สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ต่อมลูกหมากโต (Prostadenoma)

ต่อมลูกหมากโต หรืออาจเรียกชื่ออื่นได้อีก เช่น บีไนพรอสเตติค ไฮเปอร์โตรฟี (Benign prostatic hypertrophy) หรือบีไนพรอสเตติค ไฮเปอร์พลาเซีย บีพีเอช (Benign prostatic hyper­plasia – B.P.H.) การโตของต่อมลูกหมากนี้ เชื่อว่าเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Benign) เป็นสาเหตุที่ทำให้ชายวัยอายุเลย 50 ปี ถ่ายปัสสาวะขัด

อุบัติการณ์และระบาดวิทยา

ผู้ชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากจะโตขึ้นเรื่อยๆ อาจโตจนทำให้มีการอุดกั้นของท่อปัสสาวะทีละน้อยจนในที่สุดมีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก พบในชายอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป ที่พบมากที่สุดระหว่าง 60-80 ปี คือประมาณร้อยละ 77.5 สาเหตุยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัด เพียงแต่เข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลระหว่างแอนโดรเจนกับเอสโตรเจนในชายวัยสูงอายุ โดยมีเอสโตรเจนคิดตามอัตราส่วนแล้วสูงกว่าปกติ

พยาธิสรีรวิทยา

ต่อมลูกหมากมี 5 กลีบ (Lobe) คือ ด้านข้าง 2 (Lateral Lobe) ด้านหน้า 1 (Anterior Lobe) ตรงกลาง 1 (Median Lobe) และด้านหลัง 1 (Posterior Lobe) การเปลี่ยนแปลงมักเกิดที่กลีบข้างและกลีบกลาง ซึ่งอาจโตเฉพาะที่กลีบข้างทั้งสองหรือกลีบกลาง หรือโตทั้ง 3 กลีบก็ได้ การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มที่ส่วนใน (Medulla) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ไวต่อเอสโตรเจนโดยเกิดเป็นก้อนเนื้อโตขึ้น (Fibromuscular Nodule ซึ่งไม่ใช่เนื้อต่อม) หลายแห่งด้วยกันก่อน ภายหลังจึงมีการลามแทรกของเนื้อต่อมข้างเคียงรอบๆ ท่อปัสสาวะจนกลายเป็นก้อน (Nodule) ซึ่งประกอบด้วยเนื้อต่อมเนื้อกล้าม และเนื้อเยื่อพังผืด ก้อนเหล่านี้จะโตขึ้นและเบียดเนื้อต่อมลูกหมากที่เหลือให้บางออกไปเป็น เซอร์จิคอล แคปซูล (Surgical Capsule) ดังแสดงในรูปที่ 6.13 ซึ่งเปรียบได้เหมือนเปลือกส้ม และตัวเนื้องอกที่สามารถขุดให้หลุดออกจากเซอร์จิคอล แคปซูลได้ง่าย เมื่อทำผ่าตัด

ต่อมลูกหมากโตมากขึ้นเท่าใดจะทำให้ท่อปัสสาวะส่วนพรอสเตติคยาวขึ้นเท่านั้น และท่อปัสสาวะนี้จะถูกเบียดให้แคบและยาวตามแล้วแต่ว่ากลีบใดจะโต ส่วนกลีบกลางอาจโตยื่นเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้มาก จนทำให้ท่อปัสสาวะส่วนพรอสเตติค ท่อไตและไต มีการอุดกั้น ซึ่งจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อน

1. อาการไข้เนื่องจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นเพียงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือลุกลามเป็นภาวะกรวยไตอักเสบ ซึ่งอาจมีภาวะต่างๆ ดังนี้

การอุดกั้นปัสสาวะที่รุนแรง ทำให้มีการถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลยทันทีทันใด (Acuteretention of urine) ทั้งๆ ที่ระยะนั้นยังพอถ่ายปัสสาวะได้ อาจเกิดขึ้นในระยะใดก็ได้เพราะมีภาวะเลือดคั่งอย่างเฉียบพลันของต่อมลูกหมาก ทำให้ท่อปัสสาวะส่วนพรอสเตติคแคบมากขึ้นอีกอย่าง รวดเร็ว เป็นในช่วงเวลาที่ทำงานหนักภายหลังเดินทางไกล และกระเทือน ภายหลังดื่มเหล้า ถูกความเย็นจัดและระยะที่มีการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน ซึ่งมีการบวมของคอของท่อปัสสาวะและท่อ ปัสสาวะส่วนพรอสเตติคร่วมด้วย

