สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

นักจิตบำบัดกับการเริ่มต้นการรักษา

การเริ่มต้นการรักษานี้ ผู้เขียนแปลมาจากคำว่า Beginning the Psychotherapy ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ใคร่ขอเรียนให้นักจิตบำบัดหัดใหม่ทราบว่า มีข้อห้ามที่ต้องพึงสังวรไว้ ในการพบคนไข้ครั้งแรก 10 ประการคือ

1. ห้ามเถียงคนไข้ ห้ามทะเลาะกับคนไข้ ห้ามท้าทายคนไข้ ห้ามถือหรือแสดงท่าทีว่า สิ่งที่คนไข้เล่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีความสำคัญ

เหตุผลในเรื่องนี้ คือ ถึงแม้ว่าสิ่งที่คนไข้เล่าจะเป็นความหลงผิด ประสาทหลอน มองโลกในแง่ร้าย ฯลฯ แต่ว่าในการพบกันครั้งแรกนั้น ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รักษากับคนไข้ ยังไม่เกิดขึ้น และคนไข้ก็ยังไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ถ้าไปเถียงหรือทะเลาะกับคนไข้แล้ว ก็เป็นสิ่งแน่นอนว่าต้องประสบกับความล้มเหลว

ในกรณีที่คนไข้เล่าเรื่องราว ซึ่งเมื่อฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีเหตุผล หรือเป็นความหลงผิด ฯลฯ แต่คนไข้รบเร้าจะเอาคำตอบกับผู้รักษาให้จงได้ เมื่อพบปัญหาอย่างนี้ ผู้รักษาก็อาจจะต้องพูดว่า “ผมเข้าใจ คุณมีความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ”

ข้อสังเกต
ผู้รักษาไม่ได้บอกผู้ป่วยว่า มีความเห็นในเรื่องนั้นอย่างไร แต่ผู้รักษาเข้าใจผู้ป่วยดีว่ามีความรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้น ผู้รักษาจึงไม่ได้ “หลอกลวง” ผู้ป่วย

คนไข้บางคนอาจรบเร้าผู้รักษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้รักษาเข้าข้างผู้ป่วยให้ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้รักษาอาจจะตอบว่า

“ผมเพิ่งรู้จักคุณเป็นครั้งแรก ปัญหาของคุณเป็นเรื่องน่าสนใจ ผมขอเวลาศึกษาเรื่องนี้ก่อน แล้วจะบอกให้คุณทราบ เมื่อผมได้ข้อมูลเพียงพอแล้ว”

ข้อสังเกต
ผู้รักษาไม่ได้เข้าข้างผู้ป่วย แต่ก็ปฏิเสธในลักษณะที่นุ่มนวล ไม่ให้คนไข้ผิดหวังมากเกินไป

2. ห้ามยกย่องคนไข้ ห้ามให้กำลังใจอย่างผิดๆ

ตัวอย่างเช่น คนไข้อาจจะเป็นคนหน้าตาดี สวยงาม แต่งตัวดี ทำงานมีเกียรติ ฯลฯ เหตุผลก็คือคนไข้เหล่านี้ มักจะมี Self-esteem เสียมากเกินไป การยกย่องสรรเสริญในขณะนี้ เป็นสิ่งที่คนไข้ไม่อาจยอมรับได้ และเป็นอันตรายมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

ส่วนการให้กำลังใจผิดๆ นั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่ายังไม่ทราบข้อมูลโดยละเอียดเลยว่า คนไข้ป่วยเป็นอะไรกันแน่ จะไปให้กำลังใจเขาได้อย่างไร

3. อย่าให้คำมั่นสัญญาผิดๆ
เรื่องให้คำมั่นสัญญานี้ แพทย์ฝ่ายกายมักชอบใช้มาก เช่น บอกว่าไม่เป็นอะไรมาก รักษาไม่นานก็หาย ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าไม่หาย แต่ในการทำจิตบำบัดนั้น ผู้รักษาต้องการจะสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้บนรากฐานของความจริงใจ เพราะฉะนั้น จะ “หลอกลวง’ ให้กำลังใจผิดๆ หรือสัญญาผิดๆ ไม่ได้ สมมุติผู้รักษาบอกว่า

