สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ธาตุวัตถุอันตรายที่ใช้ในยาแผนโบราณ

ในตำรับยาแผนโบราณ มีธาตุวัตถุที่เป็นอันตรายที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยในมื้อหนึ่งจะมีการกำหนดขนาดการรับประทานไว้ การสะสมโลหะหนักในร่างกายจะทำให้เกิดพิษจากธาตุวัตถุเหล่านี้ ดังนี้

1. สารหนูหรือสารประกอบของสารหนู ธาตุวัตถุที่เป็นอันตราย ได้แก่
-สารหนู และ/หรือสารประกอบออกไซด์ของสารหนู (Arsenic(As) and/or Arsenic oxides ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นจากสารหนู และ/หรือสารประกอบออกไซด์ของสารหนูรวมกันอยู่ เมื่อคำนวณแล้วจะได้ปริมาณของสารหนูไม่เกิน 4 ส่วนในล้านส่วน

-กำมะถันแดง หรือหรดาล ที่เรียกกันว่า หรดาลแดง หรือมโนศิลา (Arsenic disulphide (As2S2) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นโดยมีกำมะถันแดงไม่เกินร้อนละ 5 ของปริมาณตัวยาทั้งหมด สำหรับใช้ภายนอก

-หรดาลกลีบทอง (Orpiment) Arsenic trisulphide (As2S3) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นโดยมีหรดาลกลีบทองไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณตัวยาทั้งหมด สำหรับใช้ภายนอก

พิษของสารหนู
เมื่อรับสารหนูและสารประกอบออกไซด์ของสารหนูติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เกิดความเสื่อมของปลายประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ บนเล็บมือเล็บเท้ามีแนวซีดขาว โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวมีจำนวนลดลง และการสร้างเม็ดเลือดขาวก็ลดลงด้วย หากไม่ได้รับสารหนูอีกอาการเหล่านี้ก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ที่หายช้ากว่าอาการอื่นๆ คืออาการเสื่อมของปลายประสาท หากได้รับในปริมาณ 120 มิลลิกรัม อาจทำให้ถึงตายได้

หากได้รับสารหนูเข้าไปในปริมาณมากในครั้งเดียวจะทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน หลายระบบในร่างกายจะมีความผิดปกติ เช่น ระบบทางเดินอาหาร หัวใจ สมอง และไต หลังจากได้รับสารหนูเข้าไปประมาณ 1 ชั่วโมงจะเริ่มมีอาการ คือ มีกลิ่นคล้ายกระเทียมเมื่อหายใจ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน อาการจะเริ่มดีขึ้นหลังจาก 1-2 วันผ่านไป แต่ระบบหัวใจและหลอดเลือด ตับ ไต และผิวหนังจะเริ่มมีความผิดปกติ เช่น ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นเร็ว มีน้ำคั่งในปอด ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ไตวายเฉียบพลัน เม็ดเลือดแดงแตก สับสน เพ้อ ชัก

2. ปรอท รูปแบบของธาตุวัตถุที่เป็นยาอันตรายมี 2 อย่างคือ ธาตุปรอทและสารประกอบปรอท

-ปรอท(Mercury) ที่อุณหภูมิห้อง ปรอทที่เป็นธาตุปรอท(elemental mercury, Hg0) จะสามารถระเหยได้ง่าย ปรอทจึงสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายด้วยทางเดินหายใจได้ดี แต่ในทางเดินอาหารจะมีการดูดซึมได้น้อยมาก ในไขมันจะทำให้ปรอทสามารถละลายได้สูง ดังนั้น ปรอทจะเข้าไปสะสมในร่างกายได้มากด้วยการดูดซึมสู่กระแสเลือดเมื่อหายใจ โดยเฉพาะในสมองจะมีการสะสมของสารปรอทได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเมื่อเข้าสู่สมองจะมีการออกซิไดส์กลายเป็น เมอร์คิวริกไอออน(Hg2+)อย่างรวดเร็ว

จะทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อหายใจรับไอปรอทเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อที่ต้องใช้งานมีอาการสั่น มีอาการทางประสาท เช่น นอนไม่หลับ ขี้อายมาก อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า เจ็บและชาปลายมือปลายเท้า ปากอักเสบ เหงือกอักเสบ เบื่ออาหาร น้ำลายออกมามากผิดปกติ น้ำหนักตัวลด เลนส์ตาด้านหน้าเปลี่ยนสี และมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วยในบางครั้ง

