สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปฏิกิริยาผู้ป่วยจิตเวชที่มีต่อนักจิตบำบัด

TRANSFERENCES
คำว่า Transferences มี 2 ความหมาย ความหมายแรก หมายถึงปฏิกิริยาและความรู้สึกทุกชนิดที่คนไข้มีต่อนักจิตบำบัด ตัวอย่างเช่น เคารพ รัก เกลียด โกรธ ต้องการเป็นคู่แข่ง ฯลฯ ส่วนความหมายที่ 2 นั้นเป็นเรื่องเฉพาะของนักจิตวิเคราะห์ ตามแบบของซิกมันด์ ฟรอยด์ โดยตรง คือ หมายถึงปรากฏการณ์ที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกและพฤติกรรมต่อตัวนักจิตบำบัด เสมือนหนึ่งว่านักจิตบำบัดเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของผู้ป่วยเมื่อตอนผู้ป่วยยังเป็นเด็กเล็กๆ คือ บิดามารดา พี่น้อง ญาติใกล้ชิด ฯลฯ หรือเรียกเป็นภาษาของนักจิตวิเคราะห์ว่า คือบุคคลที่เป็น Major Object Relations ในวัยเด็ก

การที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกต่อผู้รักษาเช่นนี้ ในเวลาใดเวลาหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ คือหนึ่ง ความรู้สึกที่มีต่อนักจิตบำบัดตามสภาวะความเป็นจริง และสอง เป็นประสบการณ์ในด้านมนุษยสัมพันธ์ของผู้ป่วยที่มีต่อบุคคลสำคัญในวัยเด็กของผู้ป่วย

ปัจจัยทั้งสองประการนี้ จะผลัดกันเด่นชัดอยู่ตลอดเวลา ปฏิกิริยาของคนไข้ที่มาจากปัจจัยแรกนั้นถือว่าเป็นไปตามเหตุผล และสภาวะความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ถ้านักจิตบำบัดดูถูกคนไข้อย่างจริงจัง คนไข้ก็ย่อมจะโกรธเป็นธรรมดา แต่ถ้าคนไข้โกรธนักจิตบำบัด เพราะว่านักจิตบำบัดผูกเนคไท เป็นต้น กรณีเช่นนี้ถือว่าไม่เหมาะสม และไม่ได้สัดส่วนกับสภาวะความเป็นจริง สิ่งนี้ต้องเป็น Transferences แน่ๆ

Transferences ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น Positive หมายถึง การที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกเป็นมิตรและร่วมมือกับนักจิตบำบัด และ Negative หมายถึง ผู้ป่วยโกรธแค้น เป็นศัตรูกับนักจิตบำบัด ซึ่งมักจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา

Transference Neurosis คำนี้ มี 3 ความหมาย ความหมายแรก หมายถึงอาการ Neurosis ของคนไข้ ที่สามารถทำให้เกิด Transferences ขึ้นมาได้ ความหมายที่สอง หมายถึง Transferences ที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนความหมายที่สามนี้ เป็นเรื่องของนักจิตวิเคราะห์โดยตรง หมายถึง อาการ Neurosis ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและสมบูรณ์ ทำให้ Infantile Conflicts ของผู้ป่วยทุกชนิดเกิดขึ้น หรือปรากฏขึ้นโดยตรงกับนักจิตบำบัด ความหมายที่สามนี้ เป็นเรื่องของการทำจิตวิเคราะห์ตามแบบของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ โดยตรง

Transference Improvement
หมายถึงการที่ผู้ป่วยหายจากอาการของโรครวดเร็วมาก เนื่องจากมี Positive Transference กับนักจิตบำบัด นักจิตวิเคราะห์หลายท่าน นิยมเรียกว่า Transference Cure ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วย (ในระดับจิตไร้สำนึก) อาจจะถือว่า การที่ป่วยเป็นโรคประสาท เป็นการลงโทษจากการที่คนได้กระทำบาปกรรมไว้ เมื่อผู้ป่วยทราบว่า นักจิตบำบัดมีแต่ความเมตตา ปรานีก็เท่ากับว่า ได้รับการ “ยกโทษ” ไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องป่วยอีก

