สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Hospitalization, Including the “Rest Cure”

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 12 เรียกว่า Hospitalization, Including the “Rest Cure”
หมายถึงการรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งให้ผู้ป่วยได้ “พักผ่อน” จากภาระหน้าที่การงาน ความจริงการรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลนี้ เราทำด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น รับผู้ป่วยไว้เพื่อสังเกตพฤติกรรม เพื่อการวินิจฉัยโรค ฯลฯ เป็นต้น

การรับผู้ป่วยไว้เพราะว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยโรคพืษสุราซึ่งกำลีงมีอาการของ Delirium Tremens ผู้ป่วยที่มีอาการ Acute Psychosis ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่เรียกว่า Potentially Suicidal ผู้ป่วยที่กำลังมี Homicidal Tendency และผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อตนเองในทางเสื่อมเสีย เช่น เด็กหญิงวัยรุ่นที่มีอาการทางจิต และไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ถ้าไม่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล ก็อาจมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดกามโรค การตั้งครรภ์ ถูกล่อลวงให้เป็นโสเภณี ต้องทำแท้ง ฯลฯ

การรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลนั้น มีผลต่อจิตใจในแง่ของจิตบำบัดหลายประการ ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ขอพูดถึงข้อดีข้อเสียของการที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลก่อน ข้อเสียของการที่ผู้ป่วยจิตเวชต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ได้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และการงาน มักจะหนีหรือ “เก” งานเสมอ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ไม่ชอบพึ่งตนเอง คอยแต่หวังพึ่งผู้อื่นตลอดเวลา ที่เรียกว่า Dependent ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะได้ Secondary Gain จากการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยหลายรายเมื่ออาการดีขึ้น แพทย์อนุญาตให้จำหน่ายจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยกลับมีอาการกำเริบขึ้นอีก ผู้ป่วยเหล่านี้ ทั้งในระดับที่รู้สึกตัว และในระดับจิตไร้สำนึกนั้น ไม่อยากจำหน่ายจากโรงพยาบาล

ส่วนข้อดีของ Hospitalization นั้น มีดังต่อไปนี้ ประการแรก เป็นการแยกผู้ป่วยออกจากสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความตึงเครียด วิตกกังวล และสร้างปัญหา สิ่งแวดล้อม ในที่นี้ หมายถึง ทั้งที่ทำงานและครอบครัวของผู้ป่วย เพราะว่าปัญหาของคนเรานั้นก็มักจะเกิดจากครอบครัว และที่ทำงาน รวมทั้ง Conflicts ต่างๆ ในวัยเด็ก ประการที่สอง เป็นการสร้างความสบายใจให้แก่แพทย์และผู้ป่วยเพราะว่า แพทย์บางคน “ทน” ต่อการที่ผู้ป่วย “ไม่หาย” เป็นเวลานานๆ ไม่ได้ การรับเข้าไว้ในโรงพยาบาลเท่ากับว่า แพทย์ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ ผู้ป่วยหลายคน มักจะเอาจริงเอาจังกับธุรกิจการงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน ตราบใดที่ผู้ป่วยยังไม่ได้อยู่ใน โรงพยาบาล ผู้ป่วยจะไม่ยอมเลิกทำงาน เพราะฉะนั้น การที่ได้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยได้พักผ่อน หรือมีเวลา “หายใจ” ได้บ้าง พร้องทั้งมีเวลาตั้งตัว หรือ ‘’ทำใจ” เพื่อจะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ต่อไป

นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าผู้ป่วยอยู่ในที่ปลอดภัยเเละได้รับการคุ้มครองป้องกัน ทั้งนี้ ก็เพราะว่าผู้ป่วยเป็นจำนวนมากมีความรู้สึกก้าวร้าว รุกราน ต้องการจะทำร้ายผู้อื่น เรียกว่า Aggressive Drive (ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์) ความรู้สึกอันนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก การที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลและซึมเศร้า เพราะว่า Superego ของผู้ป่วยจะต้อง ติเตียนหรือลงโทษ การที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลก็หมายความว่า ผู้ป่วยได้รับความคุ้มครองป้องกัน จึงทำให้โอกาสที่จะทำร้ายผู้อื่นเป็นไปได้ยาก ผู้ป่วยจึงรู้สึกสบายใจขึ้น

สำหรับเรื่อง Aggressive Drive ในมนุษย์เรานั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าเรายอมรับว่ามนุษย์นั้นก็คือ สัตว์ธรรมชาติชนิดหนึ่ง ถ้าเราสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ทั้งหลายจะพบว่า ธรรมชาติของสัตว์นั้น มักจะทำร้ายสัตว์ด้วยกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการล่าเหยื่อ หวงพื้นที่ แย่งตัวเมีย ฯลฯ บางท่านให้ความเห็นว่า มนุษย์นั้นเลวยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ อีก เพราะว่า มักจะรบราฆ่าฟันกันเองมากกว่าสัตว์อื่นๆ ตัวอย่างเช่น การทำสงคราม เป็นต้น เพราะฉะนั้น มนุษย์เป็นจำนวนมาก จึงถูก Superego ลงโทษ ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า และวิตกกังวล

สำหรับเรื่อง “Rest Cure” นี้ แพทย์ทราบมานานแล้วว่า ถ้าผู้ป่วยมีความไม่สบายใจแล้ว ให้พักผ่อนรักษาตัวสักระยะหนึ่ง ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยจะดีขึ้นหรืออาจหายเลย จากการที่ได้พักผ่อน Dynamic ของ “Rest Cure” ก็เหมือนกับการที่ได้รับการรักษาใน โรงพยาบาล คือ เป็นการแยกตัวจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีชั่วคราว

มีข้อที่ควรสังวรไว้ว่า “Rest Cure” นี้ จะต้องไม่ให้คนไข้อยู่เฉยๆ ควรจะมี Occupational Therapy ร่วมด้วยเสมอ มิฉะนั้น อาจจะเป็นการส่งเสริมให้คนไข้หมกมุ่นกับ จินตนาการและปัญหาของตนเอง ซึ่งจะเป็นผลเสียหายมากกว่าผลดี

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า