“คุณไม่ต้องวิตก อีก 2 อาทิตย์ก็จะหายเป็นปกติ”

แต่เมื่อคนไข้เข้ารับการรักษาเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ก็ยังไม่หาย แล้วจะให้คนไข้ไว้วางใจผู้รักษาได้อย่างไร

นักจิตบำบัดหัดใหม่ มักจะอึกอักและไม่สบายใจ เมื่อถูกคนไข้ถามว่าจะหายไหม? และอยากจะ Reassure คนไข้เหลือเกิน ผู้เขียนขอแนะนำให้ตอบว่า

“ผมขอศึกษาเรื่องราวของคุณให้ดีเสียก่อน จึงจะตอบคุณได้”

สำหรับในรายที่นักจิตบำบัด มีความมั่นใจอย่างจริงจังว่าจะรักษาคนไข้ได้ ก็อาจจะตอบว่า

“ผมคิดว่า มีทางที่จะรักษาคุณได้”

แต่การที่จะตอบเช่นนี้ นักจิตบำบัดออกจะเสี่ยงอยู่มาก ทางที่ดี ควรจะใช้คำตอบข้อแรก

4. ห้ามใช้ Interpretation และห้ามบอก Dynamics แก่คนไข้ ในการพบกันครั้งแรก เหตุผล คือ คนไข้ยังไม่พร้อม และ Relationship กับผู้รักษาก็ยังไม่เกิด หรือไม่มั่นคงเพียงพอ

5. ห้ามบอก Diagnosis กับคนไข้ ถึงแม้ว่าจะถูกคนไข้รบเร้า เพราะว่าในการพบกันเพียงครั้งเดียวนั้น ส่วนมากมักจะยังไม่ทราบ Diagnosis ที่แท้จริง ถ้าถูกคนไข้รบเร้ามากๆ ก็อาจตอบว่า

“คุณมีปัญหาทางจิตใจ แต่ผมยังได้ข้อมูลไม่เพียงพอ” หรือ
“ผมขอเวลาศึกษาปัญหาของคุณให้แน่ใจเสียก่อน แล้วจึงจะเรียนให้ทราบ”

6. ห้ามถามผู้ป่วยในเรื่อง Sensitive Area ถ้าคนไข้ยังไม่พร้อมที่จะพูด หรือยังละอายมาก หรือมี Resistance คำว่า Sensitive Area นี้โดยมากได้แก่ ปมด้อย ปัญหาทางเพศ ความล้มเหลวในชีวิต ฯลฯ เราอาจถามในเรื่องเหล่านี้ได้ แต่จะต้องพูดในลักษณะที่ขัดเกลาถ้อยคำให้นิ่มนวล ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบ ละอาย นิ่งเฉย หรือตอบชนิดบ่ายเบี่ยง ก็แสดงว่าผู้ป่วยยังไม่พร้อม ห้ามใช้การข่มขู่บังคับให้ผู้ป่วยตอบโดยเด็ดขาด

7. สำหรับนักจิตวิเคราะห์ ห้ามใช้เก้าอี้นอน หรือ Couch ในการสัมภาษณ์คนไข้ครั้งแรก เพราะว่าการจับให้คนไข้นอนในครั้งแรกนั้น จะเป็นการเพิ่มความวิตกกังวลให้กับคนไข้โดยใช่เหตุ นอกจากนี้ยังเป็นการยากที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้อีกด้วย