Transference Aggravation หมายถึงการที่ผู้ป่วยมีอาการเลวลง เนื่องมาจาก Transferences เป็นต้นเหตุ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยต้องการมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับนักจิตบำบัด แต่ไม่สมหวัง เพราะว่านักจิตบำบัดที่ดีย่อมจะไม่ปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วย ความผิดหวังเช่นนี้ จะทำให้อาการป่วยกำเริบขึ้นได้

ในทางปฏิบัตินั้น นักจิตบำบัดจะสังเกต Transference ได้โดยอาศัยพฤติกรรม คำพูด กริยาท่าทาง การแต่งกาย การแสดงอารมณ์ จินตนาการ ฯลฯ ของคนไข้ ผู้ป่วยบางคนอาจจะพูดขึ้นมาเองว่า มีความรู้สึกต่อนักจิตบำบัดคล้ายกับว่า นักจิตบำบัดเป็นเสมือนบิดามารดาของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักจะไม่รู้สึกตัว เพราะว่าความรู้สึกเช่นนี้ จะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึกของผู้ป่วย สำหรับนักจิตบำบัดหัดใหม่ มีข้อแนะนำให้สังเกตดังต่อไปนี้

1. The Therapist as Giver of Affection
นักจิตบำบัดอยู่ในฐานะผู้ให้ความรักความอบอุ่นแก่คนไข้ ตามปกตินักจิตบำบัดก็จะต้องปฏิบัติตัว โดยให้ความสนใจและความเข้าใจแก่ผู้ป่วย ซึ่งก็หมายความว่า เป็นผู้ให้ความรักความอบอุ่นอยู่ในตัวแล้ว แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของ Professional Relationship

Transference ชนิดนี้ ผู้ป่วยต้องการมากยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยปรารถนาความรักจากนักจิตบำบัด อาจแสดงออกในรูปของการยกยอสรรเสริญนักจิตบำบัด เรียกร้องความรัก ความเห็นใจ ทำตนให้เป็นที่น่าสงสาร และในบางรายก็อาจพูดกับนักจิตบำบัดตรงๆ ว่า ขอความรัก ต้องการให้นักจิตบำบัดรักผู้ป่วยเป็นการตอบแทน

พฤติกรรมของนักจิตบำบัดทุกๆ ชนิด จะถูกคนไข้แปลความหมายไปในทางบวก เช่น การที่นักจิตบำบัดยิ้ม ให้กำลังใจ จะทำให้ผู้ป่วยมีความสุข ในทางกลับกัน ผู้ป่วยอาจจะแปลความหมายผิดๆ เช่น การที่เห็นนักจิตบำบัดมีท่าทีเป็นปกติ (Neutral) หรือการที่นักจิตบำบัดเงียบ ว่าเป็นการทอดทิ้งและไม่สนใจคนไข้

ข้อสังเกตในเรื่องนี้ก็คือ ผู้ป่วยพยายามเอาอกเอาใจนักจิตบำบัด พยายามให้นักจิตบำบัดยิ้มหรือหัวเราะ ขอคำแนะนำบ่อยๆ เรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ โดยสร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้ตนเองต้องลำบาก ผู้ป่วยหลายคนอาจนำของขวัญ หรือสิ่งต่างๆ มาให้นักจิตบำบัดบ่อยๆ พยายามทำให้นักจิตบำบัดรักผู้ป่วย โดยหวังที่จะได้รับความรักเป็นการตอบแทน

ถ้าหากผู้ป่วยผิดหวัง ผู้ป่วยอาจเรียกร้องขอพบนักจิตบำบัดบ่อยขึ้น พยายามให้ชั่วโมงการรักษายาวนานโดยไม่ยอมเลิกเมื่อหมดเวลาแล้ว

