สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การปฏิสนธิและพัฒนาการของทารกในครรภ์

ในคัมภีร์ประถมจินดาได้กล่าวถึงการผดุงครรภ์ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยในระยะตั้งครรภ์ไว้ โดยแบ่งเป็นระยะดังนี้
-การปฏิสนธิ หรือการกำเนิดของมนุษย์
-ครรภ์กำเนิด หรือการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มารดา
-ครรภ์รักษา หรือการรักษาตัวของมารดาในขณะที่มีครรภ์
-ครรภ์ปริมณฑล หรือการดูแลทารกในครรภ์
-ครรภ์วิปลาส หรือการแท้ง ความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ หรือไม่มีการตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ในหนังสือประเพณีเนื่องในการเกิด ของพระยาอนุมานราชธน ก็ได้กล่าวถึงการปฏิสนธิในระยะตั้งครรภ์ของไทยที่มีมาแต่โบราณเอาไว้ด้วย

ต่อไปนี้จะได้นำหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางสูติศาสตร์มาเปรียบเทียบกับทฤษฎีการแพทย์แผนไทยในเรื่อง การปฏิสนธิ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ การดูแลรักษาทารกในครรภ์ การปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ และความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้
เหตุในการเกิดของมนุษย์ตามคัมภีร์ประถมจินดาได้กล่าวไว้ว่า การที่จะเกิดการปฏิสนธิขึ้นได้นั้น บิดาและมารดาต้องมีความพร้อม และธาตุทั้ง 4 มีครบบริบูรณ์ คือ จะผสมระคนเข้ากันอยู่ของ ปถวีธาตุ 20 อาโปธาตุ 12 วาโยธาตุ 6 และเตโชธาตุ 4 ส่วนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มารดาได้อธิบายไว้ ดังนี้

