สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การทำลายเชื้อในห้องผ่าตัดและอุปกรณ์

ห้องผ่าตัดควรเป็นสถานที่ซึ่งมีความปลอดเชื้อมากที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดหรือตรวจพิเศษ อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัดเป็นส่วนหนึ่งของห้องผ่าตัด แต่อุปกรณ์เหล่านี้ทำด้วยวัสดุที่แตกต่างกัน จึงต้องทำลายเชื้อโดยวิธีที่แตกต่างกัน เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดตลอดจนวิธีการทำให้ปลอดเชื้อ จึงแบ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัดเป็น 2 พวก คือ

1. อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผ่าตัดหรือการตรวจพิเศษที่มีการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย
2. อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีอยู่ในห้องผ่าตัด

อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผ่าตัดหรือการตรวจสอบ
เครื่องมือผ่าตัดโดยมากทำจากโลหะหลายอย่างอาจเป็นพวก stainless steel, nickel plated steel, chromium plated steel หรือโลหะชนิดอื่น โดยมากทนความร้อนได้ดี เครื่องมือเหล่านี้หลังจากใช้งานแล้วควรทำความสะอาดเบื้องต้นทันที เพื่อขจัดคราบโลหิต, ไขมัน, เนื้อเยือหรือสิ่งสกปรกอื่นๆ ออกไป, ซึ่งอาจทำได้โดยล้างด้วยนํ้าเย็น แล้วใช้แปรงชุบนํ้ายาขัดล้างหรือน้ำสบู่ขัดถูให้ทั่วทุกซอกมุม ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าไปถูตามซอกและมุมได้ อาจใช้เครื่อง ultrasonic cleaner ทำความสะอาดคราบปนเปื้อนเหล่านี้ออกมาได้ ถ้าหากเครื่องมือผ่าตัดนั้นใช้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อควรนำมาแช่ด้วยนํ้ายา Savlon 1:200 นาน 1 ชั่วโมง แล้วจึงนำมาทำความสะอาด จากนั้น ทำให้แห้งแล้วนำมาทำให้ปลอดเชื้อ

1. เครื่องมือที่เป็นโลหะ
การทำให้ปลอดเชื้อสำหรับเครื่องมือที่ทำด้วยโลหะ
1.1 การอบด้วยไอนํ้าภายใต้ความดันสูง มีวิธีการดังนี้
การอบด้วยไอนํ้าอาจมีปัญหาบ้างสำหรับเครื่องมือบางอย่างที่เคลือบด้วย Nickel หรือ Chromium ถ้าวัสดุที่เคลือบนี้ลอกไป หรือของมีคมที่ใช้ตัดหรือเจาะ เช่น สิ่ว ดอกสว่าน เป็นต้น อุปกรณ์เหล่านี้หลังจากอบด้วยไอนํ้าแล้ว ถ้าทิ้งไว้นานไม่นำมาใช้อาจเกิดสนิมขึ้นได้ นอกจากนี้ เครื่องมือที่มีข้อต่อก็อาจติดหรือฝืด ดังนั้นหลังจากทำความสะอาดและแห้งแล้วให้หยอดนํ้ามันเล็กน้อยตามข้อต่อแล้วเก็บไว้ เมื่อต้องการจะใช้จึงค่อยนำมาทำให้ปลอดเชื้อดังกล่าวแล้ว
health-0087 - Copy

1.2 การใช้ความร้อนแห้ง (Dry heat sterilization)
340° F ใช้เวลา 1 ชั่วโมง
320° F ใช้เวลา 2 ชั่วโมง
250° F ใช้เวลา 6 ชั่วโมงขึ้นไป

1.3 แช่ในน้ำยา CF 15 (มี Isopropanol 97%, Formaldehyde 1%, Sodium nitrite 0.05%, Diethylethanolamine 0.05%) นานเกิน 24 ชั่วโมง

เครื่องมือมีคมต่างๆ
-ใบมีดผ่าตัด ส่วนมากใช้ชนิด Disposable ซึ่งทำให้ปลอดเชื้อมาแล้วจากโรงงาน ถ้าเป็นชนิด reusable อาจใช้แช่ในนํ้ายา CF 15 นานไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

-เข็มเย็บ โดยปกติทั่วไปมักเตรียมไว้ในชุดเครื่องมือผ่าตัด ซึ่งการทำให้ปลอดเชื้อจะใช้วิธี Autoclave แต่บางครั้งก็เป็นชนิด disposable ซึ่งติดมากับวัสดุผูกเย็บ สำหรับเข็มเย็บพิเศษ จะแช่ให้ปลอดเชื้อในนํ้ายา CF 15

-ใบเลื่อย มักอยู่ในชุดผ่าตัดทรวงอกทำให้ปลอดเชื้อด้วยวิธีอบไอนํ้า ถ้าเตรียมแยก อาจใช้แช่ในนํ้ายา CF 15

-ใบมีดสำหรับเครื่องตัดผิวหนัง (Dermatome blade) โดยมากเป็นชนิด disposable ทำให้ปลอดเชื้อมาจากโรงงาน แต่ถ้าเป็นชนิด reusable ใช้แช่ในน้ำยา CF 15 นานไม่น้อยกว่า 24 ชม.

2. วัสดุจำพวกผ้า ที่ใช้ในห้องผ่าตัด ได้แก่
-เสื้อและกางเกงหรือกระโปรงที่ใช้เปลี่ยนใส่แทนเสื้อผ้าที่ใส่มาทำงาน เสื้อผ้าพวกนี้ เพียงแต่ซักแล้วอบให้แห้งบางครั้งนำมารีดให้เรียบร้อยก็พอ

-หมวก และ mask นอกจากซักและอบให้แห้งแล้วอาจต้องนำมาผ่าน autoclave, mask บางครั้งอาจใช้เป็นแบบ disposable

-เสื้อคลุมผ่าตัด สำหรับแพทย์และพยาบาลส่งเครื่องมือ, ผ้าเช็ดมือหลังฟอกมือแล้ว, และผ้าคลุมโต๊ะ, เตียงผ่าตัด หรือตัวผู้ป่วย โดยมากมักห่อเป็นชุดๆ ทำให้ปลอดเชื้อ ด้วยวิธี autoclave

