สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปวดท้อง (Abdominal pain)

ปวดท้อง
อาการปวดท้องเป็นสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งที่นำผู้ป่วยเด็กมาหาแพทย์ อาการปวดท้องที่เป็นอยู่นานติดต่อกันกว่า 6 ชั่วโมง และมีอาการรุนแรงขึ้น มักเป็นชนิดที่มี organic disease และต้องรักษาโดยการผ่าตัด

ในกลุ่มทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน สาเหตุที่พบบ่อยคือ Infantile colic ทารกจะร้องปวดท้อง ซึ่งสังเกตได้โดยที่ทารกจะงอขาเข้าหาตัว ไม่ยอมดูดนม หายใจกลั้น จะร้องเช่นนี้เป็นเวลานานๆ ติดต่อกันในเวลาเดียวกันทุกวัน ทารกจะมีสุขภาพดีทุกอย่างอาจมีท้องอืดเล็กน้อย ไม่ทราบสาเหตุแน่นอน คิดว่าเกิดจากการให้นมที่ไม่ถูกวิธี ทารกกลืนลมเข้าไปมาก มักเป็นหลังมื้อนมประมาณ 1 ชั่วโมง สาเหตุอื่นที่ร้ายแรง ในช่วงอายุนี้คือ acute enteritis และ strangulated bowel.

ใน late infancy อาการปวดท้องรุนแรงที่เป็นอย่างเฉียบพลันและเป็น พักๆ ประกอบกับพบว่ามีมูกเลือดในอุจจาระ ควรนึกถึง intussusception โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราตรวจได้ก้อนในท้อง ลักษณะแบบ sausage.

สาเหตุที่พบบ่อยในกลุ่มวัยเรียน และเด็กโตคือ

1. โรคพยาธิในลำไส้ (parasitic infection) การตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยปวดท้องจากพยาธิ การที่ผู้ป่วยหายปวดท้องหลังจากได้รับการรักษาพยาธินั้น และไม่กลับเป็นอีก เป็นการพิสูจน์ที่ดี การส่งตรวจอื่นๆ เช่น plain abdomen, GI studies อาจมีประโยชน์ แต่ไม่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่คลินิกผู้ป่วยนอก

2. ไส้ติ่งอักเสบ (appendicitis) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของการผ่าตัด ช่องท้องในเด็ก ให้การวินิจฉัยได้ลำบาก มักจะได้ประวัติว่าปวดท้อง ซึ่งมักไม่ชัดเจนแบบผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะชี้ได้ยากว่าปวดที่ใด มักจะชี้ว่าปวดบริเวณสะดือเป็นส่วนมาก มีอาการอาเจียนเป็นอาการสาคัญร่วมกับมีไข้ ต้องสงสัยไส้ติ่งอักเสบเมื่ออาการปวดไม่หายไปเลยเป็นชั่วโมง อาการปวดจะน้อยลง เมื่อไส้ติ่งอักเสบจนทะลุ ซึ่งอันตรายมาก การตรวจร่างกายได้จุดที่เจ็บที่สุดที่ McBurney’s point หรือส่วนล่างด้านขวาของท้อง ประกอบกับ psoas sign หรือ obturator sign ได้ผลบวก จะทำให้คิดถึงโรคนี้มากขึ้น

3. Peptic ulcer disease ในเด็กวัยรุ่นจะมีอาการคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ แต่ในเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอาการปวดไม่แน่นอน มักปวดรอบสะดือหรือบริเวณลิ้นปี่ (epigastrium) และมีอาการอาเจียนร่วมด้วยเสมอ อาการปวดท้องมักไม่สัมพันธ์กับอาหาร มีส่วนน้อยที่ปวดท้องกลางคืนหรือเวลาหิว และอาการดีขึ้นเมื่อได้กินอาหารหรือดื่มนม ประมาณร้อยละ 50 มีถ่ายอุจจาระดำและอาเจียนเป็นเลือด อาจมาด้วยอาการซีดและมี occult blood ในอุจจาระได้

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึง    การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ,
gynecologic disorders และ recurrent abdominal pain ด้วย

สาเหตุแบ่งตามระบบ

1 . Intra-abdominal causes

1.1 Gastrointestinal system : infantile colic, peptic ulcer, parasitic infection, constipa¬tion, diarrhea, Schonlein-Henoch purpura, angioneurotic edema, acute abdomen เช่น acute appendicitis, volvulus, strangulated hernia, intussusception เป็นต้น

1.2 Genitourinary system : acute glomerulonephritis (early), renal stone, bladder stone, hematocolpos, PID, torsion of ovarian cyst or testes

