สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปฏิกิริยาของผู้ป่วยที่มีต่อคำถามของผู้รักษา

เมื่อผู้รักษาถามผู้ป่วย ผู้ป่วยจะเกิดความคิดขึ้น 2 อย่าง ความคิดแรก เกี่ยวกับเนื้อหาของคำถามโดยตรง ความคิดที่สอง ผู้ป่วยจะแปลกใจหรือสงสัยว่า ทำไมผู้รักษาจึงถามเช่นนี้ ในเวลานี้ นั่นคือ ผู้รักษากำลังคิดอะไร เกี่ยวกับผู้ป่วย ความคิดอันดับหลังนี้ มีความสำคัญมาก เพราะว่าผู้ป่วยจะคิดว่าเป็นวิธีการรักษา และเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาของผู้รักษา ที่จะให้แก่ผู้ป่วย และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองดีขึ้น

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นหญิง มารับการรักษาด้วยอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ และมีอาการปวดศีรษะแบบ Migraine ด้วย ชั่วโมงนี้ เป็นชั่วโมงที่ 3 ของการรักษา ผู้ป่วยได้เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันสุดสัปดาห์

วันเสาร์ ผู้ป่วยไปทานอาหารกลางวันกับเพื่อน ตอนบ่ายไปซื้อของ ตอนคํ่าไปงานเลี้ยง เมื่อไปถึงก็เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมาทันที แต่อาการไม่รุนแรงนัก พอวันรุ่งขึ้น อาการปวดก็หายไป แล้วผู้ป่วยก็เปลี่ยนเรื่องมาพูดถึงว่า จะทำอะไรในวันสุดสัปดาห์ของสัปดาห์ต่อไป
ผู้รักษาจึงใช้ Interposition โดยถามขึ้นมาว่า

“เมื่อสักครู่คุณพูดว่า วันเสาร์บ่ายคุณสบายดี แต่พอไปงานเลี้ยงตอนค่ำคุณปวดศีรษะ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ระหว่างบ่ายถึงค่ำ ?”

ผู้ป่วยทำท่าคิด แล้วตอบว่า
“ไม่เห็นจะมีอะไร หนูกลับบ้าน พูดกับเพื่อน แล้วก็แต่งตัว….ออ มีค่ะ แฟนหนูเขามารับหนูช้า เลยทะเลาะกันเรื่องนี้”

ผู้รักษาจึงพูดว่า
“ลองเล่ารายละเอียดที่คุณทะเลาะกันให้ผมฟังหน่อยซิ”

ข้อสังเกต
ผู้รักษาใช้ Interposition โดยถามผู้ป่วย เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ผู้ป่วยสบายดี และเวลาที่ปวดศีรษะ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าใจความสำคัญของสาเหตุทางจิตใจ ซึ่งเป็นตัวการนำมาของอาการปวดศีรษะของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยจำเหตุการณ์ได้ ผู้รักษาจะถามรายละเอียดเพิ่มเติมทันที

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า