8. ห้ามบังคับให้คนไข้รับการรักษา ซึ่งหมายถึงการทำจิตบำบัด นักจิตบำบัด อาจจะให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษา แต่ถ้าผู้ป่วยปฏิเสธ จะบังคับผู้ป่วยไม่ได้ การบังคบผู้ป่วยให้รับการรักษา เป็นการสร้างปัญหามากมาย ทั้งแก่ตัวผู้รักษาและผู้ป่วยด้วย

9. ห้ามร่วมมือกับคนไข้ โจมตีบิดามารดา สามีภรรยา เพื่อน และเพื่อนร่วมงานของคนไข้ เพราะว่านักจิตบำบัดยังได้ข้อมูลไม่เพียงพอ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นอันตรายมาก ถ้าคนไข้คาดคั้นให้ผู้รักษาออกความเห็น ผู้รักษาก็อาจจะพูดว่า

“ผมทราบว่าคุณกำลังลำบากใจ” หรือ
“เหตุการณ์อย่างนี้ ทำให้คุณไม่สบายใจ” หรือ
“ผมทราบว่า คุณกำลังหัวเสียเพราะเรื่องเหล่านี้”

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเล่าว่า ภรรยาเป็นคนจู้จี้ เอาใจยาก ดีแต่บ่น ดุด่า ตะคอกใส่ผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลาและไม่เคยลงรอยกันได้เลย แม้แต่เรื่องเดียว

คำตอบที่ผิด คือ
“ช่างร้ายเหลือเกิน เขาไม่รู้ตัวเลยหรือ ว่าเขาทำอะไรกับคุณ”
“เลวมาก เธอเป็นคนชอบทำลายสามี”
“คุณอาจจะมีอคติต่อเธอกระมัง”

คำตอบที่ถูก คือ
“เรื่องอย่างนี้ ทำให้คุณหัวเสีย”
“คุณคงลำบากใจไม่ใช่น้อย”

10. ห้ามร่วมมือกับคนไข้ ถ้าคนไข้ด่าผู้รักษาคนก่อนๆ

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเล่าว่า “ผมรักษากับหมอ ก. มาตั้ง 3 ปีแล้ว ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมา ผมเสียทั้งเงินทั้งเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์”

ผู้รักษาพูดว่า “คุณรู้สึกว่า เสียเงินเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์”

ผู้ป่วยตอบว่า “ใช่ครับ ใช่แน่ๆ ผมรู้สึกว่า เขารักษาผมผิดๆ ทำให้ผมเสียทั้งเงินทั้งเวลาไปมากมาย”

ผู้รักษาจึงพูดว่า “บางที่อาจจะมีปัญหาระหว่างคุณ กับคุณหมอคนนั้น”

ผู้ป่วยตอบว่า “อาจจะใช่ครับ ผมคิดว่า ผมเป็นคนจับอะไรไม่ติด”

ผู้รักษาพูดทวนคำพูดของผู้ป่วย เป็นเชิงคำถามว่า “จับอะไรไม่ติด”

ผู้ป่วยพูดว่า “คุณหมอคนนั้น เคยพูดเสมอว่า ผมเป็นคนเข้าใจสิ่งต่างๆ ยาก และมักจะไม่เข้าใจสิ่งที่เขาพูด”

ผู้รักษาจึงอธิบายว่า “คงจะมีเหตุผลหลายอย่าง ที่ทำให้การรักษาไม่ได้ผล แต่เราจะต้องพูดถึงเรื่องนี้อีก ในคราวต่อไป”

ในการทำจิตบำบัดนั้น ถือว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อสัมภาษณ์ผู้ป่วยครั้งแรก  โดยผู้ป่วยจะเป็นผู้พูด และนักจิตบำบัดจะเป็นคนฟังเป็นส่วนมาก ในระยะเริ่มต้นนี้ นักจิตบำบัดจะใช้ Interposition อย่างเดียว ห้ามใช้ Interpretation เด็ดขาด นักจิตบำบัดจะใช้การถาม เพื่อให้ผู้ป่วยอธิบายในสิ่งที่นักจิตบำบัดไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการสัมภาษณ์ครั้งแรก

เมื่อได้แนะนำตัวกันแล้ว ผู้ป่วยซึ่งเป็นนักศึกษาหญิง ก็นั่งลงบนเก้าอี้ที่ได้รับเชิญให้นั่ง

นักจิตบำบัดเป็นฝ่ายเริ่มพูดก่อนว่า “จะให้ผมช่วยคุณอย่างไรบ้าง ?”