2. เลือดออก เลือดออกจากต่อมลูกหมาก ในโรคนี้มักออกอย่างมาก และทำให้เกิดมีลิ่มเลือดค้างอยู่ (Clot retention) สาเหตุเช่นเดียวกับการถ่ายปัสสาวะไม่ออกอย่างเฉียบพลัน จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ที่ทำให้มีการคั่งของลิ่มเลือดร่วมกับการเบ่งปัสสาวะ ทำให้หลอดเลือดที่ผิวต่อมลูกหมากฉีกขาดหรือเป็นแผลได้

3. พบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้บ่อย คือ ประมาณร้อยละ 41 ทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น คือ ถ่ายปัสสาวะสะดุด ต้องเปลี่ยนท่าจึงจะถ่ายสะดวกขึ้น การมีนิ่วทำให้เลือดออกง่ายขึ้นและมีการติดเชื้อมากขึ้น มักถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดกระปิดกระปรอยเป็นๆ หายๆ

4. ภาวะแทรกซ้อนนอกระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal hernia) และริดสีดวงทวาร (Internal haemorrhoid) เนื่องจากต้องออกแรงเบ่งปัสสาวะเป็นระยะเวลานานๆ และเป็นมาหลายๆ ปี

5. ความต้องการทางเพศมากขึ้น เป็นในระยะแรกที่ต่อมลูกหมากโตขึ้น และมีภาวะเลือดคั่งแต่เมื่อมีการอุดกั้นมากขึ้น จะมีปัสสาวะเหลือค้างอยู่อย่างเรื้อรัง มีความรู้สึกถ่ายปัสสาวะไม่หมดต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย ผ่ายผอม เบื่ออาหาร และความต้องการทางเพศจะหมดไป

อาการและอาการแสดง

อาการและอาการแสดงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลของการอุดกั้น ที่บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะผู้ป่วยจะมีการถ่ายปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน และอากาศเย็นๆ เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นดันท่อปัสสาวะส่วนบนให้แคบลง จะมีการถ่ายปัสสาวะขัด ต้องออกแรงเบ่งขนาดและ แรงของนํ้าปัสสาวะลดลง เวลาที่ใช้ในการเบ่งปัสสาวะนานมากขึ้นและไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ทันทีมักพบปัสสาวะหยด หลังถ่ายปัสสาวะแล้วมีความรู้สึกถ่ายปัสสาวะไม่หมด เมื่อเป็นนานๆ ผู้ป่วยจะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากมีนํ้าปัสสาวะขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมาก โดยไม่ปวด ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาคือ การเบื่ออาหาร อ่อนเพลียเนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะต้องถ่ายปัสสาวะบ่อย

การประเมินภาวะสุขภาพ

1. การซักประวัติ  โดยมากผู้ป่วยให้ประวัติว่ามีการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งปัสสาวะ ไม่พุ่งแรง มักถ่ายบ่อยโดยเฉพาะในเวลากลางคืน มีประวัติเป็นมานานไม่สามารถหยุดปัสสาวะได้ทันที พบปัสสาวะหยึดหลังถ่ายปัสสาวะแล้ว และมีความรู้สึกถ่ายปัสสาวะไม่หมดอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

2. การตรวจร่างกาย ตรวจทางทวารหนักคลำพบต่อมลูกหมากมีขนาดโต แข็ง ผิวเรียบ ไม่เจ็บ อาจคลำต่อมลูกหมากได้ขนาดปกติเนื่องจากส่วนที่โตยื่นเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะและไม่สามารถคลำได้

3. การตรวจโดยทั่วไป

3.1 กดเจ็บบริเวณไตทั้ง 2 ข้าง อาจคลำไตได้เพราะมีอาการไตบวมน้ำ

3.2 อาจพบมีก้อนบริเวณหน้าท้องน้อย เนื่องจากมีการคั่งของน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ

3.3 หัวใจโต หรือมีน้ำท่วมปอด

3.4 อาจพบไส้เลื่อนที่ขาหนีบ

4. การตรวจทางห้องทดลอง

ปัสสาวะ

1. อาจพบเซลหนองเม็ดเลือดแดง ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะจะตํ่า

2. ตรวจวัดจำนวนปัสสาวะที่ค้าง (Residual urine) ใช้ในรายที่มีการถ่ายปัสสาวะขัดมากๆ เพื่อดูจำนวนปัสสาวะที่ค้างอยู่ ใช้ในการตัดสินทำผ่าตัด

เลือด

1. เอ็นพีเอ็น คริอะตินิน ยูเรีย อาจสูงกว่าปกติ จำนวนเม็ดเลือดขาวสูงถ้ามีการติดเชื้อ

