สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ประโยชน์ของนมแม่

นมแม่ เป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์และโภชนากรทั่วโลกแล้วว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในระยะแรก ด้วยนมของสัตว์ชนิดใดก็เหมาะกับความเจริญเติบโตของลูกสัตวชนิดนั้น นมของวัวจึงเหมาะกับลูกวัว และนมคนก็เหมาะกับลูกคน ดังนั้นถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ หรือแพทย์ห้ามแล้ว ควรให้ลูกดื่มนมของตนเองนมแม่

ประโยชน์ของนมแม่
ด้วยนมแม่เป็นยอดอาหารของทารก ทารกที่ได้ดื่มนมแม่จะเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งนี้เนื่องจากคุณสมบัติอันล้ำค่าของนมแม่ ดังต่อไปนี้

1. มีส่วนประกอบของสารอาหารเพียงพอสำหรับทารก ปรกตินมแม่ในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดจะมีปริมาณ 850 มิลลิลิตรต่อวัน และในน้ำนมนั้นจะมีสารอาหารต่างๆ ตั้งแต่ โปรตีน ไขมัน คารโบไฮเดรท เกลือแร่ และวิตะมินครบถ้วนเพียงพอกับความต้องการของทารกในระยะ 4-6 เดือนแรก จะขาดหายไปบ้างก็อาจเป็นธาตุเหล็ก วิตะมินซี และวิตะมินดี น้ำนมแม่จึงมีคุณค่าทางอาหารและมีจำนวนแคลอรี่เหมาะสมกับทารกมากที่สุด ฉะนั้นการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ จะเป็นวิธีการสำคัญในการป้องกันโรคขาดอาหารในทารกได้

2. ให้ภูมิต้านทานโรคติดเชื้อ นอกจากทารกจะได้ภูมิต้านทานโรคจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว ยังได้ภูมิต้านทานโรคจากน้ำนมแม่ด้วย น้ำนมที่หลั่งในระยะ 2-3 วันแรกจะมีสีค่อนข้างเหลือง เรียกกันว่า นมน้ำเหลือง (Colostrum) ซึ่งมีปริมาณไม่มากนัก วันหนึ่งจะหลั่งออกมา 10-40 มิลลิลิตร นมน้ำเหลืองนี้มีประโยชน์มาก เพราะอุดมด้วยเม็ดเลือดขาว โปรตีน วิตะมินเอ และแร่ธาตุหลายชนิดในปริมาณที่มากกว่าในระยะอื่นๆ จึงเป็นภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อ เช่น หวัด โปลิโอ วัณโรค หูน้ำหนวก ฯลฯ ให้กับทารกในระยะ 6 เดือนหลังคลอด และยังช่วยในการระบายท้องทำให้การขับถ่ายเป็นไปตามปรกติ ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานด้วยดี จึงไม่ควรบีบทิ้งควรจะให้ทารกดื่มน้ำนมแม่ในระยะต่อๆ มาก็มีปริมาณภูมิต้านทานที่เหมาะกับทารก ทำให้ทารกมีโรคติดเชื้อน้อย
นมน้ำเหลืองนี้จะมีอยู่ประมาณ 10 วัน ซึ่งหลังจากทารกคลอดได้ 3-4 วัน นมน้ำเหลืองจะเริ่มเปลี่ยนเป็นน้ำนม แล้วอีก 1 สัปดาห์ก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำนมแท้จริงอย่างสมบูรณ์

เนื่องจากอุจจาระของทารกที่ดื่มนมแม่มีภาวะเป็นกรด จึงขัดขวางการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่นเชื้อบิด เชื้อไข้รากสาด และเชื้อรา เป็นต้น

มีหลักฐานเป็นที่ยืนยันได้ว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ จะมีเปอร์เซนต์การป่วยด้วยโรคติดเชื้อง่ายกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ถึง 2 เท่า และมีอัตราการตายด้วยโรคติดเชื้อสูงกว่าถึง 9 เท่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอาจสังเกตได้ว่า แม้คนในบ้านหลายคนจะเป็นหวัด แต่ลูกจะไม่ติดเชื้อหวัด หรือถ้าเป็นก็ไม่รุนแรงอะไรนัก