ผู้ป่วยพูดขึ้นอย่างรวดเร็วว่า “หนูเองก็ไม่แน่ใจ แต่รู้ว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับตัวเอง หนูได้อ่านหนังสือจิตวิทยามาหลายเล่ม พบว่าตัวเองเป็นอย่างที่เขาเขียนไว้ในตำราแทบทุกหน้า จึงคิดว่า ควรจะพบจิตแพทย์ เพื่อสะสางปัญหาเหล่านี้ คุณแม่คงตายแน่ ถ้ารู้ว่าหนูมาพบจิตแพทย์ เพราะท่านไม่เชื่อวิชาจิตเวช”

หมายเหตุ ผู้รักษายังไม่ได้รับคำตอบจากผู้ป่วยเลย ในเรื่องที่ว่า เธอมาพบจิตแพทย์ทำไมแต่ก็ได้ข้อมูลที่สำคัญยิ่งแล้ว คือ ความ “สัมพันธ์” ระหว่างผู้ป่วยกับมารดา เมื่อผู้ป่วยยังไม่หยุดพูด ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขัดจังหวะในการพูดของผู้ป่วย ผู้ป่วยเล่าต่อไปว่า

“คุณแม่ไม่ใช่คนหัวโบราณหรอก แต่คิดว่าทุกคนก็มีปัญหากันทั้งนั้น  วิธีแก้ไข คือ ดำเนินชีวิตให้บริสุทธิ์ นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังบ้าง แล้วไม่ต้องกังวลเรื่องอะไรทั้งสิ้น” แล้วผู้ป่วยก็หยุดพูด

ผู้รักษาก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมผู้ป่วยจึงหยุดพูด ผู้รักษามีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ เงียบจนกว่าผู้ป่วยจะพูดขึ้นมาเอง หรืออาจจะกระตุ้นผู้ป่วยโดยการใช้คำถาม

ในการพบกันครั้งแรกนั้น ผู้ป่วยจะต้อง “ตื่น” หรือ วิตกกังวลบ้างเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นผู้รักษาจะต้อง “Active” ตามสมควร เช่น ใช้คำถาม หรือให้กำลังใจผู้ป่วยบ่อยกว่าธรรมดา เพื่อให้ผู้ป่วยหายตื่นหรือเครียด รวมทั้งให้คุ้นเคยกับบรรยากาศของการรักษา ในกรณีนี้ ผู้รักษาเลือกใช้การถาม เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยกล่าวว่า “คุณกังวลใจเรื่องอะไรบ้าง?”

ข้อสังเกต
การจะถามหรือพูดกับผู้ป่วย นักจิตบำบัดจะต้องใช้เรื่องราวที่ต่อเนื่องกันเสมอ ไม่ใช่คนไข้พูดอย่างหนึ่ง แล้วนักจิตบำบัดกลับถามในเรื่องที่ไม่เกี่ยวโยง หรือต่อเนื่องกันเลย ในตัวอย่างนี้ คนไข้รายนี้พูดประโยคสุดท้ายว่า “ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไรทั้งสิ้น” เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดจึงได้ถามในเรื่องที่เกี่ยวโยงต่อเนื่องกัน

