สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จุดภาพชัดเสื่อมตามวัย(Age-related macular degeneration)

ตรงกลางของจอตามีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสีจำนวนมากทำให้เห็นภาพได้คมชัด เรียกว่า จุดภาพชัด อาจทำให้เกิดสายตาพิการอย่างถาวรได้ในผู้สูงอายุบางคนที่มีภาวะเสื่อมของจุดภาพชัดจุดภาพชัดเสื่อม

พบโรคนี้ได้ในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่พบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 65 ปี โรคนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดแห้ง และชนิดเปียก

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ แต่มักพบในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้นในผู้ที่สูบบุหรี่

-จุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้ง พบว่าเซลล์ประสาทมีการฝ่อตัวหายไปโดยไม่มีรอยแผลเป็นหรือเลือดออก มักเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่

-จุดภาพชัดเสื่อมชนิดเปียก พบว่ามีหลอดเลือดในผนังลูกตาชั้นกลาง บริเวณใต้จุดภาพชัดผิดปกติ มักเกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรง ต่อมาหลอดเลือดเหล่านั้นจะเกิดการรั่วซึมของเลือดหรือสารน้ำจนทำให้เกิดเซลล์ประสาทจอตาเสื่อมขึ้น

ส่วนใหญ่มักมีจุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้งนำมาก่อนในผู้ป่วยที่เป็นจุดภาพชัดเสื่อมชนิดเปียก

อาการ
จุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้ง ผู้ป่วยมักจะมีอาการสายตาผิดปกติหรือตามัวค่อยๆ มากขึ้นอย่างช้าๆ มักสังเกตได้ว่าเมื่อมองใกล้ๆ ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้น เช่น เมื่ออ่านหนังสือหรือทำงานที่ประณีต เมื่ออยู่ในที่สลัวสายตาจะไม่ดี มองเห็นสีได้ไม่ชัดเจน อ่านตัวหนังสือได้ไม่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จำหน้าคนไม่ได้ สายตาพร่ามัวมากขึ้น มีลักษณะพร่ามัวหรือเป็นจุดบอดบริเวณกลางลานสายตา เป็นต้น

จุดภาพชัดเสื่อมชนิดเปียก มีอาการมองเห็นภาพผิดปกติตรงกลางของลานสายตามีลักษณะพร่ามัวหรือเป็นจุดบอด มักเกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรงขึ้นรวดเร็ว เช่น มองเห็นเส้นตรงเป็นคลื่น หรือเป็นเส้นคด มองเห็นป้ายสัญญาณจราจรผิดเพี้ยนไป มองเห็นวัตถุมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ หรืออยู่ห่างกว่าปกติ

ผู้ป่วยอาจไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติเพราะอาการเหล่านี้มักเป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อนและตาอีกข้างยังดีอยู่ และจะเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนเมื่อเป็นทั้งสองข้าง

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบสิ่งผิดปกติจากการตรวจดูภายนอกลูกตา แต่เมื่อตรวจวัดสายตามักพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น หรืออาจพบสายตาลดลงได้ถึง 20/200 หรือลดลงมากกว่านี้ในรายที่เป็นรุนแรง

การรักษา
ควรปรึกษาจักษุแพทย์หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค แพทย์มักจะใช้เครื่องส่องตรวจตา ถ่ายภาพรังสีจอตาด้วยการฉีดสี เพื่อวินิจฉัยโรค

ไม่มีการรักษาโดยเฉพาะถ้าเป็นจุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้งแบบเล็กน้อยหรือรุนแรง ถ้าเป็นแบบปานกลางแพทย์จะชะลออาการด้วยการให้สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี บีตาแคโรทีน สังกะสี ทองแดง เป็นต้น

ถ้าเป็นจุดภาพชัดเสื่อมชนิดเปียก เพื่อทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติไม่ให้มีอาการลุกลามมากขึ้น แพทย์อาจให้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น thermal laser, photodynamic therapy, transpupillary thermotherapy

การรักษามักจะได้ผลดีถ้าเป็นโรคในระยะเริ่มแรก แต่ก็อาจยากที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ถ้าเซลล์ประสาทบริเวณจุดภาพชัดเสื่อมทั้งหมดแล้ว ซึ่งผลการรักษามักขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค

อาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น แว่นขยาย แว่นตาอ่านหนังสือ กล้องส่องทางไกล เป็นต้น ในรายที่สายตาพิการมากแล้ว

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้จะไม่กระทบต่อลานสายตาส่วนรอบนอกแต่จะทำให้มีความผิดปกติของการมองเห็นตรงส่วนกลางของลานสายตา อาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการเดินทาง เช่น ทำให้เกิดปัญหาในการอ่านหนังสือ การทำงานที่ประณีต การขับรถ การจำหน้าคน เป็นต้น จึงควรมีคนคอยดูแลและใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง

2. อาการผิดปกติมักจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ อาจป้องกันไม่ให้โรครุนแรงขึ้นได้หากให้การรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรไปตรวจสุขภาพตาเป็นระยะๆ เช่น ในผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี มีประวัติการสูบบุหรี่ มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น และผู้ป่วยสามารถตรวจกรองโรคนี้เองได้ที่บ้านด้วยแผ่นภาพแอมสเลอร์(Amsler’s chart)

3. ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคให้แน่ชัดในรายที่มีสายตาผิดปกติ เช่น ตาพร่ามัว มองเห็นสีได้ไม่ชัด มองเห็นเส้นตรงเป็นคลื่นหรือเส้นคด เป็นต้น

การป้องกัน
อาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรค เช่น อายุ หรือกรรมพันธุ์ แม้สาเหตุของโรคนี้จะยังไม่ทราบแน่ชัดก็ตาม แต่ก็มีปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงหรือชะลอความรุนแรงของโรคได้ ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
-กินอาการที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักและผลไม้ เมล็ดธัญพืช และกินปลาเป็นประจำ
-ไม่สูบบุหรี่
-ควรรักษาอย่างจริงจังจนสามารถควบคุมโรคได้ถ้าเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
-ควรลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารในรายที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า