สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พฤติกรรมปฏิกิริยารีเฟลกซ์ (Reflexes)

(พฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างวัยทารกตอนต้นและตอนปลาย)
ความหมายและคุณประโยชน์
คำว่า รีเฟลกซ์ เป็นศัพท์ทางวิชาการที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง และกว้างขวางมาก ได้มีการแปลออกเป็นคำที่ใช้กันอย่างทั่วไปว่า “สะท้อน” แต่ประสงค์จะทำความเข้าใจให้ลึกและมีความพิสดารมากขึ้น ฉะนั้นต่อไปนี้จะใช้คำทับศัพท์อังกฤษ รีเฟลกช์ เพื่อให้มีความหมายแม่นตรงตามแนววิชาการ

เมื่อเทียบกับวัยต่างๆ พฤติกรรมรีเฟลกซ์ในวัยทารก มีจำนวนมากกว่าวัยอื่น

พฤติกรรมรีเฟลกซ์ เป็นพฤติกรรมอันติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่ต้องเรียนหรือรับฝึกสอนก็ทำได้ ไขสันหลังเป็นส่วนควบคุมให้แสดงพฤติกรรมรีเฟลกซ์ได้หลากหลาย เมื่อทารกแรกเกิดได้ประสบสิ่งเร้า ก็จะแสดงปฏิกิริยาตอบต่อสิ่งเร้านั้น เพื่อลดหย่อนหรือแก้ไขสภาพอันไม่ต้องการ เช่น ทารกหลับตาทันทีเมื่อตากระทบแสงสว่างจ้า หรือทารกรู้จักขยับตัวและแขนขา หนีสิ่งที่ทำให้เจ็บ ในกรณีสิ่งเร้าทำให้พอใจ ก็จะแสดงปฏิกิริยาในทางบวก เช่น เมื่อหิวอยู่มีผู้เอามือมากดลงที่ฝ่ามือทารก ทารกนั้นจะดูดริมฝีปาก

พฤติกรรมรีเฟลกซ์น่าสนใจศึกษายิ่ง ในการทำความเข้าใจทารกเกิดใหม่ ต่อเชื่อมกับพัฒนาการตอนต้นๆ ในวัยทารกตอนปลาย

ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยาสมัยปัจจุบันได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้เป็นอัน มาก จากรายงานผลการศึกษาทำให้เราได้ทราบว่าปฏิกิริยารีเฟลกซ์นี้ มีคุณค่าต่อการมีชีวิตรอดของทารก อาทิ การรู้จักกินอาหาร รู้จักหลบหลีกอันตรายตามความสามารถของตน รีเฟลกซ์บางลักษณะเห็นได้ว่า มีเค้าเงื่อนเป็นร่องรอยพฤติกรรมตามธรรมชาติตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ซึ่งทารกได้รับสืบเนื่องมาจากต้นกำเนิดของคนอันยังไม่มีสภาพเป็นมนุษย์นั่นทีเดียว