ผู้ป่วยอาจแสดงความอิจฉาคนไข้อื่นๆ บางครั้งแสดงความอิจฉาสามีหรือภรรยาของนักจิตบำบัดด้วย ถ้ามีการรบกวนในชั่วโมงการรักษา เช่น นักจิตบำบัดต้องรับโทรศัพท์ที่จำเป็น ผู้ป่วยจะแสดงความโกรธแค้นมาก

ในรายที่รุนแรงมากๆ ผู้ป่วยอาจจะขอความรัก ต้องการมีเพศสัมพันธ์ อาจแสดงท่าทางยั่วยวนทางเพศ พยายามเข้ามาสัมผัส หรือถูกเนื้อต้องตัวนักจิตบำบัด ฯลฯ

ผู้เขียนมีประสบการณ์ในเรื่องนี้พอสมควร ครั้งหนึ่งผู้เขียนรักษาผู้ป่วยหญิงสาวคนหนึ่ง เมื่อรักษามาได้ประมาณ 6 เดือน ผู้ป่วยมี Transference อย่างรุนแรง ผู้เขียนสังเกตเห็นผู้ป่วยแต่งตัวสวยขึ้นเรื่อยๆ พยายามพูดประจบผู้เขียนมากขึ้น จนในที่สุด ในวันหนึ่งผู้ป่วยแต่งตัวสวยมาก และใส่น้ำหอมกลิ่นคลุ้งตลบห้องทำงาน ผู้ป่วยทำตาเจ้าชู้และถามว่า “วันนี้หนูอยากจะถามคุณหมอหน่อย อย่าโกรธหนูก็แล้วกันนะ คือว่า หนูแต่งตัวสวยๆ มา หาคุณหมอนี่ ภรรยาคุณหมอจะคิดอย่างไร?”

2. The Therapist as Powerful Authority
Transference ชนิดนี้ ผู้ป่วยมีความรู้สึกและทัศนคติต่อนักจิตบำบัด เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่มีต่อบิดามารดา หมายความว่า นักจิตบำบัดเป็นผู้วิเศษ มีอำนาจมหาศาลสามารถบันดาลให้เกิดอะไรก็ได้

ถ้ามองดูอีกแง่หนึ่ง นักจิตบำบัดก็ถูกสมมติให้อยู่ในฐานะ Authority อยู่แล้ว คือ ต้องมีการศึกษาสูง มีคุณวุฒิพิเศษ ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ ฯลฯ สิ่งนี้ทำให้ผู้ป่วย หวังในตัวนักจิตบำบัดสูงเกินกว่าความเป็นจริง การที่เป็น Authority หมายความว่า มีอำนาจ อาจจะให้ “รางวัล” หรือ “ลงโทษ” ผู้ป่วยก็ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นจะต้องระมัดระวังตัว ต้องพูดแต่สิ่งที่ดีงาม และไพเราะกับนักจิตบำบัด มิฉะนั้น จะเกิดอันตรายกับตัวผู้ป่วยเอง (ซึ่งเป็นเรื่องของจินตนาการ) ผู้ป่วยจะพยายามเอาอกเอาใจนักจิตบำบัด โดยหวังจะให้นักจิตบำบัดปกป้องและคุ้มครองผู้ป่วย

แต่แน่นอนละ ที่ผู้ป่วยจะต้องมีความรู้สึก ทั้งรัก ทั้งเกลียด ทั้งกลัว ทั้งชัง ทั้งปฏิบัติตามและอยากฝ่าฝืน เช่นเดียวกับเด็กเล็กๆ ที่มีความรู้สึกต่อบิดามารดา ทั้งนี้ ก็เพราะว่า การเป็นผู้มีอำนาจนั้น อาจหมายถึงการออกคำสั่งให้คนไข้ต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะชอบ หรือไม่ ในบางครั้งผู้มีอำนาจอาจจะห้าม หรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ป่วยได้

