สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ธรรมชาติและประโยชน์ของจิตวิทยาพัฒนาการ

ธรรมชาติของจิตวิทยาพัฒนาการ

ลักษณะทั่วไป
วิชาจิตวิทยามีขอบข่ายกว้างขวางก้าวล้ำไปในแดนวิชาการต่างๆ ทั้งฝ่ายศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เช่น ปรัชญา ศาสนา ประสาทวิทยา แพทยศาสตร์ การศึกษา การอุตสาหกรรม รัฐศาสตร์การปกครอง การบริหาร ฯลฯ ทั้งนี้เพราะวิชาจิตวิทยามีความมุ่งหมายจะศึกษาเพื่อเข้าใจ เพื่อทำนาย เพื่อควบคุมและเพื่อจัดการกับความประพฤติของ ”มนุษย์” อย่างเป็นเอกัตบุคคล และอย่างรวมกลุ่ม

ด้วยเหตุที่จิตวิทยามีขอบข่ายกว้างขวาง ศาสตร์สายนี้จึงแยกย่อยออกไปอีกเป็นหลายสาขา เพื่อศึกษามนุษย์อย่างเฉพาะเจาะจงในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อาทิเช่น จิตวิทยาคลีนิค จิตวิทยาอุตสาหกรรม จิตวิทยาบุคลิกภาพ จิตวิทยาการเรียนรู้     จิตวิทยาการทดลอง  จิตวิทยาการศึกษา  จิตวิทยาการให้คำปรึกษา จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาการเมือง ประสาทจิตวิทยา (Neuropsychology) เภสัชจิตวิทยา (Pharmacopsychology) จิตวิทยาพัฒนาการและอื่นๆ

บทความนี้มุ่งหมายจะเสนอสาระเนื้อหาของศาสตร์สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ    ทิศทางของจิตวิทยาสาขานี้คือ ศึกษาธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ตลอดชีวิต ตั้งแต่แรกปฏิสนธิจวบจนสิ้นอายุขัย

พฤติกรรมด้านต่างๆ ที่นำมาศึกษา ครอบคลุมพฤติกรรมที่เห็นได้ง่ายชัดเจน เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก รูปร่าง หน้าตา การเดิน การพูด และที่เห็นได้ยาก เช่น การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย (ต่อมฮอร์โมน) ค่านิยม ความสนใจ อุดมคติ ความคิดสติปัญญา โดยสรุปก็คือ ศึกษาพฤติกรรม 4 ด้านของมนุษย์อย่างเป็นเอกัตบุคคล ได้แก่ กาย อารมณ์ สังคม ความคิดสติปัญญา เนื่องจากการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ทั้ง 4 ด้านตลอดชีวิตนี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยเป็นอันมาก จิตวิทยาสาขานี้ ก้าวล้ำเข้าไปในศาสตร์หลายศาสตร์ เช่น สรีรวิทยา แพทยศาสตร์ สังคมศาสตร์ โภชนาการ ศิลปะ การศึกษา ปรัชญา ศาสนา จึงกล่าวได้ว่า ธรรมชาติของศาสตร์ สาขาจิตวิทยาพัฒนาการนี้ไม่จำกัดพรมแดนแต่เป็นศาสตร์ผสมผสานความรู้เกี่ยวกับมนุษย์จากศาสตร์ต่าง ๆ มากบ้างน้อยบ้าง โดยใช้ “วัยต่างๆ” ของมนุษย์เป็นจุดยืน เพื่ออธิบายพัฒนาการ และพฤติกรรมตามวัยในด้านต่างๆ ดังนั้นผู้ที่ต้องการศึกษาส่วนของศาสตร์ที่จิตวิทยาสาขานี้ ก้าวล้ำเข้าไปให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงต้องแสวงหาความรู้จากศาสตร์สาขานั้นๆ โดยตรง จุดเด่นของศาสตร์นี้ ประการหนึ่ง คือ การผสมผสานศาสตร์สาขาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์อย่างเป็น หน่วยรวมและมีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน ทำให้การวินิจฉัย การเข้าใจ การควบคุมและทำนาย พฤติกรรมของมนุษย์แต่ละวัยตลอดชีวิต มีมุมมองที่กว้างขวาง เกิดความรอบคอบถี่ถ้วนและถูกต้องยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ศึกษาเป็นคนมีจิตใจไม่คับแคบ อนึ่ง แนวโน้มของการศึกษาปัจจุบันนี้ ที่เป็นอุดมการณ์หนึ่งคือ การศึกษาศาสตร์ต่างๆ อย่างผสมผสานเป็นหน่วยรวม

ในสาขาจิตวิทยาพัฒนาการก็ยังแยกสาขาย่อยๆ ออกไปอีกหลายสาขา โดยศึกษามนุษย์เฉพาะวัยอย่างลึกซึ้ง เช่น จิตวิทยาวัยทารก จิตวิทยาวัยเด็ก จิตวิทยาวัยรุ่น จิตวิทยาวัยกลางคน จิตวิทยาวัยผู้สูงอายุ ในที่นี้ไม่ได้แยกสาขาย่อย แต่เป็นการกล่าวถึงจิตวิทยาพัฒนาการตลอดช่วงชีวิต (Lifespan human development) ซึ่งเป็นวิชาบังคับหรือ/และวิชาเลือกของนักศึกษาที่เรียน ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์หลายสาขา เช่น นักจิตวิทยา พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ในหลายๆ มหาวิทยาลัย

ปรัชญาของการศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการตลอดช่วงชีวิต
การศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการตลอดช่วงชีวิตมีแนวคิดที่เป็นฐานดังต่อไปนี้

1 .พัฒนาการทุกช่วงทุกวัยมีความต่อเนื่อง และมีผลกระทบต่อกันและกัน เช่นการศึกษาพัฒนาการในวัยเด็ก ทำให้ทราบว่าจะเกิดกระสวนพัฒนาการทางบวกหรือ/และลบ ในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ตลอดจนถึงวัยสูงอายุอย่างไร

2. การศึกษาพัฒนาการตลอดช่วงชีวิต    ทำให้บุคคลสามารถเตรียมตัวเพื่อเผชิญหรือพบภาวะที่วิกฤตอย่างไร เพราะสิ่งที่เป็นเหตุการณ์วิกฤตของชีวิตหลายๆ อย่าง มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อมีการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า จะทำให้บุคคลสามารถเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นได้ อย่างไม่ต้องเสียขวัญหรือหลงใหลเกินไป เช่น

-การพบความสำเร็จทางอาชีพในวัยกลางคน หากไม่มีการเตรียมตัวหรือไม่มีความเข้าใจล่วงหน้า อาจทำให้บุคคลนั้น “สำลักความสำเร็จ”

-การเข้าสู่วัยสูงอายุ หากไม่มีความรู้เรื่องการเป็นผู้สูงอายุ ไม่ได้มีการเตรียมตัว อาจเตรียมตัวไม่ทัน และอาจกลายเป็นผู้สูงอายุผู้ไร้ความสุขสงบ

3. การศึกษาพัฒนาการตลอดช่วงชีวิตทำให้บุคคลสามารถกำหนด หรือ/และสร้างสิ่งแวดล้อม หรือปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมและพึงประสงค์ตามวัย เพราะความประพฤติและการสร้างสถานการณ์
แวดล้อมที่ไม่เหมาะกับวัย อาจทำให้บุคคลนั้นๆ ประสบความเครียด ความขัดแย้ง ซึ่งถ้ามีความรุนแรงสูง ก็อาจกลายเป็นโรคจิต โรคประสาท หรือกลายเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมได้ เช่น

-เด็กที่ถูกเร่งรัดให้ประสบความสำเร็จเร็วและมากเกินไป (Hurried children) กลายเป็นเด็กที่มีความเครียด และด้อยในการเรียน

-บุคคลวัยกลางคนที่ไม่เข้าใจลักษณะสัมพันธภาพกับคู่สมรสและบุตร อาจมีความยุ่งยากใจในสัมพันธภาพนั้นๆ จนอาจต้องพบภาวะวิกฤตวัยกลางคน (Mid-life crises) ในทางกลับกันการเข้าใจพฤติกรรมตามวัย ก็ช่วยให้แต่ละคนได้พบกับความสำเร็จในชีวิตไปตามวัยและตามขั้นตอนด้วยดี

4. ลักษณะเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน ทำให้สังคมหลายๆ แห่ง กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม และครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น ผู้ที่เติบโตในครอบครัวลักษณะนี้ มักขาดความรู้เกี่ยวกับบุคคลต่างวัย ทั้งบุคคลรุ่นเด็กกว่าและรุ่นผู้ใหญ่กว่า อาจทำให้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ “พัฒนาการตามวัย” ของคนในวัยต่างๆ ซึ่งเขาต้องติดต่อสัมพันธ์ด้วย ทั้งโดยการงาน และโดยสายสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับปู่ย่าตายาย พ่อแม่กับเด็กซึ่งเป็นลูกที่ต้อง ให้การอบรมเลี้ยงดู หรือความสัมพันธ์กับบุคคลวัยต่างๆ ในวงงานอาชีพ ในฐานะที่เป็น ครู หมอ พยาบาล พี่เลี้ยงเด็ก นักจิตวิทยา หรือเพื่อนร่วมงานต่างวัย ดังนั้นความรู้เรื่องจิตวิทยาพัฒนาการตลอดชีวิต จึงมีประโยชน์ในการช่วยเหลือ อยู่ร่วม ทำงานร่วม ให้ความอนุเคราะห์ บุคคลร่วมวัย ต่างวัย ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันในแง่มุมใดมุมหนึ่ง อย่างมีความเข้าอกเข้าใจ เห็นใจและส่งเสริมซึ่งกันและกัน