-ผ้าอื่นๆ ที่ใช้เกี่ยวกับการผ่าตัดได้แก่ ผ้าซับโลหิตชนิดต่างๆ (gauze swab, eye swab, throat swab, orthopedic gauze, rolled gauze, abdominal swab etc.) elastic bandage, gauze drain, gauze packing, gauze bandage, Gamgee, top dressing, webril, ผ้าปิดลูกตา โดยมากห่อรวมกันหลายชิ้นและทำลายเชื้อด้วยการอบไอนํ้า

3. วัสดุจำพวกยาง ได้แก่ท่อระบายต่างๆ เช่น tube drain ยางเหลือง, penrose drain, sump drain สายยางดูดเสมหะ ทำให้ปลอดเชื้อโดยการอบด้วย ethylene oxide ; การใช้วิธี autoclave มักทำให้ยางเสื่อมเร็ว

-สาย suction ยางแดงแข็งขนาดใหญ่ อาจใช้วิธี autoclave รวมอยู่ในชุดเครื่องมือ

-สายยางสวนปัสสาวะชนิด Foley’s catheter มักทำให้ปลอดเชื้อมาเรียบร้อยจากโรงงาน

-ถุงมือยางหลังจากทำความสะอาดและแห้งแล้วเรียงให้ถูกคู่ ใช้แป้งฝุ่นโรยให้ทั่วๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหนียวติด แป้งฝุ่นที่ใช้อาจเป็นของ IDCO ของ Industrial Drug Co Ltd. หรือของ Bio-sorb ซึ่งเป็นแป้งข้าวโพดของ Johnson & Johnson ซึ่งแป้งทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถผ่านการทำ autoclave ได้โดยไม่จับกันเป็นก้อนหรือเหนียวติดถุงมือที่จับคู่แล้ว จากนั้นน่าถุงมือมาใส่ซองกระดาษหรือผ้าแล้วห่อรวมกันหลายๆ คู่ แล้วนำไปทำปลอดเชื้อด้วยวิธี autoclave

-Esmarch rubber band tourniquet ม้วนเป็นวงให้เรียบร้อยเพื่อสะดวกแก่การใช้ แล้วห่อด้วยผ้า 2 ชั้น นำไปทำให้ปลอดเชื้อด้วยวิธี autoclave

-ureteric catheter อาจเป็นชนิด disposable หรือถ้าชนิด reusable ก็อบด้วย formalin 40% หรือ ethylene oxide

4. วัสดุจำพวกพลาสติค ได้แก่ tube drain ของ vacuum suction, สาย polyethylene tube สำหรับทำ C.V.P. line, สาย P.V.C. สำหรับต่อกับเครื่องหัวใจและปอดเทียม พวกนี้ทำให้ปลอดเชื้อโดยห่อด้วยถุง plastic 2 ชั้น หรือใช้ผ้าห่อแล้วนำไปอบด้วย ethylene oxide

5. วัสดุจำพวกนํ้ามันและไขมัน ทำให้ปลอดเชื้อโดยใช้ dry heat พวก vasaline gauze packing แนะนำให้ใช้ dry heat แต่บางแห่งอาจจะบรรจุในภาชนะโลหะแล้วนำไป autoclave, พวก bone wax ที่ใช้ห้ามเลือดที่ออกจากกระดูกมักเตรียมเป็นห่อเล็กๆ ซึ่งทำให้ปลอดเชื้อมา แล้วจากโรงงาน

6. อุปกรณ์จำพวกกล้องหรือเครื่องมือสำหรับตรวจสอบต่างๆ เป็นเครื่องมือละเอียดอ่อน ลักษณะเป็นท่อยาวๆ คล้ายกับ telescope ใช้สำหรับส่องตรวจภายในอวัยวะต่างๆ ได้แก่ cystoscope, gastroscope, bronchoscope, esophagoscope, peritoneoscope, laparoscope พวกนี้มีคุณสมบัติคล้ายอุปกรณ์พวกกล้อง มีเลนส์และมี light source การใช้ steam sterilization ใช้ไม่ได้ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงและความชื้นจะทำลาย cement ซึ่งยึดเล็นส์ไว้ ทำให้ภาพที่ได้บิดเบี้ยวไป การใช้นํ้ายาทำลายเชื้อชนิดเป็นด่างจะทำให้เล็นส์มัว และนํ้ายาทำลายเชื้อบางอย่างก็ทำให้ cement ที่ยึดเล็นส์อ่อนเสียไป

การทำให้ปลอดเชื้อสำหรับอุปกรณ์พวกนี้อาจใช้วิธีแช่ในนํ้ายา Cidex ซึ่งมีตัวยา glutaraldehyde เป็นตัวทำลายเชื้อ ส่วน Cidex 7 มี glutaraldehyde  2% และมี Na nitrite รวมด้วย ใช้เป็น corrosive inhibitor. Cidex 7 นี้เป็น long life active dialdehyde หลังจากผสมตัวยาและน้ำละลายยาแล้วจะสามารถใช้ได้นานถึง 28 วัน

ถ้าแช่เครื่องมือเหล่านี้นาน 10 ชั่วโมง จะสามารถทำลาย vegetative form ของแบคทีเรีย, เชื้อวัณโรค, เชื้อ pseudomonas และ virus ; ถ้าแช่นานเกิน 10 ชั่วโมงจะสามารถทำลาย resistant spore ของเชื้อ Clostridium ได้

เครื่องมือที่แช่ด้วยน้ำยานี้ก่อนนำมาใช้ต้องล้างน้ำยาออกให้หมดด้วยน้ำกลั่น

7.  น้ำ, นํ้ายาตลอดจนยาต่างๆ ที่ใช้ขณะผ่าตัด
นํ้ากลั่นที่ใช้ล้างเครื่องมือหรือใช้สำหรับ irrigate เวลาทำ cystoscope หรือ transurethral resection โดยมากทำให้ปลอดเชื้อมาแล้ว แต่ถ้าจำเป็นต้องทำให้ปลอดเชื้อเองต้องใช้วิธี autoclave ระหว่างที่อบด้วยไอนํ้าควรเผยอจุกขวดไว้เพื่อให้แรงดันภายในระบายออกได้ เมื่อเลิกอบจึงปิดฝากลับตามเดิม