นักจิตบำบัดอาจจะสังเกต Transference ชนิดนี้ ดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยจะสุภาพ อ่อนน้อมกับนักจิตบำบัด ผู้ป่วยจะยินยอมปฏิบัติตามทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงแม้ว่าจะทำให้ผู้ป่วยต้องลำบาก ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาในเรื่องเวลาเหมือนกัน ผู้ป่วยจะยอมให้นักจิตบำบัดได้รับความสะดวกก่อนเสมอ ถึงแม้ว่าจะทำให้ผู้ป่วยเป็นฝ่ายลำบากมากก็ตาม

ผู้ป่วยมักจะเรียกนักจิตบำบัดว่า “ท่าน” ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมต่อนักจิตบำบัดราวกับว่า นักจิตบำบัดเป็นผู้มีอำนาจวาสนามาก ผู้ป่วยมักจะต้องปรึกษา หรือขอความคิดเห็นของนักจิตบำบัดเสมอ ผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ปรัชญา ศาสนา
และอื่นๆ ที่ผู้ป่วยคิดว่านักจิตบำบัดไม่เห็นด้วย ผู้ป่วยจะรีบขอโทษทันที ที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างไปจากนักจิตบำบัด

ถ้านักจิตบำบัดใช้ Interpretation ผู้ป่วยจะยอมรับทุกอย่าง (ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะผิดก็ตาม เพราะว่านักจิตบำบัดนั้น ก็คือมนุษย์ธรรมดา ย่อมจะผิดได้เหมือนกัน) ถ้านักจิตบำบัดมีความคิดเห็นแตกต่างกับผู้ป่วย ผู้ป่วยจะสลัดความคิดเห็นของตนทิ้งทันที และรับเอาความคิดเห็นของนักจิตบำบัดเข้ามาแทน พร้อมกับกล่าวว่า ตนโง่เหลือเกินที่มีความคิดเห็นอย่างนั้น

ในระยะหลังๆ ของการรักษา ผู้ป่วยมักจะกล่าวหานักจิตบำบัดว่า ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยพูดตามความจริง เพราะนักจิตบำบัดเป็นผู้ใหญ่ที่คอยจะ “censor” คือ “ห้าม” ไม่ให้ ผู้ป่วยได้แสดงความคิดเห็นตามความรู้สึกจริงๆ แบบเดียวกับเด็กๆ ที่มีความรู้สึกต่อบิดามารดา

3. The Therapist as Ideal Model
Transference ชนิดนี้ ผู้ป่วยมีความรู้สึกและพฤติกรรมต่อนักจิตบำบัด เสมือนหนึ่งว่านักจิตบำบัดเป็นบุคคลดีเด่น หรือบุคคลในอุดมคติ ผูป่วยจะรู้สึกว่า นักจิตบำบัดเป็นบุคคลฉลาด คงแก่เรียน เป็นปราชญ์รอบรู้ และมีอำนาจในทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นบุคคลที่น่าเคารพนับถือ และถ้าผู้ป่วยสามารถจะลอกแบบ หรือเลียนแบบ หรือถือเอาเป็นตัวอย่างแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยเป็นคนเข้มแข็ง และมีสุขภาพจิตดี ผู้ป่วยจะมีความสามารถเหมือนหรือคล้ายคลึงกับนักจิตบำบัด จะรู้สึกว่าตนเองปลอดภัย มีความมั่นใจในตนเอง สามารถจะสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ ได้เหมือนนักจิตบำบัดเอง สรุปความว่า อยากจะเป็นบุคคลในอุดมคติเหมือนกับนักจิตบำบัด