5. ในสมัยปัจจุบันมีการแข่งขันในการสร้างเสริม “คุณภาพชีวิต” ด้านการงานและวิชาการหนักหน่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา และจะเพิ่มยิ่งขึ้นๆ ในทศวรรษหน้า การสร้างเสริมคุณภาพ ชีวิตในแนวนี้จำเป็นต้องมีการจัดการด้านต่างๆ ให้เหมาะกับลักษณะธรรมชาติตามวัยของบุคคล มิฉะนั้นแล้วจะเกิดผลทางลบมากกว่าทางบวก อาทิเช่น การจัดโปรแกรมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน การจัดการศึกษาหรือ/และบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

วิธีการศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการ
ผลสรุปต่างๆ ในจิตวิทยาพัฒนาการ ไม่ว่าอย่างเป็นทฤษฎีก็ดี หรืออย่างเช่นการศึกษาเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณีก็ดี เป็นผลสรุปที่ได้มาจากการศึกษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เยี่ยงผลสรุปในสาขาจิตวิทยาอื่นๆ ดังนั้นผลสรุปเหล่านั้นจึงสามารถพิสูจน์ ทดสอบ ตรวจทาน ให้เห็นประจักษ์จริงได้

วิธีการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์นั้น มีวิธีการต่างๆ หลายวิธี การศึกษาบางอย่างใช้เฉพาะวิธีใดวิธีหนึ่ง บางอย่างก็อาจใช้หลายๆ วิธีรวมกัน วิธีต่างๆ เหล่านั้น เช่น:

วิธีสังเกตอย่างเป็นระบบ (Observational method)
การสังเกตในเชิงจิตวิทยา ต้องเป็นการสังเกตอย่างมีระบบมีระเบียบแบบแผน วิธีนี้เป็นวิธีพื้นฐานที่มักใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆ วิธีการสังเกตนิยมใช้ทั้งกับกลุ่มประชากรที่เป็นคนและสัตว์

วิธีทดลอง (Experimental method)
การทดลองเป็นวิธีที่นิยมใช้วิธีหนึ่งในการศึกษาพฤติกรรม ในบางกรณีการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ไม่สามารถนำมนุษย์มาทดลองได้ เพราะอาจเสี่ยงต่อความเสียหายหรือเป็นอันตรายกับมนุษย์ได้ จึงนำสัตว์มาทดลอง ดังนั้นการทดลองในจิตวิทยาจึงมีการทดลองกับมนุษย์ (Human model) และกับสัตว์ (Animal model) สำหรับการทดลองกับสัตว์ เมื่อได้ทราบผลแล้ว ก็นำผลการทดลองมาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ ในการทดลองมีการแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง (Experimental group) กับกลุ่มควบคุม (Control group) กลุ่มทดลองคือ กลุ่มประชากรที่ผู้ทดลองเลือกเอาไว้ สำหรับจัดให้พบประสบการณ์ ที่ผู้ทดลองต้องการให้พบ จะได้ศึกษาดูว่า การได้พบประสบการณ์นั้นๆ จะเกิดพฤติกรรมอย่างไร กลุ่มควบคุมคือ กลุ่มประชากรที่มีพื้นฐานเหมือนกลุ่มทดลอง แต่ผู้ทดลองควบคุมไว้ไม่ให้ได้พบประสบการณ์อย่างเดียวกับกลุ่มทดลองเลย แล้วผู้ทดลองนำพฤติกรรมจากผลการทดลองกับกลุ่มทดลองไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของกลุ่มควบคุมว่าต่างกันอย่างไร

วิธีทดสอบ (Test method)
วิธีนี้ผู้ทำการศึกษาใช้แบบทดสอบ ซึ่งต้องมีความน่าเชื่อถือ (Reliability) และใช้วัดสิ่งที่ต้องการวัดได้จริง (Validity) การสร้างและการใช้แบบทดสอบ ตลอดจนการแปลผลทดสอบ ต้องทำบนพื้นฐานหลักวิชาการแบบทดสอบและการวัดผล มิฉะนั้นแล้วผลการศึกษานั้นจะขาดถูกต้องแม่นยำ เชื่อถือไม่ได้ วิธีทดสอบมักถูกนำไปใช้ในกระบวนการศึกษาแบบอื่นๆ เช่น แบบสำรวจ การศึกษารายกรณี แบบทดสอบที่ใช้กันในวงการจิตวิทยามีมากมาย แบบทดสอบหนึ่งๆ ได้สร้างขึ้นเพื่อวัดพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความถนัด ระดับสติปัญญา ค่านิยมทางสังคม ลักษณะบุคลิกภาพ ระดับความเครียด ฯลฯ แบบทดสอบบางอย่างได้พัฒนาจนเป็นแบบทดสอบมาตรฐานสากลก็มี อย่างไรก็ดีมีข้อน่าสังเกตว่า แบบทดสอบวัดพฤติกรรมหลายประเภทเชื่อถือได้ ในกลุ่มสังคมวัฒนธรรมใดหนึ่งเท่านั้น การนำแบบทดสอบจากวัฒนธรรมหนึ่งไปใช้วัดบุคคลต่าง วัฒนธรรม การแปลผลต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจมีอคติทางวัฒนธรรม

วิธีสำรวจ (Survey method)
วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในการศึกษาทางจิตวิทยาแทบทุกแขนง วิธีนี้มักนำวิธีการอื่นๆ มาใช้ร่วมด้วย เช่นการสังเกต การใช้แบบทดสอบ การสัมภาษณ์ การสำรวจเป็นการศึกษาในแนวกว้าง (Cross sectional method) ประชากรมีจำนวนค่อนข้างมาก ตัวอย่างการศึกษาแบบนี้ได้อ้างถึงบ่อยครั้งในหนังสือเล่มนี้ เช่นในการศึกษาของ Lowenthal และคณะ

การศึกษารายกรณี (Case study)
วิธีนี้เป็นการศึกษาในแนวลึก ประชากรค่อนข้างน้อย เป็นการศึกษาเจาะจงเฉพาะบุคคล หรือกลุ่มบุคคล การศึกษารายกรณี มีทั้งการศึกษาที่ต้องใช้ระยะเวลานาน (Longitudinal method) และการศึกษาระยะเวลาสั้น

การศึกษาต่างๆ นั้น เมื่อทำการเก็บข้อมูลมาแล้ว จะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยกระบวนการทางสถิติ แล้วจึงนำผลการวิเคราะห์ทางสถิตินั้นมาอภิปรายผลต่อไป กระบวนการทางสถิติที่ใช้ในวิชาจิตวิทยามีหลายวิธี เช่น T test, Multiple regression analysis, Path analysis, Multivariate analysis, Factor analysis และอื่นๆ

ตัวอย่างวิธีการศึกษา
ขอยกตัวอย่างวิธีการศึกษามาแสดงในที่นี้ 3 วิธีคือ วิธีการสังเกตอย่างเป็นระบบ วิธีทดลอง และวิธีการศึกษารายกรณี ดังต่อไปนี้

วิธีสังเกตอย่างเป็นระบบ
วิธีสังเกตเป็นวิธีที่นิยมใช้มาก ทั้งสังเกตพฤติกรรมสัตว์และพฤติกรรมมนุษย์ ดังเช่นชนชาวฟอเร อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ โดดเดี่ยวบนภูเขาในนิวกีนี มีอาชีพล่าสัตว์และเก็บของป่า สังคมของชนชาวนี้เปิดเผยและกลมเกลียวกัน พอคนหนึ่งไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ มีสีหน้าหม่นหมองหรือต้องการอะไร คนอื่นๆ แสดงความอาทรเอื้อเฟื้อช่วยเหลือทันที ความเอื้ออารีกันตั้งต้นมาตั้งแต่สัมพันธภาพระหว่างแม่กับลูกน้อยๆ แม่ชาวฟอเรนิยมกอดโอบอุ้มลูกให้กินนม ลูกต้องการอะไรก็สนองความ ต้องการนั้นโดยฉับพลัน จากการสัมผัสโอบอุ้มกันนั้นทารกสามารถสื่อความต้องการของตัวให้คนอื่นรู้ก่อนพูดได้เสียอีก พอทารกโตขึ้นผู้ใหญ่ปล่อยให้เล่นทำนองสำรวจวัตถุต่างๆ ใกล้ตัว โดยไม่ค่อยขัดขวาง แม้กระทั่งเด็กพยายามยกขวานหนักหรือมีดยาว เด็กมักมีความถนัดจนไม่ได้รับอันตรายจากการยกนั้น การค้นพบดังนี้เป็นมูลให้ตั้งทฤษฎีว่า เด็กมีความฉับไวในการงานของส่วนรวมและสำรวจตรวจสิ่งต่างๆ อย่างมั่นใจตัวเอง เป็นผลโดยตรงจากการได้รับอุ้มชูสนิทสนมตั้งแต่สมัยเป็นทารก

วิธีทดลอง
1. ทดลองกับคน (Human model)
ตัวอย่างการทดลองกับคน ได้ยกมาอภิปรายหลายตัวอย่างในบทต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้ จึงขอให้ผู้อ่านได้โปรดอ่านตัวอย่างในบทต่างๆ เช่น การทดลองเรื่องวุฒิภาวะทางกาย การทดลองเรื่องพัฒนาการทางความคิดของเด็ก เป็นต้น

2. ทดลองกับสัตว์ (Animal model)
2.1 ทดลองกับลิง
ในบรรดาการทดลองกับสัตว์ เรื่องการขาดแคลนทางสังคม ดูจะไม่มีการทดลองของใครที่เหนือกว่าการทดลองของ Harry Harlow และคณะ แห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin แม้ว่าการศึกษาของเขาได้กระทำและเผยแพร่ตั้งแต่ปี 1950 แต่ก็ยังได้รับการกล่าวขวัญในวงการจิตวิทยาสังคม จิตวิทยาการเรียนรู้ และจิตวิทยาเด็กอย่างไม่จืดจาง