2. เอนโดสโคปี (Endoscopy) เครื่องมือที่ดี คือ แพนเอนโดสโคป (Panen doscope) เพราะสามารถมองเห็นตลอดท่อปัสสาวะส่วนพรอสเตติค และเห็นส่วนคอของกระเพาะปัสสาวะแยกได้ว่ากลีบใดของต่อมลูกหมากโตมากน้อย โดยการดูความนูนของกลีบอื่นๆ ที่ยื่น เบียดเข้ามาในท่อปัสสาวะ

สำหรับเครื่องมือ ซิสโตสโคป (Cystoscope) มองได้เฉพาะของส่วนคอของกระเพาะปัสสาวะ จะบอกได้ว่าต่อมลูกหมากโต ก็เมื่อมีการนูนของต่อมลูกหมากที่ส่วนคอของกระเพาะปัสสาวะ หรือต่อมลูกหมากนูนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเท่านั้น อาจเห็นลักษณะอักเสบ หรือสิ่งผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะด้วย

3. ซิสโต ยูรีโทรกราฟฟี (Cysto urethrography) จะเห็นท่อปัสสาวะแบน เข้าทางข้างๆ ยืดยาวออก และเห็นเงาแหว่งขอบเรียบที่ส่วนคอของกระเพาะปัสสาวะ

4. ถ่ายภาพรังสีธรรมดา (Plain K.U.B. film) อาจพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือในไตอาจเห็นเงาไตโตขึ้นทั้ง 2 ข้าง

5. พายอีโลกราฟฟี (Pyelography) อาจพบไตบวมน้ำ และท่อไตบวมน้ำ ถ้าทำ ไอ วีพี อาจพบมีการขับสารทึบรังสีออกช้าลง

การวินิจฉัยโรค

ในกรณีที่ต่อมลูกหมากโตต้องแยกจาก

1. มะเร็งของต่อมลูกหมาก อาจจะเล็กหรือโตกว่าพรอสตาดิโนมา ผิดกันที่มะเร็งต่อมลูกหมากแข็งมาก ขรุขระและโตไม่สมํ่าเสมอ

2. ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน และฝีต่อมลูกหมากซึ่งโตพอสมควรเจ็บมาก อาจนุ่ม หรือกดบุ๋ม หรือต้องแยกด้วยอาการอื่นๆ และการตรวจเอนโดสโคปี

3. ซาร์โคมา (Sarcoma) ของต่อมลูกหมาก เป็นในเด็กโตมาก และแข็ง

อาการของการมีปัสสาวะคั่งค้างแบบเรื้อรังต้องแยกด้วยสิ่งต่อไปนี้

1. มะเร็งของต่อมลูกหมากซึ่งเนื้อแข็งมาก

2. การหดรั้งของคอกระเพาะปัสสาวะ ( Contracted vesical neck ) ขนาดของต่อมลูกหมากผิดปกติหรือเล็กกว่าปกติเล็กน้อย

3. นิวโรจินิคแบลดเดอร์ (Neurogenic bladder) ในคนสูงอายุสาเหตุยังไม่ทราบแน่ ขนาดของต่อมปกติหูรูดทวารหนักมีกำลังอ่อน ชาแถวฝีเย็บ และอาจมีชาตามขาร่วมด้วย

4. การตีบแคบของท่อปัสสาวะ อาจจะเกิดจากการกระทบกระแทก ขนาด และลักษณะต่อมปกติแต่ใส่สายสวนปัสสาวะไม่เข้า

การบำบัดรักษา

1. การรักษาแบบประคับประคอง ใช้ในรายที่มีอาการไม่มาก ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่จะทำผ่าตัดให้การรักษาโดยมีหลักดังนี้

1.1 ถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือไม่ออก ใช้สายยางสวนออกเป็นครั้งคราว

1.2 ถ้ามีอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ให้ยาประเภทปฏิชีวนะ เช่น แกนตริชซิน (Gantrisin) วันละ 4-6 กรัม (เด็กให้ขนาด 150 มิลลิกรัม/นํ้าหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน) หรือแอมพิซิลลิน วันละ 2-4 กรัม (เด็ก 50 มิลลิกรัม/นํ้าหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ 4 เวลา) หรือโคไตรม็อกซาโซล วันละ 2 ครั้งๆ ละ 2 เม็ด (เด็ก ½  – 1 เม็ด) อาจให้มิสต์บูชู (M.Buchu) ½ – 1 ช้อนโต๊ะ ร่วมด้วย ควรให้ยาประมาณ 7-10 วัน

