สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การบรรเทาอาการปวดประสาทและกล้ามเนื้อแบบเซนต์จอห์น(St.John’s Neuromuscular Therapy หรือ St.John’s Neuromuscular Pain Relief)

เป็นวิธีการบำบัดรักษาส่วนของกล้ามเนื้อ-ประสาทในเชิงกายภาพบำบัด และใช้เทคนิคการฟื้นสมรรถภาพหลายอย่างเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและการทำงานที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม

เซนต์จอห์น ซึ่งอาศัยอยู่ในนิวยอร์ค ได้พัฒนาวิธีการนี้ขึ้นมาเพื่อบรรเทาอาการปวดของตัวเอง ซึ่งวิธีนี้มีวิวัฒนาการทำนองเดียวกันกับวิธีการบำบัดอื่นๆ มากมาย

พอล เซนต์จอห์น ได้รับบาดเจ็บอย่างร้ายแรงจากอุบัติเหตุรถยนต์ในปี ค.ศ. 1974 จนเขาไม่สามารถกลับไปทำงานเป็นคนเก็บขยะอย่างเดิมได้เนื่องจากมีความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา

ตลอดระยะเวลา 4 ปีหลังจากนั้น ความเจ็บปวดก็ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา นับตั้งแต่ตอนที่เขาประสบอุบัติเหตุรถยนต์ และก่อนหน้านั้นก็ยังรู้สึกเจ็บปวดกับการบาดเจ็บสมัยอยู่โรงเรียนมัธยมที่เคยหลังหักมาแล้วครั้งหนึ่ง และสมัยที่เป็นทหารอยู่ในเวียดนามเขาเคยติดอยู่ในเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกยิงตก แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วแต่เขาก็ยังตื่นขึ้นมาในตอนเช้าพร้อมกับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและมีความเจ็บปวดในบริเวณอื่นๆ ด้วย

เขาได้ใช้เงินไปกับการรักษาตัวกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ด้านประสาท รวมทั้งแพทย์ที่รักษาโรคในแผนไคโรแพร็คทิค ในช่วงเวลา 4 ปีนี้ รวมเป็นเงินกว่า 50,000 ดอลลาร์ ยาที่ใช้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อก็ไม่ได้ผล อาการปวดที่บั้นเอวที่ว่ารุนแรงแล้วนั้นยังไม่เท่าอาการปวดคอและไหล่ เพื่อเป็นการบรรเทาอาการปวดเขาจึงเริ่มบีบเนื้อเยื่อบริเวณนั้นซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของคนเรา โดยที่เขาไม่ได้คิดอะไร โดยปกติถ้ามีอาการปวดเมื่อยมากๆ เราก็มักจะบีบ-จับประคองบริเวณนั้นโดยไม่รู้ตัว

เซนต์จอห์นได้ค้นพบว่าเวลาที่แตะตรงจุดๆ หนึ่งที่คอของเขา อาการปวดในส่วนอื่นๆ ที่ศีรษะจะหายไป แม้ในสมัยนั้นเขายังไม่รู้ถึงหลักการเรื่องจุดทริคเกอร์ก็ตาม เขาได้นำเรื่องนี้ไปบอกเล่าให้แพทย์ฟังก็ไม่ได้รับความสนใจ จนผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทคนหนึ่งต้องส่งเขาไปหาจิตแพทย์ และได้สรุปว่าอาการปวดของเขาเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่เขามีกับมารดา ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องมาจากภาวะจิตใจ โดยเซนต์จอห์นไม่ยอมรับเกี่ยวกับคำอธิบายนี้

เขาจึงได้รู้ว่าการที่จะหายจากอาการป่วยนี้เขาจะต้องลงมือกระทำด้วยตัวเอง เซนต์จอห์นได้เริ่มอ่านข้อเขียนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มที่ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาธ์ ฟลอลิด้าในปี ค.ศ.1976 เพื่อนคนหนึ่งของเขาในตอนนั้นที่ชื่อ ริชาร์ด แฮมิลตัน กำลังฝึกรักษาโรคตามแผนไคโรแพร็คทิคส์อยู่และได้ไปร่วมสัมมนาภาคปฏิบัติกับ ดร. เรย์มอนด์ นิมโม ดร.นิมโมได้พัฒนาเทคนิคการนวดที่เขาตั้งชื่อไว้ว่า เทคนิครีเซ็พเตอร์ โทนัส(Receptor tonus) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันต่อมาในภายหลังในนามของเทคนิคนิมโม

เมื่อแฮมิลตันได้เรียนเทคนิคของนิมโมมาแล้วก็อยากจะลองทั้งที่ไม่ค่อยจะสนใจเทคนิคนี้มากนัก โดยได้นำเทคนิคนี้ไปทดลองกับสุนัขของตัวเองที่เป็นอัมพาตตรงขาหลังทั้งสองข้างเนื่องจากถูกรถชน แฮมิลตันรู้สึกทึ่งหลังจากที่ใช้การนวดในเทคนิคนิมโมแล้วพบว่า สุนัขของเขาเริ่มเดินได้อีก