Harlow และคณะทำการทดลองพฤติกรรมของลิงหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องตลอดอายุขัยของเขา เช่น เรื่องความก้าวร้าว โฮโมเซกชวล ผลการแยกแม่ลูก และอื่นๆ สำหรับการแยกแม่ลูกของลิงนั้น ฮารโลว์ต้องการศึกษาว่า ลูกลิงที่ถูกเลี้ยงโดยปราศจากแม่ จะมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเป็นอย่างไร รายละเอียดในเรื่องที่เขาศึกษามีมากมายซึ่งสรุปได้ย่อๆ ดังนี้

เขาแยกลูกลิงจากแม่ของมันตั้งแต่อายุไม่กี่เดือน ไปเลี้ยงไว้ในกรงหนึ่งต่างหาก เขาสร้างแม่เทียมให้มัน 2 ตัว ตัวหนึ่งสร้างด้วยโครงลวดประกอบด้วยเครื่องให้อาหารแม่ อีกตัวหนึ่งคล้ายหุ่นหุ้มด้วยผ้าขนนุ่มๆ แต่ไม่มีอาหารให้    ถ้าอาหารมีความสำคัญยิ่งต่อการ “ติดแม่” แล้ว ลูกลิงควรจะติดพันแม่เทียมที่เป็นโครงลวดซึ่งเป็นแหล่งให้อาหาร แต่กลับปรากฏว่าลูกลิงชอบกอดและเคลียคลอกับแม่เทียมตัวที่หุ้มด้วยผ้านุ่มๆมากกว่า นอกจากนั้นพอเอาตุ๊กตาหมีที่ดูน่ากลัวสำหรับลูกลิงใส่ในกรง มันวิ่งไปกอดแม่เทียมที่หุ้มผ้าเพื่อแสวงหาความมั่นคงและปลอดภัย มันไม่ไปพึ่งแม่โครงลวดเลย พอมันหายตกใจกลัวแล้วกลับมาสำรวจสิ่งที่เห็นใหม่ ลิงที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบนี้แสดงพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ประเดี๋ยวซึม ประเดี๋ยวกระวนกระวายนั่งไม่ติดที่ อยู่ไม่สุข ฉุนเฉียว เมื่อโตพ้นความเป็นลูกลิงก็แสดงความก้าวร้าวและพาลเพื่อนลิงด้วยกัน

การทดลองอื่นๆ ของฮาโลว์ ได้ให้คำตอบต่อปัญหาทางจิตวิทยาพัฒนาการอีกมากเกินที่จะพรรณนาในที่นี้ ใคร่ขอเพิ่มข้อสำคัญอีกข้อเดียวคือ ลูกลิงที่ถูกพรากจากแม่มาแต่อายุน้อยเช่นนี้ พอมันโตขึ้นมีลูกเองมันเป็นพ่อแม่ลิงที่เลวมาก ไม่รู้จักเลี้ยงลูก ไม่รู้จักแสดงความรักลูกเลย ชอบพาลทะเลาะกับลิงอื่นๆ ในฝูง
health-0007

health-0008

การทดลองการแยกแม่ลูกของลิงของอาร์โลว์

(ภาพจาก Scarr และคณะ,1986, หน้า 70)

Prescott (1979) รายงานว่า การศึกษาลิงที่ถูกแยกเลี้ยงโดยปราศจากแม่ ซึ่งบุคคลอื่นจัดทำในเวลาต่อมา ยังพบว่า นอกจากลูกลิงจะมีพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติของอารมณ์ สังคม และจิตใจแล้ว เมื่อตรวจดูสมองยังพบความผิดปกติของประสาทสมองอีกด้วย ผู้ทำการทดลองได้แสดงความเห็นว่า ระยะที่ลูกลิงยังเป็นเด็ก เป็นช่วงแห่งการเจริญเติบโตของระบบประสาท ซึ่งสัมพันธ์กับสมอง การขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างแม่ลิงกับลูกลิง เช่น การกอดรัด การส่งเสียงโต้ตอบต่อกัน ทำให้ประสาทสมองบางส่วนมีความพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสาทส่วนรับรู้ความรักความเยื่อใย (Affection)
health-0009

University of Wisconsin

แสดงอากัปกิริยาของลิงที่ถูกเลี้ยงโดยแม่เทียมเมื่อพ้นความเป็นลูกลิง : เซื่องซึม เศร้า หงอย ขาดความกระตือรือร้น เรียนรู้ช้า (ภาพจาก Birren, Kinney, Schaie & Woodruff, 1981, หน้า 258)

Prescott (1979, หน้า 124) ยังกล่าวด้วยว่า ผลการทดลองนี้น่าจะเป็นจริงกับลูกคนด้วย เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยขาดการสัมผัสแตะต้อง และการสื่อสารด้วยเสียงและภาษาระหว่างเด็กกับ ผู้ใหญ่ก็น่าจะมีความบกพร่องในด้านการพัฒนาการของระบบประสาทที่เกี่ยวพันกับความรักใคร่ผูกพัน เด็กๆ เหล่านี้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็มักจะควบคุมความรู้สึกก้าวร้าวไม่ค่อยได้