1.3 รับประทานอาหารให้เหมาะสม ลดอาหารประเภทเนื้อลง พักผ่อนให้มากพอ มีการออกกำลังกายบ้างตามสมควร

2. การรักษาทางศัลยกรรม โดยการตัดต่อมลูกหมากออก (Prostatectomy) ซึ่งมีข้อบ่งชี้ดังนี้

2.1 ปัสสาวะเหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมากกว่า 100 ซีซี หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของความจุของกระเพาะปัสสาวะ แสดงว่ามีการอุดกั้นมานาน

2.2 มีการติดเชื้อเกิดขึ้นบ่อยๆ

2.3 มีเลือดออกบ่อยๆ

2.4 มีการถ่ายปัสสาวะไม่ออกอย่างกระทันหันเกิดขึ้นบ่อยๆ

2.5 เกิดนิ่ว

2.6 เกิดการโป่งขยาย (Diverticulum) ของกระเพาะปัสสาวะ

2.7 ถ่ายปัสสาวะบ่อยมากจนไม่ได้พักผ่อน

การผ่าตัดต่อมลูกหมากออก (Prostatectomy) คำว่า พรอสตาเตคโตมี ความจริงไม่ใช่ศัพท์ที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ตัดเอาต่อมลูกหมากออกหมด ยังคงเหลือ เซอร์จิคอล แคปซูล ไว้ ที่ถูกควรใช้คำว่า เอดดีโนเมคโตมี (Adenomectomy) แต่คำว่า พรอสตาเตคโตมี เป็นศัพท์ที่ใช้กันจนเคยชินมานานแล้ว จึงไม่เปลี่ยน

การผ่าตัดต่อมลูกหมากออก ที่ใช้อย่างแพร่หลายมี 4 วิธี คือ

1. ซูพราพิวบิค พรอสตาเตคโตมี (Suprapubic prostatectomy)

เป็นการผ่าเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะทางหน้าท้องเหนือหัวเหน่า แล้วขุดล้วงเอาเนื้องอกออก ภายหลังเย็บปิดแล้วจะใส่สายสวนปัสสาวะค้างไว้ เรียกว่า ซูพราพิวบิค ซีสตอสโตมี (Suprapubic cystostomy) เพื่อเป็นทางออกของนํ้าปัสสาวะ การทำผ่าตัดวิธีนี้ สามารถเอาเนื้องอกของต่อมลูกหมากออกได้หมด ทำได้ง่าย แต่ห้ามเลือดได้ไม่ดีนัก

2. รีโทรพิวบิค พรอสตาเตคโตมี (Retropubic prostatectomy)

เป็นการผ่าหน้าท้องเหนือหัวเหน่าเข้าหาเยื่อหุ้มด้านหน้า (Anterior capsule) ซึ่งอยู่หลังกระดูกหัวเหน่า ล้วงเอาเนื้องอกออกแล้วเย็บปิดเยื่อหุ้ม วิธีนี้ห้ามเลือดได้ดีมากเหมาะสำหรับก้อนเนื้องอกที่ใหญ่ ซึ่งมีโอกาสที่เลือดจะออกได้มาก

3. ทรานซ์เพอริเนียล พรอสตาเตคโตมี ( Transperineal prostatectomy)

เป็นการผ่าที่บริเวณฝีเย็บด้านหน้าต่อกับเรคตัมทางเยื่อหุ้มด้านหลังของต่อมลูกหมาก ขุดล้วงเอาเนื้องอกออกแล้วเย็บปิดเยื่อหุ้ม วิธีนี้เหมาะสำหรับต่อมที่ไม่ใหญ่นัก เพราะช่องทางแคบห้ามเลือดได้ดี เหมาะสำหรับผู้สูงอายุมากๆ หรือผู้ที่ทนการผ่าตัดได้ไม่ดี หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอึดอัด หายใจได้สะดวก ไม่ปวดแผลมาก เพราะไม่ตึงแผล แผลหายได้เร็วเหมาะสำหรับรายที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมาก เพราะตัดเนื้อมาตรวจได้แน่นอน เมื่อรู้ผลว่าเป็นมะเร็งจริงก็ผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดได้สะดวกในคราวเดียวกัน วิธีนี้ทำยากกว่า 2 วิธีแรก และมีโอกาสเกิดทวารหนักทะลุได้ง่าย ซึ่งทำให้มีผลเกิดรูทะลุระหว่างทวารหนักและกระเพาะปัสสาวะ (Recto-vesical fistula) ได้

4. ทรานซ์ยูรีทอล รีเซคชัน ทียูอาร์ (Trans urethral resection -TUR)

