สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ธาตุทั้ง 4 ภินนะ กำเริบ หย่อน พิการ ตรีโทษ

1. ธาตุทั้ง 4 ภินนะ
อาการโดยรวมของธาตุทั้ง 4 ภินนะ ตามคัมภีร์ธาตุวิวรณ์กล่าวไว้ดังนี้

-ธาตุดินภินนะ กายจะตึงชา แข็งกระด้าง เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง แข็งเหมือนขอนไม้ เปรียบดังอสรพิษกัฎฐมุข ขบตอด นอนกลิ้งแข็งดุจไม้ที่คนตัด ผิวดำเหมือนถูกแดดจัดไหม้แห้ง

-ธาตุน้ำภินนะ จะเป็นแผลเปื่อย เป็นหิด เป็นฝี หรือเม็ดคันทั่วร่างกาย มีน้ำเหลืองไหลกลิ่นเหม็นเน่า เหมือนงูปูติมุข ขบตอด มีแผลพรุนเปื่อยเน่าเป็นหนอง มีน้ำเหลืองไหลซึม

-ธาตุไฟภินนะ ฤทธิ์เหมือนอัคคีมุขขบดังไฟลนกรุ่นทั้งกาย ให้รุ่มร้อนเป็นกำลัง ผิวหม่นไหม้ด้านดำ มีพิษ

-ธาตุลมภินนะ มีอาการพิษเหมือนมีดเชือดให้เปื่อยพัง ขาดเป็นชิ้นๆ เหมือนสัตถมุขขบให้เปื่อยเน่าทั่วทั้งกาย

ธาตุทั้ง 4 ภินนะเป็นลักษณะโดยรวมของผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน และระบบฮอร์โมนต่างๆ หลักๆ เกิดจากธาตุดินและธาตุไฟแตกดับ ส่วนการเกิดมะเร็งมีเหตุจากธาตุลมกับธาตุน้ำแตกดับ เนื่องจากมีเนื้อเน่าที่ถูกทำลาย

2. ธาตุทั้ง 4 กำเริบ หย่อน พิการ
ตามคัมภีร์ธาตุวิวรณ์กล่าวไว้ว่า

-ปถวีธาตุกำเริบแลหย่อนกล้า เกิดเหาและเล็น มีไข้ ท้องขึ้นท้องอืดเฟ้อ เจ็บคอ ปวดท้อง ตกเลือดมีหนองเหม็นเน่า ปวดเสียดในท้อง ปวดขัดตะโพกเหมือนเป็นโรคกษัย เจ็บในอก เนื้อฟกช้ำ เล็บมือเล็บเท้าเป็นสีเขียว มีไข้

อวัยวะต่างๆ เกี่ยวกับธาตุดิน หากมีความผิดปกติจะมีการทำลายให้เสื่อมสลาย การถ่ายเป็นเลือดเหม็นเน่า ก็น่าจะเกิดจากลำไส้เป็นเนื้องอกมะเร็ง หรือเยื่อบุลำไส้อักเสบ ส่วนอาการเล็บมือเล็บตีนเขียวเป็นอาการของโรคหัวใจที่เกิดจากการขาดออกซิเจนในเลือด

-เตโชธาตุวิปลาสกำเริบแปร มักร้อนที่ปลายมือปลายเท้าเหมือนมีปลาดุกยอก ร้อนในท้องและลำไส้ ตัวบวม ท้องบวม เป็นเม็ดผดผื่นแสบร้อน ปวดท้อง ตกมูกเลือดเน่าเป็นหนอง มีไข้

มีอาการบวมและตกมูกเลือดเน่าเป็นอาการสำคัญ เมื่อมีอาการบวมต้องนึกถึงโรคหัวใจ ไต และภาวะขาดโปรตีน มีน้ำซึมออกจากเส้นเลือดและซึมอยู่ระหว่างเซลล์

-วาโยธาตุกำเริบหย่อน มือเท้าเป็นตะคริว หูอื้อ ปวดสันหลัง เจ็บอก ปวดขัดหัวเข่า หายใจขัด เป็นหวัด ไอ หอบ หืด หน้ามืดวิงเวียน ตาลาย

มีอาการหูอื้อ เวียนหัว มือเท้าเป็นตะคริว เป็นสำคัญ มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ อาจเนื่องมาจากมีการไหลเวียนของโลหิตไม่ดี มีความดันต่ำ และมีอาการหอบหืดเป็นอาการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง

-อาโปธาตุพิการ มีอาการจุกแน่นหน้าอก ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะติดขัด ตึงหัวเหน่า มีก้อนบริเวณท้องน้อย ตัวเหลือง ซีด ผอมแห้ง มีเสลด เย็นที่ปลายมือปลายเท้า ปวดขัดบริเวณสีข้าง มีรอยฟกช้ำ เป็นไข้