อาจาริเยน อันพระอาจารย์เจ้า จะกล่าวพระคัมภีร์ประถมจินดานี้ ซึ่งท่านคัดออกมาจากคัมภีร์โรคนิทานโน้น ต่อไปให้แพทย์ทั้งหลายพึงรู้โดยสังเขปดังนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย เมื่อจะตั้งอนุโลมปฏิสนธินั้น พร้อมด้วยบิดามารดากับธาตุทั้ง 4 ก็บริบูรณ์พร้อมคือ ปถวีธาตุ 20 อาโปธาตุ 12 เตโชธาตุ 4 วาโยธาตุ 6 ระคนกันเข้าคือ เกิดเพราะโลหิตบิดามารดาระคนกัน มิได้วิปริต จึ่งบังเกิดขึ้นด้วยธาตุน้ำ คือต่อมโลหิตแห่งมารดา ก็ให้บังเกิดตั้งขึ้นเปนอนุโลมปฏิสนธินั้น ในเมื่อสัตว์จะปฏิสนธินั้น ท่านกล่าวไว้ว่า สุขุมังปะระมานูเลอียดนัก เปรียบด้วยจนทรายจามรีเส้น 1 เอามาชุบน้ำมันงาที่ใสนั้น แล้วเอามาสลัดเสียให้ได้ 7 ครั้ง แต่ยังติดอยู่ที่ปลายขนทรายจามรีมากน้อยเท่าใด อันมูลปฏิสนธิแห่งสัตว์ทั้งหลายสุขุมเลอียดดุจนั้น แต่ตั้งขึ้นในครรภ์มารดาแล้วละลายไปได้วันละ 7 ครั้ง กว่าจะตั้งขึ้นได้เปนอันยากนัก ครั้นโลหิตตั้งขึ้นได้แล้วอยู่ 7 วัน ก็บังเกิดเปนปฐมกะละละ นั้นเรียกว่า ไชยเภท คือมีฤดูล้างหน้าที 1 ถ้ามิดังนั้นก็ให้มารดาฝันเห็นวิปริต ก็รู้ว่าครรภ์ตั้ง แลครรภ์ตั้งขึ้นแล้วมิได้วิปริต ครบ 7 วันก็ขันเข้าดังน้ำล้างเนื้อ เมื่อไปอีก 7 วันเปนชิ้นเนื้อไปอีก 7 วันเปนสัณฐานดังไข่งู ไปอีก 7 วันก็แตกออกเปนปัญจสาขา 5 แห่ง คือ ศีร์ษะ 1 มือ 2 เท้า 2 จึ่งเปน 5 ไปอีก 7 วันก็เกิด เกสา โลมา นขา ทัน์ตา ลำดับกันไปดังนี้ ในขณะเมื่อครรภ์ตั้งขึ้นได้เดือนหนึ่งกับ 12 วันนั้น โลหิตจึ่งบังเกิดเวียนเข้าเปนตานกยูงที่หัวใจเปนเครื่องรับดวงจิตรวิญญาณ ถ้าหญิงเวียนซ้าย ถ้าชายเวียนขวา แต่มิได้ปรากฏออกมา ครั้นเมื่อครรภ์ถ้วนไตรมาสแล้ว โลหิตนั้นก็แตกออกไปตามปัญจสาขา เมื่อได้ 4 เดือน จึ่งตั้งอาการ 32 นั้น จึ่งบังเกิดตาแลหน้าผากก่อนสิ่งทั้งปวง จึ่งบังเกิดเปนอันดับกันไป เมื่อครรภ์ได้ 5 เดือน จึ่งมีจิตรแลเบ็ญจขันธ์พร้อมรูปัข์โธ เมื่อตั้งเปนรูปขันธ์เข้าแล้ว วิญ์ญาณัก์ขัน์โธ ก็ให้มีวิญญาณขันธ์ รู้จักร้อนแลเย็น ถ้าแลมารดาบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อนเข้าไปเมื่อใด ก็ให้ร้อนทุรนทุราย ดิ้นเสือกไปมาเวทนาก์ขัน์โธ เวทนาขันธ์ก็บังเกิดขึ้นตามกัน คือ ที่อยู่ในท้องของมารดานั้นลำบากทนทุกขเวทนาดุจสัตว์ในนรก คือ นั่งยองกอดเข่าเอากำมือไว้ใต้คาง ผินหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา ผินหลังออกข้างนาภี เหมือนดังลูกวานรอันนั่งอยู่ในโพรงไม้นั้น นั่งทับกระเพาะอาหารเก่า อาหารใหม่ตั้งอยู่บนศีร์ษะ แลน้ำอาหารนั้นก็เกรอะทราบลงไปทางกระหม่อม เพราะว่าทารกอยู่ในครรภ์นั้นกระหม่อมเปิด ครั้นมารดาบริโภคสิ่งอันใดที่ควรเข้าไปได้แล้วก็ซึมทราบออกจากกระเพาะเข้าก็เลื่อนลงไปในกระหม่อม ก็ได้รับประทานอาหารของมารดาก็ชุ่มชื่นชูกำลังเปนปรกติ
ที่มา: สถาบันภาษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ

ที่กล่าวมาข้างต้นตามคัมภีร์ประถมจินดา ถึงการปฏิสนธิ การเจริญเติบโต และพัฒนาการในครรภ์ของทารก จะเปรียบเทียบกระบวนการตามลำดับหลักสูติศาสตร์ดังนี้

1. การปฏิสนธิ(Fertilization)
เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิงและเพศชายที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มีการรวมตัวกัน ได้แก่ ไข่(Ovum) และตัวอสุจิ(Spermatozoa) เมื่อไข่และตัวอสุจิรวมตัวกันก็จะเกิดเซลล์ใหม่ที่เรียกว่า ไซโกท(Zygote) ขึ้นมา

สภาวะที่ทำให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นได้มีดังนี้
-เพศหญิงและเพศชายมีเซลล์สืบพันธุ์ที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว

-ประมาณวันที่ 14 ของการมีรอบเดือน ที่ตัวอสุจิผ่านเข้าไปในโพรงมดลูก อาจเป็นก่อนหรือหลังวันที่ 14 ประมาณ 5 วันก็ได้

-โดยปกติแล้ว ตัวอสุจิจะไม่สามารถทนต่อสภาวะความเป็นกรดได้ ดังนั้น การทำให้ตัวอสุจิมีชีวิตอยู่และสามารถเคลื่อนผ่านไปได้ สตรีจะต้องมีสภาพความเป็นกรดด่างของช่องคลอดและปากมดลูกที่เหมาะสม