เป็นการทำโดยใช้เครื่องมือ รีเซคโตสโคป (Resectoscope) สอดเข้าทางท่อปัสสาวะ แล้วตัดเนื้องอกออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วล้างออก วิธีนี้ต้องใช้ความชำนาญมาก ถ้าตัดออกไม่หมด จะกลับเป็นซํ้าได้ใหม่อีก และมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าวิธีอื่น แต่ถ้าทำได้ดีผู้ป่วยจะหายกลับ บ้านได้เร็วและสบายกว่าวิธีอื่น เพราะไม่มีแผลภายนอก เหมาะสำหรับผู้สูงอายุมากๆ ขนาดของต่อมลูกหมากไม่โตมากเกินไป

ภาวะแทรกซ้อนของการทำผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยทั่วๆ ไป

ขณะทำผ่าตัด

1. ทรอมาติดช็อค (Traumatic shock) ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน เกิดจากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด

2. เลือดออก ทำให้เกิดภาวะช็อค แล้วเกิดมีภาวะไตวายเฉียบพลัน

3. ผู้สูงอายุมาก และการทำงานของไตไม่ค่อยดีอยู่แล้วจะเกิดภาวะช็อคได้ง่าย และมีภาวะไตวายเฉียบพลันได้ง่าย

4. เม็ดเลือดแดงแตกและมีภาวะปอดบวมน้ำ จากการดูดซึมนํ้าเข้าไปมากขณะทำผ่าตัด (ชนิดที่ 4-TUR.)

ภายหลังทำผ่าตัดและในเวลาต่อมา

1. เลือดออกในระยะต่อมา (Secondary hemorrhage) เกิดเพราะการติดเชื้อมักเกิดในสัปดาห์ที่ 2 หลังทำผ่าตัด ซึ่งทำให้เกิดภาวะไตวายได้

2. การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งอัณฑะอักเสบ (Epididymo orchitis) รวมทั้งอาจป้องกันได้ด้วยการทำหมัน (Vasectomy)

3. ภาวะเครียด และไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ (Stress and urgency incontinence) อาจเกิดเพียงชั่วคราว เพราะการกระทบกระเทือนต่อหูรูดภายนอกขณะผ่าตัด หรือการสวนค้าง

สายยางขนาดใหญ่ไว้ในท่อปัสสาวะ พร้อมกับมีการตัดถูกหูรูดภายในด้วย สามารถช่วยให้หายได้โดยหัดให้ผู้ป่วยขมิบกล้ามเนื้อหูรูดบ่อยๆ เพื่อให้ปัสสาวะหยุดทันทีขณะถ่ายปัสสาวะ และเวลาอื่นๆ

4. มีการหดรั้งของคอคอดปัสสาวะ (Contracted bladder neck) เพราะผ่าตัดส่วนคอของกระเพาะปัสสาวะไม่กว้างพอ เมื่อแผลหายมีการหดรั้งของแผลเป็น พบได้บ่อยหลังทำทียูอาร์ (TUR.)

5. ท่อปัสสาวะตีบแคบ เกิดโดยการขยายท่อปัสสาวะมากเกินไป โดยเฉพาะวิธี ทียูอาร์ (TUR.) หรือเพราะสวนค้างสายสวนปัสสาวะไว้นานร่วมกับมีการติดเชื้อ

6. การอักเสบของกระดูกหัวเหน่า (Ostitis pubis) มักพบในรายทำผ่าตัดวิธีเรคโตพิว บิค พรอสตาเตคโตมี (Recto-pubic prostatectomy)

7. แผลมีการติดเชื้อ เกิดขึ้นในรายที่ทำผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบเปิด (Opened prostatec tomy) เท่านั้น

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากโต

ในรายที่มีอาการไม่มากยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการทำผ่าตัด การดูแลที่ควรเน้นเป็นพิเศษ คือ ต้องรักษาให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงจากการกระทบความเย็น ไม่ดื่มสุรา และดูแลให้มีการขับถ่ายอุจจาระเป็นประจำ

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 1 – 4

1. มีความไม่สุขสบายจากการปวดปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะขัด และบ่อยมาก ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ

2. มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคที่เป็น

3. มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

4. มีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร

แผนการพยาบาล

จากการวินิจฉัยการพยาบาลข้อ 1 -4 วัตถุประสงค์ การวางแผนการพยาบาล รวมทั้งเกณฑ์การพยาบาล ปฏิบัติเช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 5

มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีเลือดออก และภาวะเลือดคั่งที่ต่อมลูกหมาก