3. สะดวก น้ำนมแม่ มีพร้อมอยู่เสมอ ต้องการเมื่อไรได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลาเตรียม ไม่ต้องซื้อขวดและหัวนม สะดวกในการนำติดตัวไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องถือ ปริมาณก็เพียงพอ การดูดของทารกจะเป็นการกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมออกมา แม่ทั้งหลายไม่ควรกังวลว่า ปริมาณน้ำนมของตนจะไม่พอกับที่ทารกต้องการ ควรให้เด็กดูดนมเต็มที่เท่าที่ต้องการ ถ้าเด็กมีความสุขดีหลับสบายหลังดูดนม และน้ำหนักขึ้นดีก็แสดงว่าปริมาณพอแน่

4. สะอาดและปลอดภัย น้ำนมแม่ มั่นใจได้ว่ามีความสะอาดปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ และมีอุณหภูมิร้อนเย็นพอเหมาะกับทารก คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีสุขลักษณะไม่ดี อากาศค่อนข้างร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ดี หากเลี้ยงทารกด้วยนมผสมจะต้องรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ขวดนม หัวนม หรือภาชนะต่างๆ ที่ใช้ มิฉะนั้นจะเกิดการบูดเสียได้ง่าย การเตรียมน้ำผสมหากทำไม่ถูกต้องอาจจะจางหรือข้นไปและหากการเตรียมนั้นไม่สะอาดพอก็จะทำให้ทารกท้องเสีย ซึ่งผลจากการท้องเสียทำให้การย่อยและการดูดซึมอาหารเสียไป นอกจากนี้ยังมีการสูญเสียอาหาร น้ำ และเกลือแร่ทางอุจจาระอีก ทำให้ทารกเป็นโรคขาดอาหาร การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นการขจัดปัญหาดังกล่าว

นมแม่ ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ เพราะสะอาดบริสุทธิ์อยู่แล้ว นอกจากในรายที่แม่เจ็บป่วยเป็นโรคติดเชื้อ (โรคติดเชื้อหมายถึงโรคที่เกิดจากการอักเสบจากเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือรา เช่นมารดาเป็นฝี เป็นวัณโรค เป็นไข้รากสาด เป็นต้น) ซึ่งในกรณีเช่นนี้ไม่ควรให้ลูกดูดนม

5. ประหยัด นมแม่ได้ฟรี มีพร้อมอยู่เสมอ ให้ทารกดื่มได้ทันทีที่ต้องการ ไม่ต้องขอ ไม่ต้องเตรียม จึงเป็นการประหยัดทั้งเวลาและเงิน ผิดกับนมกระป๋องหรือนมผสม ซึ่งนอกจากราคาแพง และเสียเวลาเตรียมแล้ว หากมารดาหรือผู้ผสมนมไม่เข้าใจวิธีการผสมนม ทารกก็จะได้นมที่เจือจางดื่มเพียงเพื่อให้อิ่มเท่านั้น ส่วนคุณค่าทางอาหารได้น้อย เป็นเหตุให้ทารกเป็น โรคขาดอาหารได้

6. ขจัดปัญหาภูมิแพ้ ทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่จะไม่มีอาการแพ้ แต่ทารกที่เลี้ยงด้วยนมวัวจะมีภูมิแพ้เกิดขึ้นได้ 1% ซึ่งอาการของการแพ้นมวัวของทารก คือ มีผื่นคันตามผิวหนัง ที่แก้มและที่ข้อพับต่างๆ น้อยรายที่เป็นรุนแรงถึงขั้นอาเจียน หอบ หน้าท้องเกร็ง หรือปวดท้อง ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในระยะ 2-3 เดือนแรกหลังคลอด ผนังลำไส้จะยอมให้โปรตีนขนาดโตผ่านไปได้ ไปทำให้เกิดมีปฏิกิริยาภูมิแพ้ในระยะต่อมาเมื่อทารกได้โปรตีนชนิดนั้นเข้าไปอีก

ที่เห็นกันชัดๆ ก็คือทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ มีการแหวะนมหรืออาเจียนน้อยกว่าในรายที่เลี้ยงด้วยนมขวด

7. ความอบอุ่นทางจิตใจ การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ทำให้แม่และลูกมีความรักความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะมีการกอดรัดสัมผัสกันทางกาย และขณะที่ทารกนอนในตักดูดนมก็จะมองตาแม่ทำให้ลูกได้รับความอบอุ่น สุขใจและพอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทั้งทางกายและทางสมองของลูก นอกจากนั้นในขณะที่ให้นมลูก แม่มักจะได้ลูบคลำ เอาใจใส่และสังเกตเห็นความผิดปรกติของลูกที่อาจเกิดมีขึ้นได้

8. ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว การให้ลูกดูดนมในสัปดาห์แรกช่วยกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และช่วยลดอันตรายที่เกิดจากการตกเลือดได้อีกด้วย

9. ช่วยไม่ให้เป็นมะเร็งที่เต้านม ในวงการแพทย์เชื่อกันว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง ช่วยไม่ให้ผู้หญิงเป็นมะเร็งที่เต้านมได้ในภายหลัง เพราะเต้านมได้มีโอกาสทำหน้าที่ตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ โอกาสที่จะเป็นมะเร็งที่เต้านมก็จะลดน้อยลง

10. ไม่เกิดปัญหาโรคอ้วน ในขณะมีครรภ์ร่างกายของแม่จะสะสมความสมบูรณ์ไว้ เพื่อบำรุงทารกในครรภ์และเพื่อใช้ผลิตนมให้ลูกกิน เมื่อให้ลูกกินนมความอ้วนของแม่ที่มีก่อนคลอดจะลดลงจนกลับสู่สภาพปรกติเหมือนก่อนคลอด โดยไม่ต้องอดหรือลดอาหาร เพราะไขมันส่วนเกินบริเวณสะโพก หรือหน้าขาจะถูกใช้ไปในระยะการให้นมลูก แต่ถ้าให้ลูกกินนมวัวความสมบูรณ์ที่เตรียมสะสมไว้ในร่างกายจึงไม่มีทางระบาย แม่ก็จะอ้วนใหญ่กลายเป็นพะโล้

สำหรับลูก ด้วยนมแม่มีคุณค่าและปริมาณพอเหมาะสำหรับทารก การให้ลูกดูดนมแม่ เมื่ออิ่มเด็กก็จะหยุดดูด จึงไม่ทำให้อ้วน ต่างจากการเลี้ยงด้วยนมผสม ซึ่งคนเลี้ยงมักจะขยั้นขยอให้ทารกกินจนหมดขวดจึงมักเกิดปัญหาการให้อาหารมากเกินไป เกิดโรคอ้วนขึ้นได้ โรคอ้วนนี้เป็น กันมากในประเทศที่ใช้นมผสมเลี้ยงทารก เพราะนอกจากจะให้ดื่มวันละมากๆ แล้วยังให้อาหารเสริมมากกว่าที่ทารกต้องการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะไม่เกิดปัญหาการให้นมมากเกินไป

11. ผลต่อการวางแผนครอบครัว การเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองทำให้แม่มีประจำเดือนช้ากว่าผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมวัวหรือนมผสม โดยเฉลี่ยแม่ที่ให้นมลูกเต็มที่ คือให้ทุกวันทั้งกลางวัน และกลางคืน จะมีประจำเดือนหลังคลอดแล้ว 8-12 เดือน และอาจทำให้รังไข่ผลิตไข่ช้ากว่าปรกติ แต่ถ้าไม่เลี้ยงด้วยนมแม่จะมีประจำเดือน 2-4 เดือนหลังคลอด เหตุนี้แม่ที่ให้นมลูกเต็มที่จะมีการตั้งครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อเลยเวลาหลังคลอดไปแล้ว 7 เดือน เป็นการยืดระยะเวลาการตั้งครรภ์ให้ห่างออกไป จึงมีประโยชน์ในการคุมกำเนิดถึงจะไม่ถูกต้องนัก ก็ยังช่วยคู่สมรสได้ในบางราย แต่ อย่างไรก็ตามครอบครัวใดที่ต้องการวางแผนครอบครัวที่แน่นอนก็ควรจะปรึกษาแพทย์

น้ำนมแม่มีเมื่อใด โดยทั่วๆ ไปน้ำนมจะมีมาหลังจากคลอดแล้ว 2 -4 วัน ถ้าเป็นบุตรคนแรกมักจะมาช้ากว่าบุตรคนหลังๆ เมื่อคัดครั้งแรกอาจรู้สึกปวดตุบๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ควรให้ลูกดูดนมแม้น้ำนมจะยังไม่ไหล เพราะการดูดจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลใจว่าจะไม่มีน้ำนม

ข้อบ่งว่าน้ำนมแม่เพียงพอสำหรับลูก คือ
1. ทารกดูดนมได้นานราวข้างละ 10 นาที โดยมีน้ำนมไหลออกมาตลอดเวลา
2. ขณะที่ทารกดูดนมข้างหนึ่ง น้ำนมจากอีกข้างหนึ่งจะไหลออกมาด้วย
3. เมื่อให้นมเสร็จแล้วลูกจะหลับสบาย
4. แม่สุขภาพดี

