สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เรื่องของผู้หญิงปวดประจำเดือน

ประจำเดือนหรือที่บางคนเรียกว่า ระดู หรือ เมนส์ ซึ่งจริงๆ แล้ว ประจำเดือนเป็นเรื่องของธรรมชาติของผู้หญิง การมีประจำเดือนเป็นเครื่องหมาย ของสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 12 – 55 ปี โดยประมาณ ประจำเดือนของผู้หญิงนั้น เกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาซึ่งเป็นวงจรในแต่ละรอบเดือน รังไข่ข้างใดข้างหนึ่งของผู้หญิงจะเกิดการตกไข่ขึ้น ไข่ที่โตเต็มที่จะตกจากรังไข่เข้าไปรอการผสมกับอสุจิที่ท่อนำไข่ ขณะเดียวกันเปลือกไข่ ที่เหลืออยู่ก็จะทำการสร้างฮอร์โมนเพศที่เรียกว่า โปรเจสเตอโรน มาทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนานุ่ม มีเลือดมาเลี้ยงมาก เพื่อเตรียมตัวรับไข่ที่ถูกปฏิสนธิจากตัวอสุจิ ถ้ามีการปฏิสนธิเกิดขึ้น แต่ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสมจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ฝังตัวของไข่ ก็จะหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน เพราะเยื่อบุมดลูกที่ถูกขับออกมาจะเป็นการถ่ายเทของเก่าเพื่อสร้างของใหม่ ทำให้ไม่มีของเสียคั่งค้างภายในจึงนับว่าเป็นผลดีของการมีประจำเดือน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงส่วนมากก็ยังรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่อยากให้ช่วง เวลานั้นของเดือนมาถึง เพราะกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนไป เช่น ต้องงดการว่ายนํ้า หรือกระโดดโลดเต้น และต้องคอยระมัดระวัง กังวลกับ รอยซึมเปื้อน ทำให้ความมั่นใจลดลง รวมไปถึงความรู้สึกไม่สบายกายอีกมากมาย เช่น อาการวิงเวียน คลื่นไส้ ท้องอืด เบื่ออาหาร หงุดหงิด มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เนื่องมาจากฮอร์โมนเพศลดลงจากระดับปกติ ที่สำคัญผู้หญิงจำนวนไม่น้อยยังต้องประสบกับปัญหาปวดท้องขณะมีประจำเดือน ซึ่งสร้างความทรมานทั้งทางร่างกาย และอารมณ์ จนบางครั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงาน ปกติได้

ความจริงแล้ว อาการปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่อง ผิดปกติเพียงแต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงบางคนที่มดลูกมีการบีบรัดตัวอย่างรุนแรงเท่านั้น โดยธรรมชาติการทำงานของมดลูกซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบ จะมีทั้ง การบีบตัวและการคลายตัว มดลูกจะบีบตัวเพื่อไล่เลือดที่อยู่ในมดลูกออก ผู้หญิง ส่วนมากจะไม่มีอาการหรือบางคนอาจมีอาการเหมือนคนปวดท้องถ่าย แต่ในบางคนจะปวดประจำเดือนมาก สาเหตุอาจเกิดจากพรอสตาแกนดิน ซึ่งเป็นสารอย่างหนึ่งในร่างกายไปกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัวอย่างรุนแรง หรืออาจเกิดจากการมีก้อนเนื้องอกในมดลูก อาการปวดจะปวดก่อนมีประจำเดือนหลายวัน เมื่อประจำเดือนมาอาการปวดจะทุเลาลง หรืออาจปวดตลอดช่วงที่มีประจำเดือนก็ได้ ผู้ที่มีอาการปวดมากอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือปวดศีรษะร่วมด้วย

ทำอย่างไรจะไม่ปวดประจำเดือน จึงเป็นคำถามที่ผู้หญิงจำนวนมาก พยายามหาคำตอบ เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน จากอาการปวดประจำเดือน จึงขอแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อลดอาการปวดประจำเดือน ดังนี้

1.  ควรรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เช่น ผัก ผลไม้ เพิ่มการรับประทาน เนี้อปลา หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารสำเร็จรูป เนื้อแดง นม และอาหารรสเค็ม การปรับอาหารควรทำก่อนมีประจำเดือน 14 วัน

2.  การออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ   สมองจะหลั่งสารเอ็นโดฟินออกมา สารนี้จะทำให้เกิดความสุข ผ่อนคลาย หายเครียด และที่สำคัญคือแก้ปวดได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย

3.  การใช้ยาแก้ปวด ยาที่นิยมใช้คือ ยาพรอนสแตน ยาแอสไพริน  บรูเฟ่น เนื่องจากยากลุ่มนี้ลดการสร้างพรอสตาแกนดิน จึงช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ได้เป็นอย่างดี การใช้ยากลุ่มนี้ควรกินก่อนมีประจำเดือน 3 วัน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เวลาหลังอาหารในกรณีเป็นการป้องกัน แต่หากเกิดอาการปวดแล้วสามารถ กินยาดังกล่าวข้างต้นได้หรืออาจกินยาพาราเซตามอลซึ่งเป็นยาที่ใช้แก้ปวดได้ผลดี นอกจากนี้ยังมีผู้แนะนำว่าสมุนไพรบางตัว เช่น ตังกุย พริมโรสออย จะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้และการดื่มนํ้าขิงอุ่นๆ จะช่วยทำให้อาการคลื่นไส้ อาเจียนลดลง