จากอาการดังกล่าวอาจเป็นเพราะ ระบบขับถ่ายท้องผูก ระบบทางเดินปัสสาวะ น้ำในข้อต่างๆ แห้ง ทำให้เมื่อเคลื่อนไหวจึงรู้สึกขัดเจ็บ

อาการต่างๆ ที่กล่าวมาไม่ใช่ว่าจะมีขึ้นพร้อมๆ กัน เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่าอาการเกี่ยวกับธาตุนั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้รู้ว่าธาตุอะไรหย่อน กำเริบ หรือพิการ ซึ่งจะได้รักษาให้ถูกต้องต่อไป

3. ตรีโทษ
ตรีโทษตามคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ได้กล่าวไว้ว่า

-ปถวีธาตุกำเริบออกจากกาย ให้รากทรวงอกแห้ง กายแข็งท่อนไม้ปาน บ่ทราบรสอาหารแรง จืดเค็มก็มิแจ้ง มักเป็นไข้นั้นร่ำไป เจ็บอกเป็นใหญ่หลวง หนึ่งอาหารกินไปใน อุทรประเดี๋ยวใจ พอหยุดกินก็แสบท้อง ในอกดังเพลิงสุม ย่อมร้อนรุ่มเร่งเศร้าหมอง ท้องขึ้นแลท้องพอง ย่อมเขียวช้ำทั่วร่างกาย

เนื้อเยื่อต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง ขาดออกซิเจน จึงมีลักษณะเขียวช้ำทั่วกาย ในสมัยก่อนคนไข้ต้องเสียชีวิตไปจำนวนหนึ่ง เพราะไม่มีน้ำเกลือ และออกซิเจนช่วย แต่ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้

-อาโปธาตุออกจากกาย กายตนเองซูบเศร้า ศรีเสโทย่อมมากมี ให้ซึมซาบทั่วสรรพางค์ ตึงตัวทั้งหน้าตา อาหารกินก็เบาบาง ร้อนรนกลมหมาง กระหายน้ำแลขัดอก ในท้องเป็นลมลั่น อยากของมันมักโกรธงก ให้ร้อนแลเย็นอก เป็นไข้จับดังเลือดพูน ปากชุ่มแลขมร้อน กลับเผ็ดหวานโทษทั้งมูล

เป็นลักษณะของคนไข้ตัวร้อนทั่วไป เมื่อติดเชื้อที่ใดที่หนึ่งมักจะมีอาการไข้ ถ้ามีไข้เรื้อรังต่ำๆ ก็ให้นึกถึงโรควัณโรค หรือทีบี หรือที่ใดที่หนึ่งอาจมีมะเร็งก็ได้

-เตโชธาตุออกจากกาย ให้ร้อนขึ้นในท้องแลไส้พุง ให้พลุ่งพล่านน้ำเดือดไม่เปรียบปาน แล้วก็ให้ตีนมือตาย ให้ไอดังขลุกๆ ในลำคอทรวงอกหมายเมื่อยขบทั่วทั้งกาย ให้ผอมแห้งปวดมวนท้อง ร้อนรุ่มกายสกล ซึ่งภายในดั่งเพลิงกอง เวียนวิงหน้าตาหมอง ย่อมแสบไส้มักเป็นลม มือสั่นแลตีนสั่น ให้ร้อนเสียวดังเพลิงรม

มีอาการมือตีนตาย สั่น เวียนหัว แสบไส้ ไอ เป็นอาการสำคัญ

-วาโยธาตุออกจากกาย ผอมเหลืองบ่มิควร แห้งซูบเศร้าฉวีหมอง จุกอกเป็นก้อนอยู่ในอุระแลในท้อง ให้รากอาหารกอง ให้สะอึกให้เรอเหียน หายใจย่อมให้สั้น ให้หวานปากมักอาเจียน ร้อนอกทั้งปวดเศียร ให้เจ็บอกให้คันตัว ผุดแดงดังสีเลือด ไอบ่เหือดดังหืดมัว หนักหน้าตาสลัว ย่อมวิบัติเป็นมากหลาย

มีอาการจุก สะอึก หายใจสั้น หอบ ไอ เป็นอาการสำคัญ อาจมีอาการหัวใจวาย ถ้าตัวเหลืองตาเหลืองอาจมีปัญหาที่ตับ ทำให้คันที่ผิวหนัง เมื่อตับมีปัญหาสารที่ทำให้เลือดหยุดจะต่ำ ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า