ลักษณะของแม่ที่ห้ามให้นมลูก
1. แม่ตั้งครรภ์ใหม่
2. แม่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อบางชนิดเช่น วัณโรค ไข้รากสาด โรคเรื้อน เป็นฝีที่เต้านม เป็นต้น หรือเป็นโรคอื่นที่ต้องกินยาซึ่งผ่านมาทางน้ำนมและอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก ในกรณีเช่นนี้แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่าจะให้ลูกดูดนมแม่ได้หรือไม่
3. แม่เป็นโรคหัวใจ และโรคไต
4. แม่ตกเลือดมากหลังคลอด
5. แม่เป็นลมบ้าหมู
6. แม่เป็นโรคจิตในระยะคลุ้มคลั่ง หรือวิกลจริต
7. หัวนมแบนหรือกลับเข้าข้างใน ปัญหานี้แก้ได้ถ้าแม่ได้เตรียมตัวที่จะให้นมลูก นั่น คอเมื่อตั้งครรภ์ได้ราว 5 เดือน ควรจัดเตรียมหัวเต้านมของตนไว้ ด้วยการทาเต้านมด้วยน้ำมัน (มะกอก) หรือครีมแล้วนวด เสร็จแล้วดึงหัวนมวันละ 2-3 ครั้งๆ ละหลายๆ ที ถ้าหัวนมบุ๋มหรือบอดก็อาจจะต้องดึงออกและนวดเต้านม หรืออาจมีเครื่องปั้มช่วยดึงออก
และการนวดเต้านม 6 สัปดาหก่อนคลอดจะช่วยลดการคัดของเต้านมหลังคลอดได้ด้วย
8. หัวนมแตกหรือเป็นแผล หากเป็นเช่นนี้ให้ใช้เครื่องปั้มดูดนมออกใส่ขวดให้เด็กดื่ม แล้วรีบไปหาแพทยเพื่อจะได้สั่งยาทาให้หายเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหัวนมแตกอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเต้านมอักเสบหรือเป็นฝีได้ เมื่อหัวนมหายเป็นปรกติแล้วจึงให้ลูกดูดนมได้

ข้ออ้างของแม่ที่ไม่อยากให้นมลูก

1. กลัวเสียสวย หน้าอกหย่อนยาน ซึ่งไม่เป็นความจริง การปล่อยตัวในเรื่องการกินอาหาร การปล่อยปละละเลยไม่บริหารร่างกายภายหลังคลอดต่างหากที่เป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้ทรวดทรงเสียไป การให้ลูกดูดนมเสียอีกทำให้ทรวดทรงดี หน้าอกเต่งตึง จากประเภท “ไข่ดาว” เป็นประเภท “ส้มโอ” ขึ้นได้ เพราะจากการใช้และบริหาร

2. แม่ทำงานนอกบ้าน ในภาวะสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบัน แม่จำนวนมากโดยเฉพาะในสังคมที่เจริญจะต้องออกทำงานนอกบ้าน หากให้ลูกดื่มนมตนเองก็จะเป็นภาระและยุ่งยาก ด้วยในตอนกลางวันนมจะคัดและหลั่งซึมออกมาเปรอะเปื้อนเสื้อให้รำคาญ แต่ถ้าคำนึงถึงคุณค่าและประโยชน์ที่ทารกจะได้รับแล้วก็เกินคุ้มไม่ควรงดเลย เพราะนมคัดนั้นแก้ได้ด้วยการปั้มออก นมที่ซึมออกมาเปรอะเปื้อนเสื้อก็แก้ได้ด้วยการใช้ยกทรงชนิดพิเศษที่มีห่วงผ้าข้างในสำหรับสอดแผ่นสำลีซับน้ำนม ซึ่งมีแผ่นพลาสติกรองกันซึมอีกชั้นหนึ่ง แผ่นสำลีนี้เป็นชนิดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง มีจำหน่ายเป็นกล่อง ซึ่งคุณแม่ทั้งหลายก็อาจดัดแปลงทำใช้เองได้

อย่างน้อยแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ควรให้นมลูก 30-45 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่ได้ลาหยุดพักงานหลังคลอด เพราะระยะ 2-3 วันแรกเป็นนมน้ำเหลือง ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคติดเชื้อ และเมดเลือดขาวในปริมาณมาก นมแม่ ในระยะต่อมาก็มีประโยชน์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้ว่าแม่จะต้องทำงานก็ควรให้นมลูกในตอนเช้า ตอนเย็น และตอนกลางคืน

