สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ชักจากไข้(Febrile seizure/Febrile convulsion)

เป็นโรคติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งไม่รวมการติดเชื้อของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้มีอาการชักเกิดขึ้นในขณะมีไข้ พบเป็นมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กที่มีอาการชักมักมีประวัติการชักของคนในครอบครัวหรือด้วยทางกรรมพันธุ์มาก่อนชักจากไข้

อาการชักจากไข้แบ่งได้ 2 ชนิด คือ ชักจากไข้ชนิดสามัญ และชักจากไข้ชนิดซับซ้อน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่มักจะเป็นชนิดสามัญ ส่วนใหญ่จะชักเพียงครั้งเดียว

สาเหตุ
เด็กระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี พบอาการชักจากไข้ได้มากกว่าวัยอื่น เนื่องจากสมองที่กำลังเจริญเติบโตมีความไวต่อการกระตุ้นจากไข้ ไข้ที่สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียสจึงทำให้เกิดอาการชักได้ อาการไข้สูงมักเกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด หัด ไข้ผื่นกุหลาบในทารก ท้องเดินจากไวรัส หรืออาจเกิดจาก บิดชิเกลลา ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ปอดอักเสบ เป็นต้น

อาการ
มีไข้ร่วมกับอาการของโรคสาเหตุ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเดิน เป็นบิด ในเวลาต่อมาจะมีอาการชักทั้งตัว ตาค้าง กัดฟัน กัดลิ้น เป็นอยู่นาน 2-3 นาที แต่ไม่เกิน 5-15 นาที จะชักเพียงครั้งเดียวและไม่ชักซ้ำอีก

อาการทั่วไปเป็นปกติดี ไม่ซึม ไม่มีอาการอ่อนแรงของแขนและขา

อาการชักถ้านานเกิน 15 นาที หรือชักเกิน 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง หรือชักเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือมีความผิดปกติของสมองร่วมด้วยอาจเป็นอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน

สิ่งตรวจพบ
มักพบมีไข้สูงและมีอาการของโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย ขณะมาพบแพทย์เด็กอาจหายชักแล้ว หรืออาจมีอาการชักซ้ำให้เห็นในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาการชักจากไข้ชนิดสามัญ เป็นอาการที่พบเป็นส่วนใหญ่ เป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ไม่มีผลกระทบต่อสมอง เชาว์ปัญญาและพัฒนาการของเด็ก แม้จะชักมากกว่า 1 ครั้งก็ตาม

เด็กที่มีอาการชักจากไข้มักมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่อไปนี้ เช่น การเป็นโรคลมชักเมื่อโตขึ้นโดยเฉพาะถ้ามีอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน มีประวัติโรคลมชักของคนในครอบครัว มีอาการผิดปกติทางสมอง พัฒนาการช้า หรือหลังมีไข้ 1 ชั่วโมงแล้วเกิดอาการชัก

การรักษา
1. ให้ถอดเสื้อผ้าเด็กที่มีอาการชักออกใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดโปะทั้งตัว ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดโปะใหม่ทุก 2 นาที หากชักนานเกิน 15 นาที ให้ไดอะซีแพมฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือเหน็บทวารหนัก ถ้ายังไม่หยุดชัก แล้วมีอาการซึมไม่ค่อยรู้สึกตัว หรืออาเจียนมาก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล อาจต้องเจาะหลังตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมในรายที่สงสัยว่าจะเป็นโรคติดเชื้อทางสมอง

2. ควรค้นหาสาเหตุของอาการไข้ถ้าเด็กหยุดชักแล้ว และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบร่วมด้วย โดยเฉพาะถ้าเด็กชักเป็นครั้งแรก เด็กมีอายุต่ำกว่า 6 เดือน หรือมากกว่า 5 ปี หรือมีอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อนควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจมีสาเหตุจากโรคทางสมองก็เป็นได้ แพทย์อาจทำการเจาะหลังในเด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือน หรือเคยรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมาก่อนสำหรับอาการชักจากไข้ครั้งแรก เพราะเด็กกลุ่มนี้อาจเป็นโรคติดเชื้อทางสมองที่แสดงอาการไม่ชัดเจน