นํ้าเกลือที่ใช้ชะล้างแผลโดยมากมักทำให้ปลอดเชื้อมาแล้ว

นํ้ายาและยาที่ใช้ระหว่างผ่าตัดได้แก่ นํ้ายา gentian violet, methylene blue, ยาเหลือง เป็นต้น พวกนี้ทำให้ปลอดเชื้อโดยวิธีอบด้วยไอนํ้า

8. วัสดุผูกเย็บ (suture material) แบ่งเป็น 2 พวก
พวก absorbable suture ใช้เย็บแผลแล้วสามารถละลายและดูดซึมได้ การทำให้ปลอดเชื้อด้วยความร้อนจะใช้ไม่ได้เพราะทำให้วัสดุผูกเย็บละลาย ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตจะเตรียมเป็นห่อเล็กๆ ซึ่งปลอดเชื้อแล้ว

พวก non-absorbable suture ได้แก่ cotton, linen, silk พวกนี้มักเป็นห่อเตรียมให้ปลอดเชื้อมาแล้วจากบริษัท แต่ก็อาจนำมาทำให้ปลอดเชื้อด้วยความร้อนได้ ซึ่งมักทำให้ความเหนียวของวัสดุเหล่านี้เสียไป ส่วน Nylon, Ethilon, Dermalon เป็นพลาสติคสังเคราะห์ ไม่ทนความร้อน มักเป็นห่อเล็กๆ เตรียมให้ปลอดเชื้อมาแล้วจากผู้ผลิต

พวก steel wire, metal clip ซึ่งเป็น clip ไว้สำหรับหนีบหลอดเลือด พวกนี้ทำให้ปลอดเชื้อได้โดยการใช้ autoclave

9. เครื่องแก้ว ได้แก่กระบอกฉีดยา (syringe), ขวดเก็บ specimen เพื่อส่งเพาะเชื้อ, Toomy’s syringe ที่ใช้ทางศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ, Asepto syringe สำหรับ irrigate เหล่านี้สามารถทำให้ปลอดเชื้อได้ด้วยวิธี autoclave

10. เครื่องไฟฟ้า
-สายจี้ไฟฟ้า (cautery) ชนิด unipolar และหัวจี้ ทำให้ปลอดเชื้อด้วยวิธี autoclave หรืออบด้วย ethylene oxide ได้

-ส่วนสายจี้ชนิด bipolar ใช้วิธีอบด้วย ethylene oxide, เพราะว่าฉนวนที่หุ้มขาทั้ง 2 ข้าง ของ bipolar อาจเสียได้ถ้าถูกความร้อน จึงใช้วิธีอบด้วย ethylene oxide

-Defibrillator paddle ชนิดสำหรับ internal cardiac defibrillation และเครื่อง pace maker ใช้วิธีอบด้วย ethylene oxide

-เครื่อง electric bone saw, electric dermatome, electric dental drill พวกนี้โดยมากมักมีเปลือกนอกหุ้มเครื่องข้างในไว้ ซึ่งเปลือกนอกสามารถนำมาทำให้ปลอดเชื้อได้ด้วยวิธี autoclave หรืออบด้วย ethylene oxide เมื่อจะใช้จึงใส่เครื่องเข้าไปข้างในอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าถอดแยก motor ออกไม่ได้ต้องทำให้ปลอดเชื้อไปพร้อมกันหมด แนะนำให้ใช้วิธีอบด้วย ethylene oxide จะดีกว่าวิธี autoclave เพราะวิธีหลัง motor ของเครื่องมือเหล่านั้นจะเสียง่ายกว่าและมีสนิม

11. Transfer forceps เป็น forceps ที่ใช้หยิบหรือจับเครื่องมือผ่าตัดหรือของใช้ในการผ่าตัดจากที่ปลอดเชื้อแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งโดยผู้ที่ไม่ได้สวมถุงมือปลอดเชื้อ เครื่องมือนี้ก่อนนำมาใช้ต้องผ่านวิธี autoclave มาแล้ว กระบอกแช่สำหรับ forceps ก็ต้องผ่านวิธี autoclave แล้ว นํ้ายาที่แช่อาจเป็น alcohol 70% หรือ CF 15

เครื่องมือที่จำเป็นต้องมีอยู่ในห้องผ่าตัด
1. โต๊ะวางเครื่องมือผ่าตัด เนื่องจากโต๊ะเป็นส่วนที่ใกล้ชิดกับเครื่องมือผ่าตัดมาก มีโอกาสทำให้เครื่องมือผ่าตัดติดเชื้อได้ ควรทำให้ปลอดเชื้อมากที่สุด การทำความสะอาดประจำวัน ใช้เช็ดด้วย Savlon (เป็นส่วนผสมของ Chlorhexidine กับ Cetrimide 1:200) หลังจากนั้น carbolization ด้วย carbolic acid 3% เมื่อแห้งดีแล้วต้องเช็ดด้วย alcohol 70% อีกครั้งหนึ่ง เมื่อจะนำมาใช้วางเครื่องมือต้องปูทับด้วยผ้าปลอดเชื้ออย่างน้อยสองชั้น การผ่าตัดบางอย่าง เช่น การผ่าตัดสมองมีการใช้นํ้า irrigate มาก ผ้าปูโต๊ะผ่าตัดอาจเปียกจากนํ้าหกแล้วซึมลงไปข้างล่าง ทำให้ contaminate เครื่องมือบนโต๊ะผ่าตัดได้ จึงใช้ผ้าพลาสติค หรือผ้ายางที่ปลอดเชื้อปูชั้นล่างก่อน แล้วจึงปูผ้า sterile ทับไปอีก 2 ชั้น

2. เตียงผ่าตัด, ไฟส่องผ่าตัด ซึ่งอยู่ใกล้กับผู้ป่วยและบริเวณผ่าตัดรองลงมา ควรรักษาความสะอาดและปลอดเชื้อให้มากที่สุดเช่นกัน แต่ละวันควรเช็ดคราบเลือด น้ำยา และนํ้าออกให้หมดเพื่อป้องกันการเกิดสนิม และข้อต่อฝืด และเช็ดฝุ่นออกโดยเฉพาะที่โคมไฟผ่าตัด หลังจาก นั้นใช้ Savlon 1:200 เช็ดให้ทั่ว