-ชาดก้อน ชาดจอแส ชาดผง ชาดหรคุณจีน มีเมอร์คิวริก ซัลไฟด์(Mercuric sulphide, HgS) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีชาดก้อน และ/หรือชาดจอแล และ/หรือชาดผง และ/หรือชาดหรคุณจีนไม่เกิน 30 มิลลิกรัม และยาที่ผลิตเพื่อใช้ภายนอก เมื่อได้รับติดต่อกันเป็นเวลานาน พิษจากเมอร์คิวริกไอออนจะเกิดขึ้นกับไตเป็นอวัยวะหลัก ทำให้เมื่อปัสสาวะจะมีโปรตีนถูกขับออกมาด้วย ซึ่งอาจทำให้ระดับโปรตีนในพลาสม่าต่ำ เกิดอาการบวมขึ้นตามข้อเท้าได้ เนื่องจากสูญเสียทั้งโปรตีนอัลบูมินและโปรตีนที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำอย่างรุนแรงทางปัสสาวะ และยังทำให้มีอาการอักเสบของปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ได้ และอาจทำให้ไตวายได้ถ้ามีอาการรุนแรง

3. สารประกอบของตะกั่ว ธาตุวัตถุที่เป็นยาอันตราย คือ
-ฝุ่นจีนหรือยาสมุนไพรที่ได้จากแร่ที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็น Basic lead carbonate [2PbCo3.Pb(OH)2] ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้น โดยมีฝุ่นจีนหรือยาสมุนไพรที่ได้จากแร่ ที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็น Basic lead carbonate และ/หรือ สารประกอบอื่นของตะกั่ว เมื่อคำนวณรวมกันจะมีปริมาณของตะกั่วไม่เกินร้อยละ 13 ของปริมาณตัวยาทั้งหมด ใช้สำหรับภายนอก

-เสน (Lead oxide (Pb3O4) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้น โดยมีเสนและ/หรือสารประกอบอื่นของตะกั่ว เมื่อคำนวณรวมกันแล้วมีปริมาณตะกั่วไม่เกินร้อยละ 13 ของปริมาณตัวยาทั้งหมด สำหรับใช้ภายนอก

พิษของสารประกอบตะกั่ว
สารประกอบอนินทรีย์ต่างๆ ของตะกั่วจะทำให้เกิดพิษคล้ายกันเมื่อถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดแล้ว อัตราการดูดซึมตะกั่วในเด็กจะสูงกว่าผู้ใหญ่มาก การสะสมของสารตะกั่วส่วนมากจะเกิดขึ้นที่กระดูกเมื่อได้รับติดต่อกันเป็นเวลานาน ระบบใหญ่ๆ ในร่างกาย 4 ระบบจะเกิดพิษขึ้น ได้แก่ที่ระบบประสารทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย ไต และระบบการสร้างเม็ดเลือด พิษที่เกิดในแต่ละระบบมีดังนี้

1. ระบบประสาทส่วนกลาง สมองถูกทำลาย ทำให้มีอาการคิดอะไรไม่ออก จำอะไรไม่ได้ ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ถูกกระตุ้นระบบประสาทได้ง่าย กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้อสั่น อาจชัก หมดสติและตายได้ ตะกั่วในขนาดที่ต่ำกว่าจะทำลายสมองได้ หากเด็กได้รับจะทำให้มีผลต่อพฤติกรรมต่างๆ

2. ระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสำหรับเหยียดอวัยวะของร่างกาย มีความรู้สึกไวผิดปกติ และรู้สึกปวด

3. ไต จะเกิดพิษต่อเซลล์ต่างๆ ของไต เมื่อได้รับสารตะกั่วติดต่อกันเป็นเวลานาน

4. ระบบการสร้างเม็ดเลือด ทำให้อายุของเม็ดเลือดแดงสั้นลง และการสร้างฮีโมโกลบินถูกยับยั้ง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง

4. น้ำประสานทอง Sodium borate or Borax (Na2B4O7.10H2O) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมือหนึ่ง โดยมีน้ำประสานทองไม่เกิน 25 มิลลิกรัม เซลล์ทุกชนิดจะเกิดพิษเมื่อได้รับน้ำประสานทองเข้าไป หากได้รับติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินอาหาร เนื้อเยื่อของตับและไตถูกทำลาย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด มีอาการอาเจียน ท้องเดิน ผิวหนังมีผื่นขึ้น ผมร่วง โลหิตจาง และชัก

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า