2.2 ทดลองกับสุนัข
Birren, Kinney, Schaie และ Woodruff (1981) ได้รายงานผลการวิจัยของ Thompson และ Melzack (1965) ว่า เขาได้ทำการทดลองเลี้ยงสุนัขอย่างโดดเดี่ยว เพื่อดูพฤติกรรมทางสังคมของมัน เขาแบ่งสุนัขออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม สุนัขกลุ่มทดลองถูกนำไปเลี้ยงโดยขาดการสังคมโดยเด็ดขาด ตั้งแต่แรกเกิด ไม่ให้เล่นหรือเลี้ยงดูจากแม่ ไม่ให้คนเข้าใกล้ลูบคลำ และเล่นด้วย สุนัขกลุ่มควบคุมได้รับการเลี้ยงดูโดยธรรมชาติ คืออยู่กับแม่ อยู่กับสุนัขอื่น และคนเล่น กับมัน ผลปรากฏว่าหลังจาก 7-10 เดือน สุนัขกลุ่มทดลองจะมีอาการหงุดหงิด เมื่อมีสิ่งกระตุ้นแปลกๆ เช่น การกางร่มและหุบร่ม ขี้ขลาด ไม่รู้จักต่อสู้เพื่อแย่งกระดูกกับสุนัขอื่นๆ ไม่เล่น ไม่สนใจกับสุนัขอื่น ใช้เวลาส่วนใหญ่ดมกลิ่นในคอก ส่วนสุนัขกลุ่มที่เลี้ยงดูตามปกติ ชอบเห่า ชอบกระดิกหาง อยากรู้อยากเห็น อาการผิดปกติทางสังคมของสุนัขกลุ่มแรกมีอยู่หลายปี

2.3 การทดลองกับสัตว์อื่นๆ
การศึกษาทดลองกับสัตว์ประเภทอื่นที่น่าสนใจ เช่น การทดลองของ King และ Eleftheriou (1964) เขาทำการทดลองเลี้ยงลูกหนู 2 กลุ่มในห้องทดลอง คือ (1) กลุ่มที่เลี้ยงดูแบบให้การลูบคลำ แตะต้อง (2) กลุ่มที่ไม่ให้การสัมผัสเลย ปรากฏว่า ลูกหนูกลุ่มแรกมีความเจริญเติบโตด้านต่างๆ ดีกว่าและเร็วกว่าลูกหนูกลุ่มที่ 2 เมื่อเลี้ยงจนพ้นความเป็นลูกหนู หนูกลุ่มแรกก็มีความทนทานต่อความเครียดต่างๆ ดีกว่าหนูกลุ่มที่ 2 อีกด้วย

Thorpe (1958) ได้รายงานว่านกที่ร้องเพลง เมื่อถูกเลี้ยงแยกจากพ่อ แม่ หรือกลุ่มนก จะไม่สามารถร้องเพลงได้ไพเราะเท่ากับนกที่เลี้ยงตามธรรมชาติในฝูงนกเลย (อ้างจาก Birren, Kinney, Schaie, & Woodruff, 1981).

การศึกษารายกรณีระยะยาว (Longitudinal method)
1. การศึกษาขั้นตอนพัฒนาการทางความคิดของเพียเจท์
เพียเจท์ได้ทำการศึกษาขั้นตอนของความคิดโดยสังเกตลูกของเขา ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น เมื่อรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตแล้ว จึงได้ตั้งทฤษฎีขั้นตอนของความคิด เพียเจท์ได้ทำการสังเกต และบันทึกอย่างมีระเบียบ เช่น

การสังเกตครั้งที่ 1 ลูเซียนและโลรังต์ ภายใน 1/4 และ 1/2 ชั่วโมงหลังคลอดตามลำดับ เมื่อมือไขว่คว้าไปโดนปากตัวเองรีบดูดทันที

การสังเกตครั้งที่ 2 โลรังต์ หลังคลอดแล้ว 1 วัน ผู้ใหญ่เอาหัวนมจ่อที่ปาก รีบดูดทันที และเมื่อบังเอิญหัวนมเลื่อนหลุดออกจากปาก ก็ใช้ปากควานหาจนเจอแล้วดูดต่อไป

พฤติกรรมของทารกทั่วไปเป็นเช่นนี้ จนเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันว่า ทารกรู้จักใช้ปากดูดนม ทันทีเมื่อแรกคลอดเป็นปฏิกิริยาสะท้อน (ไม่ต้องฝึกฝนก็ทำเองได้)

การสังเกตครั้งที่ 33 โลรังต์เริ่มสังเกตสำรวจรอบๆ ตัวทีละน้อยๆนับตั้งแต่สามารถเคลื่อนสายตาชำเลืองดูวัตถุตามต้องการได้แล้ว เมื่ออายุ 1 เดือน 9 วัน คนเลี้ยงอุ้มนั่งตักเริ่มมองดูรอบๆ ตัวเป็นอย่างๆ ไป ทีแรกดูพ่อ แล้วเหลือบไปดูฝาผนังห้อง แล้วเบนสายตาไปที่หน้าต่าง