3. ตู้เก็บของในห้องผ่าตัด สำหรับเก็บนํ้ายา เครื่องมือบางอย่างที่เกี่ยวกับการผ่าตัด บางแห่งทำเป็นตู้ชนิดฝังอยู่ในกำแพงห้องผ่าตัดเพื่อตัดปัญหาเรื่องฝุ่นไปตกค้างอยู่บนหลังคาตู้ แต่อาจมีปัญหาบ้างในกรณีที่ต้องอบห้องผ่าตัด บางแห่งใช้ตู้เก็บของในห้องผ่าตัดเป็นชนิดมีล้อเลื่อน ออกจากห้องผ่าตัดได้ เพื่อเข็นออกไปทั้งตู้ในกรณีที่มีผู้ป่วยติดเชื้อมารับการผ่าตัด จะเป็นตู้ชนิดใดก็ตามควรมีประตูปิดเปิดและชั้นวางของเป็นกระจกทำให้มองเห็นของใช้ข้างในได้ ตู้ต้องปิดประตูไว้เพื่อกันฝุ่นเข้าไป แต่ละวันควรเช็ดให้สะอาดด้วยนํ้าและหรือนํ้ายาเช็ดกระจก และอย่างน้อย 1 สัปดาห์ควรเช็ดด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อ

4. ตู้เครื่องจี้ไฟฟ้า, เครื่อง suction, เครื่อง X-ray เครื่องมือเหล่านี้ควรดูแลให้สะอาด เช่นเดียวกับตู้และเตียงผ่าตัด

5. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับการให้ยาระงับความรู้สึก ได้แก่โต๊ะดมยาสลบ, เครื่อง EKG, เครื่องวัดความดันชนิดไฟฟ้า, เครื่องกระตุ้นหัวใจ, เครื่องช่วยหายใจและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ห้องผ่าตัด
ห้องผ่าตัดที่ดีควรเป็นห้องปิดมิดชิด ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีเหลี่ยมหรือมุม ซึ่งจะเป็นที่เกาะของฝุ่นละออง และทำความสะอาดยาก ประตูควรเป็นชนิดบานเลื่อน เพราะประตูชนิดบานพับ เวลาปิดหรือเปิดจะมีการฟุ้งกระจาย ควรปิดประตูไว้ตลอดเวลา ยกเว้นเวลาเปิดเข้าออก เพื่อกันไม่ให้ฝุ่นจากภายนอกหรือแมลงหรือหนูเข้ามาอาศัยอยู่ พื้น, ผนังห้องและเพดาน ควรทำด้วยวัสดุเรียบ, มัน ฝุ่นละอองจะได้ไม่จับและสะดวกในการทำความสะอาด อากาศในห้องควรมีการถ่ายเทได้ซึ่งควรมีเครื่องดูดอากาศและเครื่องปรับอากาศ

การทำความสะอาดประจำวัน ขจัดฝุ่นละอองในส่วนต่างๆ ของห้องที่พื้น, ผนังห้อง, อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีอยู่ในห้องผ่าตัด อาจทำโดยใช้ผ้าชุบนํ้าเช็ดหรือถูออก ถ้ามีคราบเลือดติดต้องเช็ดถูออกให้หมด ระหว่างผ่าตัดแต่ละรายนอกจากเช็ดถูให้สะอาดด้วยน้ำแล้วอาจลด จำนวนเชื้อโดยการถูพื้นด้วย Pynazol ในสัดส่วน 1 : 200-1 : 80 แต่บางแห่งใช้ Savlon 1 : 200 ; ในตอนกลางคืนหรือหลังผ่าตัดทำความสะอาดและปิดห้องแล้ว บางแห่งอาจเปิด ultraviolet นาน 8 ชั่วโมง เพื่อทำลายเชื้อในห้อง

ในการผ่าตัดใส่ prosthesis ต้องเข้มงวดความปลอดเชื้อในห้องผ่าตัดมากกว่าธรรมดา อาจทำได้โดยการพ่นละอองเล็กๆ ของ chlorhexidine 1 : 200 ให้ทั่วๆ ทุกส่วนของห้องนานเกิน 15 นาที แล้วปิดประตูห้องผ่าตัดไว้ครึ่งถึงสองชั่วโมง หลังจากนั้นดูดอากาศในห้องออกจนหมดกลิ่น แล้วรีบเช็ดด้วยผ้าชุบนํ้าสะอาด แล้วเช็ดทุกส่วนของห้องผ่าตัดและอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดด้วยนํ้ายา Savlon 1:200 อีกครั้งหนึ่ง

เครื่องปรับอากาศที่ใช้ในห้องผ่าตัดถ้าใช้ไปนานๆ จะเป็นที่สะสมของฝุ่นและเชื้อโรค ทำให้ลมที่เครื่องปรับอากาศเป่าออกมาไม่สะอาด ดังนั้นจึงควรทำความสะอาดบริเวณท่อตะแกรง และเครื่องกรองของเครื่องปรับอากาศให้ปราศจากฝุ่นและจุลชีพอย่างสมํ่าเสมออย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์

ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อ ถ้าทราบล่วงหน้าก่อนผ่าตัดควรเก็บของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกให้หมด ผู้ที่อยู่ในห้องผ่าตัดนั้นควรใส่เสื้อคลุมซึ่งถอดออกเมื่อจะออกจากห้องผ่าตัด และไม่ควรเข้าห้องผ่าตัดอื่น เครื่องมือผ่าตัดที่ใช้กับผู้ป่วย นำมาแช่ด้วยนํ้ายา Savlon 1:200 นานเกินครึ่งชั่วโมง แล้วจึงนำมาล้างและ scrub ให้สะอาด แล้วนำไปอบไอน้ำโดยไม่ต้องห่อหรือหุ้มนาน 15 นาที หลังจากนั้นเอามาเรียงจัดและห่อให้เรียบร้อยแล้วอบไอนํ้าอีกนานครึ่งชั่วโมง