ผู้ป่วยตอบว่า “หนูก็ไม่แน่ใจว่ากังวลเรื่องอะไร แต่มีหลายอย่างที่ทำให้หนูหัวเสีย ไม่ใช่ที่โรงเรียน เพราะหนูเรียนได้ดีตามสมควร ถ้าจะพูดอย่างจริงใจกับคุณหมอ หนูคิดว่า น่าจะเป็นเรื่องแฟน หนูไม่เคยคบผู้ชายคนไหนได้นานเลย ลงท้ายมักจะทำให้หนูผิดหวัง และเสียใจเสมอ แล้วหนูก็เกิดอาการคล้ายบ้าคลั่ง เสียสติ”

ผู้รักษาจึงถามต่อไปว่า “มีอะไรเกิดขึ้นกับตัวคุณหรือ?”
ผู้ป่วยเล่าเรื่องว่า มีอาการวิตกกังวล ใจเต้น ใจสั่น กระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นมาหลายเดือนแล้ว อาการมักจะกำเริบขึ้นทุกๆ ครั้ง หลังจากไปเที่ยวกับเพื่อนชาย และผู้ป่วยกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง ผู้รักษาได้ถามเรื่องราวเกี่ยวกับอาการต่างๆ ว่า เริ่มต้นอย่างไร รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ในขณะนั้น ผู้รักษาสังเกตว่า ผู้ป่วยตอบคำถามสั้นลงเรื่อยๆ แบบถามคำ ตอบคำ บางครั้งก็รอให้ผู้รักษาถามต่อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้รักษาต้องการจะให้ผู้ป่วยทราบว่า การทำจิตบำบัดนั้น ไม่ใช่เป็นการถามคำตอบคำ ผู้รักษาจึงถามในเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยเล่าออกมาเอง โดยถามว่า

“มีอะไรอีก ที่รบกวนคุณ?”

ผู้ป่วยหยุดคิดเล็กน้อย และตอบว่า

“หนูไม่ทราบว่ามันจะสำคัญหรือไม่ คือ ในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา หนูมีเรื่องกับคุณแม่เสมอ รู้สึกว่าจะต้องโต้เถียงกันไปหมดทุกเรื่อง อย่างวันนี้เป็นต้น คุณแม่เล่นงานหนูเสียแทบแย่ เพราะว่ากลับบ้านดึกไปหน่อย คุณแม่คิดว่า ลูกสาวควรจะเข้าบ้านไม่เกิน 4 ทุ่ม คุณหมอคิดว่าหนูจะไปทำสิ่งที่ไม่ดี อย่างที่คุณแม่เล่นงานหรือ คุณแม่เอาแต่บ่น ดุด่า
ว่ากล่าวตลอดเวลา ทำให้หนูต้องอาเจียนทั้งคืน บางครั้งเคยคิดว่า หนูคงต้องเป็นบ้าแน่ๆ”
(พูดถึงตอนนี้ ผู้ป่วยเริ่มร้องไห้)

“คุณหมอคิดว่า หนูจะเป็นบ้าไหม?”

เมื่อผู้รักษาเห็นว่า ผู้ป่วยกำลังเศร้าโศกเสียใจ และต้องการการให้กำลังใจจาก Authority และครั้งนี้ เป็นการพบผู้ป่วยครั้งแรกด้วย ผู้รักษาจึงจำเป็นจะต้องช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเปลี่ยนเนื้อหาของการพูด เพื่อให้บรรเทาความรู้สึกลงไปบ้าง ผู้รักษาจึงพูดด้วยความจริงใจ และมั่นคงว่า

“คุณไม่เป็นบ้าหรอกครับ ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา ระหว่างแม่กับลูกสาว เป็นการต่อสู้ระหว่างคนต่างวัย เมื่อสักครู่คุณพูดถึงเรื่องแฟน ขณะนี้คุณกำลังมีแฟนหรือเปล่า?”