ถ้าไม่ต้องการให้ลูกกินนมแม่ควรทำอย่างไร
ผู้ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ หรือมีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่ให้ลูกกินนมแม่ เมื่อคลอดเสร็จ ให้ใช้ผ้ารัดหน้าอกรัดเต้านมให้แน่น หรือใส่ยกทรงที่คับก็ได้ ซึ่งจะรู้สึกว่านมคัดมากหรือปวดอยู่นานประมาณ 24 ชั่วโมง จงอดทนอย่าดูดหรือปั้มออกเด็ดขาด ให้ใช้กระเป๋าน้ำแข็งวางทับบนนมและรับประทานยาแก้ปวด ยาสำหรับห้ามน้ำนมก็มี เป็นยาประเภทฮอร์ โมนแต่ต้องรับประทานทันทีหลังคลอดและก่อนที่นมจะคัดจึงจะได้ผลดี หากมีน้ำนมไหลแล้วจะไม่ได้ผลเต็มที่

จะเริ่มให้ลูกดูดนมแม่เมื่อไร
ตามปรกติทั้งมารดาและทารกหลังจากคลอดใหม่จะหลับเกือบตลอดเวลา เพราะต้องการพักผ่อน เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยจฺากการคลอด แต่เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างและหลั่งนํ้านม ฝึกซ้อมการให้นมแก่ทารกของมารดา และให้ทารกได้หัดดูดนมมารดา จึงควรเริ่มให้ทารกดูดนมครั้งแรกภายหลังคลอดแล้วประมาณ 12 ชั่วโมง หรือประมาณ 6-8 ชั่วโมงถ้าเป็นการคลอดบุตรคนแรก เพราะยิ่งให้ลูกดูดนมเร็วและแรง จะกระตุ้นให้มีการสร้างและหลั่งน้ำนมได้มากขึ้น แต่โดยปรกติแล้วทารกจะดูดได้แรงดีในวันที่ 3-4 หลังคลอด

แต่ละครั้งจะให้เด็กดูดนานเท่าไร
ในวันแรกที่ให้ลูกดูดนมนั้น ให้ดูดทุก 6 ชั่วโมง รวม 3 มื้อ โดยดูดมื้อละ 1 นาทีแล้ว ในวันต่อไปให้ดูดนานขึ้นมื้อละ 1 นาทีต่ออายุแก่วันขึ้น 1 วัน จนครบ 10 วัน เด็กจะดูดได้นาน มื้อละ 10 นาที แล้วก็คงเวลานี้ไว้ในการดูดนมในแต่ละมื้อถัดจากนี้ไป แต่อย่างไรก็คงไม่นานกว่า มื้อละ 15 นาที

วันที่ 2-3 ให้ดูด 5-6 มื้อ ห่างกันมื้อละประมาณ 4 ชั่วโมง

การให้ทารกดูดนมในระยะ 3 วันแรกนี้ เพื่อที่จะให้มารดาฝึกซ้อมการให้นมทารกและให้ทารกได้หัดดูดนมมารดาเพื่อกระตุ้นน้ำนมมากกว่าที่จะให้ทารกได้น้ำนมโดยแท้จริง ทารกจึงมักจะได้น้ำนมน้อยมาก แต่ถึงไม่ได้น้ำนมเลยก็ไม่มีอันตราย โดยเฉพาะมารดาที่เพิ่งได้ลูกเป็นคนแรกไม่ควรท้อใจว่าจะไม่มีน้ำนมเลี้ยงลูก เพราะน้ำนมที่ออกตอนแรกๆ จะน้อย และหลังจากคลอดแล้ว 3 วัน บางทีถึง 1 สัปดาห์น้ำนมจึงจะไหลเต็มที่ ในระยะแรกๆ หลังคลอด อาจให้ดูดสลับกันทั้ง 2 เต้า ในแต่ละมื้อ ต่อไปเมื่อทารกดูดได้แรงดีอาจให้ดูดมื้อละข้างสลับกันไป แต่ถ้ามีน้ำนมน้อยควรให้ทารกดูดทั้ง 2 ข้าง ในระยะนี้ควรป้อนน้ำสุกให้ระหว่างมื้อนม เพื่อป้องกันมิให้ทารกมีไข้เนื่องจากขาดน้ำ ซึ่งมักเป็นกันมาก
วันที่ 4-10 ให้ดูด 7-8 มื้อ ห่างกันมื้อละประมาณ 3 ชั่วโมง
วันที่ 11-14 ให้ดูด 6-7 ห่างกันมื้อละประมาณ 3-4 ชั่วโมง
ตั้งแต่วันที่ 15 หลังคลอดเป็นต้นไป ให้ดูดวันละ 5-6 มื้อ ห่างกันมื้อละประมาณ 3 ½ -4 ชั่วโมง