การวางแผนการพยาบาล

วัตถุประสงค์  

1. ลดภาวะเลือดคั่งที่ต่อมลูกหมาก

2. ระงับการมีเลือดออก

เกณฑ์การประเมิน

1. สามารถถ่ายปัสสาวะได้สะดวก

2. ปัสสาวะไม่มีเลือดปน

3. ตรวจสอบสัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ

4. พักผ่อนได้มากพอ ร่างกายไม่อ่อนเพลีย

ปฏิบัติการพยาบาล

1. ถ้าปวดปัสสาวะและถ่ายไม่ออกอย่างกระทันหัน รายงานแพทย์ เพื่อสวนปัสสาวะค้างไว้ระยะหนึ่งก่อน และเพื่อลดการคั่งของเลือด ให้ความตึงตัวของกระเพาะปัสสาวะดีขึ้น การสวนค้างปัสสาวะ ต้องทำอย่างถูกต้องตามเทคนิคของการปราศจากเชื้ออย่างเคร่งครัด

2. ในกรณีที่ยังมีเลือดออก ต้องสวนล้างกระเพาะปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง (ตามแผนการรักษา) ซึ่งจะใส่สายปัสสาวะค้างไว้นานประมาณ 24-48 ชั่วโมง ดูแลให้น้ำปัสสาวะไหลออกได้สะดวก หมั่นบีบรูดสายยางบ่อยๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการอุดตัน

3. ตรวจสอบสัญญาณชีพอย่างสมํ่าเสมอ เพราะผู้สูงอายุมักจะมีชีพจร และการหายใจเปลี่ยนแปลงได้ง่าย หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการปวดปัสสาวะมาก ถ่ายไม่ออก ซึ่งต้องรีบให้ความช่วย เหลือแก้ไขทันที

4. บันทึกจำนวนน้ำที่ร่างกายได้รับ และขับออกรวมทั้งลักษณะของน้ำปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น มีเลือดปนสีจางๆ เป็นเลือดสดๆ หรือมี ลิ่มเลือด ซึ่งต้องรีบรายงานเพื่อให้การรักษาได้ทันเวลา

5. เพื่อเป็นการลดภาวะเลือดคั่งที่ต่อมลูกหมาก ให้ผู้ป่วยนั่งแช่ในน้ำอุ่นนานประมาณ 20 นาที จะทำให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้น (อาจ แนะนำให้มีการร่วมเพศอย่างสมํ่าเสมอเพื่อเป็นการลดภาวะเลือดคั่ง)

6. ดูแลให้ได้รับการพักผ่อนหลับนอนอย่างเพียงพอ จัดให้อยู่ในที่สงบเงียบ ไกลจากเสียงรบกวนใดๆ ให้ผู้ป่วยได้รับยาครบถ้วนตามแผน การรักษา รวมทั้งสังเกตอาการข้างเคียงของยาภายหลังให้ทุกครั้ง

การประเมินผล

ทำการประเมินผลการพยาบาลที่ให้ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ คือ ผู้ป่วยไม่มีเลือดออกสามารถถ่ายปัสสาวะได้สะดวก ลักษณะของน้ำปัสสาวะเป็นปกติ ได้รับยาครบถ้วนตามแผนการรักษา รวมทั้งมีการพักผ่อนหลับนอนได้มาก ร่างกายไม่อ่อนเพลีย สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 6

มีโอกาสท้องผูกได้ง่าย

การวางแผนการพยาบาล

วัตถุประสงค์  

1. ให้มีการขับถ่ายอุจจาระเป็นประจำทุกวัน

2. ปฏิบัติตนเพื่อป้องกันมิให้ท้องผูกได้ถูกต้อง

เกณฑ์การประเมิน

1. ถ่ายอุจจาระได้เป็นประจำทุกวัน

2. รู้จักเลือกบริโภคอาหารได้เหมาะสม

3. มีการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน

4. ดื่มน้ำได้มากถึงวันละประมาณ 7-8 แก้ว

ปฏิบัติการพยาบาล

1. กระตุ้นให้ดื่มนํ้ามากๆ อย่างน้อยให้ดื่มวันละประมาณ 7-8 แก้ว

2. ดูแลและแนะนำให้รับประทานอาหารประเภทผัก และผลไม้ให้มากขึ้น ผลไม้ที่ควรรับประทาน เช่น ส้ม กล้วย มะละกอสุก เป็นต้น

3. แนะนำให้มีการเดินออกกำลังทุกวัน เท่าที่สามารถจะทำได้บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องซึ่งจะช่วยทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น มีผลทำให้ขับถ่ายอุจจาระได้ตามปกติ