เซนต์จอห์นจึงไปให้แฮมิลตันรักษา ในเช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็ได้หายจากอาการปวดศีรษะ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาหลายปี เมื่อเป็นเช่นนี้เซนต์จอห์นจึงไปเรียนที่วิทยาลัยพาล์เมอร์ในหลักสูตรของ ดร.นิมโม แม้จะเรียนจบแล้วแต่เซนต์จอห์นยังคิดว่ายังมีสิ่งที่เขาจะต้องเรียนรู้อีกจึงได้กลับไปอ่านหนังสือในห้องสมุดอีกหน

เขาได้ศึกษากลไกที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดจากหนังสือ และได้พัฒนาเทคนิค นิวโรมัสคูลาร์ หรือเทคนิคกล้ามเนื้อ-ประสาทขึ้นมาบำบัดอาการปวด เขาได้สอนเทคนิคนี้ให้กับเพื่อนๆ เพื่อจะได้มานวดให้เขาได้

เมื่อเวลาล่วงเลยไปราวหนึ่งปี ร่างกายของเซนต์จอห์นก็เริ่มหายดีและปลอดจากอาการปวด และเซนต์จอห์นก็ได้พัฒนาวิธีการที่เรียกว่า นิวโรมัสคูลาร์ เธราพี(Neuromuscular therapy)ของเขาขึ้นมาหลังจากที่ใช้เวลาขลุกอยู่ตามห้องสมุดของโรงเรียนแพทย์มานับพันๆ ชั่วโมง และจากการดำเนินงานวิจัยเชิงคลินิกอย่างกว้างขวางมาแล้ว เขาเริ่มจัดสัมมนาเพื่อสอนเทคนิคเหล่านี้ให้กับนักวิชาชีพที่ทำงานในด้านการรักษาสุขภาพและรักษาโรคขึ้นในปี 1978 และเรียกชื่อวิธีการของเขาว่า “วิธีเซนต์จอห์น” หรือ St. John Method

มีหลักการอยู่ 5 ประการในการบำบัดที่กล้ามเนื้อ-ประสาท คือ
1. ไบโอเม็คคานิคส์(biomechanics) หรือกลไกชีวภาพ
2. อิสเคเมีย(ischemia) หรือการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
3. จุดทริกเกอร์(trigger points) หรือจุดที่ส่งผลถึงบริเวณต่างๆ ของร่างกาย
4. เนิร์ฟ เอ็นแทรพเมนต์(nerve entrapment) หรือเนิร์ฟ คอมเพรสชัน(nerve compression) คือการกดประสาท กับการบิดเบี้ยวของท่าการทรงตัว
5. โพสทูรัว ดิสทอร์ตชัน(postural distortion)

หากมีความผิดปกติของหลักสำคัญ 5 ประการที่กล่าวมา การทำงานของระบบประสาทอาจเกิดการผิดพลาดหรือสะดุดขึ้นมาได้ และจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางสรีระและเกิดความเจ็บปวดในที่สุด

วิธีการบำบัดรักษากล้ามเนื้อ-ประสาทแบบของเซนต์จอห์นมีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างระบบกล้ามเนื้อ-กระดูกกับประสาทเป็นการช่วยบรรเทาอาการปวดและความผิดปกติของร่างกาย อาการเจ็บปวดที่เนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มทุกส่วนของร่างกาย รวมทั้งที่คอ ไหล่ ลำตัวท่อนบน แนวกระดูกสันหลัง ปลายนิ้ว มือ และเท้า สามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้รักษาได้

ประโยชน์จากเทคนิคเซนต์จอห์น สามารถทำให้หายจากอาการปวดบั้นเอว คอ ไหล่ อาการคอเคล็ด อาการปวดศีรษะเรื้อรัง ไมเกรน ปวดข้อต่อ ความเจ็บปวดจากท่าทรงตัวที่ไม่ดี และอื่นๆ อีกมากมาย

วิธีการของเซนต์จอห์นในทุกวันนี้ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพมาก พอล เซนต์จอห์นได้จัดโปรแกรมการฝึกนวดตามแบบของเขาเองขึ้นมาโดยนำเอาวิธีการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดหลายแบบมารวมเข้าด้วยกัน ในสหรัฐฯ วิธีการสอนนี้มีทั่วไป ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องเข้าเรียนในแบบสัมมนาภาคปฏิบัติ 4 ครั้ง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถติดต่อขอได้จากสถาบันบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ-ประสาท เซนต์จอห์น หรือ St. John Neuromuscular Pain Relief Institute ตามที่อยู่ดังนี้
10950 72nd Street
Suite 101
Largo, FL 34647
USA.

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า