ข้อแนะนำ
1. อาการชักจากไข้มักไม่มีอันตราย และชักเพียงช่วงสั้นๆ ครั้งเดียว อาจมีชักซ้ำ 1-2 ครั้งในบางราย เมื่ออายุเลย 5 ปี มักไม่มีอาการชักจากไข้ให้เห็น ควรลดความกังวลของพ่อแม่เด็ก ด้วยการอธิบายให้เข้าใจถึงธรรมชาติของโรคนี้

2. เด็กที่ชักซ้ำเมื่อมีไข้อาจเกิดจากลักษณะข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
-ชักครั้งแรกตอนอายุต่ำกว่า 18 เดือน

-มีความเสี่ยงต่อการชักซ้ำสูงหากมีไข้ก่อนชักในระยะเวลาสั้นๆ
-มีอาการชักจากไข้ หรือประวัติโรคลมชักในครอบครัวมาก่อน
-มีความเสี่ยงต่อการชักซ้ำสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ถ้ามีอาการชักขณะที่มีไข้สูงมากๆ

3. ขณะที่เด็กมีอาการชักจากไข้พ่อแม่ควรรู้จักวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

การปฐมพยาบาลเด็กที่มีอาการชักจากไข้
พ่อแม่ไม่ควรตกใจจนเกินเหตุ และควรปฐมพยาบาลดังนี้
-จับเด็กนอนหงายในท่าตะแคงศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือให้เด็กนอนตะแคง ให้เชยคางขึ้นเล็กน้อย ให้นอนบนพื้นที่โล่งและปลอดภัย ระวังอย่าให้พลัดตกหรือกระแทกสิ่งกีดขวาง
-หากมีน้ำลาย เสมหะ เศษอาหารบริเวณปากหรือใบหน้า ควรเช็ดออกให้หมดเพื่อป้องกันการสำลัก
-ถอดหรือปลดเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
-สังเกตลักษณะและระยะเวลาของการชักอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบในภายหลัง
-ถ้ามียาเหน็บแก้ชักให้รีบทำการเหน็บทวารเด็กตามคำแนะนำของแพทย์
-อย่าผูกหรือมัด หรือใช้แรงฝืนจำกัดการเคลื่อนไหวของเด็ก
-อย่าใช้ไม้ ช้อน ปากกา ดินสอ ใส่ปากเด็ก เพราะปากและฟันอาจได้รับบาดเจ็บได้
-ระหว่างชัก หรือหลังชักใหม่ไม่ควรให้เด็กกินอะไร เพราะอาจทำให้สำลักได้
-ถ้าเด็กมีอาการชักนานเกิน 5 นาที ชักครั้งแรกแม้เพียงช่วงสั้นๆ หรือมีอาการอาเจียน ซึม หรือหายใจลำบากควรนำเด็กส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที

การป้องกัน
เด็กบางรายอาจเกิดอาการชักซ้ำได้อีกเมื่อมีไข้ แม้จะเคยชักมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการชักซ้ำได้ดังนี้

-ควรให้ยาลดไข้พาราเซตามอลทันทีเมื่อเด็กเริ่มมีไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเด็กบ่อยๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหรือห่มผ้าหนาๆ
-ให้กินยากันชักตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะเด็กบางรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีความผิดปกติของสมองหรือโรคลมชักร่วมด้วย โดยให้กินต่อเนื่องทุกวันนานเป็นแรมปีหรือหลายปี ยาที่ใช้ เช่น ฟีโนบาร์บิทาล โซเดียมวาลโพรเอต เป็นต้น

แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยากันชักโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอาการชักจากไข้ชนิดสามัญที่ไม่มีความรุนแรง เนื่องจากอาจมีโทษต่อเด็กมากกว่าอันตรายจากตัวโรคเองจากผลข้างเคียงของยากันชักทุกชนิด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า