วิธีให้นมทารก มี 3 วิธี

1. ให้เป็นเวลา (Time Feeding) เป็นการให้นมแก่ทารกตามเวลาที่กำหนด หรือตามที่ได้ฝึกไว้ เช่น ให้ทุกๆ 3-4 ชั่วโมง ไม่ถึงเวลาจะไม่ให้ถึงแม้เด็กจะหิวก็ตาม
ข้อดี มารดาไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะหิวหรือต้องการนมหรือไม่ เมื่อไม่ถึงเวลามารดาสามารถทำธุระนอกบ้านหรือทำงานอื่นได้ แพทย์บางคนยังเห็นว่า เป็นการเว้นช่วงให้มีการผลิตน้ำนมได้เพียงพอ สำหรับทารกเมื่อถึงเวลาต่อไป
ข้อเสีย กระทบกระเทือนต่อจิตใจของเด็ก สุขภาพจิตเสียติดไปในอนาคตได้ ในเมื่อเด็กหิวก่อนเวลาแล้วไม่ได้รับประทานตามต้องการ ต้องรอให้ถึงเวลาที่กำหนด เด็กก็จะเกิดความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง อารมณ์จะขุ่นมัว

2. ให้ตามความต้องการของทารก (Demand Feeding) เป็นการสนองความต้องการของทารก หิวเมื่อไรให้เมื่อนั้น
ข้อดี สุขภาพจิตของทารกดี เพราะได้รับการตอบสนองตามต้องการ และทารกจะจัดเวลาในการรับประทานเอง
ข้อเสีย มารดาที่ไม่ช่างสังเกต หรือมารดาที่มีบุตรคนแรกอาจไม่เข้าใจกิริยาอาการของทารกว่าต้องการจะรับประทานเมื่อไร

3. ทางสายกลาง เป็นวิธีที่ดีที่สุดมารดาทุกคนควรเลี้ยงทารกด้วยวิธีนี้ คือกะประมาณเวลาสำหรับให้นมแก่ทารกพอเป็นแนวทางในการปฏิบัติเท่านั้น ปรกติกะให้รับประทานทุก 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้าทารกหิวก่อนเวลาที่กำหนดก็ให้รับประทานได้ อย่าปล่อยให้ร้องเพราะความหิว แต่ไม่ถึงกับให้รับประทานทุกครั้งที่ร้อง และถ้าหากทารกนอนหลับจนเลยเวลา ก็ไม่ต้องปลุกให้รับประทาน คอยให้ตื่นเสียก่อนจึงจะให้ดีกว่า พึงระลึกว่ากระเพาะอาหารของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนรับประทานน้อยหิวบ่อย บางคนรับประทานมากระยะเวลากินก็ห่างออกไปได้มาก เด็กเล็กรับประทานบ่อย เด็กโตรับประทานน้อยครั้ง แต่ละครั้งรับประทานได้มาก ฉะนั้นเวลาจะจำกัดให้เท่ากันตายตัวไม่ได้

การให้ลูกดูดนมปฏิบัติอย่างไร
ก่อนให้นม เพื่อให้บุตรปลอดภัยจากโรคติดเชื้อต่างๆ มารดาควรรักษาความสะอาดให้มากที่สุด ด้วยการล้างมือและเต้านมด้วยสบู่ แล้วใช้สำลีชุบนํ้าอุ่นเช็ดหัวนมให้สะอาดอีกครั้งหนึ่ง

ขณะให้นม มารดานั่งหรือนอนในท่าที่สบายอารมณ์สงบ และถ้ามารดากำลังง่วงจัด ควรนั่งดีกว่า เพื่อกันไม่ให้เผลอหลับไป แล้วเต้านมอาจทับปาก จมูกลูกจนหายใจไม่ออกและตายได้