-ถุงมือที่ใช้กับผู้ป่วยและสายยางที่ใช้ แช่ด้วยนํ้ายา Savlon 1:200 ก่อนนำไปทิ้ง

-เสื้อคลุมผ่าตัด, ผ้าปูผ่าตัดและ swab หรือ gauze นำมาแช่ด้วยน้ำยา Lysol 5% หรือ Savlon 1:200, นานประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนนำไปซักล้างและอบให้แห้งแล้วนำมาห่อแล้วส่งไปเข้า autoclave ใหม่

เครื่องมือทางวิสัญญีวิทยา
เครื่องมือที่ใช้ทางวิสัญญีวิทยามีช่องทางที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อได้หลายทางคือ1. ทางการหายใจโดยผู้ป่วยหายใจผ่านระบบนำส่งก๊าซจากเครื่องให้ยาระงับความรู้สึกที่มีเชื้อปนเปื้อน
2. ทางนํ้าซึ่งอยู่ตามท่อของเครื่องให้ยาระงับความรู้สึก
3. ทางบาดแผลที่เกิดขึ้นที่เยื่อบุจมูก, ในปาก, ลำคอ และในหลอดลม
4. ทางโลหิตโดยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ และเฉพาะที่บริเวณที่ฉีดยา เช่น เข้าช่องสันหลังหรือบริเวณเส้นประสาท หรือเฉพาะที่ที่ผิวหนัง

เครื่องมือทางวิสัญญีวิทยาต้องการการทำลายเชื้อแตกต่างกัน ดังนี้
1. เครื่องมือที่ต้องปลอดเชื้อ ให้ล้างให้สะอาดหลังใช้แล้วทำให้ปลอดเชื้อและรักษาความปลอดเชื้อเอาไว้จนใช้ใหม่อีกครั้ง ได้แก่ เครื่องมือทำ regional anesthesia, อุปกรณ์ฉีดยาเข้าหลอดเลือด, อุปกรณ์เกี่ยวข้องกับการหายใจของผู้ป่วย

2. เครื่องมือที่ต้องรักษาความสะอาดไว้ให้มากที่สุด แต่มีโอกาสปนเปื้อนได้ในขณะที่เตรียมไว้หรือขณะใช้ ได้แก่ เครื่องมือที่ใส่ไปในปากผู้ป่วย, face mask ฯลฯ

3. เครื่องมือที่ทำให้ปลอดเชื้อเป็นครั้งคราว เนื่องจากเครื่องมือพวกนี้ มีความลำบากยุ่งยากในการทำให้ปลอดเชื้อ ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

4. พวกที่เช็ดล้างเฉยๆ ไม่สามารถทำให้ปลอดเชื้อได้ เนื่องจากอาจมีขนาดใหญ่มีความละเอียดอ่อนหรือยุ่งยากในการถอดหรือประกอบ ได้แก่ O2 tank, anesthesia machine, โต๊ะดมยาสลบ บางครั้งอาจทำให้ปลอดเชื้อเฉพาะส่วนผิวนอกๆ โดยการอบรวมอยู่ในห้องผ่าตัด

การทำลายเชื้อสำหรับเครื่องมือแต่ละประเภทโดยสังเขปมีดังนี้
1. โต๊ะดมยา (Anesthesia cart) ใช้วางยาที่จำเป็นต้องใช้บ่อยๆ ชั้นบนควรเป็นที่สะอาดมีผ้าปลอดเชื้อปูทับ เพราะเป็นที่วางนํ้ายาที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ควรจัดยาให้เป็นระเบียบ ไม่ควรนำของที่สกปรกมาวางบนโต๊ะนี้

การทำความสะอาดประจำวันให้เช็ดโต๊ะดมยาด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือนํ้ายา Savlon 1:200 เปลี่ยนผ้าปู เช็ดและล้างเสมหะหรือเลือดที่กระเด็นติดบนโต๊ะ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ควรเอาเครื่องใช้ออกให้หมดแล้วเช็ดโต๊ะด้วยผงซักฟอกและนํ้า แล้วเช็ดตามด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อีกครั้ง ควรใช้ผ้าสะอาดคลุมโต๊ะดมยาที่ไม่ใช้เพื่อกันฝุ่นละออง

2. เครื่องใช้ยาระงับความรู้สึก (Anesthesia machine) เครื่องให้ยาระงับความรู้สึก มักจะอยู่ประจำที่ในห้องผ่าตัดและใช้เก็บเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการให้ยาระงับความรู้สึก เช่น laryngoscope, endotracheal tube, airway, mask และข้อต่อขนาดต่างๆ , สายดูดเสมหะ และยังอาจเป็นที่เก็บเครื่องวัดความดันโลหิต ควรแยกของเหล่านี้ ซึ่งมีความสะอาดต่างกันออกจากกัน โดยเฉพาะเครื่องวัดความดันเป็นสิ่งที่มีโอกาสปนเปื้อนได้มากๆ เพราะส่วนใหญ่ใช้แล้วไม่ค่อยได้ทำความสะอาด ในรายที่ติดเชื้อควรเอา cuff ที่รัดแขนมาแช่นํ้ายาฆ่าเชื้อก่อนนำไปซักล้าง

การทำความสะอาดเครื่องดมยาในแต่ละวันควรใช้ผ้าชุบนํ้าเช็ดฝุ่นละอองออกให้หมดแล้วใช้นํ้ายา alcohol 70% หรือ Savlon 1:200 เช็ดตามอีกครั้งหนึ่ง และทุกๆ สัปดาห์ ควรเอาของออกแล้วใช้นํ้ายาซักล้างเช็ดถูทำความสะอาดภายในลิ้นชัก จากนั้นเช็ดด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อดังกล่าวแล้วอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อ ห้องผ่าตัดควรได้รับการอบฆ่าเชื้อไปพร้อมๆ กับเครื่องมืออื่นๆ ที่อยู่ในห้อง หลังจากนั้นให้เช็ดล้างด้วยนํ้าแล้วเช็ดตามด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อตามลำดับ

2.1 Circle system ประกอบด้วยหลายส่วน บางส่วนก็ทำให้ปลอดเชื้อได้ยาก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในปอด ควรหลีกเลี่ยง general anesthesia ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้เปลี่ยนเป็นใช้ circle system ชนิด disposable หรือใส่เครื่องกรองแบคทีเรีย ซึ่งถ้าใส่ทางด้านลมหายใจออก ก็จะป้องกันเชื้อเข้าสู่เครื่อง