การสังเกตครั้งที่ 34 โลรังต์สำรวจผู้คนอย่างพินิจพิเคราะห์ เมื่ออายุ 1 เดือน 15 วัน ยิ้มได้เป็นครั้งแรก เมื่อคนเลี้ยงก้มตัวลงเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ โลรังต์สำรวจหน้าของคนเลี้ยงทีละส่วน จับตาดูผม เลื่อนดูตา จมูก ปาก และทุกส่วนของใบหน้าอย่างตั้งอกตั้งใจ (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520, หน้า 129)

2. การศึกษาเด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างโดดเดี่ยวขาดสังคม
นพมาศ ธีระเวคิน (2534) ได้รายงานกรณีศึกษาเรื่องการขาดสังคมของเด็กที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งขอเรียบเรียงมาเสนอดังนี้

กรณีแรกการศึกษาของ Davis (1949) ได้รายงานการศึกษาเด็กที่ชื่อแอนนาว่า แอนนาเป็นลูกนอกสมรส คุณตาโกรธแม่ของแอนนามากที่มีลูกโดยไม่มีใครรับว่าเป็นพ่อ เมื่อแอนนาเกิดจึงถูกไล่ให้ไปอยู่ในห้องใต้เพดาน ได้รับการดูแลเพียงพอที่จะมีชีวิตรอดไปวันๆ เด็กไม่ค่อยได้รับการโอบอุ้มหรือให้มีการเคลื่อนไหวใดๆ เสื้อผ้าและเตียงของเด็กก็สกปรกมาก ไม่มีใครพูดจาหยอกล้อกับเด็ก มีผู้มาพบแอนนาในสภาพดังกล่าว เมื่อแอนนาอายุ 6 ขวบ จึงย้ายแอนนาออกจากห้องนั้น เด็กแอนนาอายุ 6 ขวบ พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ ดูเหมือนว่าจะทำอะไรๆ ที่แสดงความฉลาดไม่ได้สักอย่างเดียว รูปลักษณ์ผอมส่อลักษณะขาดสารอาหาร แขนขาลีบ ท้องป่อง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว นอนเฉยไม่ยอมกระดุกกระดิก สีหน้าไม่แสดงอาการรับรู้ใดๆ รับประทานอาหารเองไม่ได้ ทำอะไรด้วยตนเองแทบไม่ได้เลย ใครๆ คิดว่าแอนนาคงจะทั้งหูหนวกและตาบอด ต่อมาได้มีการพยายามสอนให้แอนนาพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ แต่เธอก็สิ้นชีวิตลงเมื่ออายุ 10 ขวบกับ 6 เดือนด้วยโรคดีซ่าน การได้มีสัมพันธภาพทางสังคมกับผู้คนในช่วงระยะเวลา 4 ปีกว่าต่อมานั้น ทำให้แอนนาสามารถพัฒนาขึ้นได้บ้าง แต่ก็ตํ่ากว่าความสามารถธรรมดาๆ ของเด็กวัยเด็กตอนกลางโดยทั่วไป กล่าวคือ แอนนาทำตามคำสั่งที่ง่ายๆ ได้ ร้อยลูกปัดได้ แยกแยะสีได้ ต่อบล๊อกได้ รู้ว่ารูปไหนสวย รูปไหนไม่สวย รู้จังหวะง่ายๆ ชอบเล่นกับตุ๊กตา สามารถพูดเป็นคำๆ ได้ กล่าวคำซ้ำๆ เมื่อชวนคุย ล้างมือและแปรงฟันได้ ชอบช่วยเด็กคนอื่น เดินและวิ่งได้ แต่ออกจะเงอะๆ งะๆ อยู่บ้าง ขี้ตื่น ผู้ทำการศึกษาแอนนาได้แสดงความคิดเห็นว่า กระบวนการสังคมประกิตของแอนนาซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 6 ขวบ แม้จะสามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาได้เท่า และดีเท่ากับเด็กที่เลี้ยงอย่างธรรมดาในสิ่งแวดล้อมที่เด็กไม่ขาดสังคม กรณีของแอนนา อาจชี้ให้เห็นว่า การขาดการสื่อสารทางสังคมที่มีคุณภาพกับเด็กทำให้มีผลต่อเด็กอย่างไรบ้าง การให้การกินอยู่ทางชีววิทยาอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คนเติบโตเป็นคนปกติธรรมดาได้