ในท่านั่ง มารดาอุ้มลูกวางบนตักในอ้อมแขน ให้ศีรษะพาดบนแขน มารดาก้มตัวลงเล็กน้อยเพื่อให้เด็กดูดนมได้ถนัด ใช้มือจับเต้านมให้หัวนมแตะที่มุมปากลูก ลูกจะคว้าหัวนมดูดเอง ขณะที่ลูกดูดนมควรใช้นิ้วมืออีกข้างหนึ่งกันเต้านมเพื่อไม่ให้ปิดจมูกลูก

ในท่านอน มารดานอนหนุนหมอนให้ศีรษะสูงในท่าสบาย ตะแคงตัวเล็กน้อยทางข้าง ที่จะให้ประคองลูกให้นอนข้างๆ ในอ้อมแขน และระวังอย่าให้เต้านมปิดจมูกลูกเช่นกัน

การให้ลูกดูดนมแต่ละครั้ง ควรให้ลูกดูดนมข้างใดข้างหนึ่งจนหมดก่อนจึงสลับไปให้ดูดอีกข้างหนึ่ง โดยปรกติถ้าน้ำนมมีมากพอและออกดี ลูกจะดูดนมได้อิ่มและเพียงพอภายในเวลาประมาณ 10-15 นาที

หลังให้นม เมื่อทารกดูดนมอิ่มแล้วให้อุ้มพาดบ่าหรือให้นั่งบนตักแล้วลูบหรือตบหลังเบาๆ เพื่อให้เรอเอาลมออกสักพักหนึ่ง เด็กบางคนอาจต้องการเรอลม 5-10 นาที เรอเสร็จแล้ว จึงวางลงนอน และควรนอนตะแคงขวา นมจะได้ผ่านกระเพาะได้ดีขึ้น ถ้าเด็กอาเจียนหรือแหวะ ง่ายระหว่างดูดนมควรพักให้เรอบ่อยๆ

นมแม่มีคุณค่าทางอาหารและปริมาณเพียงพอที่จะเลี้ยงลูกไปได้นานเท่าไร
อย่าเพิ่งตกใจ จงสบายใจได้เลยว่าน้ำนมแม่ใช้เลี้ยงลูกได้ดีวิเศษและพอแน่ ปรกติน้ำนมแม่จะมีมากที่สุดในเดือนแรกของการให้นมลูก และมีคุณค่าทางอาหารอย่างสมบูรณ์เพียงพอที่จะเลี้ยงทารกได้ภายใน 6 เดือนหลังคลอด หลังจากทารกอายุเกิน 6 เดือนไปแล้ว ปริมาณของ น้ำนมจะน้อยลงแต่คุณภาพยังเกือบคงเดิมตลอดไปตราบเท่าที่มีน้ำนมไหล และดีกว่านมวัวเสมอ เพราะถ้าลูกยังดูดนมอยู่เรื่อยๆ ร่างกายของแม่ก็จะถูกกระตุ้นให้สร้างน้ำนมอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน จนทารกอายุได้ 2 ขวบ ถ้ายังดูดนมแม่อยู่ น้ำนมก็ยังออกได้ประมาณวันละ 50-250 ลูกบาศก์เซนติเมตร (cm3) หรือประมาณวันละ 3-15 ช้อนโต๊ะ แต่ใสกว่าเดิม มีการวิเคราะห์พบว่าน้ำนมมารดาในระยะแรกมีโปรตีน 1.2 กรัม ต่อน้ำนม 100 cm3 แต่พอทารกอายุ 1-2 ขวบ จะมีโปรตีน 1 กรัม ต่อน้ำนมแม่ 100 cm3 และคาร์โบไฮเดรทน้อยลงด้วย ดังนั้นทารกอายุเกิน 6 เดือนไปแล้ว ต้องให้อาหารอันเป็นอาหารหลัก ส่วนน้ำนมแม่ให้เป็นอาหารเสริม ดื่มต่อไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุดเท่าที่แม่ต้องการ อาจให้ทารกดื่มจนอายุ 2-3 ขวบ หรือจนกว่าจะตั้งครรภ์ใหม่ เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าน้ำนมแม่เป็นโปรตีนเสริม ในเมื่อเด็กได้โปรตีนจากอาหารอื่นไม่เต็มที่และน้ำนมแม่ในปีที่ 2 ก็ยังมีโปรตีนถึงวันละประมาณ 2.5 กรัม