2.1.1 Absorber, unidirectional valve, relief valve โดยทั่วไปแล้วทั้งสามส่วนนี้จะอยู่ห่างจากผู้ป่วยมากกว่าส่วนอื่นของ circle system โอกาสปนเปื้อนมีได้แต่น้อยกว่าส่วนอื่น แต่อาจเป็นที่อาศัยของเชื้อได้ ให้ทำความสะอาดทุก 1-2 สัปดาห์ก็เพียงพอ

-soda lime absorber ควรเลือกทำเมื่อ soda lime หมดอายุแล้วเพื่อ
เป็นการประหยัด

-canister ที่ใส่ soda lime ทำความสะอาดด้วยนํ้าและผงซักล้าง ควร ตรวจแผ่นกรองว่ามีคราบติดกรังอยู่หรือไม่

-unidirectional valve ล้างทำความสะอาด dome valve และ valve seat แล้วเช็ดด้วย alcohol 70%

-relief valve อาจถอดมาทำความสะอาดด้วยนํ้ายาซักล้าง

การทำให้ปลอดเชื้อ Canister บางชนิดทนต่อการ autoclave แต่ส่วนมากอาจเสีย บูดเบี้ยว หรือละลายได้ ดังนั้นจึงควรใช้วิธีอื่น ได้แก่การแช่ด้วยน้ำยา glutaraldehyde (cidex) หรืออบด้วย ethylene oxide ซึ่งทั้ง 2 วิธีก็สามารถใช้ได้กับ valve ทั้ง 2 ชนิด

2.1.2 Reservoir bag ถ้าอยู่ทางด้านลมหายใจออกจะมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อมากกว่าและเปียกชื้นมากกว่าทางด้านลมหายใจเข้า แต่ถ้าอยู่ทางด้านลมหายใจเข้าก็อาจเป็นแหล่งนำเชื้อไปสู่ผู้ป่วยได้ การป้องกันการติดเชื้อจากถุงนี้ทำได้โดย

-ใช้ชนิด disposable bag หรือ plastic bag หรือ
-ต่อเครื่องกรองแบคทีเรีย

การทำความสะอาด ควรล้างด้วยนํ้าหลายๆ ครั้งหลังจากใช้แล้ว หรือเติมนํ้ายา antiseptic ที่ใช้ฟอกมือลงไปเล็กน้อย แล้วเติมนํ้าเขย่าไปมาหลายๆ ครั้งแล้วล้างออกให้หมด

การทำให้ปลอดเชื้อ
-อบด้วย ethylene oxide ดีที่สุด
-แช่ในนํ้ายา glutaraldehyde แล้วล้างออกให้หมดแล้วทำให้แห้ง

2.1.3 corrugated tubing (สายยางงวงช้าง) มีการปนเปื้อนเชื้อมาก เนื่องจากใกล้ผู้ป่วย ไอนํ้ามักกลั่นเป็นหยดนํ้าช่วยทำให้เชื้อเจริญได้ดี

การทำความสะอาด ถ้ามีเสมหะผ่านเข้าไปในสายยางจะต้องแปรงด้วยนํ้ายาซักล้างทันที หลังใช้เพื่อกันเสมหะแห้งกรัง การทำความสะอาดบางครั้งยุ่งยาก เพราะแปรงอาจเข้าไปไม่ถึง เนื่องจากสายยาวและสายยางมีลักษณะเป็นร่อง บางแห่งใช้เครื่อง ultrasonic ล้างทำความสะอาดแทน หลังจากนั้นอาจทำให้แห้งโดยใช้เครื่องเป่าอากาศร้อนผ่านมาตามท่อยาง

การทำลายเชื้อ หลังจากล้างสะอาดแล้วอาจใช้วิธี autoclave (ไม่นิยม เพราะยางเสื่อมสภาพเร็ว) อาจอบด้วย ethylene oxide หรือแช่ในนํ้ายา glutaraldehyde

2.1.4 Y connector มีโอกาสปนเปื้อนได้มากเพราะใกล้ชิดกับผู้ป่วย จึงมีโอกาสนำเชื้อสู่ผู้อื่นได้ ในรายผู้ป่วยติดเชื้ออาจใช้ชนิด disposable

การทำความสะอาด ถอดข้อต่อ Y จากสายงวงช้าง ล้างด้วยนํ้าและนํ้ายาซักล้าง อาจใช้แปรงถูด้านใน

การทำให้ปลอดเชื้อ ถ้าเป็นโลหะอาจนำมาต้ม, autoclave, แช่นํ้ายา glutaraldehyde หรือใช้อบด้วย ethylene oxide

2.2 Non-rebreathing system ให้ถอดออกมาแต่ละส่วน แล้วนำไปทำความสะอาดและปลอดเชื้อเช่นเดียวกับ circle system

2.3 Face mask เป็นส่วนที่มีการปนเปื้อนเชื้อมากที่สุดอันหนึ่ง เพราะมีโอกาสถูกต้องกับเชื้อทั้งจากปาก, ทางหายใจและจากผิวหนัง บางครั้งมีนํ้าลายหรือสิ่งอาเจียนค้างอยู่ใน mask

การป้องกันการติดเชื้อกระทำโดย
-ถ้าเป็นรายที่ติดเชื้อรุนแรงใช้ชนิด disposable
-mask ที่หล่นลงพื้นแล้วไม่ควรนำมาใช้ต่อ
-เมื่อใช้แล้วควรเก็บรวมไว้ในส่วนเครื่องมือที่สกปรกปนเปื้อน

การทำความสะอาด หลังใช้แล้วรีบเอาออก แล้วล้างด้วยนํ้าเย็น นํ้ายาซักล้างและใช้แปรงถูตามซอกมุมต่างๆ

การทำให้ปลอดเชื้อ
-ใช้ ethylene oxide แต่ต้องระวังถ้า ethylene oxide ออกไม่หมด
อาจเกิด facial burn ได้ อีกปัญหาคือหมอนรองตรงขอบ mask ที่เกิดจากการเป่าลมเข้าไป เวลาอบก๊าซต้องปล่อยลมออกก่อนไม่เช่นนั้นเวลาดูด ethylene oxide ออกจากเครื่องอบจะทำให้ผนังของหมอนรองยืดอยู่นานทำให้ยางเสื่อมเร็ว