Transference ชนิดนี้ สังเกตได้จากพฤติกรรมของคนไข้ดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยจะแต่งตัวให้เหมือนนักจิตบำบัด เลียนแบบกริยาท่าทาง การเดิน การนั่ง การพูดจา และการใช้สำนวนโวหาร ผู้ป่วยจะเลียนแบบนักจิตบำบัดทุกประการ ผู้ป่วยจะสนใจว่า นักจิตบำบัด มีรสนิยมอย่างไร เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ หรือหนังสืออื่นๆ ประเภทไหน รูปภาพ และการตกแต่งห้องทำงานของนักจิตบำบัดเป็นอย่างไร ใช้เครื่องประดับ เช่น โต๊ะเก้าอี้ชนิดไหน นักจิตบำบัดสนใจหรือมีงานอดิเรกประเภทไหน ฯลฯ

สิ่งที่เรียกว่า งานอดิเรกนี้ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยไม่เคยสนใจมาก่อน แต่ทราบว่านักจิตบำบัดสนใจ ผู้ป่วยก็จะลอกเลียนแบบอย่างทันที ผู้เขียนมีคนไข้คนหนึ่ง ซึ่งเดิมไม่เคยสนใจเพลงคลาสสิกมาก่อนเลย เมื่อผู้ป่วยทราบว่า ผู้เขียนสนใจเพลงคลาสสิก ผู้ป่วยก็เอาอย่างบ้างเหมือนกัน

4. The Therapist as Rival
Transference ชนิดนี้ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกต่อนักจิตบำบัดคล้ายกับว่า นักจิตบำบัด เป็น “คู่แข่ง” ที่จะต้องต่อสู้กันในเวลารักษา

ข้อสังเกตในเรื่องนี้คือ ผู้ป่วยจะระมัดระวังตัวตลอดเวลา ต่อสู้และพยายามเอาชนะนักจิตบำบัดในทุกทาง ถ้าผู้ป่วยเป็นชายที่มีอายุใกล้เคียงกับนักจิตบำบัด ซึ่งเป็นผู้ชายด้วยกัน ผู้ป่วยจะต่อสู้แข่งขันในทางสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด ฐานะทางการเงิน และ ทางสังคม ถ้าผู้ป่วยเป็นหญิง และนักจิตบำบัดเป็นชาย ผู้ป่วยจะใช้เล่ห์เหลี่ยมและมายาทุกชนิด ในการแข่งขันกับนักจิตบำบัด เช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไปที่ต้องการเอาชนะผู้ชาย ถ้านักจิตบำบัดเป็นหญิง และผู้ป่วยเป็นชาย ก็จะมีการแข่งขันชิงดีกันในลักษณะคล้ายคลึงกัน

จากประสบการณ์เราพบว่า ผู้ป่วยมักจะถาม Direct Questions เพื่อทดสอบว่า นักจิตบำบัดมีความรู้มากน้อยเท่าใด อ่านหนังสือหรือตำราเล่มไหน ผู้ป่วยจะพยายาม “แปลความหมาย” ทั้งของตนเอง และนักจิตบำบัดทุกๆ อย่าง ก่อนที่นักจิตบำบัดเองจะกระทำดังกล่าว และถ้านักจิตบำบัดเป็นฝ่าย “แปลความหมายบ้าง” ผู้ป่วยจะ “คุยโอ่” ว่า เขา ทราบอยู่ก่อนแล้ว ผู้ป่วยบางคนจะคอยจ้องจับผิดอยู่ตลอดเวลา ถ้านักจิตบำบัดทำผิดพลาด หรือลืมเรื่องราวที่ผู้ป่วยเคยเล่าให้ฟัง ผู้ป่วยจะฉวยโอกาสโจมตีนักจิตบำบัดในทันที

ผู้ป่วยหลายคนเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า นักจิตบำบัดมักจะเงียบและพูดน้อย ผู้ป่วยจะพยายามทุกวิถีทางที่จะให้นักจิตบำบัดเป็นฝ่ายพูดแทนผู้ป่วย ผู้ป่วยบางคนอาจจะเล่าถึงทัศนคติของตนเอง และท้าทายนักจิตบำบัดว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของตนเองได้