4. ในรายที่มีอาการท้องผูก อาจต้องสวนอุจจาระให้เป็นบางครั้ง

การประเมินผล

ทำการประเมินผลการพยาบาลตามเกณฑ์ต่างๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น

ในรายที่ทำผ่าตัด

เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การพยาบาลทางด้านจิตใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พยาบาลต้องทำให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจ และเชื่อถือในการปฏิบัติการพยาบาลต่างๆ ตั้งแต่แรกรับ ต้องตระหนักว่าผู้สูงอายุไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น ต้องใช้เวลานานกว่าปกติที่จะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจ และเกิดความเคยชินต่อกิจวัตรประจำวันที่จะต้องปฏิบัติตัวขณะได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ต้องมีความอดทนในการอธิบาย และทบทวนให้ผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับการที่ต้องปฏิบัติตนต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรงพอที่จะรับสภาพการผ่าตัดได้ การเตรียมบริเวณผิวหนังที่ต้องทำผ่าตัด การที่ต้องงดอาหารและน้ำ การแนะนำให้ปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพหลังทำผ่าตัด เช่น การหายใจลึกๆ หรือการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง การไออย่างมีประสิทธิภาพ การลุกจากเตียงโดยเร็ว เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้พยาบาลจะต้องให้การเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ

การพยาบาล

การพยาบาลก่อนทำผ่าตัด

วินิจฉัยทางการพยาบาล การวางแผนการพยาบาล วัตถุประสงค์ของการพยาบาล เกณฑ์การประเมินผล รวมทั้งการประเมินผล การปฏิบัติการพยาบาล เช่นเดียวกับการให้การดูแลผู้ป่วยก่อนทำผ่าตัดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

การพยาบาลหลังผ่าตัด

การผ่าตัดต่อมลูกหมากที่ทำบ่อย ได้แก่ วิธีผ่าตัดทางหน้าท้องเหนือหัวเหน่า (Supra­pubic cystostomy) ฉะนั้น จะกล่าวถึงการพยาบาลภายหลังทำผ่าตัดวิธีนี้เฉพาะที่แตกต่างจากการปฏิบัติการพยาบาลภายหลังทำผ่าตัดนิ่ว คือ

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 1

มีโอกาสเกิดการอุดตันของสายสวนปัสสาวะที่ใส่ค้างไว้จากลิ่มเลือด

การวางแผนการพยาบาล

วัตถุประสงค์

ไม่มีการอุดตันของสายสวนปัสสาวะที่ใส่ค้างไว้

เกณฑ์การประเมินผล

1. ปัสสาวะไหลออกทางสายยางได้สะดวกดี

2. น้ำปัสสาวะที่ไหลออกมีลักษณะใส ไม่มีสีเลือดปน

3. ไม่มีอาการเจ็บปวดบริเวณท้องน้อย

4. ตรวจสอบสัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ปฏิบัติการพยาบาล

1. สวนล้างกระเพาะปัสสาวะ (Bladder irrigation) ตามแผนการรักษา (การสวนล้างกระเพาะปัสสาวะมี 2 วิธีคือ สวนล้างกระเพาะปัสสาวะ แบบต่อเนื่อง และสวนล้างเป็นครั้งคราว) ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องตามเทคนิค เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อแน่ใจ ว่าไม่มีเลือดออกจึงเลิกล้างและต่อสายยางลงขวดหรือถุงก่อนเอาสายยางออกต้องทดสอบการทำงานของกระเพาะปัสสาวะก่อนโดยปิดสายยางไว้ให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะเองซึ่งต้องวัดจำนวนนํ้าปัสสาวะที่ถ่ายออกมา และจำนวนน้ำปัสสาวะที่ยังค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 100 มิลลิลิตรจึงเอาสายยางออกได้

2. ป้องกันภาวะตกเลือด ต้องหมั่นสังเกตและบันทึกอาการ และอาการแสดงที่จะบ่งบอกให้ทราบว่ามีการตกเลือดหรือไม่ดังนี้

2.1 ปริมาณและลักษณะของนํ้าที่ล้างออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ การไหลต้องสะดวก และนํ้าที่ออกต้องเป็นสีแดงจางลงเรื่อยๆ จนใส การไหลไม่สะดวกจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเบ่งเพราะมีลิ่มเลือดอุดกั้น การหดตัวที่ไม่ดีของกระเพาะปัสสาวะจะทำให้เลือดหยุดช้าหรือกลับมีเลือดออกอีก ดังนั้นจะต้องหมั่นบีบรูดคลึงสายยางบ่อยๆ เพื่อป้องกันการอุดตันของสายยาง