ข้อสังเกต
ผู้รักษาเปลี่ยนเรื่องพูด และให้กำลังใจคนไข้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นจริงเสมอ จะให้กำลังใจผิดๆ ไม่ได้

ขณะนี้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้บ้างแล้ว และตอบว่า “มีค่ะ หนูรู้จักเขามา 2 เดือนแล้ว และเราเที่ยวด้วยกันเสมอ”
ผู้รักษาถามต่อว่า “เขาเป็นนักศึกษาเหมือนคุณหรือ?”
ผู้ป่วยตอบว่า “เขาเป็นนักศึกษา วิชาเอกเคมี กำลังจะจบปีนี้ และคิดจะเรียนปริญญาโทต่อ”
ผู้รักษาพยายามถามเรื่องทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจขึ้นว่า “เขาเป็นคนอย่างไร?”
ผู้ป่วยเริ่มยิ้มได้เล็กน้อย แล้วตอบว่า
“เขาเป็นคนฉลาดมาก มีอารมณ์ขัน เขาไม่ใช่คนรูปหล่อ แต่ก็ไม่ขี้ริ้ว เรามีนิสัยตรงกันหลายอย่าง เขามีรถยนต์ ถ้ามีเวลาว่าง เรามักจะขับรถไปเที่ยวด้วยกันไกลๆ…….”

แล้วผู้ป่วยเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเพื่อนชายคนนี้ ผู้ป่วยเริ่มผ่อนคลายอารมณ์ และเล่าเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น ผู้รักษาจึงลองถาม Sensitive Area ใหม่ (แต่ถ้าผู้ป่วยยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ก็อาจจะต้องเลื่อนการถามออกไป ในครั้งต่อๆ ไป จะบังคับผู้ป่วยให้พูดไม่ได้)
ผู้รักษาถามว่า “การที่คุณไปเที่ยวกับแฟนคนนี้หรือ ที่ทำให้คุณกลับบ้านดึก ?”
ผู้ป่วยมีอารมณ์สงบลงตามสมควรแล้ว และตอบว่า
“ใช่ค่ะ ถ้าเราไปเที่ยวด้วยกันไกลๆ ก็จะกลับบ้านดึก คุณแม่คงจะได้ยินเสียงเวลาหนูกลับมา พอเช้าวันรุ่งขึ้น ก็เล่นงานหนูเป็นการใหญ่ เช่น ตะคอกใส่หน้าว่า “ไปทำอะไรกันบ้าง” “ไปเที่ยวกันถึงไหน” “ทำไมจึงกลับดึกนัก” เป็นต้น

ผู้รักษาถามว่า “คุณแม่ของคุณรู้จักเขาไหม?”
ผู้ป่วยพูดว่า “รู้จักค่ะ หนูเคยชวนเขามาทานอาหารเย็นที่บ้าน 2-3 ครั้ง คิดว่าคุณแม่คงไม่รังเกียจเขา แต่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงกังวลนัก ถ้าหนูกลับบ้าดึก”

จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ในการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดนั้น ผู้รักษาจะเป็นฝ่ายฟังเป็นส่วนใหญ่ และถามผู้ป่วยเป็นครั้งคราว ถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต และไม่สามารถเล่าเรื่องราวต่อไปได้ ผู้รักษาก็จะใช้ Interposition เข้าช่วยเหลือ

ในการสัมภาษณ์ผู้ป่วยครั้งแรกๆ นี้ ผู้รักษามีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
1. รวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัยโรคทางคลีนิค และหา Dynamics ของผู้ป่วยด้วย

2. สอนให้คนไข้ “คุ้นเคย” กับบรรยากาศของการทำจิตบำบัด

การที่ผู้รักษาต้องการทราบการวินิจฉัยโรคทางคลีนิค และ Dynamics ของผู้ป่วย ก็เพื่อที่จะใช้การรักษาที่เหมาะสม คือ จะใช้จิตบำบัดชั้นต้น ชั้นกลาง หรือชั้นสูง

ส่วนการสอนให้คนไข้คุ้นเคยกับบรรยากาศของการรักษานั้น ก็เพื่อจะให้คนไข้ ทราบหน้าที่ของตนเอง และหน้าที่ของผู้รักษาด้วย

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า