สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง(Severe eye injury)

ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บที่ตา ถ้าไม่รุนแรงอาจมีเพียงรอยฟกช้ำบริเวณตา หรือเลือดออกใต้ตาขาว มักจะไม่มีอาการปวดตาหรือตามัวแต่อย่างใด แต่อาจทำให้เกิดตามืดมัวลงฉับพลันหรือปวดตารุนแรงได้ถ้าได้รับบาดเจ็บรุนแรง ตาได้รับบาดเจ็บรุนแรงซึ่งอาจเกิดจากมีเลือดออกในช่องลูกตาหน้า เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา เลือดออกในจอตา จอตาหรือม่านตาฉีกขาด แก้วตาเคลื่อน แผลกระจกตา เป็นต้น

ในรายที่เกิดจากถูกมีดหรือของมีคมแทงหรือเกิดจากแรงระเบิดจากถังแก๊ส หรือขวดน้ำอัดลม อาจทำให้กระจกตาหรือตาขาวทะลุและมีของเหลวไหลออกจากลูกตาได้ หรืออาจมีเนื้อเยื่อภายในลูกตาออกมาจุกที่แผลได้ถ้าเป็นมากๆ หรืออาจเป็นต้อหิน ต้อกระจก ตามมาได้หากได้รับการกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง

การรักษา
1. ถ้าสงสัยว่ากระจกตาหรือตาขาวทะลุเมื่อพบมีของเหลวไหลออกจากลูกตา ก่อนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควรใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดปิดตาเสียก่อน

แพทย์มักจะให้การรักษาตามลักษณะและความรุนแรงของบาดแผล อาจทำการเย็บซ่อมแซมถ้ารูไม่ใหญ่และยังไม่มีการติดเชื้อ หรืออาจซ่อมแซมดวงตาและติดตามผลอย่างต่อเนื่องหากลักษณะบาดแผลยังมีทางแก้ไขให้สามารถมองเห็นได้ และอาจจำเป็นต้องผ่าตัดควักลูกตาออกถ้าเห็นว่าดวงตามีความเสียหายรุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขให้มองเห็นได้ หรืออาจให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เพร็ดนิโซโลน ให้กินในขนาดที่สูงเพื่อป้องกันการอักเสบของผนังลูกตาชั้นกลางของตาข้างที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ หากมีการอักเสบขึ้นอาจทำให้สูญเสียตาทั้งสองข้างได้ ซึ่งเรียกว่า ตาอักเสบรุนแรงแบบเป็นร่วม

2. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ถ้าหลังจากได้รับบาดเจ็บผู้ป่วยมีอาการปวดตารุนแรงหรือตามืดมัวลงทันที และควรให้ยาป้ายตาปฏิชีวนะ เช่น โทบราไมซิน ถ้าสงสัยว่ามีแผลกระจกตา และก่อนส่งโรงพยาบาลควรใช้ผ้าก๊อซปิดตาเสียก่อน

3. ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว เมื่อใช้ไฟส่องจะเห็นมีลักษณะขุ่นของบริเวณหลังกระจกตา หรือมีตะกอนเม็ดเลือดแดงลอยอยู่ในน้ำเลี้ยงลูกตาในช่องลูกตาหน้าในรายที่มีเลือดออกในช่องลูกตาหน้า ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นทันทีหรืออีก 2-5 วันหลังจากได้รับแรงกระแทกก็ได้ มักเรียกอาการนี้ว่า “hyphema”

ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนหากไม่แน่ใจหรือสงสัย ควรให้นอนพักที่โรงพยาบาลนาน 6-7 วัน ถ้ามีเลือดออกมากและทำการปิดตาเพื่อรอให้เลือดค่อยๆ ดูดซึมออกไป

ควรให้อะเซตาโซลาไมด์ เพื่อลดความดันลูกตาไม่ให้กลายเป็นต้อหินในรายที่มีอาการปวดตามากหรือความดันลูกตาสูง หรืออาจต้องผ่าตัดถ้าจำเป็น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจเกิดเป็นต้อหินตามมาได้เช่นกัน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า