สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บาดทะยัก (Tetanus)

เป็นโรคอันตรายร้ายแรงที่พบได้ในคนทุกวัย ผู้ป่วยมักมีประวัติจากการมีบาดแผลตามร่างกาย เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว มีบาดแผลสกปรกและขาดการดูแลที่ถูกต้อง หรือไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อนบาดทะยัก

บาดทะยักในทารกแรกเกิดมักกันได้บ่อยในสมัยก่อน เนื่องจากการคลอดสมัยก่อนต้องใช้ไม้รวกหรือตับจากตัดสายสะดือ การใช้น้ำหมากน้ำลายบ้วนรักษาสะดือเด็กทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นบาดทะยัก มักพบมีอาการหลังคลอดได้ประมาณ 4-14 วัน แต่ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกัน มีการทำคลอดที่สะอาดปลอดภัยจึงพบโรคนี้ได้น้อยลง

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ คลอสตริเดียมเตตานิ มีลักษณะเป็นสปอร์ มีอยู่ทั่วไปตามพื้นดิน ฝุ่น มูลสัตว์ อุจจาระคน เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นปีๆ เพราะมีความทนทานต่ออุณหภูมิ ความชื้น และสารเคมีฆ่าเชื้อประเภท แอลกอฮอล์ ฟีนอล ฟอร์มาลดีไฮด์ เมื่อสัมผัสเชื้อโรคเข้าสู่ทางบาดแผลก็จะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้น เชื้อจะเจริญได้ดีจากบาดแผลที่ลึกและแคบเช่น บาดแผลที่ถูกตำมีออกซิเจนน้อย หรืออาจจะเจริญในบาดแผลลักษณะอื่นๆ ด้วยก็ได้ และเมื่อเชื้อปล่อยพิษออกมากระจายไปตามเส้นประสาทจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่รอยต่อกล้ามเนื้อร่วมประสาทและประสาทส่วนกลาง ทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายหดเกร็ง แข็งตัว และออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทอัตโนมัติทำให้ชีพจรและความดันผิดปกติ เหงื่อออกมาก หลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน

ระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 5 วัน ถึง 15 สัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ที่ 6-15 วัน โรคจะยิ่งรุนแรงและอันตรายมากขึ้นถ้าระยะฟักตัวยิ่งสั้น

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง เนื่องจากกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยวหดเกร็งและแข็งตัว ทำให้ขยับปากไม่ได้ ทำท่าเหมือนแสยะยิ้ม กลืนลำบาก กระสับกระส่าย ในทารกจะร้องกวน ไม่ดูดนม อ้าปากไม่ได้ ในระยะแรก

ในเวลาต่อมากล้ามเนื้อบริเวณคอ หน้าอก หน้าท้อง หลัง แขนขา มีอาการหดเกร็งและแข็งตัว ทำให้มีอาการคอแข็ง ท้องแข็ง หลังแอ่น มีอาการชักเกร็งของแขนขาและกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นพักๆ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นจากการสัมผัสตัว แสงเข้าตา หรือได้ยินเสียงดังๆ

ทุกครั้งที่ชักผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมาก ขณะชักเกร็งจะหายใจลำบาก ตัวเขียว และอาจหยุดหายใจได้ เพราะผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกตัวดีตลอดเวลาที่มีอาการ ซึ่งต่างกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบที่ผู้ป่วยไม่ค่อยรู้สึกตัว

สิ่งตรวจพบ
อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบแทรกซ้อน
มีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ใบหน้าเหมือนแสยะยิ้ม คอแข็ง หลังแอ่น ชักเกร็งเป็นพักๆ เมื่อถูกกระตุ้น รีเฟล็กซ์ของข้อไวกว่าปกติ

อาจมีชีพจรเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ เหงื่อออกมาก ไข้สูง หลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน หากมีอาการรุนแรง

มักพบการอักเสบของบาดแผล พบมีสะดืออักเสบในทารก หรืออาจไม่พบบาดแผลชัดเจนก็ได้ในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
ขณะชักอาจพบอาการขาดออกซิเจน ขาดอาหารเพราะกลืนไม่ได้ การแข็งตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทำให้อุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ปอดอักเสบ ปอดทะลุ ปอดแฟบ กระดูกสันหลังหักจากการชัก

ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจและหัวใจวายถึงตายได้ในระยะสุดท้ายของโรค

การรักษา
หากเกิดความสงสัยในอาการควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วน อาจต้องลดอาการชักเกร็งด้วยการให้ไดอะซีแพมฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเหน็บทวารหนักไปด้วยระหว่างทาง

แพทย์มักวินิจฉันจากอาการแสดงเป็นหลัก หากยังไม่ชัดเจนอาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพาะเชื้อ เจาะหลัง กรวดน้ำไขสันหลัง เอกซเรย์ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ให้การรักษาตามอาการแก่ผู้ป่วย เช่น ให้สารน้ำ เกลือแร่ ให้อาหาร ยากันชัก ใส่ท่อหายใจ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ดูแลรักษาความสะอาดของบาดแผล เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญคือจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักและให้ยาต้านพาแก่ผู้ป่วย โดยการฉีดอิมมูนโกลบูลินต้านพิษบาดทะยัก 500 ยูนิตเข้ากล้ามครั้งเดียว ถ้าไม่มีอาจใช้เซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก 10,000-100,000 ยูนิต แบ่งฉีดเข้ากล้ามเนื้อและหลอดเลือดดำ ให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลินจี 1.2 ล้านยูนิต ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง เด็กให้ขนาด 100,000-200,000 ยูนิต/กก./วัน แบ่งให้ทุก 4 ชั่วโมง หรือเมโทรไนดาโซล 500 มก. ทุก 6 ชั่วโมง เด็กให้ขนาด 30 มก./กก./วัน แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำนาน 7-10 วัน

มักมีโอกาสหายขาดหากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่เป็น อาจต้องรักษาด้วยวิธีทำกายภาพบำบัดนานหลายเดือน แต่ถ้าปล่อยให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นหลังแอ่นแล้วก็จะมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง โดยเฉพาะที่พบในทารกหรือผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีไข้สูง ระยะฟักตัวของโรคสั้น และชักตลอดเวลาจะมีโอกาสเป็นอันตรายมากขึ้นไปอีก

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยที่มีอาการบาดทะยักเฉพาะที่ มีกล้ามเนื้อหดเกร็ง และแข็งตัวใกล้บริเวณบาดแผลมักติดเชื้อที่ไม่รุนแรงและสามารถหายไปได้เอง แต่อาจมีอาการกระจายไปทั่วร่างกายได้ในบางราย

2. อาจแยกได้ไม่ชัดจากอาการข้างเคียงจากยา เมโทโคลพราไมด์ ฟีโนไทอาซีน ของผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกที่มีอาการขากรรไกรแข็ง คอแข็ง โดยที่ผู้ป่วยไม่มีไข้ และยังรู้สึกตัวดี ควรส่งผู้ป่วยให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดหากมีอาการดังกล่าว ถ้าอาการเหล่านั้นเกิดจากยามักเกิดหลังจากใช้ยาหรืออาการจะทุเลาลงเมื่อยาหมดฤทธิ์ภายใน 6-8 ชั่วโมง หรือหลังจากให้ยา ไดเฟนไฮดรามีน

การป้องกัน
1. ตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน ควรฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน และฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ครบตามกำหนดหากยังไม่เคยฉีดตอนเด็ก และทุก 10 ปี ควรมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นด้วย

2. หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนรวม 3 เข็ม โดยเข็มแรกฉีดเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก เข็มที่ 2 ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน เข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ถ้าไม่ได้ฉีดในขณะตั้งครรภ์ก็ให้ฉีดหลังคลอด

หากเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม ควรให้อีก 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน หากเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม ควรให้อีก 1เข็ม ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี

หากเคยได้รับวัคซีนมาก่อนอย่างน้อย 3 เข็มและเข็มสุดท้ายนานกว่า 10 ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีกเพียง 1 เข็ม จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี

3. ควรทำคลอดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าจำเป็นต้องทำคลอดเองควรใช้กรรไกรที่ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อตัดสายสะดือเด็ก และดูแลรักษาความสะอาดของสะดือเด็กอย่างถูกต้อง

4. ควรชะล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที และฉีดยาป้องกันบาดทะยักเมื่อเกิดบาดแผลจากตะปูตำ หนามตำ สัตว์กัด ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือบาดแผลสกปรก เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า