สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ซาร์ส(SARS)

เป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ พบเคยระบาดมากในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา เวียดนาม และสิงคโปร์ โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย และในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีภูมิต้านทานโรคต่ำพบว่าโรคมักมีความรุนแรง

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูลไวรัสโคโรนา(coronaviruses) ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน สายพันธุ์ที่พบในคนมักเป็นต้นเหตุของการเกิดไข้หวัดที่ไม่รุนแรง ส่วนสายพันธุ์ที่พบในสัตว์อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ตับ ลำไส้ของสัตว์เหล่านั้นได้

เชื่อว่าเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้แพร่มาจากสัตว์ป่าบางชนิด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อเชื้อนี้ว่า ไวรัสโคโรนาสัมพันธ์กับซาร์ส (SARS-associated corona-virus/SARS-CoV) เรียกสั้นๆ ว่า ไวรัสซาร์ส พบเชื้อชนิดนี้ได้ครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน แล้วมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก

การแพร่เชื้อ สันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสซาร์สแพร่กระจายทางละอองเสมหะขนาดใหญ่แบบเดียวกับไข้หวัด เพราะมักมีการติดเชื้อจากการแพร่กระจายในหมู่คนที่อยู่สัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น แพทย์ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย สมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในบ้านหรือห้องเดียวกับผู้ป่วย หรืออยู่ในที่คับแคบ เช่น ลิฟต์ เป็นต้น อาจจะติดต่อกันโดยวิธีการไอหรือจามรดใส่กันตรงๆ ในระยะไม่เกิน 3 ฟุต หรือโดยสัมผัสมือหรือสิ่งปนเปื้อนละอองเสมหะของผู้ป่วยจากสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจเมื่อเผลอเอานิ้วหรือมือที่เปื้อนเชื้อนั้นเช็ดตา เช็ดจมูก แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแพร่เชื้อทางอากาศและทางอาหารและน้ำดื่ม แต่ก็ยังไม่สามารถตัดออกไปได้

ระยะแพร่เชื้อ ตั้งแต่เริ่มมีอาการเป็นไข้ในวันแรกผู้ป่วยก็สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้แล้ว และ 4 วันหลังจากเป็นไข้มีการแพร่เชื้อได้มากยิ่งขึ้น ส่วนระยะก่อนและหลังมีอาการนานกี่วันที่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นยังไม่ทราบได้แน่ชัด ผู้ป่วยจึงควรแยกตัวจากผู้อื่นนาน 10 วันหลังจากหายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว เพื่อความปลอดภัย

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-10 วัน หรืออาจนานถึง 10-14 วันในบางราย

จะต้องรอดูอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ เช่น เดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เมื่อเฝ้าระวังครบตามกำหนดแล้วพบว่าเป็นปกติดี ก็ถือได้ว่าไม่มีการติดเชื้อ

อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวมาก เบื่ออาหาร คล้ายไข้หวัดใหญ่ในระยะเริ่มแรก หรืออาจมีอาการท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอหรือเจ็บหน้าอกร่วมด้วยในบางราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการจาม หรือมีน้ำมูกแบบไข้หวัด

ผู้ป่วยมักจะมีอาการไอแห้งๆ หลังจากมีไข้ได้ 2-7 วัน หรืออาจจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจหอบ หายใจลำบากตามมาได้ถ้าเป็นรุนแรงถึงขั้นเป็นปอดอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นภายในสัปดาห์ที่ 2 ของการเจ็บป่วย และอาการปอดอักเสบมักจะค่อยๆ หายไปอย่างช้าๆ ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของโรค

ผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ประมาณ 4-7 วันแล้วหายไปเองคล้ายอาการไข้ธรรมดาในผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยจนอาจทำให้ไม่นึกถึงโรคนี้ก็ได้

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส แต่อาจไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ ได้ชัดเจน หรืออาจพบอาการหายใจหอบได้ในรายที่เป็นแบบรุนแรง หรือเมื่อใช้เครื่องตรวจฟังปอดจะได้ยินเสียงที่ผิดปกติได้ชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ คือ กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจเนื่องจากภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วหากพบว่ามีไข้และมีประวัติเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ภายใน 10 วัน หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ ซึ่งแพทย์มักจะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด น้ำลายหรือเสมหะด้วยวิธีต่างๆ เช่น reverse transcriptase-polymerase chain reaction, microneutralization test เป็นต้น เพื่อตรวจหาร่องรอยของไวรัสซาร์ส หรืออาจตรวจพิเศษอื่นๆ ด้วยการตรวจเลือดและพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ เอนไซม์ตับสูงกว่าปกติ 2-6 เท่า หรือ creatine phosphokinase สูงกว่าปกติ และอาจพบร่องรอยของปอดอักเสบจากการเอกซเรย์ปอด

หากตรวจพบว่าเป็นโรคแพทย์มักจะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาลและแยกตัวไม่ให้มีการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

แพทย์มักให้การรักษาไปตามอาการและสาเหตุที่พบเนื่องจากยังไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะในโรคนี้ เช่น อาจใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะพ้นขีดอันตรายถ้ามีอาการหายใจลำบาก

ได้มีการทดลองให้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาสตีรอยด์ หรือบางรายอาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมอาการปอดอักเสบ ในประเทศที่มีการระบาดของโรค แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของการรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้

ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง และภายใน 2-3 สัปดาห์มักจะหายเป็นปกติได้ ที่พบว่ามีอาการหนักจนถึงขั้นหายใจลำบากมักพบได้เป็นส่วนน้อย ซึ่งกลุ่มนี้แพทย์มักรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ และมักพบได้น้อยมากที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งถ้าเกิดขึ้นมักเป็นในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หัวใจ โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่นๆ

2. ควรเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 10 วัน ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหรือมีการเดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรวัดไข้ทุกวัน และรีบปรึกษาแพทย์ถ้าพบว่ามีไข้เกิดขึ้น

3. แพทย์และพยาบาลควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดในการดูแลผู้ป่วยซาร์สเพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เช่น ควรสวมถุงมือ ใส่เสื้อกาวน์ ใส่แว่นตาป้องกันการติดเชื้อ หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ เป็นต้น

การป้องกัน
1. ควรออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดแอลกอฮอล์และบุหรี่ ไม่ควรกินยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสารสตีรอยด์ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

2. ไม่ควรเดินทางไปยังประเทศหรือที่ที่มีการระบาดของโรค หรือควรสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือในที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่เพื่อชำระล้างเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับมือโดยไม่รู้ตัว หลีกเลี่ยงการใช้มือขยี้ตา แคะจมูกหรือนำนิ้วมือเข้าปาก ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และไม่ควรใช้ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น ในกรณีที่จำเป็นต้องไปในที่ที่มีการระบาดของโรค

3. ถ้ามีคนในบ้านมีอาการไข้ที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดควรรีบพาไปโรงพยาบาล หลีกเลี่ยงการจับมือกับผู้ป่วย หรือควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย นอนแยกห้องกับผู้ป่วย เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทำความสะอาดบ้าน เครื่องเรือน เครื่องใช้ วันละครั้งเป็นอย่างน้อยด้วยผ้าชุบน้ำสบู่หรือผงซักฟอกในกรณีที่จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า