ต่อไปนี้จะได้ยกตัวอย่างปฏิกิริยารีเฟลกซ์ที่เห็นว่าสำคัญมาเสนอพอเป็นตัวอย่าง

ปฏิกิริยารีเฟลกซ์เปล่งเสียงร้องและเริ่มหายใจ
ทารกมีอวัยวะเปล่งเสียงสมบูรณ์มากแล้วตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา นาทีแรกเมื่อทารกออกจากครรภ์ก็ต้องใช้อวัยวะเหล่านี้เป็นปฏิกิริยารีเฟลกซ์ต่อบรรยากาศของโลก ที่กดดันร่างทารกทั่วตัวทั้งไหลเข้ารูจมูกเล็กๆ ไปตามหลอดลมนำไปถึงปอด ซึ่งแม้ว่าประกอบด้วยถุงลมนับล้านแต่ก็ยังไม่มีอากาศในนั้นเลย การไหลเข้าของอากาศกระตุ้นให้เกิดการกระตุกขึ้นที่อวัยวะเปล่งเสียง นั่นคือลูกน้อยร้องจ้าขึ้น ปอดก็เริ่มทำงานสูบลม เข้าระบายลมออกเป็นจังหวะ นับได้ว่าเป็นการเปิด “ระบบ” ใหม่ขึ้นรับภาระหน้าที่แทนภาระกิจของคุณแม่ ซึ่งส่งก๊าชที่จำเป็นสำหรับชีวิตมาให้ลูกน้อย ผ่านเข้ามาทางรก เป็นเวลาหลายเดือน ถ้าทารกไม่สามารถ “เปิดระบบสูบและระบายลมเข้าออก” ได้ภายใน 1-2 นาทีหลังคลอด ไม่ต้องสงสัย! จะเกิดความยุ่งยากแน่ ถ้าการไม่หายใจนานไปกว่า 5 นาที สมองจะเสียหายอย่างถาวรจากการขาดออกซิเจน เมื่อนึกถึงการไม่หายใจเนิ่นนานไปอีกก็ให้หวาดเสียวใจ(นายแพทย์วินเดิล (Windel, 1968) ผู้อำนวยการวิจัยทางแพทยศาสตร์แห่งสถาบันนิวยอร์ค ได้ทดลองกับลิง โดยลดจำนวนออกซิเจนสู่สมองลงสัก 2-3 นาที ทันทีที่คลอดแล้ว ต่อมาเมื่อมันโตขึ้นเขาศึกษาเทียบกับลิงที่รับออกซิเจนหลังคลอดตามปกติ ผลเห็นได้ชัดว่าพวกที่ขาดออกซิเจนเมื่อเกิด มีความลำบากในการเคลื่อนไหว งุ่มง่าม ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนลิงธรรมดา และด้านประสาทสัมผัสก็มีปัญหาคล้ายคลึงกับเด็กที่ด้อยความสามารถด้านการเรียน (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520 หน้า 207) บทเรียนเพื่อการมีชีวิตบทแรกนี้มิใช่ง่ายเลย ทารกต้องใช้แรงงานขยับเขยื้อนกระบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง บีบและขยายปอดรับลมเข้าปอดแล้ว อาศัยกล้ามเนื้อทรวงอกมากมายหลายชิ้นทำงานสอดคล้องต้องตามจังหวะกันและกัน ส่งลมผ่านหลอดลม เส้นเสียง กล่องเสียง ลิ้นไก่ เพดานอ่อน เพดานแข็ง ลิ้น ปุ่มเหงือกและริมฝีปาก ในการร้องไห้ ระบบลมอีกหน้าที่หนึ่งผ่านรูจมูกเข้าหลอดลม แยกทางไปสู่ปอด เป็นการหายใจเข้าออก ในระยะแรกของชีวิตทารกทำกิจกรรมดังกล่าวโดยปฏิริยารีเฟลกซ์

ต่อมาเมื่อรู้สึกไม่พอใจในสภาพความเป็นอยู่ขณะใด เช่น หิว ร้อน รำคาญ เพราะเปียกแฉะ ฯลฯ ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ก็เร่งเร้าให้อวัยวะต่างๆ แสดงพฤติกรรมร้องไห้ ครั้นแล้วก็ได้ประสบการณ์ว่า มีคนมาช่วยทำให้ความรู้สึกไม่พอใจนั้นหมดสิ้น ไปกลายเป็นความสบาย คราวนี้ทารกก็เลยใช้การร้องไห้เป็นการติดต่อกับคนอื่น เมื่อต้องการให้เขามาช่วยทำความสบายกายสบายใจให้

ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ดูดอาหาร (Rooting reflex)
เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ เขาได้รับสารอาหารโดยการซึมจากร่างกายของแม่ ปากยังไม่ได้ทำหน้าที่นำอาหารเข้าสู่ร่างกายของตนเอง แต่การพัฒนาในระยะวัยก่อนคลอดได้เตรียมให้ทารกมีความสามารถเป็นขั้นต้น สำหรับใช้ปากได้ทันทีเมื่อออกมาสู่โลกภายนอกครรภ์ การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่อนุมานเอาเองว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น มีหลักฐานอ้างอิงได้ คือ

