สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ประจำเดือนผิดปกติ

ความผิดปกติของประจำเดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้หญิงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประจำเดือน ไม่มาตามกำหนด ประจำเดือน มามากเกินไป มีหลายวันแล้วไม่หมดเสียที ก่อนที่เราจะคุยกันว่าภาวะใดที่ถือว่าประจำเดือนผิดปกติ คงต้องพูดถึงประจำเดือนปกติก่อน

ประจำเดือนคือ การลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก ภายหลังจากที่ไข่ที่ตกในรอบเดือนนั้นไม่ได้รับการผสม ประจำเดือนจะมีประมาณ 3 – 7 วัน โดยเลือดที่ออกมาจะมีมากในวันที่ 1 – 3 แล้วน้อยลงเรื่อยๆ จนหยุด แต่ก็อาจมีผู้หญิงบางคนที่ประจำเดือนไม่ได้มาตามรอบปกติเหมือนคนอื่นๆ เช่น บางคนมาทุก 2 เดือน บางคนทุก 20 วัน สมํ่าเสมอก็อาจจะเป็นปกติของคนคนนั้น ดังนั้นคำว่าประจำเดือนจึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาทุกเดือน แต่ถ้าผู้หญิงที่มีการตกไข่เป็นปกติ ประจำเดือนจะมาอย่างเร็ว 20 วัน/ครั้ง และอย่างช้า 60 วัน/ครั้ง ถ้าเร็วหรือช้ากว่านี้ จะถือว่าผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

ในภาวะปกติผู้หญิงบางคนก็อาจมีการคลาดเคลื่อนของรอบประจำเดือน

ได้บ้าง เช่น เวลาหงุดหงิด เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ บางครั้ง ประจำเดือนอาจจะคลาดเคลื่อนหรือขาดหายไป    เพราะความเครียดและการ

นอนไม่หลับจะทำให้การควบคุมการตกไข่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่มีการตกไข่ หรือ การตกไข่ที่ไม่สมบูรณ์ออกมา ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ประจำเดือนอาจเลื่อนออกไปหรือ ไม่มาก็ได้ ในกรณีแบบนี้ถ้าไม่อยากจะให้เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากสร้างความวิตกกังวลให้ผู้หญิงได้มากพอควร ก็ควรดูแลรักษาสุขภาพให้ดีประจำเดือน ของคุณก็จะมาปกติเอง

นอกจากการคลาดเคลื่อนของประจำเดือนแล้วปัญหาที่อาจพบได้จากการ มีประจำเดือนผิดปกติ ก็คือ

1 .อาการปวดท้องมากจนกระทั่งทำงานไม่ได้ กินยาแก้ปวดก็ไม่หาย ในกรณีนี้อาจเกิดจากมีความผิดปกติ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ภาวะเยื่อบุ โพรงมดลูกเจริญในตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากภายในโพรงมดลูก ที่เรียกว่า เอ็นโดเมททิโอซีส ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อย นอกจากนี้อาจเกิดจากการใส่ห่วง การหยุดยาคุมกำเนิดหรือความเครียด ถ้าปวดบ่อยหรือปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจภายใน บางรายอาจต้องทำการตรวจอัลตร้าซาวด์หรือส่องกล้องเข้าไปดู ในช่องเชิงกรานเพื่อหาสิ่งผิดปกติ

2.  เป็นหมัน  หรือไม่สามารถมีบุตรได้ ในผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือน หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ให้สงสัยว่าอาจจะมีโรคที่ทำให้เกิดเป็นหมันได้ เช่น เนื้องอกของมดลูก หรือ เอ็นโดเมททิโอซีส ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน

3.  ภาวะโลหิตจาง ในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากและต่อเนื่อง อาจทำให้ เกิดโรคโลหิตจาง เนื่องจากร่างกายเสียเลือดเรื้อรังและสร้างเม็ดเลือดไม่ทันกับการที่สูญเสียไป ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้าซีด ไม่แข็งแรง บางคนในขณะที่มีประจำเดือนอาจมีอาการหูอื้อ มีเสียงในหู ใจสั่นและเป็นลมได้ ปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรือเป็นความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดก็ได้จึงควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการแก้ไขสาเหตุ

 

4.  ภาวะกระดูกพรุน       ในผู้ป่วยที่ประจำเดือนมาไม่สมํ่าเสมอ หรือผู้ที่ไม่มีประจำเดือน มักจะมีฮอร์โมนเพศหญิง หรือที่เรียกว่าเอสโตเจนตํ่า ซึ่งเป็นสาเหตุ ให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ในอนาคต จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และควรได้รับฮอร์โมนเพศเพิ่มเติม

5.  ภาวะช็อคจากการติดเชื้อ    ในผู้หญิงบางคนที่มีประจำเดือนมากและนิยม ใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด ซึ่งอาจจะสอดทีเดียว 2 ชิ้น ทำให้บางชิ้นค้างไว้ไนช่องคลอด ซึ่งหากทิ้งไว้เกิน 4 ชั่วโมง จะเกิดการติดเชื้อได้ สารพิษที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้เกิดอาการไข้สูง ถ่ายท้อง เจ็บคอ อ่อนเพลีย ผิวหน้าลอก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจช็อคหมดสติได้ ดังนั้นเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนและในทางป้องกัน ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดหรือถ้าจะใช้ต้องศึกษาการใช้ที่ถูกวิธี และรักษาความสะอาดอย่างดีด้วย

นิภาวรรณ  สามารถกิจ

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า