สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คอหอยอักเสบ(Pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ(Tonsillitis)

เกิดจากสาเหตุหลากหลายทั้งจากกลุ่มโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอจากการอักเสบของคอหอยและทอนซิลเป็นสำคัญทอนซิลอักเสบ

การอักเสบจากโรคติดเชื้อจะเกิดจากไวรัสและแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่โดยโดยเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A betahemolytic Streptococcus)  ซึ่งอาจมีอันตรายร้ายแรงจากภาวะแทรกซ้อนได้

สาเหตุ
เกิดจากไวรัสไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสอื่นๆ หลายชนิด บางส่วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เชื้ออยู่น้ำลาย เสมหะผู้ป่วยติดต่อจากการสูดเอาละอองเสมหะจากการไอหรือจาม สัมผัสมือ สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด

เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนองที่สำคัญ คือ บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ มักพบในเด็ก 5-15 ปี ในผู้ใหญ่พบได้เป็นครั้งคราว ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะพบได้น้อยมาก ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-7 วัน ติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น โรงเรียน หอพัก เป็นต้น

อาการ
สาเหตุที่เกิดจากไวรัส มีเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่เจ็บตอนกลืนอาหาร มีอาการเหมือนเป็นหวัด บางรายมีอาการท้องเดินถ่ายเหลวร่วมด้วย

ผู้ป่วยจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ จะมีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ กลืนน้ำลายและอาหารลำบาก ปวดร้าวไปที่หู อาจปวดท้องและอาเจียนร่วมด้วย ไม่มีน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดงแบบที่เกิดจากไวรัส

สิ่งตรวจพบ
กลุ่มสาเหตุจากไวรัส  อาจมีหรือไม่มีไข้ก็ได้ ผนังคอหอยแดงเล็กน้อย ทอนซิลโตและแดงเพียงเล็กน้อย อาจมีน้ำมูกใส ตาแดง

กลุ่มสาเหตุจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ  มีไข้ประมาณ 38.3 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า ผนังคอหอยและเพดานอ่อนบวมและแดงจัด ทอนซิลบวมโตแดงจัด มีจุดหนองขาวๆ เหลืองๆ อยู่บริเวณทอนซิล เขี่ยออกได้ง่าย  ถ้าเป็นสีเหลืองปนเทาจะเขี่ยออกยากและมีเลือดออก ถ้ามีอาการไอ เสียงแหบ หรือหายใจหอบร่วมด้วย ให้นึกถึงโรคคอตีบ อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้า ใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บได้

ภาวะแทรกซ้อน
กลุ่มสาเหตุจากไวรัส  ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงมักจะไม่มี ส่วนผู้เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่อาจมีภาวะ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น

กลุ่มสาเหตุจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ  มีภาวะแทรกซ้อน คือ

1. เชื้อลุกลามอาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีทอนซิล อาจบวมโตจนทำให้หายใจและกลืนลำบาก

2. เชื่อเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน กระดูกอักเสบเป็นหนอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

3. โรคที่สำคัญคือ ไข้รูมาติก และหน่วนไตอักเสบเฉียบพลัน  เกิดหลังจากทอนซิลอักเสบได้ประมาณ 1-4 สัปดาห์ เกิดขึ้นเนื่องจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง(autoimmune reaction) ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องมีโอกาสเกิดเป็นไข้รูมาติกประมาณร้อยละ 0.3-3

การรักษา
1. เช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ผู้ป่วยควรกินอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้น โจ๊ก นม น้ำหวาน ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเย็นๆ หรืออมก้อนน้ำแข็งหากมีอาการเจ็บคอมาก ควรกลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือป่น 1 ช้อนชา วันละ 2-3 ครั้ง

2. รายที่เกิดจากเชื้อไวรัส ให้รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาแก้ไอ อาการจากเชื้อไวรัสนี้มักมีอาการคอหอยและทอนซิลแดงไม่มาก มีน้ำมูกใส ไอ ตาแดง เสียงแหบ ท้องเดิน เป็นต้น มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ

3. ในรายที่เกิดจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ  ซึ่งมีอาการไข้สูง ทอมซิลบวมแดงจัด มีแผ่นหรือจุดหนอง ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหรือข้างคอด้านหน้า ไม่มีน้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ควรให้ยาปฏิชีวนะนอกเหนือจากการรักษาตามอาการ เช่นให้ เพนิซิลลินวี หรืออะม็อกซีซิลลิน ถ้ามีอาการแพ้ยาดังกล่าวให้ใช้อีริโทรไมซิน แทน ให้ประมาณ 3 วัน ถ้าดีขึ้นจึงให้ต่อจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากไข้รูมาติกหรือหน่วยไตอักเสบ

หากภายใน 3 วันอาการไม่ดีขึ้น และสงสัยมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เป็นๆ หายๆ กินยาไม่ได้ ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือด เพาะเชื้อ เอกซเรย์ ซึ่งจะได้รักษาตามสาเหตุของโรคต่อไป

ถ้าผู้ป่วยกินยาไม่ได้ อาเจียน หรืออาจกินยาได้ไม่ครบ 10 วัน ไม่แพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์อาจฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน(benzathine penicillin)เข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียว ขนาดที่ใช้ 600,000 ยูนิต สำหรับผู้มีน้ำหนัก น้อยกว่าหรือเท่ากับ 27 กก. หรือ 1,200,000 ยูนิต สำหรับผู้มีน้ำหนักมากกว่า 27 กก.

ให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน 5 วัน เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ อะซิโทรไมซิน(azithromycin) คลาริโทรไมซิน (clarithromycin) ในรายที่กินยาได้

ให้ยากลุ่มอื่น เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ เซฟาดรอกซิล ถ้าพบว่าเชื้อดื้อยาเพนิซิลลิน

หากเป็นฝีทอนซิล ต้องเอาหนองออกโดยการเจาะหรือผ่า

ในรายที่เป็นเรื้อรัง หรือปีละมากกว่า 4 ครั้ง มีการอักเสบของหูชั้นกลาง ก้อนทอนซิลโตอุดกั้นทางเดินหายใจ จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล(tonsillectomy)

4. อาจต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมหากมีเพียงแผ่นหรือจุดหนองบนทอนซิลที่อาจเกิดจากไวรัสอื่น มีอาการไม่ชัดเจน ซึ่งไม่มั่นใจว่าเกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจและทราบผลภายในไม่กี่นาทีโดยตรวจบริเวณคอหอยและทอนซิล เรียกว่า “rapid strep test” หากเกิดผลลบอาจต้องเพาะเชื้อซึ่งจะทราบผลใน 1-2 วัน ถ้ามีผลบวกก็ให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

ข้อแนะนำ
1. อาการเจ็บคอ คออักเสบ มักมีสาเหตุจากติดเชื้อไวรัส และโรคไม่ติดเชื้อเช่น โรคภูมิแพ้ โรคน้ำกรดไหลย้อน การระคายเคือง เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวควรซักถามและตรวจดูอย่างละเอียด หากมั่นใจว่าเป็นทอนซิลจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอจึงให้ยาปฏิชีวนะ แต่ควรส่งตรวจพิเศษ เช่น ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี rapid strep test การเพาะเชื้อ หากไม่มั่นใจว่าเกิดจากเชื้อนี้

2. ควรให้กินยาปฏิชีวนะประเภทเพนิซิลลินวี หรืออะม็อกซีซิลลิน 10 วัน สำหรับทอนซิลอักเสบจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ โรคอาจกำเริบหรือมีโรคแทรกซ้อน เช่น ไข้รูมาติก หรือหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ หากได้รับยาไม่ครบตามกำหนด แม้อาการจะทุเลาลงเมื่อรับยาไปแล้ว 2-3 วันก็ตาม แม้จะพบโรคแทรกซ้อนน้อยแต่อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้

ผู้ป่วยไม่ควรใกล้ชิดผู้อื่นจนกว่าได้รับยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชม. เชื้อจึงจะไม่แพร่ไปสู่คนอื่นๆ

ปัจจุบันการผ่าตัดทอนซิลลดน้อยลง เนื่องจากได้ผลดีจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง

3. หากรักษาทอนซิลอักเสบด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ดีขึ้น อาจมีเหตุจากโรคอื่น รวมทั้งเมลิออยโดซิล ซึ่งพบบ่อยจากผู้มีประวัติเป็นโรคเบาหวานในภาคอีสาน

การป้องกัน
ปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับไขหวัดหากมีผู้ใกล้ชิดป่วยเป็นคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ไอหรือจามรดผู้อื่น ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับกับผู้ป่วย หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า