นักวิทยาศาสตร์ได้ประดิษฐ์เครื่องมืออันวิเศษซึ่งสามารถถ่ายภาพทารกในครรภ์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน นับตั้งแต่ ค.ศ.1960 เป็นต้นมา (รายงานของ K.Nilson แห่งสวีเดน ตีพิมพ์ในหนังสือ The miracle of life) เครื่องมือเหล่านี้สามารถบันทึกภาพพัฒนาการใช้ปากของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์อย่างละเอียดพิสดาร ซึ่งขอคัดเลือกสาระสำคัญมาเสนอดังนี้

ในระหว่างเดือนที่ 4 นับแต่ปฏิสนธิ ตัวอ่อนในครรภ์แสดงพฤติกรรมการเคลื่อนไหวได้หลายอย่าง เช่น ขยับริมฝีปากบน พอเจริญขึ้นอีกนิด ขยับริมฝีปากล่าง ต่อมาขยับริมฝีปากทั้งสองสัมพันธ์กัน ต่อมาอีกรู้จักอ้าและหุบปาก รู้จักกลืนทั้งที่หุบปาก บางทีกลืนน้ำที่หล่อเลี้ยงร่างกายของเขา รู้จักกระดิกลิ้น หันหัวสัมพันธ์กับปฏิกิริยารีเฟลกซ์ของปาก เพราะว่ากำลังเริ่มรู้จักพฤติกรรมการกินอาหาร อันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมาก รูปถ่ายรูปหนึ่งแสดงตัวอ่อนในครรภ์อายุ 4 เดือนครึ่ง เอานิ้วมือใส่ปากดูด เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมพอทารกออกจากครรภ์มารดา ก็รู้จักดูดนมโดยไม่มีใครสั่งสอนฝึกหัด ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ให้ทารก รู้จักทำพฤติกรรมรีเฟลกช์ชนิดนี้ เพื่อให้ทารก สามารถรู้จักเลี้ยงชีพได้ทันทีภายนอกครรภ์มารดา มีพฤติกรรมที่ตำราเรียกว่า Rooting reflex อีกคือ ถ้าใครเอานิ้วชี้แตะเบาๆ ข้างมุมปาก แล้วเลื่อนนิ้วไปทางแก้มของทารกอายุสักหนึ่งสัปดาห์ ทารกจะขยับปากขยับลิ้น แล้วหันศีรษะตามนิ้วที่สัมผัส ในระยะแรกๆ นั้น เพียงแต่สัมผัสที่แก้มห่างปากก็ทำให้เกิดรีเฟลกซ์นี้ พอทารกอายุมากขึ้นหน่อยจะเกิดรีเฟลกซ์เฉพาะเมื่อปากได้รับสัมผัส เห็นได้ชัดว่ารีเฟลกซ์นี้ช่วยให้ทารกใช้ปากสอดส่ายแสวงหาหัวนม (Craig, 1980, Schell & Hall, 1979)

health-0121 - Copy

ภาพจาก McGraw, 1987, หน้า 308

ปฏิกิริยารีเฟลกซ์กำมือและปฏิกิริยารีเฟลกซ์โมโร (Grasping and moro reflex)

1. Grasping reflex
ทารกอายุไม่กี่สัปดาห์มีพลังนิ้วมือกำสิ่งใดๆ อย่างมีเรี่ยวแรงกระชับมาก ถ้าทารกอายุหนึ่งสัปดาห์นอนหงายอยู่ แล้วมีผู้สอดนิ้วมือของเขา เข้าไปในฝ่ามือของทารก ทารกจะกำนิ้วผู้นั้นไว้แน่นมาก บางครั้งปรากฏว่าทารกเกิดใหม่ใช้เพียงมือข้างเดียวกำมือของผู้ทดลองแน่นแฟ้น แม้เมื่อผู้ทดลองยกนิ้วของตนขึ้นสูงมาก ทารกนั้นตัวลอยติดมือของผู้ทดลองขึ้นมา โดยไม่ยอมปล่อยการกำมือของตัว
health-0122 - Copy

ภาพจาก Schell&Hall, 1979, หน้า 96

Reflexive Grasps of Hand and Foot
The reflex that enables the human hand and foot to grasp is present at birth but disappears completely by 4 months of age. The same is true of the rooting reflex.

