่องปากที่เกิดจากการสำลักเข้าไปสู่ปอด จากการสำลักสารเคมี  น้ำย่อย น้ำสกปรก เศษอาหารทำให้เกิดการระคายเคือง

3. การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น ในน้ำเกลือหรือการฉีดยาที่มีเชื้อปนเปื้อน การติดเชื้อในอวัยวะส่วนอื่น เช่น สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส ภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น

อาการ
อาการสำคัญคือ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย

ส่วนใหญ่มักติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือไข้หวัดนำมาก่อน โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย หรือฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ

มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเดิน เบื่ออาหาร อาเจียน ร่วมด้วนในบางราย

มีไข้ฉับพลัน ไอเป็นพักๆ มีไข้ตลอดเวลา บางรายก่อนไข้ขึ้นอาจมีอาการหนาวสั่นมากมักเป็นในช่วงแรกๆ และเป็นเพียงครั้งเดียว

จะไอแห้งๆ ในระยะแรก และมีเสมหะขาวหรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว บางรายอาจมีสีสนิมเหล็กหรือเลือดปนในเวลาต่อมา

บางรายเวลาหายใจเข้าหรือไอแรงๆ จะมีอาการเจ็บแปลบที่หน้าอก บริเวณที่อักเสบของปอดและอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้อง

ผู้ป่วยมักหายใจเร็ว หอบเหนื่อย อาจมีอาการปากเขียว ตัวเขียวถ้าเป็นมาก

ในผู้สูงอายุจะไม่มีไข้ แต่อาจมีอาการซึม สับสน

ในทารกหรือเด็กเล็กบางรายอาจมีอาการชักจากไข้ อาการทั่วไปเช่นปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ท้องเดิน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนมร่วมด้วย

หากเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้ออื่นๆ มักมีอาการจากโรคนั้นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส ไอกรน สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส เป็นต้น นำมาก่อน

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้
การหายใจจะเร็วมากในรายที่เป็นมาก ประมาณ 30-40 ครั้ง/นาที เด็กอายุ 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี มากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที ซี่โครงบุ๋ม รูจมูกบาน ตัวเขียว ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บเขียว เกิดภาวะขาดน้ำ

เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอดบริเวณปอดส่วนล่างจะได้ยินเสียงกรอบแกรบข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ในบางรายอาจได้ยินเสียงอึ๊ด เสียงวี้ด ตรงที่ใดที่หนึ่ง

บางรายที่ปอดข้างใดข้างหนึ่งเกิดอาการเคาะทึบ ได้ยินเสียงหายใจค่อยเมื่อใช้เครื่องฟังตรวจ

โรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น เริมริมฝีปาก ผื่นของหัด อีสุกอีใส โรคมือเท้าปาก อาจพบอาการของโรคนี้ได้ในบางราย

ผื่นตามผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไมโคพลาสมาหรือคลามีเดีย ในระยะแรกอาจไม่พบเสียงผิดปกติในการตรวจฟังปอดก็เป็นได้

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นเกิดหลอดลมพอง ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ ฝีในปอด

เมื่อเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้โลหิตเป็นพิษ สมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ เบื่อบุช่องท้องอักเสบ  ข้ออักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน เป็นต้น

อาการที่ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ อาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ภาวะช็อกจากโรคติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

การรักษา
1. หากเกิดอาการหายใจเร็วผิดปกติ ซี่โครงบุ๋ม ตัวเขียว จากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมาก่อน ควรใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาในระยะเริ่มแรก เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน ควรให้อีริโทรไม่ซินเพื่อครอบคลุมเชื้อไมโครพลาสมา และคลามีเดียในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว และให้การรักษาตามอาการ และควรติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด

ควรให้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันนาน 10-14 วันหากอาการดีขึ้นใน 3 วัน และควรรีบส่งโรงพยาบาลเมื่อมีอาการหอบมากหรืออาการไม่ดีขึ้น

2. ในกลุ่มผู้ป่วยที่ควรส่งโรงพยาบาลด่วนถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรง และควรให้น้ำเกลือระหว่างเดินทางเช่น ทารก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคทางปอดหรือโรคหัวใจอ่อน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้มีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม ตัวเขียว สับสน หรือซึม เหล่านี้ควรได้รับการตรวจวินิฉัย เอกซเรย์ปอด ตรวจหาเชื้อสาเหตุ ตรวจระดับอิเล็กโทรไลต์และออกซิเจนในเลือด

ให้การรักษาโดยการให้ออกซิเจน น้ำเกลือ ยาลดไข้ ยาต้านจุลชีพตามชนิดของเชื้อที่พบ เช่น
-เชื้อสเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย ให้ฉีดเพนิซลลินวี หรือเพนิซิลลินจี เข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ
-เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส หรือเคล็บซิลลา ให้ฉีดเซฟาโลสปอรินเข้าหลอดเลือดดำ
-เชื้อไมโคพลาสมา หรือคลามีเดีย ให้เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน หรืออีริโทรไมซิน
-เชื้อนิโมซิสติสคาริไน ให้ โคโตรม็อกซาโซล
-เชื้อเริมหรืออีสุกอีใส-งูสวัด ให้อะไซโคลเวียร์
-เชื้อไข้หวัดใหญ่ ให้อะแมนทาดีน

ในรายที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องในระยะเริ่มแรกมักจะหายเป็นปกติและไม่มีภาวะแทรกซ้อน สำหรับผลการรักษาก็อาจขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของเชื้อโรคนั้นๆ ว่ามีอาการรุนแรงหรือติดเชื้อร้ายแรงหรือไม่ที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและมีอันตรายถึงชีวิต

ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่มีอาการไอ และหอบ มักมีสาเหตุจากปอดอักเสบ
2. ปอดอักเสบจากเชื้อไมโครพลาสมา พบได้บ่อยในวัยรุ่นหนุ่มสาว มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ  เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอแห้งๆ และรุนแรง มีเสมหะ แต่ไม่มีอาการหายใจหอบรุนแรง ลักษณะอาการจะตอบสนองต่อการักษาได้ดี มักเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจหายได้เอง หรืออาจมีอาการไอและอ่อนเพลียอีกหลายสัปดาห์หรืออาจถึง 3 เดือน หลังจากหายจากไข้แล้ว
3. โรคนี้มักจะหายขาดได้แม้จะมีอันตรายร้ายแรง ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหากสงสัยว่าเกิดโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง

การป้องกัน
1. ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
2. ควรใช้เข็มและกระบอกฉีดยาที่ได้รับการฆ่าเชื้อแล้ว
3. ควรเก็บน้ำมันให้ห่างมือเด็กเพื่อป้องกันการกลืนกินเข้าไป
4. เด็กทุกคนคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน หัด อีสุกอีใส
ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย หรือนิวโมค็อกคัสในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
5. ควรให้การดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ เมื่อมีเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส เป็นต้น
6. ไม่สูบบุหรี่เพื่อป้องกันโรคทางปอดเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบ ถุงลมปอดโป่งพอง เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า