2. พัฒนาการของทารกในครรภ์
ระยะต่างๆ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ของการปฏิสนธิไปจนถึงครบกำหนดคลอด ทารกในครรภ์มีกระบวนการเจริญเติบโตและพัฒนาการดังนี้

-ระยะก่อนตัวอ่อน(Pre-embryonic stage)
การเกิดชีวิตใหม่จะอยู่ในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์แรก ซึ่งเป็นระยะที่เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จัดว่าเป็นช่วงที่ไข่มีการเปลี่ยนแปลง

สัปดาห์ที่ 1
มีการรวมตัวของไข่และตัวอสุจิทำให้ชีวิตใหม่เริ่มต้นกำเนิดขึ้น และเซลล์ที่ได้รับการผสมแล้วจะแบ่งตัวออกมา เดินทางไปตามท่อนำไข่ เพื่อรอฝังตัวในโพรงมดลูกต่อไป

การเริ่มปฏิสนธิตามคัมภีร์ได้เปรียบไว้ว่า เปรียบด้วยขนทรายจามรี(สัตว์ 4 เท้า ประเภทเนื้อทราย มีขนละเอียดหางยาวเป็นพู่) ชุบน้ำมันงาแล้วสะบัดเสีย 7 ครั้ง น้ำมันงาที่เหลือติดอยู่ปลายขนจามรีเป็นหยาดน้ำใสคล้ายชีวิตแรกเกิด ซึ่งเปรียบได้กับ ไซโกท นั่นเอง

สัปดาห์ที่ 2
ประมาณปลายสัปดาห์ที่ 1 หลังจากมีการปฏิสนธิแล้วก็เริ่มต้นเข้าสู่ระยะการฝังตัว(Implantation) ระยะนี้จะสิ้นสุดประมาณวันที่ 12 หลังการปฏิสนธิ

ตามคัมภีร์กล่าวว่า เมื่อหญิงตั้งครรภ์แล้วมิได้วิปริต หมายถึงไม่มีความผิดปกติ พอครบ 7 วันจะเป็นดังน้ำล้างเนื้อ ซึ่งในสัปดาห์ที่ 2 ทางสูติศาสตร์จะเรียกการเจริญเติบโตที่มีการฝังตัวของเซลล์ว่า บลาสโตซีสท์(Blastocyst) การเจริญเติบโตของบลาสโตซีสท์จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เซลล์ชั้นนอกที่ต่อไปจะกลายเป็นรก และเซลล์ชั้นในที่จะพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน(Embryo)

เมื่อบลาสโตซีสท์ฝังตัวแล้ว จะเกิดช่องว่างขึ้นระหว่างเซลล์ชั้นนอกและเซลล์ชั้นในภายในบลาสโตซีสท์ ซึ่งช่องว่างนี้ต่อมาก็จะพัฒนากลายไปเป็นโพรงถุงน้ำคร่ำ และถุงไข่ระยะแรก ซึ่งใช้เป็นแหล่งสะสมอาหารสำหรับตัวอ่อน

ระยะตัวอ่อน(Embryonic stage)
ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ระยะตัวอ่อนก็จะเริ่มต้นขึ้น ระยะนี้จะไปสิ้นสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ 8

สัปดาห์ที่ 3
ระยะนี้ตัวอ่อนจะมีความหนาและยาวขึ้น ซึ่งจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนของอวัยวะยังไม่มีการเจริญเติบโต

ตามคัมภีร์ประถมจินดาได้กล่าวไว้ว่า ในสัปดาห์ที่ 3 ทารกในครรภ์จะเกิดลักษณะเป็นชิ้นเนื้อ ซึ่งลักษณะที่แสดงส่วนของอวัยวะก็ยังไม่ปรากฏเช่นเดียวกัน

สัปดาห์ที่ 4
ตัวอ่อนในระยะนี้จะมีการงอตัวมากขึ้น มีลักษณะโค้งคล้ายตัวซี และอวัยวะต่างๆ เช่น ท่อประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกสันหลัง จะเจริญขึ้น และมีน้ำหนักประมาณ 400 มิลลิกรัม

ลักษณะของทารก ตามคัมภีร์ได้อธิบายไว้ว่า มีสัณฐานดังไข่งู ซึ่งหมายถึงการโค้งงอนั่นเอง