The presence of these and other vestigial reflexes is a sign of the immaturity of the human brain at birth.
health-0122 - Copy1

ภาพจาก McGraw, 1987, หน้า 309

2. Moro reflex
เอินสท์ โมโร (1918) เป็นคนแรกที่บรรยายถึงปฏิกิริยารีเฟลกซ์ชนิดนี้ ซึ่งเขาตั้งชื่อตามนามสกุลของเขา ปฏิกิริยารีเฟลกซ์เช่นนี้ พบได้ง่ายในทารกอายุอยู่ในสัปดาห์แรก เมื่อตื่นลืมตาอยู่ ผู้ทดลองใช้มือหนึ่งช้อนศีรษะ อีกมือหนึ่งช้อนบั้นเอว ยกชูขึ้นแล้วลดมือลงอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะมือที่ช้อนศีรษะอยู่ ทำให้คล้ายหล่นอย่างทันที ทารกรู้สึกเสมือนว่าที่ศีรษะและคอไม่มีอะไรรองรับ จะผวาขึ้น สองแขนจะตวัดขึ้นข้างหน้าอย่างว่องไว ทำท่าเหมือนจะโอบกอดอะไรสักอย่างหนึ่ง พร้อมกับงอนิ้วมือเข้ามาเหมือนจะกำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้อีกวิธีหนึ่งคือ จัดให้ทารกนอนหงายหน้าเงยตรงๆ แล้วผู้ทดลองกระตุกเอาสิ่งที่รองศีรษะทารกออกอย่างเร็ว จะทำให้ศีรษะและลำคอหวั่นไหว ทารกจะแสดง ปฏิกิริยารีเฟลกซ์เหมือนดังที่บรรยายมาข้างต้นนี้ ในขณะที่ทารกแสดงปฏิกิริยารีเฟลกซ์นี้อยู่ ถ้าทารกพบนิ้วมือของใครอยู่ในฝ่ามือ เขาจะกำไว้อย่างแน่นมาก

ปฏิกิริยารีเฟลกซ์โมโรคลายลงเมื่อทารกมีอายุเพิ่มขึ้น เพียงขนาดอายุสามเดือนก็เป็นการยากที่จะทดลองให้แสดงปฏิกิริยารีเฟลกซ์ พออายุห้าหรือหกเดือนก็มักหายไป ปฏิกิริยารีเฟลกซ์กำมือและโมโรมีประโยชน์อย่างไรยังไม่ทราบชัดเจน มีผู้ให้ความเห็นว่า เป็นมรดกพฤติกรรมสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษดึกดำบรรพ์ ที่มนุษย์ยังคล้ายสัตว์ โดยเปรียบเทียบกับแมลงให้ลูกมันเกาะหลัง หรือเกาะหน้าอกระหว่างเคลื่อนตัวไปตามต้นไม้ ถ้าลูกลิงรู้สึกจะพลัดตก ก็มักจะกอดและกำขนของแม่ไว้แน่น (Schell & Hall, 1979)
health-0123 - Copy

ภาพจาก Schell&Hall, 1979, หน้า 96

ปฏิกิริยารีเฟลกซ์เกี่ยวกับการเดิน
ทารกอายุหนึ่งหรือสองสัปดาห์ อาจแสดงพฤติกรรมซึ่งดูคล้ายกับอาการกิริยาเดิน แต่ไม่ใช่การเดินได้จริง ๆ เพราะยังไม่มีวุฒิภาวะ เป็นเพียงพฤติกรรมรีเฟลกช์(เชื่อว่าเป็นขั้นเตรียมเพื่อเดินในเวลาต่อมา)

พฤติกรรมนี้มี 2 อย่าง อาจทดลองให้เห็นได้จริง ดังนี้
1. ผู้ทดลองสอดมือเข้าใต้รักแรัทั้งสองของทารก ยกขึ้นจนตัวห้อยลง แล้วค่อยลดตัวทารกจนเท้าถึงพื้นและเข่างอลง แล้วค่อยยกขึ้นลดลงในลักษณะนี้หลายๆ ครั้ง ทารกจะเหยียดท่อนขาทั้งหมด ตรงราวกับท่ายืน ถ้าเขาถูกนำเคลื่อนไปข้างหน้า ก็จะแสดงอาการเหมือนก้าวเดิน ทั้งที่ทารกนั้นยังทรงตัวไม่ได้เลย การเคลื่อนไหวดังนี้เรียกว่าปฏิกิริยารีเฟลกซ์ก้าวย่าง (Stepping reflex)
health-0124 - Copy

