สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Non-Condemning Constructive Relationship

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 20 เรียกว่า Non-Condemning Constructive Relationship
หมายถึงการที่แพทย์สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ โดยให้ “บรรยากาศของการรักษา” เป็นไปในทางก่อประโยชน์ จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์พบว่า การทำจิตบำบัดจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการที่แพทย์สามารถสร้างบรรยากาศของการรักษา (Therapeutic Atmosphere) ได้หรือไม่ ถ้าสร้างไม่ได้จะประสบกับความล้มเหลว ไม่ว่าผู้รักษาจะใช้ทฤษฎีอะไรก็ตาม

“บรรยากาศของการรักษา” หมายถึง การที่แพทย์สามารถสร้างความอบอุ่น เป็นมิตร สนใจคนไข้ไม่ติเตียนว่ากล่าวหรือข่มขู่คนไข้ ไม่แสดงอารมณ์โกรธเคืองคนไข้ เต็มใจ และสนใจรักษาคนไข้ ยอมทำงานหนักเพื่อคนไข้ เคารพในความเป็นมนุษย์ของคนไข้ พูดจา สุภาพอ่อนโยนกับคนไข้ ไม่หลอกลวงหรือโกหกคนไข้ มีท่าทีและทัศนคติต่อคนไข้ในทางก่อประโยชน์”

บรรยากาศของการรักษาที่ได้อธิบายมานี้ จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจะต้องอยู่บนรากฐานของความจริงใจเสมอ จะแสร้งทำหรือหลอกลวง “ไม่ได้” อยากจะเรียนให้ทราบว่า คนไข้ส่วนมากจะมีความสามารถในการจับ “โกหก” หรือ “แสร้งทำ” ได้ มากกว่าที่แพทย์คิดไว้เสมอ

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ แพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ฝ่ายกาย บางท่าน อาจแสดงท่าทีดูถูกดูหมิ่น ติเตียน ด่าว่าคนไข้ การกระทำเช่นนี้ เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการรักษาคนไข้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า การที่แพทย์ฝ่ายกายมีทัศนคติดังกล่าว เนื่องมาจากการเข้าใจผิด คือ คิดว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตเวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคประสาทนั้น เป็นการ “แกล้งทำ” เพื่อเรียกร้องความสนใจ ผู้เขียนขอยืนยันว่า ผู้ป่วยด้วยโรคประสาทนั้น “ไม่ได้” แกล้งทำ เพราะอาการดังกล่าวนี้มี Motivation อยู่ในระดับ “จิตไร้สำนึก” คนไข้ ไม่ได้จงใจหรือเจตนาแกล้งทำ จริงอยู่เราพบว่ามีคนแกล้งป่วย เพื่อต้องการผลประโยชน์บางอย่าง แต่บุคคลเหล่านี้มี “เจตนา” ในระดับที่รู้สึกตัว ส่วนผู้ป่วยด้วยโรคประสาท “ไม่มี” เจตนาในระดับที่รู้สึกตัว

ได้มีผู้ศึกษาเรื่องการที่แพทย์มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้ พบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการฝึกอบรมในโรงเรียนแพทย์ นักเรียนส่วนใหญ่จะสนใจคนไข้ ก็ต่อเมื่อมีสาเหตุที่สามารถค้นพบพยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆ เท่านั้น ส่วนโรคจิตเวช เราไม่สามารถหาพยาธิสภาพได้ จึงทำให้นักเรียนแพทย์ไม่พอใจและไม่สับสน เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น นักเรียนแพทย์ ก็จะแสดงความไม่พอใจกับคนไข้ นานเข้าก็อาจแสดงความโกรธออกมาอย่างเปิดเผย

วิธีที่ถูกต้อง คือ ต้องสร้าง “บรรยากาศของการรักษา” ที่ได้อธิบายมาแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีประสบการณ์กับ “บรรยากาศของการรักษา” แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีความหวัง มีความอบอุ่น ศรัทธา และกำลังใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อการรักษา

การที่แพทย์แสดงความสนใจและเคารพในความเป็น “มนุษย์” ของคนไข้นี้ ทำให้คนไข้รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า และอย่างน้อยที่สุด ก็ยังมีแพทย์ผู้รักษาคนหนึ่งที่ยัง “ยอมรับ” หรือ “ยินดีเต็มใจต้อนรับ” ผู้ป่วย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะว่า Psychopathology ที่สำคัญของคนไข้จิตเวชส่วนใหญ่นั้นก็คือ คิดว่าตนเองเป็นคนไร้ค่า ถูกทอดทิ้ง ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น เมื่อผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าแพทย์เต็มใจยอมรับผู้ป่วยแล้ว ในระยะต่อมาจะทำให้ผู้ป่วยสามารถ “ขยาย” ความรู้สึกอันนี้ ไปยังบุคคลอื่นๆ ด้วย

“บรรยากาศของการรักษา” ที่กล่าวมานี้ ต้องทำในขอบเขตของ Professional Relationship และใช้ Empathy ไม่ใช่ Sympathy มิฉะนั้นแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น Transference และ Counter-transference Acting out

การที่แพทย์หรือผู้รักษาสามารถสร้าง “บรรยากาศของการรักษา” ได้นี้มีผลต่อคนไข้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลในระยะสั้น คือทำให้ผู้ป่วยสบายใจ โล่งใจ เพราะว่า ได้ระบายสิ่งต่างๆ ภายในจิตใจออกไป โดยผู้ป่วยสามารถพูดได้ทุกเรื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่า ผู้รักษาจะดุด่า ว่ากล่าว ตำหนิ ลงโทษ ฯลฯ สิ่งนี้เป็นประสบการณ์พิเศษ ซึ่งผู้ป่วยไม่เคย ได้รับมาก่อน โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยมักจะคาดคะเนล่วงหน้าว่าจะต้องถูกตำหนิหรือลงโทษ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทำให้ผู้ป่วยสบายใจและ “พ้นผิด” ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้นทันที

สำหรับผลในระยะยาว คือทำให้ผู้ป่วยมีความภูมิใจในตนเองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะเลียนแบบ เอาอย่าง และทำตัวให้เหมือนแพทย์ผู้รักษา ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Identification ทั้งนี้ เพราะว่า มนุษย์เรานั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม มักจะเลียนแบบ เอาอย่าง และทำตัวให้เหมือนบุคคลที่เรารัก นิยมชมชอบ และเคารพนับถือเสมอ ถ้าแพทย์หรือผู้รักษาเป็นคน “ปกติ” หรือมีสุขภาพจิต “ดี” แล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถรับเอาส่วนที่ดีเหล่านี้ได้ และนำไปพัฒนาบุคลิกภาพของผู้ป่วยเอง ทำให้ผู้ป่วยเป็นคนที่มีบุคลิกภาพและสุขภาพจิต “ดี”ตามไปด้วย

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า