สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

นักจิตบำบัด

ผู้ที่จะเป็นนักจิตบำบัด หรือผู้รักษาในระดับนี้ได้ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. ต้องมีความรู้ในวิชาจิตเวชศาสตร์ อย่างถ่องแท้ รวมทั้งวิชา Behavioral Sciences ในชุมชนและสังคมที่นักจิตบำบัด และผู้ป่วยอาศัยอยู่ด้วย

2. มีความรู้ทางภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติของจิตบำบัดชนิดนี้ อย่างชํ่าชอง ชำนิชำนาญ จิตบำบัดนั้นมีเป้าหมายที่แน่นอน หรือเรียกว่า Goal Directed ไม่ใช่กระทำไปอย่างเปะปะ ไม่รู้ทิศทาง ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่า ผู้ที่อ้างตนเป็นนักจิตบำบัดหลายคนนั้น หารู้ไม่ว่า ตนกำลังทำอะไรอยู่ อาจารย์ของผู้เขียนท่านหนึ่งกล่าวกับผู้เขียนว่า “YOU have to know what you are doing.”

นักจิตวิเคราะห์ที่ใจกว้างบางท่าน เช่น Judd Marmor กล่าวว่า นักจิตบำบัดที่ดีนั้น จะใช้ทฤษฏีไหนไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญยิ่งคือ ต้องรู้จริง และได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกต้องจนจบหลักสูตร

3. นักจิตบำบัดจะต้องได้รับการฝึกอบรมมาอย่างถูกต้อง วิธีฝึกอบรมนักจิตบำบัดระดับสากลนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ การทำสัมมนาคนไข้ระยะยาว หรือ Continuous Case Seminar การอ่านหนังสือแล้วติดตามด้วยการสัมมนา และประการสุดท้าย คือการสอนแบบ ตัวต่อตัว” หรือ Individual Supervision ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ผู้เขียนนิยมใช้การอัดเทป แล้วเปิดให้อาจารย์ฟัง และถ้าทำได้ หรือฐานะทางการเงินเอื้ออำนวย ก็อาจใช้วิดีโอเทปได้ สำหรับในกรณีที่คนไข้ไม่อนุญาตให้อัดเทป ผู้เขียนขอเรียนแนะนำว่าผู้เรียนจิตบำบัด จะต้องแบ่งเวลาไว้สำหรับเขียนทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จำได้ ในทันทีที่จบชั่วโมงการรักษา แล้วนำมาปรึกษาอาจารย์ผู้สอน จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองพบว่า คนไข้ที่เป็น “คนไทย” ส่วนมาก จะยินยอมให้อัดเทปได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจบ้างเหมือนกัน

4. นักจิตบำบัดจะต้องมีความสามารถเข้าใจ ความหมายที่แท้จริง ของคำพูดของผู้ป่วย มนุษย์เรานั้นย่อมจะเล่นละครกันเสมอ การพูดอย่างหนึ่ง อาจจะมีความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า The therapist must understand what the patient means and feels beyond the face value of what he says.

สำหรับเรื่องนี้ จะได้อธิบายอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Manifested และ Implied สำหรับที่นี้ จะขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้

สมมติคนไข้พูดว่า “เมื่อวาน ผมไปโรงพยาบาล ก. ต้องเสียเวลารอตั้ง 3 ชั่วโมง”

เมื่อนักจิตบำบัดได้ฟังเช่นนี้ จะต้องคิดว่า สิ่งที่คนไข้พูดนี้ มี “ความหมาย” ว่า อย่างไร? จริงอยู่ คำพูดนี้อาจมีความหมายได้หลายประการ แต่ความหมายที่น่าจะคิดถึงมากที่สุด ก็คือ “คุณอย่าให้ผมต้องเสียเวลารอนานถึง 3 ชั่วโมง อย่างที่โรงพยาบาล ก. ทำกับผม”

5. นักจิตบำบัดที่ดี ต้องมีความรู้สึกตัวต่ออารมณ์ ความปรารถนา ความคิด จินตนาการ ความวิตกกังวล ความขัดแย้งภายในจิตใจ และ Defenses ของตัวนักจิตบำบัดเอง นอกจากนี้ ยังจะต้องสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเอง ให้สงบ เยือกเย็น หรือ “One-Up” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องข่มขู่คนไข้ หรือแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับคนไข้ ซึ่งอาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านักจิตบำบัดนั้น ต้องทำ “จิตว่าง” ได้ อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องทำได้ในชั่วโมงการรักษา

คุณสมบัติของนักจิตบำบัดทั้ง 5 ข้อนี้ 4 ข้อแรก อาศัยการเล่าเรียน ความเฉลียวฉลาดของนักจิตบำบัดเองและความตั้งใจ หรือสนใจอย่างจริงจัง สำหรับข้อที่ 5 นั้น ได้มาจากความซื่อสัตย์ และจริงใจต่อตนเองเท่านั้น ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาของนักจิตวิเคราะห์ เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองเป็นอย่างยิ่ง สมควรที่นักจิตบำบัดทั้งหลายควรถือเอาเป็นแบบอย่างที่ดี

จากประสบการณ์ เราพบว่า การที่ผู้ป่วยจะพูด “อะไร” หรือ “อย่างไร” กับนักจิตบำบัดนั้น ส่วนมากขึ้นอยู่กับ “ท่าที” ของนักจิตบำบัดด้วย คือ ผู้ป่วยจะคิดว่า ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว นักจิตบำบัดจะมองผู้ป่วยในแง่ไหน จะเข้าใจ หรือดูถูกดูหมิ่น ฯลฯ ความคิดบางอย่างของผู้ป่วยอาจจะเป็น Transference แต่ขณะเดียวกันความคิดความรู้สึกบางอย่างก็เป็น ไปสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แน่นอนละ ที่นักจิตบำบัดที่ดี จะต้องทราบว่าอย่างไหน เป็นอะไร?

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า