การหย่านมแม่ (Weaning)
การหย่านมแม่ควรกระทำเมื่อทารกอายุประมาณ 9-12 เดือน โดยค่อยทำค่อยไป ค่อยๆ ลดนมแม่แต่เพิ่มอาหารอื่นชดเชย เช่น นมผสม น้ำส้ม ข้าวตุ๋นเปื่อยกับน้ำซุบ ฯลฯ เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ขณะเดียวกัน ก็ลดนมแม่ลงทีละน้อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการให้นมขวดหรือนมผสม ให้โดยแทรกนมผสมทีละมื้อ เริ่มแรกเมื่อทารกอายุประมาณ 6 เดือน และเพิ่มปริมาณนมผสมขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุประมาณ 9-12 เดือน ก็เลิกให้นมแม่เลย ในการหย่านมแม่อย่าได้ตั้งแต่ในขณะที่ทารกไม่สบายหรือไม่แข็งแรง หรือในเวลาที่อากาศร้อนจัด เพราะจะเป็นเหตุให้ทารกมีโรคแทรกเกิดขึ้นได้

ในระยะหย่านมแม่ โอกาสเด็กจะเป็นโรคขาดสารอาหารมีมาก แม่หรือผู้เลี้ยงควรเอาใจใส่เรื่องคุณค่าของอาหารที่นำมาทดแทนนมแม่ให้มาก ให้เด็กได้อาหารดีมีครบทุกคุณค่าของอาหาร เช่นพวกเนื้อสัตว์ ไข่แดง นม ผักและผลไม้ต่างๆ ให้เด็กได้รับประทานทุกวัน

เปรียบเทียบน้ำนมแม่กับนมวัว

1. โปรตีน ในนมแม่เป็นโปรตีนชนิดที่ย่อยและดูดซึมง่ายกว่านมวัว ปริมาณก็พอดีกับทารก คือในน้ำนม 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร (เดิมใช้ มิลลิลิตร) มีโปรตีน 1.1 กรัม ซึ่งเพียงพอที่จะเลี้ยงทารกไปจนถึงอายุ 6 เดือน ในขณะที่นมวัว 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีโปรตีน 3.3 กรัม ฉะนั้นในการเตรียมนมผสมจึงต้องทำให้คล้ายกับนมคน โดยการเติมน้ำให้นมจางลง เพื่อให้โปรตีนในนมผสมเท่ากับนมมารดา

2. คาร์โบไฮเดรท พวกแป้งและน้ำตาล ในน้ำนมแม่จะมีแลคโตสในปริมาณที่สูงกว่าในนมวัว คือ ในน้ำนม 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร ในน้ำนมแม่มีคาร์โบไฮเดรท 7.0 กรัม ส่วนในนมวัวมีคาร์โบไฮเดรท 4.8 กรัม ดังนั้นในการเตรียมนมผสมนอกจากจะเติมน้ำให้โปรตีน
จางลงเท่ากับนมมารดาแล้ว ยังจะต้องเติมน้ำตาลให้มีปริมาณของคาร์โบไฮเดรทสูงเท่ากับนมมารดาด้วย

3. ไขมัน  ในนํ้านมแม่จะมีไขมันชนิดที่ย่อยง่ายและมีกรดไขมันที่จำเป็นแก่ร่างกาย ในปริมาณสูงกว่านมวัว และยังมีน้ำย่อยซึ่งจะช่วยย่อยไขมันให้ดูดซึมง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ไขมันในน้ำนมแม่ยังช่วยให้เด็กไม่เป็นโรคผิวหนังแห้งและทำให้ร่างกายเด็กใช้ไขมันได้ดีขึ้น

4. เกลือแร่และวิตะมิน โดยปรกติถ้าแม่แข็งแรงมีภาวะโภชนาการดี ปริมาณของเกลือแร่และวิตะมินจะพอเพียงสำหรับความต้องการของทารก

ตารางปริมาณสารอาหารในนมมารดาและนมวัว

สารอาหารในน้ำนม 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร เดิมใช้ (c.c.)

นมมารดา

นมวัว

น้ำ

87.6

87.2

โปรตีน(กรัม)

1.1

3.3

คาร์โบไฮเดรท(กรัม)

7.0

4.8

ไขมัน(กรัม)

3.8

3.8

แคลเซียม(มิลลิกรัม)

34.0

126.0

เหล็ก (มิลลิกรัม)

0.21

0.15

วิตะมินเอ (ไมโครกรัม)

80.0

72.0

วิตะมินบี1 (ไมโครกรัม)

16.0

42.0

วิตะมินบี2 (ไมโครกรัม)

43.0

157.0

วิตะมินซี (มิลลิกรัม)

4.3

1.8

วิตะมินดี (หน่วยสากล)

0.4-10.0

0.3-4.2

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า