2.2 ตรวจสัญญาณชีพ ระยะแรกควรทำทุก 15-30 นาที ต่อไปเมื่อ คงที่จึงวัดห่างออกไปเป็นทุก 2-4 ชั่วโมง

2.3 ตรวจสอบบริเวณแผลผ่าตัด ถ้าเปียกชื้นบ่อย แสดงว่ามีการ ไหลออกของนํ้าจากกระเพาะปัสสาวะไม่สะดวก ต้องตรวจสอบดูสายยางว่ามีการอุดตันหรือไม่และต้องหาทางแก้ไข

3. บันทึกจำนวนน้ำที่ร่างกายได้รับ และขับออกในกรณีที่ล้างกระเพาะปัสสาวะแบบต่อเนื่อง ต้องจดบันทึกจำนวนน้ำที่ใส่เข้าไปและออกจากกระเพาะปัสสาวะ และนำมาหักลบกันก็จะเป็นปริมาณปัสสาวะในช่วงเวลานั้นๆ ทำให้ทราบถึงการทำงานของไตหลังทำผ่าตัดได้

4. ดูแลให้ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จัดท่านอนให้เหมาะสม วันรุ่งขึ้น หลังทำผ่าตัดควรให้อยู่ในท่านอนเอน วันต่อๆ ไปเมื่อล้างกระเพาะปัสสาวะและแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกแล้วจึงให้ลุกนั่งข้างเตียงและเดินได้

การประเมินผล

ทำการประเมินผลการพยาบาลตามเกณฑ์ที่ระบุไว้คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บปวดปัสสาวะ ไหลตามสายยางสะดวกดี ลักษณะของนํ้าปัสสาวะไม่มีเลือดปน สามารถพักผ่อนได้ สัญญาณชีพปกติ

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 2

มีโอกาสกลั้นปัสสาวะไม่ได้ภายหลังเอาสายยาง (บอลลูน)ออกเนื่องจากหูรูดชั้นนอกยืดตัวออก

การวางแผนการพยาบาล

วัตถุประสงค์  

กลั้นปัสสาวะได้

เกณฑ์การประเมิน

1. กลั้นปัสสาวะได้ เมื่อปวดไม่ถ่ายออกทันที

2. ไม่มีนํ้าปัสสาวะไหลรั่วซึม

ปฏิบัติการพยาบาล

1. ให้ผู้ป่วยฝึกกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ โดยขมิบกล้ามเนื้อหูรูดในขณะที่ยังมีสายยางใส่ค้างอยู่ และขมิบให้ปัสสาวะหยุดทันที ขณะถ่าย ปัสสาวะ

2. ยึดตรึงสายยางที่ต่อลงขวดให้อยู่กับที่ อย่าให้มีการดึงรั้งเพราะจะทำให้เป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อหูรูดได้

3. ดูแลความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ถ้ามีปัสสาวะรั่วซึมชั่ว คราว (ในระยะแรกๆ) หมั่นรักษาความสะอาด ดูอย่าให้มีการหมักหมมและเปียกชื้น

การประเมินผล

ทำการประเมินผลการพยาบาลตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ คือ ผู้ป่วยสามารถบริหารกล้ามเนื้อหูรูดตามที่แนะนำได้ดี ภายหลังที่เอาสายยางออกไม่มีนํ้าปัสสาวะรั่วซึม และสามารถกลั้นปัสสาวะได้ เมื่อรู้สึกปวดไม่ถ่ายออกทันที

การพยาบาลต่อเนื่อง

1. แนะนำให้บริหารกล้ามเนื้อหูรูดต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยให้มีการกลั้นปัสสาวะที่ดีมากยิ่งขึ้น

2. ดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องออกแรงมากๆ พักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอ

3. หมั่นออกกำลังกายทุกวันโดยไม่หักโหมจนเกินไป การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ การเดินในตอนเช้าและตอนเย็นอย่างสมํ่าเสมอ

4. รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และมีคุณค่าในทางโภชนาการ ควรรับประทานปลาแทนเนื้อสัตว์ และอาหารที่ช่วยให้มีการขับถ่ายได้สะดวก เช่น ผลไม้ ส้ม กล้วย มะละกอ เป็นต้น

5. สังเกตอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ถ่ายปัสสาวะขัด ปวดเบ่งขณะถ่าย หรือปัสสาวะมีเลือดปน ซึ่งต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

6. มารับการตรวจซํ้าตามวัน และเวลาที่นัดหมายทุกครั้ง เน้นให้เห็นความสำคัญถึงการที่ต้องมารับการตรวจซํ้า และผลเสียที่ไม่มาตรวจตามนัด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า