สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ชีวิตในปัจจุบันของนักจิตบำบัด

นักจิตบำบัดที่ดีนั้น ต้องคิดอยู่เสมอว่า ตนเองเป็น “มนุษย์ธรรมดา” การที่สามารถทำจิตบำบัดได้นั้น ก็เพราะว่า ได้เล่าเรียนมาอย่างถูกต้องเท่านั้น ซึ่งก็เหมือนกับ นักวิชาการสาขาอื่นๆ

ในการรักษาผู้ป่วยนั้น ความปรารถนาจาก Id ของนักจิตบำบัดเอง ซึ่งส่วนมากได้แก่ความต้องการทางเพศ และการก้าวร้าวรุกราน ย่อมจะมีอิทธิพลต่อการรักษาด้วย นอกจากนี้ตำแหน่งหน้าที่ ฐานะทางการเงินและสังคม ตลอดจนชื่อเสียงของนักจิตบำบัดเอง ก็ควรจะได้รับการพิจารณาทบทวนบ่อยๆ

นักจิตบำบัดแต่ละคน มีบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน แต่ก็มีปัจจัยบางประการ ที่นักจิตบำบัดทั้งหลาย ได้ประสบในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

นักจิตวิเคราะห์ผู้มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง ชื่อ Fenichel กล่าวว่า การที่ผู้ป่วยมีความปรารถนาอยากหายจากโรคแบบ Magical Thinking นั้น ตัวนักจิตบำบัดเอง ก็มีความปรารถนาที่จะเป็น Magician เสียเอง ! ซึ่งความรู้สึกอันนี้ มักจะอยู่ในระดับจิต “ไร้สำนึก” ถ้าพิจารณาเรื่องนี้ดีด้วยความเป็นธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องธรรมดา ผู้เขียนเอง เมื่อ สมัยเรียนจบใหม่ๆ และเป็นแพทย์ฝึกหัดนั้น ก็มีหลายครั้งที่รักษาคนไข้หายแล้ว ก็อดนึกกระหยิ่มอยู่ในใจไม่ได้

แต่ว่า การเป็นนักจิตบำบัดนั้น ต่างกับการเป็นแพทย์ฝ่ายกาย เพราะว่า ถ้า “หลง” ตนเองมากเท่าใด ผลการรักษาจะย่อมเสียหายเพิ่มขึ้นเท่านั้น อย่าลืมว่า นักจิตบำบัด ไม่ใช่พระเจ้า สำนวนภาษาอังกฤษใช้คำว่า A Psychotherapist is really not God, nor even a close relative of His.

นักจิตบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หัดใหม่นั้น มักจะมีความมานะ อุตสาหะสูง ต้องการให้ผู้ป่วยหายเร็วทันใจนึก เมื่อผลของการรักษา ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด “ฝัน” ไว้ ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Countertransference ในลักษนะต่างๆ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งต่อการรักษา

นักจิตบำบัดหัดใหม่ส่วนมาก มักจะสามารถรู้อารมณ์ทางเพศของตนเอง และบางรายก็รู้ตัวว่าโกรธคนไข้ แต่สิ่งที่ยากยิ่งสำหรับนักจิตบำบัดหัดใหม่ ก็คือ ไม่ทราบ Narcissistic Need ของตนเอง ทั้งนี้ เนื่องมาจากว่า กว่าจะเป็นนักจิตบำบัดได้นั้น ต้องมีความรู้สูง เวลาการฝึกอบรมก็นานมาก รวมทั้งยังเป็นผู้ที่สังคม หรือคนทั่วไปยกย่องและให้เกียรติด้วย จึงเป็นการยากที่นักจิตบำบัดหัดใหม่เหล่านี้ จะยอมรับว่าตนเองก็มี “จุดอ่อน” อาจทำผิดพลาดได้ และอาจจะล้มเหลวก็ได้

ขอเรียนให้ทราบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาชนิดนี้ มีความสามารถที่จะจับ “จุดอ่อน” ของนักจิตบำบัดได้เก่งกว่าที่นักจิตบำบัดหัดใหม่จะเคยคาดคะเนไว้มาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยหลายรายอาจจะท้าทาย ปะทะคารม ลองภูมิ ทดสอบความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถของนักจิตบำบัดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนไข้เห็นว่านักจิตบำบัดมีอายุน้อยกว่าตน

เมื่อนักจิตบำบัดถูกท้าทาย ลองภูมิ ลองดี อย่างหนักแล้ว จะทำให้นักจิตบำบัด รู้สึกเสียหน้า อันตรายที่จะเกิดตามมาก็คือ นักจิกบำบัดจะใช้วิธีการที่เรียกว่า Overcompensa¬tion คือ พยายามแสดงให้คนไข้เห็นว่า ตนเองนั้นเก่งกาจเพียงใด และสิ่งที่พบบ่อยก็คือ การใช้ Over Interpretation ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง นอกจากนี้ นักจิตบำบัดหัดใหม่บางคน ยังพยายามโอ้อวด และ “วางโต” ทำเสมือนหนึ่งว่า เป็นผู้รู้ทุกอย่าง และไม่เคยทำอะไรผิด ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่า ไม่มีผู้ใด “perfect” แม้แต่นักจิตวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์มากแล้ว ก็ยังคงทำ “ผิด” ได้เป็นบางครั้ง เพราะฉะนั้น เรื่อง “ความหลงตัวเอง” นี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง และควรพิจารณาบ่อยๆ ข้อสำคัญ คือ ถ้ารู้ตัวว่า เมื่อใดความหลงตัวเองนี้กำลังจะแสดงออกกับคนไข้ และเมื่อใดเราได้ทำผิดพลาดในการรักษาแล้วนำมาคิดพิจารณาบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ก็จะสามารถเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้ามีความพยายาม และความสนใจจริงจัง อยากขอเรียนเตือนไว้อีกครั้งหนึ่งว่า อย่าเอา “ค่านิยม” ของนักจิตบำบัดเอง ไป “ยัดเยียด” ให้คนไข้ เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการทำจิตบำบัดชั้นสูง

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า