สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ธาตุเหล็กที่ร่างกายต้องการ

เหล็ก

ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดเหล็ก นับเป็นปัญหาโภชนาการของประเทศ ซึ่งพบมากในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมลูก เด็กวัยก่อนเรียน เด็กวัยเรียน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากการขาดเหล็กคือ ได้รับเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ มีการเสียเลือดอย่างเรื้อรัง และภาวะที่ร่างกายมีความต้องการเหล็กมากขึ้น

หน้าที

ร่างกายต้องการเหล็กเพื่อใช้ในการสร้างส่วนที่เป็นฮีมของเฮโมโกลบิน ไมโอโกลบิน และไซโตโครมชนิดต่างๆ รวมทั้ง non-heme iron protein ในร่างกายของผู้ใหญ่ปกติ จะมีเหล็กประมาณ 5 กรัม และประมาณร้อยละ 70 อยู่ในรูปของเฮโมโกลบิน ส่วนที่เหลือจะเก็บสะสมไว้ที่ตับ ม้าม และไขกระดูกในรูปของ ferritin และ hemosiderin เหล็กที่จับกับโปรตีนจะอยู่ในรูปของ transferrin ซึ่งทำหน้าที่ขนถ่ายเหล็ก เฮโมโกลบินทำหน้าที่เป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะต่าง ๆ และเก็บเอาของเสียคือ คาร์บอนไดออกไซด์ มาคืนให้ปอดกำจัดออกไป ส่วนไมโอโกลบินทำหน้าที่เช่นเดียวกับเฮโมโกลบิน แต่เฉพาะที่กล้ามเนื้อเท่านั้น

การประเมินภาวะเหล็กในร่างกาย ใช้เครื่องบ่งชี้หลายตัวประกอบกันดังนี้ การตรวจหาระดับ ferritin ในเลือด percent transferrin saturation (serum iron/total iron binding capacity X 100) serum transferrin free erythrocyte protoporp hyrin hemoglobin และ packed cell volume หรือ percent hematocrit

ความต้องการ

เพื่อรักษาความสมดุลของเหล็กในร่างกาย ปริมาณเหล็กทีร่างกายต้องได้รับแต่ละวันต้องครอบคลุมทั้งปริมาณเหล็กที่ถูกขับออกจากร่างกาย และความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ผู้ใหญ่เพศชายสูญเสียเหล็กโดยเฉลี่ยวันละ 1 มก. ผู้ใหญ่เพศหญิงจะสูญเสียเพิ่มขึ้น 0.5 มก.ต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณเฉลี่ยของเหล็กที่สูญเสียไปทางเลือดประจำเดือน ภาวะการตั้งครรภ์ต้องการเหล็กเพิ่มขึ้น 3.5 มก.ต่อวัน เหล็กสูญเสียผ่านทางการให้นมลูกประมาณ 0.5-1 มก.ต่อวัน ปริมาณนี้เท่ากับจำนวนเหล็กที่สูญเสียไปทางเลือดประจำเดือน ซึ่งจะถูกระงับชั่วคราวระหว่างให้นมลูก เด็กและวัยรุ่นมีการเจริญเติบโตตลอดเวลา นอกจากจะต้องการเหล็กเพื่อรักษาระดับเฮโมโกลบิน ให้ปกติแล้ว ยังเพื่อเพิ่มปริมาณเหล็กที่ร่างกายต้องการ จากการศึกษาพบว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องการเหล็กเพิ่มขึ้น 0.8-1 มก.ต่อวัน โดยทั่วไปถ้าร่างกายปกติไม่ขาดเหล็ก เหล็กที่กินเข้าไปจะถูกดูดซึมประมาณร้อยละ 10 ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด จึงแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างเดียวสำหรับทารกแรกเกิดถึงอายุ 2 เดือน เพราะเหล็กที่อยู่ในนมแม่ถูกดูดซึมได้ถึงร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับอาหารเสริมอย่างอื่นด้วยการดูดซึมของเหล็กจะลดลง สำหรับเด็ก ที่โตขึ้นอายุตั้งแต่ 3-5, 6-8 และ 9-11 เดือน ต้องการเหล็กเพิ่มขึ้นคือวันละ 6, 7 และ 8 มก.ตามลำดับ เด็กอายุ 1-9 ปี ทั้งหญิงและชายต้องการวันละ 10 มก. เด็กชายอายุ 10-15 ปี ต้องการเพิ่มขึ้นเป็น 12 มก.ต่อวัน และผู้ชายอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปต้องการ 10 มก. ต่อวัน ส่วนผู้หญิงอายุตั้งแต่ 10 ถึง 49 ปี ต้องการเหล็ก 15 มก.ต่อวัน และอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ต้องการน้อยลงเนื่องจากไม่มีประจำเดือนเหลือเพียงวันละ 10 มก. หญิงตั้งครรภ์ต้องการเหล็กเพิ่มขึ้นอีกวันละ 30 มก. ส่วนหญิงให้นมลูกต้องการเหล็กวันละ 15 มก.

การมีเหล็กในร่างกายมากเกินไปเป็นโทษได้ จะทำลายตับ ตับอ่อน หัวใจ และ อวัยวะอื่น ๆ ทำให้การทำงานต่าง ๆ แปรปรวนได้ ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มหนึ่งเป็นโรคเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมคือ thalassemia เม็ดเลือดแดงแตกเร็วกว่าปกติ ผู้ป่วยเหล่านี้จะซีด มีโอกาสที่เกิดการคั่งของเหล็กภายในร่างกาย โครงการเสริมเหล็กต้องคำนึงถึง ประชาชนกลุ่มนี้ด้วย เคยมีผู้รายงานถึงพิษเหล็กอย่างเฉียบพลันจากการกินยาที่มีเหล็กเกินขนาด ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในเด็ก เนื่องจากกินยาบำรุงที่มีเหล็กในรูปของยารักษาโรคโลหิตจาง และยาบำรุงจำพวกวิตามิน ยาพวกนี้มีกลี่นและสีเหมือนลูกกวาดที่เด็กชอบกินผนวกกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน อาการของพิษเหล็กอย่างเฉียบพลันมีตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ตลอดถึงอาการช็อค ตับวายอย่างเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า