สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ตาปลา(Corn) หนังหนาด้าน(Callus)

เนื่องจากแรงกดหรือแรงเสียดสีนานๆ บริเวณผิวหนังจนทำให้เกิดความด้านหนาขึ้น ที่บริเวณปมกระดูกนูน และบริเวณฝ่าเท้านิ้วเท้ามักเกิดภาวะนี้ขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยในคนทั่วไป แต่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใดตาปลา

สาเหตุ
การใส่รองเท้าที่คับแน่นหรือหลวมไม่เหมาะกับเท้า การลงน้ำหนักการเดินที่ไม่เหมาะสม หรือการใส่รองเท้าส้นสูงทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้าหรือนิ้วเท้านานๆ จึงเกิดการสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็งๆ ขึ้นมารองรับจุดนั้นแทนเนื้อธรรมดา เหล่านี้มักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลาและหนังด้านได้บ่อย

มีความเสี่ยงต่อการเกิดตาปลาที่นิ้วเท้าได้มากกว่าคนปกติในผู้ที่มีนิ้วเท้างุ้ม หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดหนังหนาด้านได้สูงในผู้ที่มีโครงสร้างของเท้าผิดปกติ เช่น ฝ่าเท้าแบน เป็นต้น

อาการ
ตาปลา มักพบผู้ป่วยมีอาการของผิวหนังที่ด้านหนาและเป็นไตแข็ง อาจพบว่าผิวหนังโดยรอบมีการอักเสบในบางครั้ง มักเกิดขึ้นที่บริเวณด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้าโดยเฉพาะที่นิ้วก้อยและนิ้วหัวแม่เท้า

หนังหนาด้าน ผิวหนังของผู้ป่วยจะหนาและด้านกว่าปกติ มีขนาดใหญ่กว่าตาปลา อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 นิ้ว มักพบเป็นได้ที่บริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้าส่วนที่เชื่อมต่อกับนิ้วเท้า ซึ่งบางครั้งอาจเกิดตาปลาเป็นไตแข็งๆ อยู่ตรงกลาง ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการปวดหรือคัน แต่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดได้โดยเฉพาะเมื่อใส่รองเท้าในขณะที่ตาปลามีขนาดใหญ่ขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน
ตาปลาอาจเกิดการอักเสบเป็นแผลและติดเชื้อได้ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รักษา และอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงและเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน

การรักษา
1. เพื่อลดแรงเสียดสี จึงควรเปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดีไม่คับหรือบีบแน่นเกินไปและใช้ฟองน้ำรองส่วนที่เป็นตาปลาหรือหนังหนาด้านไว้เวลาใส่รองเท้า ในรายที่เป็นไม่มากภายในเวลาหลายสัปดาห์มักจะค่อยๆ หายไปได้เอง

2. ใช้ปลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิกชนิด 40% ปิดส่วนที่เป็นรอยโรค แล้วค่อยๆ ลอกตาปลาออกไป หรือใช้ยากัดตาปลาหรือหูด ซึ่งมีกรดซาลิไซลิกผสมอยู่ มีชื่อทางการค้า เช่น คอนคอน ดูโอฟิล์ม เวอร์รูมาล เป็นต้น โดยให้แช่รอยโรคด้วยน้ำอุ่นจัดๆ ในอ่างก่อนทายา หรือใช้ขวดยาน้ำของเด็กใส่น้ำอุ่นจัดๆ แล้วคว่ำลงไปที่รอยโรค นาน 20 นาที แล้วใช้ตะไบเล็บหรือผ้าขนหนูขัดบริเวณรอยโรค จะช่วยทำให้ผิวหนังที่เป็นขุยๆ หลุดออกไปแล้วจึงทายา ให้ทำวันละ 1-2 ครั้ง และควรระวังไม่ให้น้ำยาถูกผิวหนังปกติเมื่อทายา

3. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลถ้ารอยโรคมีขนาดใหญ่ มีอาการเจ็บปวดมาก ติดเชื้อรุนแรง หรือพบในผู้ที่เป็นนิ้วเท้างุ้ม หรือเป็นเบาหวาน ซึ่งแพทย์มักจะให้การรักษาภาวะที่พบร่วมด้วย เช่น แก้ไขอาการนิ้วเท้างุ้ม และควบคุมโรคเบาหวาน เป็นต้น หรืออาจใช้ใบมีดผ่าตัดผ่านผิวเนื้อรอยโรคที่ตายแล้วออกทีละน้อยในรายที่มีรอยโรคขนาดใหญ่และหนา หรือแพทย์อาจต้องใช้อุปกรณ์หรือรองเท้าที่ทำขึ้นโดยเฉพาะในการช่วยรักษา หรือผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของเท้า นิ้วเท้า หรือกระดูกเท้าที่ผิดปกติในผู้ป่วยบางราย

4. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน ในรายที่มีการติดเชื้อ

ข้อแนะนำ
1. ควรแก้ไขที่สาเหตุ เช่น ลดแรงเสียดสีโดยเลือกใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า

2. ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดหรือจี้ด้วยไฟฟ้าถ้าไม่จำเป็น เพราะจะทำให้เป็นแผลเป็นและรู้สึกเจ็บทุกครั้งที่ลงน้ำหนัก โดยเฉพาะถ้าเป็นบริเวณส้นเท้า

3. ไม่ควรใช้มีดหรือของมีคมฝานออกเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้จากการกลายเป็นแผลอักเสบและบวม โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน

4. ตาปลาจะมีลักษณะคล้ายหูดที่เท้า แต่เมื่อใช้มีดฝานหูดจะมีเลือดไหลซิบๆ แต่ตาปลาจะไม่มี

5. ที่ฝ่ามือหรือหัวเข่าบริเวณที่มีแรงเสียดสีมักพบว่ามีหนังหนาด้านเกิดขึ้น เช่น การใช้มือจับอุปกรณ์ จอบ เสียม มีด กรรไกร เพื่อทำงานและเกิดแรงเสียดทานเกิดขึ้นที่บริเวณนั้นเป็นประจำ

การป้องกัน
ควรใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ และใช้ฟองน้ำบุหรือรองส่วนที่เกิดแรงกดหรือเสียดสี เพื่อลดแรงกดและแรงเสียดสีของเท้าและนิ้วเท้า

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า