กรณีที่ 2 เด็กที่ศึกษาชื่อ อิสซาเบลล์ มีผู้พบเธอเมื่อเธออายุ 6 ขวบเช่นกัน อิสซาเบลล์เป็นลูกนอกสมรสเช่นเดียวกับแอนนา ถูกเลี้ยงโดยแยกออกจากสังคมเช่นเดียวกัน แต่อิสซาเบลล์ได้อยู่กับแม่ในห้องมืดด้วยกัน แม่ของเธอเป็นใบ้และหูหนวก อิสซาเบลล์จึงไม่มีโอกาสได้ยินเสียงและฝึกพูดเลย เธอสื่อสารกับแม่โดยใช้กิริยาท่าทาง การอยู่อย่างขาดแสงแดด ทำให้อิสซาเบลล์เป็นโรคกระดูกอ่อน เป็นมากที่ขา เวลายืนเท้าจะงอมาชนกัน อิสซาเบลล์จึงเคลื่อนไหวลำบาก เมื่อเห็นคน เธอแสดงอาการกลัวและไม่เป็นมิตร เวลาพูดด้วยทำเสียงในลำคอ
พฤติกรรมต่างๆ เหมือนทารก เมื่อมีผู้โยนถูกบอลเธอจะเอาไปตีหน้าคน ดูจากสภาพทั่วๆ ไป ปรากฏเหมือนกับว่าเธอหูหนวก แต่เมื่อทำการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญหูพบว่า เธอหูดี เมื่อนำอิสซาเบลล์มาเข้าสังคมปกติธรรมดาของมนุษย์ ให้ได้รับการเรียนการสอนตามขั้นตอนโดยผู้เชี่ยวชาญ ปรากฏว่าอิสซาเบลล์มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นมากมายน่าอัศจรรย์ เช่น ในระยะ 2 เดือนพูดเป็นประโยคได้ 9 เดือน สามารถแยกคำ และประโยคที่พิมพ์ไว้ได้ เขียนได้ นับหนึ่งถึงสิบได้ จำเรื่องที่มีผู้เล่าให้ฟังได้ 1 เดือนต่อมา รู้ศัพท์ถึงประมาณ 1,500-2,000 คำ ตอบคำถามยากๆ ได้ ในที่สุดจากการฝึกหัดต่างๆ ภายในเวลา 2 ปี อิสซาเบลล์ก็สามารถมีพัฒนาการได้เยี่ยงเด็กปกติ

นพมาศ ธีรเวคิน (2534 หน้า 12) ได้วิจารณ์ว่า แม้แอนนาและอิสซาเบลล์จะมีชีวิตที่เริ่มต้นคล้ายๆ กัน แต่อิสซาเบลล์สามารถมีชีวิตเยี่ยงเด็กปกติได้ภายในเวลา 2 ปี ส่วนแอนนานั้นยังไม่ปกติแม้เวลาจะผ่านไปแล้วถึง 4 ปีครึ่ง อาจจะเป็นไปได้ว่าแอนนานั้นถูกทอดทิ้งให้นอนนิ่งอยู่คนเดียว โดยไม่มีผู้ใดสนใจ ส่วนอิสซาเบลล์นั้นยังมีการสังคมกับแม่ ถึงแม้จะหูหนวกและเป็นใบ้ แต่ก็ยังได้รับการโอบอุ้ม สัมผัส และสื่อสารต่อกันและกันระหว่างแม่กับลูก ดังนั้นเมื่อได้รับโอกาสใหม่ทางสังคม เยี่ยงคนปกติธรรมดา อิสซาเบลล์จึงสามารถฟื้นตัวสู่ความเป็นปกติได้
สองกรณีตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นปัจจัยความสัมพันธ์ทางสังคมว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการของเด็ก

สรุป
จิตวิทยาพัฒนาการมีลักษณะธรรมชาติคือ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของบุคคลตามวัย ทั้งด้านเจริญขึ้น และเสื่อมลง ตั้งแต่แรกกำเนิดของชีวิตในครรภ์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ที่มีความเกี่ยวพันต่อกันและกันได้ 4 ด้าน คือ กาย อารมณ์ สังคม ความคิดสติปัญญา จิตวิทยาพัฒนาการมีสาระเนื้อหาที่คาบเกี่ยวล้ำไปในวิทยาการสาขาต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น สรีรวิทยา แพทยศาสตร์ โภชนาการ การศึกษา ศาสนา ปรัชญา ศิลปะ สันทนาการ ฯลฯ

จิตวิทยาพัฒนาการนี้ เป็นจิตวิทยาพัฒนาการตลอดช่วงชีวิต โดยมีปรัชญาว่า การพัฒนาการทุกช่วงชีวิตมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกระทบต่อกันและกันทั้งในแง่บวกและแง่ลบ การศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการตลอดช่วงชีวิต ทำให้สามารถป้องกันปัญหาประจำวันที่อาจเกิดขึ้นใน ปัจจุบันและอนาคต ทำให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อพัฒนาการทางบวกของบุคคลในวัยต่างๆ ทำให้เข้าใจธรรมชาติของตนเองและบุคคลอื่นตามวัย ทำให้สามารถปรับตัวและจัดการกับตนเองในด้านต่างๆ ที่เป็นพัฒนาการตนเอง และเอื้อต่อพัฒนาการทางบวกของบุคคลวัยต่างๆ ที่ตนต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยทั้งในครัวเรือนและในงานอาชีพ

สาระเนื้อหาในจิตวิทยาพัฒนาการได้มาจากวิธีการศึกษาโดยกระบวนวิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ วิธีการเหล่านี้มีหลายวิธี เช่น วิธีสังเกต วิธีสำรวจ วิธีทดลอง และการศึกษารายกรณี

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า