สัปดาห์ที่ 5
ตัวอ่อนจะเริ่มมีตุ่มของแขน ขา การเจริญของตา หู ปาก คอหอย หลอดอาหาร หลอดลม หลอดเลือด ทวารหนัก สายสะดือ และเยื่อหุ้มอวัยวะภายใน เริ่มมีขึ้นในปลายสัปดาห์ที่ 4 ในระหว่างสัปดาห์ที่ 5 จะมีการเจริญเติบโตของส่วนหัวมากกว่าส่วนอื่นๆ สมองเริ่มมีการเจริญขึ้น ส่วนนิ้วมือนิ้วเท้าก็เริ่มมีขึ้น ตัวอ่อนจะมีความยาวประมาณ 7.0-8.0 มิลลิเมตรเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 5 มีน้ำหนักประมาณ 800 มิลลิกรัม และส่วนหัวจะใหญ่กว่าลำตัว ซึ่งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ก็มีความสอดคล้องกัน คือ ตัวอ่อนมีการแตกออกเป็นปัญจสาขา 5 แห่ง คือ ศีรษะ 1 มือ 2 ขา 2

สัปดาห์ที่ 6-8
อวัยวะต่างๆ จะเจริญมากขึ้นเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 6 เริ่มเห็นส่วนของหู ตา นิ้วมือ นิ้วเท้า ได้ชัดเจนขึ้น และเริ่มมีการยืดออกของลำตัว มีความยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1,200 มิลลิกรัม มีการแบ่งหัวใจเป็นห้องแล้ว เริ่มมองเห็นลูกตาเด่นชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 ทั้งเบ้าตา ลิ้น เพดานปากก็เจริญขึ้นจนเกือบสมบูรณ์ มีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ที่สามารถแยกออกได้ชัดเจน ตัวอ่อนในสัปดาห์ที่ 8 จะมีความยาวประมาณ 2.5-3 ซม. มีน้ำหนักประมาณ 3 กรัม มีลักษณะของใบหน้า ตา หู จมูก แขนและขาชัดเจนมากขึ้น สามารถแยกนิ้วมือนิ้วเท้าออกจากกันได้ อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกเริ่มสร้างขึ้นแต่ยังแยกไม่ได้ว่าเป็นเพศใด มีระบบไหลเวียนผ่านสายสะดือ ซึ่งมีส่วนสอดคล้องกับระบบไหลเวียนเลือดในคัมภีร์คือ ในระยะนี้โลหิตบังเกิดเวียนเข้าเป็นตานกยูง ที่หัวใจเริ่มมีการไหลเวียนเลือดเกิดขึ้น ถ้าเป็นทารกเพศหญิงโลหิตจะเวียนซ้าย ถ้าเป็นเพศชายโลหิตจะเวียนขวา แต่ลักษณะของการเกิดผม ขน เล็บและฟันจะแตกต่างกันในสัปดาห์ที่ 6 ซึ่งการเจริญเติบโตทางสูติศาสตร์จะบอกว่า ตัวอ่อนจะเริ่มสร้างขนอ่อนของผมบนศีรษะ ขนคิ้ว ขนตา และเล็บในสัปดาห์ที่ 13 จนถึงสัปดาห์ที่ 20

ระยะทารก(Fetal Stage)
ตัวอ่อนในสัปดาห์ที่ 8 จะเรียกว่า ทารก(Fetus) ในระยะนี้เนื้อเยื่อต่างๆ จะมีการเจริญเติบโตมากมาย

สัปดาห์ที่ 9-12
ทารกในระยะนี้จะเจริญเติบโตรวดเร็ว ในสัปดาห์ที่ 12 จะเริ่มมีอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกที่สามารถแยกเพศได้

สัปดาห์ที่ 13-16
ระยะนี้ทารกเริ่มมีการสร้างขนอ่อน โดยเฉพาะบนศีรษะ ลักษณะผิวหนังจะบางจนสามารถเห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน สามารถแยกเพศได้ชัดเจนและระบบหายเริ่มมีการเคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่ 16 มารดาอาจรู้สึกได้เมื่อทารกมีการเคลื่อนไหว