-ใช้ autoclave ยางจะเสื่อมเร็ว ยกเว้นยางชนิด conductive neoprene face mask แต่ก็ทำให้ยางหมอนรองเสื่อมเช่นกัน

-ใช้สารเคมีเช่น glutaraldehyde หรือ Savlon โดยแช่ในนํ้ายา
แล้วล้างออกให้หมด

2.4 Air way จะมีการปนเปื้อนเชื้อมากเพราะในปากและ pharynx มีเชื้อจุลชีพอยู่มาก หลังใช้แล้วต้องทำให้ปลอดเชื้อ และพยายามรักษาให้สะอาดมากที่สุด

การทำความสะอาด ล้างนํ้าแล้วใช้แปรงขัดถูทั้งด้านในและนอก บางแห่งใส่ในเครื่อง ultrasonic ล้าง เพราะบางครั้งแปรงอาจเข้าไม่ถึงด้านใน

การทำให้ปลอดเชื้อ ใช้ ethylene oxide หรือใช้วิธี autoclave หรือใช้แช่ในนํ้ายาเคมี

2.5 Endotracheal tube ใช้ใส่ในหลอดลมซึ่งถือว่าปลอดเชื้อ ดังนั้น endotracheal tube ต้องปลอดเชื้อด้วย นํ้ายาที่หล่อลื่นก็ต้องใช้ชนิดที่ปลอดเชื้อเช่นกัน ปัจจุบันมีชนิด disposble ซึ่งปลอดเชื้อมาจากแหล่งผลิต

การทำความสะอาด หลังใช้ให้แช่นํ้าและนํ้ายาซักล้างทันทีอย่าทิ้งไว้จนแห้ง เสมหะจะกรัง แล้วล้างออกยาก แต่ก่อนจะแช่ต้องปิดจุกของ cuff เพื่อกันนํ้าเข้าไป จากนั้นนำมาถูด้วยแปรงทั้งด้านนอกและด้านในแล้วล้างออกด้วยนํ้า

การทำให้ปลอดเชื้อ
-ใช้ ethylene oxide ตัว tube ต้องแห้งสนิทและต้องเปิดจุกของ cuff ออกเช่นกัน หลังอบแล้วต้องให้ ethylene oxide ระเหยออกให้หมดไม่เช่นนั้นอาจเกิด laryngeal irritation, ถ้าเป็นท่อ P.V.C. และใช้ X-ray ทำลายเชื้อมาก่อนไม่ควรนำมาทำให้ปลอดเชื้อด้วย ethylene oxide

-autoclave โดยห่อหุ้มเอาไว้ก่อน วิธีนี้ท่อจะปลอดเชื้อไปจนถึงเวลาใช้ แต่ถ้าอบซ้ำๆ ท่อจะงอบูดเบี้ยว และยางจะเสียความยืดหยุ่น พวกท่อ P.V.C. ใช้วิธีนี้ไม่ได้เพราะไม่ทนร้อน

-ใช้แช่นํ้ายาเคมี เช่น glutaraldehyde, Savlon วิธีนี้มีข้อเสียอาจเกิด recontamination ในระหว่างทำให้แห้งและการบรรจุห่อ

2.6 Connector มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อได้สูงแต่ทำความสะอาดไม่ลำบาก โดยล้างนํ้า ฟอกถูด้วยแปรงกับนํ้ายาเคมี

การทำให้ปลอดเชื้อ อบด้วย ethylene oxide หรือแช่ glutaraldehyde หรือ autoclave

2.7 Laryngoscope blade & Magill’s forceps ทั้ง 2 อย่างควรเก็บไว้ให้สะอาดและปลอดเชื้อ ภายหลังใช้แล้วทุกครั้งควรถือปฏิบัติเหมือนเครื่องมือสกปรก ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีการติดเชื้ออันตราย ควรใช้ disposable laryngoscope blade

การทำความสะอาด เช็ดและถูตามซอกมุมโดยเฉพาะบริเวณรอบหลอดไฟ, แต่มีผู้รายงานการทำความสะอาดง่ายๆ โดยเช็ด blade ให้ทั่วด้วย isopropyl alcohol 70% จะทำลายแบคทีเรียได้เกือบหมด

การทำให้ปลอดเชื้อ อบด้วย ethylene oxide หรือ autoclave วิธีนี้ต้องระวังโดย Jenkin กล่าวว่าฉนวนไฟฟ้าที่ blade จะทนวิธี autoclave ได้ไม่กี่ครั้ง ; หรือใช้นํ้ายาเคมี ได้แก่การ แช่ในน้ำยา alcohol และ glutaraldehyde

3. อุปกรณ์ที่ฉีดยาและสารนํ้าเข้าหลอดเลือด
3.1 กระบอกฉีดยา, เข็ม, T-way T-way และกระบอกฉีดยาควรมีจุกปิด เวลาใช้ ควรวางบนผ้าที่ปลอดเชื้อกันการปนเปื้อน, ไม่ควรใช้ T-way ที่รั่วเพราะจะทำให้บริเวณนั้นเปียก มีโอกาสปนเปื้อนได้ง่าย ภายหลังใช้แล้วควรล้างเครื่องมือเหล่านี้ทันทีเพื่อป้องกันการแห้งกรัง และทำให้ปลอดเชื้อด้วยวิธี autoclave

3.2 ชุดให้นํ้าเกลือและนํ้าเกลือ ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นชุดที่เตรียมให้ปลอดเชื้อมาจากโรงงานแล้ว และเป็นชนิด disposable

3.3 นํ้ายาที่ใช้ ส่วนมากปลอดเชื้อ และเตรียมเป็นหลอดขนาดที่พอใช้ ยกเว้น ยาบางอย่างที่เตรียมไว้เป็นผงเมื่อจะใช้ผสมนํ้ากลั่นหรือตัวละลายลงไป การผสมต้องระวัง กรรมวิธีปลอดเชื้อให้ดี ยาที่เตรียมเป็น multiple doses โดยมากมักมีสารกันเสียใส่ไว้ด้วยเช่น พวก benzoate ยาพวกนี้เวลาใช้ควรรักษาความปลอดเชื้อให้ดี ยาที่ผสมเองและใช้ไม่หมด ควรเก็บไว้ในตู้เย็นและถ้าเก็บไว้นานเกิน 48 ชั่วโมงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อได้มากควรทิ้งเสีย