ภาพจาก McGraw, 1987, หน้า 125

health-0124 - Copy1

ภาพจาก Schell&Hall, 1979, หน้า 97

2. ผู้ทดลองยกตัวทารกขึ้นแบบเดียวกับที่กล่าวในข้อ 1. แล้วนำเคลื่อนไปหาพื้นที่ที่มีลักษณะเหมือนโต๊ะ พอเท้าของทารกกระทบขอบโต๊ะ ก็มักจะยกเท้าขึ้นเหยียบบนโต๊ะนั้น การเคลื่อนไหวดังนี้ เรียกว่า ปฏิกิริยาก้าวขึ้น (Placing reflex)
health-0125 - Copy

พฤติกรรมทั้งสองนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเดินได้จริง    เพราะทารกอายุหนึ่งหรือสองสัปดาห์ยังไม่มีกำลังและความสามารถทรงตัวสำหรับยืนเดิน แต่ก็เป็นข้อที่แสดงว่ามีความสามารถที่มีมาพร้อมกับการเกิดที่จะเป็นพื้นฐานของการยืนเดินได้ในภายหลัง ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ทั้งสองนี้จะหายไปเมื่อทารกอายุประมาณเดือนที่สามและที่สี่

ปฏิกิริยารีเฟลกซ์แห่งท่านอน t-n-r (Tonic neck reflex)
ปฏิกิริยารีเฟลกซ์แห่งท่านอน t-n-r คือท่าหันศีรษะและแขนของทารก อันเป็นแบบเฉพาะ ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญหรือตั้งเจตนา ท่านี้ปรากฏมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สังเกตจากทารกคลอดก่อนกำหนด ก็นอนในท่านี้ เด็กคลอดใหม่ๆ แม้ยังไม่ทันตัดสายสะดือ พอวางลงก็อยู่ในท่านี้ คือ หันศีรษะไปทางซ้ายหรือขวาทางเดียว ถ้าหันไปทางขวาแขนขวาก็เหยียดตรงไปทางขวา ส่วนแขนซ้ายงอตรง ข้อศอก และมือซ้ายเสมอไหล่ ดูคล้ายๆ ท่าเงื้อยิงธนูหรือเตรียมพุ่งแหลน ถ้าศีรษะหันซ้ายทุกอย่าง ที่กล่าวข้างต้นก็กลับกัน ท่า t-n-r ฝืนไม่ได้ เพราะถูกกำหนดไว้แล้วในพันธุกรรม เป็นท่าซึ่งทำให้ทราบได้ว่า ทารกนั้นจะถนัดซ้ายหรือขวา ปฏิกิริยารีเฟลกซ์แห่งท่านอนนี้คงอยู่ราว 4 เดือน จึงค่อยๆ หลีกทางให้แก่ท่า s-t-r หรือ Symmetro – tonic – reflex คือศีรษะหันมาอยู่ในแนวกลางตัว (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520; McGraw, 1987)
health-0126 - Copy
The Tonic Neck Reflex
When young infants (ages 0 to 3 months) are on their back, their head IS usually to one side. In addition, it is characteristic for the arm and leg on the side to which the head is turned to be extended and for the contralateral arm and leg to be flexed. This posture is caused by the tonic neck reflex.
(ภาพจาก McGraw, 1987 หน้า 124)

ปฏิกิริยารีเฟลกซ์มีอีกมาก อย่างไรก็ดีปฏิกิริยา รีเฟลกช์ส่วนมาก มักจะหายไปเอง เมื่อทารกมีอายุหลายเดือนต่อมา ซึ่งอาจเป็นเพราะสมองและส่วนต่างๆ ของร่างกายพัฒนามาก จนแสดงพฤติกรรมด้วยตั้งเจตนาจะทำ ไม่ต้องอาศัยรีเฟลกซ์ อันธรรมชาติเตรียมไว้ให้ใช้เฉพาะในระยะแรกของชีวิตอีกต่อไป

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า