สัปดาห์ที่ 17-20
ขนอ่อนของทารกเริ่มมีทั่วตัว ผิวหนังเริ่มมีไขคลุม บนศีรษะมีผม ขนคิ้วขนตาเริ่มสร้างขึ้น หัวนมและเล็บจะยาวขึ้น สามารถใช้หูฟังผ่านมารดาเพื่อฟังเสียงหัวใจของทารกได้

สัปดาห์ที่ 21-24
ทารกเริ่มมีขนตายาวขึ้น ขนคิ้วเริ่มชัดเจนขึ้น ผิวหนังเหี่ยว เริ่มกำมือเมื่อมีรีเฟล็กซ์เกิดขึ้น เริ่มมีการทำงานของถุงลมในปอด

สัปดาห์ที่ 25-28
ใต้ผิวหนังของทารกเริ่มมีการสร้างชั้นไขมัน มีความสมบูรณ์ของระบบประสาท เริ่มสั่งให้ร่างกายทำงานได้ สามารถควบคุมการเปิดปิดของลูกตาได้ มีการพัฒนาเกี่ยวกับระบบหายใจและโลหิตมากยิ่งขึ้น

สัปดาห์ที่ 29-32
ทารกในระยะนี้จะมีน้ำหนักประมาณ 2,000 กรัม มีความตึงของผิวหนังมาก ตามตัวมีขนอ่อนน้อยลง มีการเจริญอย่างเต็มที่ของกระดูกแต่ยังมีความงอและอ่อนตัวอยู่ อัณฑะจะอยู่ในถุงเรียบร้อยแล้วในทารกเพศชาย

สัปดาห์ที่ 33-36
เป็นระยะที่ร่างกายและแขนขาทารกเจริญเต็มที่ มีความยาวประมาณ 42-48 ซม. หนัก 2,500-2,750 กรัม

สัปดาห์ที่ 37-40
เมื่ออายุของทารกในครรภ์ครบ 38 สัปดาห์หรือมากกว่า ลักษณะของทารกที่ครบกำหนดจะพิจารณาดังนี้

-ตัวยาวประมาณ 48-52 ซม.

-มีน้ำหนักประมาณ 3,000-3,500 กรัม

-ผิวหนังตึงเป็นสีชมพู

-บริเวณหัว ไหล่ และแขนจะมีขนอ่อน

-เล็บจะยาวออกมาพ้นปลายนิ้ว

-ผมบนศีรษะยาวประมาณ 3-4 ซม.

-กะโหลกศีรษะมีการเจริญเติบโตที่ดี โดยมีเส้นรองวง ส่วนรอบวง ส่วนศีรษะโตกว่ารอบอก

-ถ้าเป็นทารกเพศชาย ลูกอัณฑะจะลงมาอยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว

-ถ้าเป็นทารกเพศหญิง แคม(Labia majora) ทั้ง 2 ข้างจะแนบชิดกัน

-เมื่อคลอดออกมาทารกจะร้องทันที มีการลืมตา แขน ขาเริ่มมีการเคลื่อนไหว ยกมือและเท้าปัดไปมา

ตามคัมภีร์ประถมจินดาได้กล่าวถึงทารกหลังจากสัปดาห์ที่ 8 ไว้อีกว่า เมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์ โลหิตจะแตกออกไปตามปัญจสาขา ซึ่งสอดคล้องกับทารกตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การสร้างเลือดจากตับเริ่มมีขึ้น ร่างกายมีการเคลื่อนไหว และตามคัมภีร์กล่าวว่า เมื่อถึงเดือนที่ 4 หรือ 16 สัปดาห์ ทารกจะมีอาการ 32 ประการ โดยเกิดตาและหน้าผากขึ้นมาก่อน ซึ่งอาจหมายถึง อวัยวะของทารกมีการเจริญชัดเจนขึ้น และในเดือนที่ 5 มีจิตและเบญจขันธ์ คือ ร่างกายจะมีส่วนต่างๆ และคุณสมบัติชัดเจนขึ้น เช่น ความรู้สึก มีรูป ร่างกาย พฤติกรรม เป็นต้น และที่ในคัมภีร์บอกว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะนั่งท่ายองๆ กอดเข่ากำมือไว้ใต้คาง หันหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา หันหลังออกข้างนาภี ซึ่งสอดคล้องกับทางสูติศาสตร์ ซึ่งเป็นท่าที่ทารกเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ของมารดานั่นเอง

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า