4. ชุดฉีดเข้าช่องสันหลังและชุดทำ nerve block หลังใช้ควรล้างทำความสะอาดทันที เพื่อให้เลือดที่กรังอยู่ในเข็มละลายหลุดออกมาได้ง่าย ถ้าไม่ออกอาจใช้ H2O2 แช่หรือฉีดเข้าไปในเข็ม ผ้าปูเจาะกลางที่เปื้อนเลือดหรือนํ้ายาควรซักล้างออกให้หมด แล้วนำไปทำให้แห้ง เสร็จแล้วเอามาจัดเรียงให้เข้าชุดแล้วห่อด้วยผ้า 2 ชั้นนำไปทำให้ปลอดเชื้อด้วยวิธีอบไอนํ้า

5. เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผ่อนแรงในการช่วยหายใจและช่วยทำงานในกรณีที่ขาดบุคลากร การปนเปื้อนพบได้บ่อยโดยเฉพาะในรายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนาน หรือมีการติดเชื้อขณะรับการผ่าตัดอยู่ ในบางครั้งเครื่องช่วยหายใจอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อแล้วผ่านไปสู่ผู้ป่วยเป็นครั้งคราว เชื้อที่พบบ่อยมักเป็นพวก Pseudomonas aeruginosa โดยเชื้อจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วในท่อนำก๊าซและในเครื่องทำความชื้น

การป้องกันการติดเชื้อจากเครื่องช่วยหายใจ อาจทำได้โดย
1. ไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจนอกจากจำเป็น

2. เติมนํ้ายา chlorhexidine 0.1% ลงไปในนํ้าของเครื่องทำความชื้น

3. พยายามรักษาให้นํ้าในเครื่องทำความชื้นอยู่ในอุณหภูมิของการทำให้ปลอดเชื้อด้วยวิธี Pasteurization (60° ซ.)

4. ใช้เครื่องกรองแบคทีเรียต่อเข้ากับทางเข้าของก๊าซที่จะผ่านมาสู่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งอาจเพียงทำให้ก๊าซที่ผ่านมาค่อนข้างสะอาด แต่ไม่ได้ป้องกันการปนเปื้อนเชื้อที่ผ่านจากเครื่องไปสู่ผู้ป่วย เครื่องกรองก๊าซอาจเกิดการอุดตันจากละอองนํ้าที่มาจากเครื่องทำความชื้นหรือจากไอนํ้าในลมหายใจออกทำให้มีอุปสรรคในการติดเครื่องกรองนี้เข้ากับท่อช่วยหายใจเข้าและออก

5. Ethylene oxide เป็นสารซึ่งมีพิษสูง ระเบิดได้ง่าย ละลายได้ดีในนํ้าและวัสดุพวกยาง กลิ่นระคายเคือง การทำให้ปลอดเชื้อจะเสียเวลามาก และเครื่องมือใหญ่โตมักใช้วิธีนี้ไม่ได้ มีผู้ใส่เครื่องช่วยหายใจใน polyvinylchoride bag ซึ่งมีส่วนผสมของ ethylene oxide 10% ใน carbon dioxide ปรากฏว่าก็ใช้ได้ดี แต่ถ้าใช้ถุงพลาสติคธรรมดาไม่ทราบว่าจะมีประสิทธิภาพปลอดภัยเพียงใด สำหรับเครื่อง Bird respirator และท่อนํ้าก๊าซตลอดจนเครื่องทำความชื้นก็สามารถทำให้ปลอดเชื้อด้วยการใช้ ethylene oxide

6. Formaldehyde ใช้ไอของ formaldehyde ที่อุ่น (45-60° ซ.) และชื้นจากเครื่องทำความชื้นของเครื่องช่วยหายใจผ่านไปใน circuit ของเครื่องช่วยหายใจ เดินเครื่องอยู่ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้น neutralize formaldehyde ด้วยไอของแอมโมเนียจากเครื่องทำความชื้นประมาณ ½  ชั่วโมง จากนั้นถอดท่อนำก๊าซ, ลิ้น, ข้อต่อต่างๆ มาล้างทำความสะอาดแล้วประกอบเข้าไปตามเดิม แล้วนำไปเดินเครื่องเพื่อไล่ก๊าซที่อาจหลงเหลืออยู่อีก 8 ถึง 24 ชั่วโมง วิธีนี้เหมาะสำหรับเครื่องช่วยหายใจชนิด closed circuit แต่วิธีนี้ส่วนภายในของเครื่องมักไม่ถูกไอของ formaldehyde ดังนั้นถ้าจะทำให้ส่วนภายในปลอดเชื้อต้องมีเครื่องดูดไอของ formaldehyde ผ่านเข้าไป

7. Alcohol aerosol ละอองฝอยของ ethyl alcohol 70% หรือ isopropyl alcohol 70% โดย ultrasonic nebulizer ; ผ่านละอองเข้าเครื่องช่วยหายใจที่ดัดแปลงเป็นชนิด closed circuit system (นาน 2 ชั่วโมง)

8. Hydrogen peroxide aerosol ใช้ละอองฝอยของ H2O2 20% โดยวิธีเดียวกับข้อ 7. ได้ผลน้อยกว่าใช้ alcohol และต้องทิ้งค้างไว้นานกว่าเพื่อให้ H2O2ที่เหลืออยู่มีการสลายตัว เนื่องจาก H2O2ระคายเคืองต่อเยื่อบุ

การใช้นํ้ายาทำลายเชื้ออื่นๆ เช่น Savlon 1:100 หรือ Resiguard (มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ picloxydine digluconate และ octylphenoxy polyethoxyethanol รวมกับ benzalkonium) 1:80 ทำลายเชื้อใน patient circuit ของเครื่องช่วยหายใจ ใช้เวลานาน 20 นาที การทำลายเชื้อในตัวเครื่องช่วยหายใจเองมักจะยุ่งยาก เนื่องจากต้องถอดอุปกรณ์บางอย่างออกไปก่อน เช่น pressure gauge, spirometer เป็นต้น จึงกระทำในภาวะจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ที่มา:ปรีชา โอภาสานนท์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า