การดูแลสุขภาพในช่วงของการมีประจำเดือน ยังมีสิ่งที่ควรรู้อีกมากซึ่งจะ ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับความเชื่อ และข้อห้ามที่ยังเป็นที่กังขากันอยู่ว่าปฎิบัติได้หรือ ไม่ได้ไนขณะมีประจำเดือน

 

เกี่ยวกับความเชื่อซึ่งยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าถูกหรือผิด เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวขณะมีประจำเดือนได้แก่

1.  เวลามีประจำเดือนห้ามอาบนํ้าเย็น มักจะมีการสอนหรือการบอกเล่า ต่อๆ กันมา บางคนอาจสงสัยว่าจริงหรือ ในความเป็นจริงแล้วคงไม่ใช่ปัญหา แต่การสอนสั่งกันมา เป็นความหวังดีของผู้ใหญ่ ในแง่ที่ว่าเวลามีประจำเดือนนั้น ฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิงจะแปรปรวน ไม่สมดุล ทำให้ป่วยได้ง่าย ภูมิคุ้มกันลดลง การอาบนํ้าเย็น จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายต้องปรับตัว บางครั้งอาจเกิดเจ็บป่วยได้ หลักปฏิบัติ คือ ในขณะมีประจำเดือนสามารถอาบนํ้าอุณหภูมิปกติที่ไม่เย็นจัดได้ และหลังจากอาบนํ้าเสร็จแล้ว ก็ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น

2.  ห้ามรับประทานนํ้าแข็งหรือของที่เย็นๆ ก็คงจะเป็นเหตุผลเดียวกับการ อาบนํ้าเย็นนั่นแหละ จริงๆ แล้วรับประทานได้ แต่อย่ามากจนเกินไป ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ยิ่งถ้าเป็นคนที่สุขภาพดีอยู่แล้ว หรือร่างกายมีความเคยชินอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหากับสุขภาพ

3.  ห้ามออกกำลังกายเวลามีประจำเดือน       คงเป็นความเชื่อที่ผิดๆ อย่าง แน่นอนในกรณีนี้ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้สมองหลั่งสารเอ็นโดฟิน ซึ่งทำให้เกิดความสุข รู้สึกผ่อนคลาย หายเครียด และยังช่วยลดอาการปวดได้ด้วย ข้อแนะนำ คือ ควรออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอและเหมาะสม เช่น การวิ่งอยู่กับที่ การเต้นแอโรบิค การเดินวันละ 15 – 20 นาที การออกกำลังกายเป็นประจำและสมํ่าเสมอ จะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายโดยรวมเป็นไปด้วยดี และสิ่งที่สำคัญคือ ช่วยให้ร่างกายสามารถทนกับความเจ็บปวดได้มากขึ้น

4.  ห้ามอาบนํ้าในคลองหรือในทะเล   เรื่องนี้มีเหตุผลที่ว่านํ้าในแม่นํ้าลำคลอง รวมทั้งทะเล อาจไม่สะอาดพอ เนื่องจากมีของสกปรกหรือนํ้าเสียไหลลงไปปนเปื้อน ซึ่งอาจมีเชื้อโรคเข้าไปในช่องคลอด และผ่านปากมดลูกเข้าไปใน โพรงมดลูก ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย จึงมีข้อห้ามที่ควรปฏิบัติในขณะมีประจำ เดือน คือ ไม่ควรอาบนํ้าโดยการแช่ตัวในแม่นํ้าลำคลอง ทะเล หรือสระว่ายนํ้า

5.  ห้ามมีเพศสัมพันธุ์ในเวลามีประจำเดือน   ประเด็นนี้อาจไม่ใช่ข้อห้าม เพียงแต่ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดให้มากกว่าปกติ และควรแนะนำให้ ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง และควรจะหลั่งภายนอกจะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงมากกว่า

จากการได้พูดคุยเกี่ยวกับการมีประจำเดือนและการปฏิบัติตัวที่ผ่านมา คงจะทำให้ท่านได้รับความรู้มากขึ้นในการปฏิบัติตนขณะมีประจำเดือน

นอกจากการปฏิบัติตัวที่กล่าวมาแล้ว ยังควรคำนึงถึงการทำความสะอาดร่างกาย ให้มากกว่าปกติโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ ขณะเดียวกันควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในขณะมีประจำเดือน คือไม่สวมเสื้อผ้าที่หลวมหรือคับจนเกินไป ในด้านจิตใจ ควรทำใจให้สบาย ทำอารมณ์ให้สดชื่น แจ่มใส ไม่คิดฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นอยู่กับความเครียด และควรมีความเชื่อมั่นว่าในขณะมีประจำเดือนผู้หญิง ทุกคนก็สามารถทำกิจกรรมทุกอย่างได้ตามปกติ เท่านี้คุณก็จะมีความสุข ไม่เป็นทุกข์ และวิตกกังวลกับการมีประจำเดือนอีกเลย

นิภาวรรณ  สามารถกิจ

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า