ผู้ป่วยบางคนมักจะถามหรือแสดงความสนใจในฐานะการเงิน และตำแหน่งหน้าที่ของนักจิตบำบัด เพื่อต้องการทราบว่า นักจิตบำบัดประสบความล้มเหลวในเรื่องใดบ้าง ผู้ป่วยหญิงหลายคนมักจะเอาชนะนักจิตบำบัดชาย โดยใช้เล่ห์เหลี่ยม มายา และการยั่วยวนทางเพศ เช่นเดียวกับผู้หญิงที่เคยทำกับคนรัก หรือสามีของตน ส่วนผู้ป่วยชายกับนักจิตบำบัดหญิง ผู้ป่วยจะพยายาม “จีบ” นักจิตบำบัด เพื่อให้หลงรักตนให้จงได้

5. The Therapist as Favorite Child
Transference ชนิดนี้ ค่อนข้างแปลก เพราะว่า Transference หมายถึง การที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกต่อนักจิตบำบัด เสมือนหนึ่งว่า นักจิตบำบัดเป็นบุคคลสำคัญในวัยเด็กของผู้ป่วย คือ บิดามารดา และญาติสนิท ฯลฯ

แต่ถ้าเราพิจารณาดูให้ดี จะเห็นได้ว่า มีคนจำพวกหนึ่งซึ่งไม่สามารถเลียนแบบ เอาอย่าง ทำตัวให้เหมือนบิดามารดาในอุดมคติของตนเอง การที่มนุษย์เราจะเป็นบุคคลใน “อุดมคติ” ของตนเองได้นั้น จะต้องอาศัยการพัฒนาบุคลิกภาพตั้งแต่ในวัยเด็ก คือ การใช้ Identification กับบิดามารดาใน “อุดมคติ” การเป็นเด็กใน “อุดมคติ” หมายความว่า จะต้องได้เป็นบิดามารดาใน “อุดมคติ” ในอนาคต ซึ่งผู้ป่วยประเภทนี้ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ป่วย ก็จะต้องเลียนแบบ เอาอย่าง ทำตัวให้เหมือนนักจิตบำบัด ซึ่งผู้ป่วยถือว่า เป็น “เด็ก” ใน อุดมคติ และตนเองก็จะได้เป็นบุคคลใน “อุดมคติ” ไปด้วย

Transference ชนิดนี้ พบบ่อย ถ้านักจิตำบำบัดมีอายุน้อยกว่าคนไข้ (แต่ไม่ได้ หมายความว่า นักจิตบำบัดจะรักษาคนไข้ไม่ได้) ลักษณะที่พบบ่อยก็คือ ผู้ป่วยจะแสดงพฤติกรรมเสมือนกับเป็นบิดามารดาของนักจิตบำบัด เช่น แสดงความห่วงใยในสุขภาพของนักจิตบำบัด เตือนนักจิตบำบัดให้ระมัดระวังตัว อย่าให้เจ็บไข้ อย่าทำงานมากเกินไป ถ้าผู้ป่วยเป็นหญิง ก็มักจะเอาเสื้อผ้ากันหนาวมาให้ นำอาหารมาให้ ผู้ป่วยที่เป็นชาย มักจะสอนให้นักจิตบำบัดที่เป็นชายเหมือนกัน เช่น แนะนำการดูแลบ้านช่อง รถยนต์ การลงทุน และธุรกิจต่างๆ เป็นต้น

ตลอดเวลาของการทำจิตบำบัด Transferences เหล่านี้ จะเกิดขึ้นในแบบใดแบบหนึ่งสลับกันไป หรือเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หลายอย่างก็ได้ แต่ว่ามักจะมีแบบใดแบบหนึ่งที่เด่นชัดกว่าแบบอื่นๆ บางครั้ง อาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหมดภายในชั่วโมงการรักษาชั่วโมงเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดหัดใหม่ทั้งหลาย จะต้องพึงสังวรในเรื่องนี้ด้วย

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า