1.3 Liver and gall bladder : hepatitis, choledochal cyst, cholelithiasis

1.4 Spleen : congestion, rupture

1.5 Mesenteric lymphadenitis

2. Extra-abdominal causes

2.1 Lungs : RLL pneumonia

2.2 Heart : pericarditis, rheumatic fever
2.3 Metabolic : lead poisoning, diabetic acidosis, acute porphyria

3. Recurrent abdominal pain พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของเด็กวัย เรียน มักเป็นกับเด็กอายุ 8-15 ปี ตรวจพบสาเหตุทางกายเพียงร้อยละ 10 มักจะมีอาการปวดท้องทั่วไป หรือเปลี่ยนตำแหน่งที่ปวดไปเรื่อยๆ มีภาวะเครียดทางด้านจิตใจร่วมด้วยในขณะนั้น ตรวจร่างกายไม่พบว่ามีเจ็บชัดเจน, ไม่มีท้องอืด หรือ muscle spasm มักจะซักได้ประวัติเช่นเดียวกันในครอบครัวหรือบิดามารดามีอาการเช่นเดียวกันตอนเด็ก หรือมีบุคคลอื่นในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ เป็นต้น และเด็กเหล่านี้เมื่อติดตามต่อไปพบว่ามีอาการกลุ่ม irritable bowel ตอนโตได้

ประวัติ
1. ลักษณะอาการปวดท้อง ปวดบิด ตื้อ จี๊ด เป็นพักๆ เริ่มปวดทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป ปวดนานเท่าไร ตำแหน่งร้าวไปที่ใด เวลาที่ปวดก่อนหรือหลังอาหาร หรือขณะที่นอนหลับ

2. มีอาการทางระบบทางเดินอาหารอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น อาเจียน ท้องร่วง เหลือง

3. มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือพฤติกรรม เช่น เปลี่ยนโรงเรียน เปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนตำแหน่งที่ปวดท้องไปเรื่อยๆ

4. มีอาการทาง systemic เช่น ไข้

5. ประวัติประจำเดือน

ตรวจร่างกาย
ตรวจทั่วไปและ PR ด้วย พร้อมทั้งสังเกตความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับผู้ปกครอง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตรวจอุจจาระโดยหา occult blood ด้วย และตรวจปัสสาวะ ส่งตรวจ ทางรังสีในกรณีที่สงสัย peptic ulcer disease ซึ่งอาจไม่พบแผลได้ ในเด็กโตควรส่งทำ endoscopy ต่อไป การส่ง plain abdomen ในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดท้องอย่างเดียวโดยตรวจไม่พบอะไรผิดปกติร่วมด้วยเลย จะได้ประโยชน์น้อยมาก นอกจากจะบังเอิญพบว่ามี opaque calculi หรือ appendicoliths ร่วมด้วย

การรักษา
1. รับไว้ในโรงพยาบาลทุกรายที่เป็น acute abdomen

2. การรักษาในกรณีที่เป็น infantile colic แพทย์ควรอธิบายให้บิดา มารดาเข้าใจว่าเป็น developmental problem ซึ่งจะหายไปเมื่อทารกอายุมากขึ้นและให้คำแนะนำในการให้นมต้องระวังไม่ให้ทารกดูดลมเข้าไปมาก จับเรอเป็นระยะระหว่างให้นม การอุ้มเดินร้องเพลงกล่อมหรือแกว่งไกวเป็นจังหวะช่วยได้ในทารกบางราย

ในกรณีที่เป็นมากการให้ยา antispasmodic เช่น Donnatal elixirR (phenobarb 16.2 มก./ซซ.) หรือ phenobarb elixir  ประมาณ ½  หรือ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะเป็น หรือให้พวก gripe water ผสมนมจะช่วยบรรเทาอาการได้

3. การรักษาในกรณีที่เป็น peptic ulcer รักษาแบบผู้ป่วยนอก เมื่อไม่มี อาการแทรกซ้อน เช่น intractable pain, hemorrhage, perforation หรือ obstruction โดยงดอาหารที่จะกระตุ้นให้ปวดท้อง เช่น อาหารรสเผ็ดจัด ชากาแฟ ไม่ควรกินอาหารจุกจิก และไม่กินอาหารก่อนนอน เพราะจะกระตุ้นให้กรดออกมาก ให้ยา antacids 15-30 มล.หรือ 30 มล./1.73 ม2 1 ชม. และ 3 ชม.หลังอาหาร และ ก่อนนอนเป็นเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วย แผลจะหาย แล้วค่อยๆ ลดขนาดลง ยากลุ่ม receptor antagonists ได้แก่ cimetidine 800 มก./1.73 ม2 /วัน แบ่ง 4 ครั้ง (มีผลข้างเคียงคือ gynecomastia) หรือ ranitidine 300 มก./1.73 ม2/วันๆ ละ 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้งก่อนนอน

4. การรักษาในกรณีที่เป็น recurrent abdominal pain หลังจากที่ ตรวจไม่พบสาเหตุทาง organic โดยการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว แพทย์ควรอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าอาการนี้เป็นสัญญาณบอกเหตุของปัญหาด้านจิตใจที่อยู่ลึกลงไป โดยต้องใช้เวลาพอสมควรหลังจากได้พบผู้ปกครองและผู้ป่วยหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่พูดในการมาตรวจครั้งแรกเลย ทั้งทีแน่ใจว่าเป็นโรคนี้ การพูดคุยกันเพื่อช่วยแก้ไขสภาพการณ์ และสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้อาการต่างๆ ดีขึ้น

ที่มา:ลัดดา  เหมาะสุวรรณ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า