สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Guidance and Advice

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 16 เรียกว่า Guidance and Advice
หมายถึงการให้คำแนะนำปรึกษา ช่วยเหลือในการตัดสินใจแก่คนไข้ จิตบำบัดชนิดนี้ เป็นจิตบำบัดที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ตอบปัญหาทางหนังสือพิมพ์ เป็นต้น นักจิตบำบัดชั้นสูงมักจะดูถูก และให้ความสำคัญต่อจิตบำบัดชั้นต้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราที่เป็นปถุชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นคน “เข้มแข็ง” เพียงใดก็ตาม จะต้องมีบางครั้งบางเวลา ที่มีความรู้สึกท้อแท้ อ่อนไหว ไม่สามารถช่วยตนเอง หรือตัดสินใจเองได้ และต้องการให้ผู้อื่นช่วยเหลือหรือปลอบโยน ตัวอย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐเมื่อมีคดี Watergate เกิดขึ้น และถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อเข้าตาจนเช่นนี้ นิกสันร้องไห้เหมือนเด็กๆ ทำให้ ดร. คิสซิงเจอร์ต้องเข้าไปปลอบโยน หรืออย่างพระอานนท์ซึ่งบรรลุธรรมขันโสดาบันแล้ว เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพาน พระอานนท์ทั้งๆ ที่เป็นพระโสดาบันยังต้องร้องไห้จนพระพุทธองค์ต้องตรัสปลอบโยน นอกจากนี้ จิตแพทย์เอง หรือนักจิตวิเคราะห์ก็ตาม เมื่อมีปัญหาที่รุนแรงเกิดขึ้นกับตนเองแล้ว บางครั้งก็ยังต้องการคำปรึกษา หรือการปลอบโยนเหมือนกัน อาจารย์ของผู้เขียนท่านหนึ่งกล่าวว่า “จิตแพทย์นั้นย่อมต้องการจิตแพทย์ด้วยกันในเมื่อจิตแพทย์เองมีปัญหา หรือมีความรู้สึกวิตกกังวลและซึมเศร้า”

สรุปความว่า ในผู้ป่วยบางคนจะต้องการ Guidance and Advice ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยเด็ก หรือเด็กวัยรุ่น ผู้ป่วยที่เป็นปัญญาอ่อน ผู้ป่วยโรคจิตในบางราย ผู้ป่วยโรคประสาท ที่เรียกว่า Ego-Syntonic ผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะวิกฤติ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีบุคลิกภาพแปรปรวนบางชนิด ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางเพศ และไม่ต้องการการแก้ไขตนเอง ฯลฯ

สำหรับผู้ป่วยที่เป็น Psychological Minded ซึ่งเหมาะสำหรับทำจิตบำบัดชั้นสูงนั้น ในบางราย เมื่อเริ่มต้นการรักษา ผู้ป่วยอาจจะยัง “ไม่พร้อม” เช่น อยู่ในสภาวะวิกฤติ หรือมีอาการมากจนผู้ป่วยไม่สามารถเข้าใจ “เหตุผล” ได้ จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์จะต้องลดตัวลงมาทำจิตบำบัดชนิดนี้ ซึ่งเรียกกรณีนี้ว่า “initial Supportive Treatment” เมื่อผู้ป่วยสบายขึ้นและพร้อมที่จะเข้าใจ “เหตุผล” จึงจะทำจิตบำบัดชั้นสูงที่หลัง

ข้อเสียของ Guidance and Advice นี้คือ ทำให้คนไข้ต้องพึ่งพาอาศัย หรือ “เกาะ” ผู้รักษาตลอดไป ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ คือ ไม่มีการพัฒนาของบุคลิกภาพ หรืออาจเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า “ไม่เป็นผู้ใหญ่” หรือ “เลี้ยงไม่โต”

สำหรับแพทย์ที่ทำจิตบำบัดชั้นต้นชนิดนี้ ต้องสังวรไว้ว่า การให้คำแนะนำ ปรึกษา ช่วยให้คนไข้ตัดสินใจนี้ จะต้องทำในขอบเขตของความพอดี พยายามให้คนไข้ช่วยตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ จะต้องทราบไว้ด้วยว่า บางครั้งผู้ป่วยขอคำแนะนำ ปรึกษาโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุผล ผู้ป่วยบางคนจะขอคำแนะนำปรึกษาเพื่อจะ “ท้าทาย” ผู้รักษา ผู้ป่วยบางคนจะขอคำแนะนำปรึกษากับทุกๆ คน รวมทั้งผู้รักษา เพื่อใช้เปรียบเทียบ หรือให้ได้คำแนะนำปรึกษาตามที่ตนต้องการ ผู้ป่วยบางคนปรึกษาผู้รักษา เพราะว่าต้องการให้ผู้รักษาแบ่งเบาภาระรับผิดชอบของผู้ป่วย เพราะว่าถ้ากระทำผิดพลาด ผู้ป่วยจะไม่ต้องรับผิดชอบคนเดียว ตัวอย่างเช่น มารดาบางคนเกลียดลูกของตนเอง อยากจะกำจัดไปให้พ้นๆ เมื่อเวลาปิดภาคเรียน มารดาต้องการส่งลูกไปเข้าค่าย คือ ไปให้พ้นๆ จากบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ Superego ของมารดาจะต้องลงโทษแน่ๆ มารดาจึงต้องการแพทย์ให้ช่วยตัดสินว่า ควร จะส่งลูกชายไปเข้าค่ายหรือไม่ ถ้าแพทย์เห็นด้วยก็เท่ากับว่า แพทย์เป็นผู้รับผิดชอบแทนมารดา ทำให้มารดารู้สึกพ้นผิด และไม่ต้องวิตกกังวลอีก

ในกรณีอย่างนี้ แพทย์จะทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง คำตอบก็คือ ต้องพิจารณาดูว่า การตัดสินใจแบบไหนจึงจะเป็นประโยชน์ ทั้งแก่มารดาและเด็ก จะถือเอาข้างใดข้างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงทั้งสองคนไม่ได้

สำหรับในรายที่ผู้ป่วยมีความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เกินความสามารถของตนเองแพทย์ผู้รักษาอาจจะต้องชี้แนะให้ผู้ป่วยทราบว่า ถ้าไม่เปลี่ยนความคิดความรู้สึกแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยต้องตกที่นั่งลำบากตลอดไป แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้รักษาจะต้องทราบไว้ล่วงหน้าว่า ผู้ป่วยที่มีความทะเยอทะยานสูงนี้ มักจะเป็นคนที่มี Aggressive Drive สูง ผู้ป่วยเหล่านี้ อาจโต้เถียง ท้าทาย ยั่วยวน ปะทะคารมกับผู้รักษาได้บ่อยๆ ถ้าแพทย์ผู้รักษาไม่ทราบล่วงหน้าแล้ว อาจจะต้องโกรธเคืองคนไข้ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของผู้รักษาเอง
นอกจากนี้ แพทย์จะต้องทราบล่วงหน้าไว้ด้วยว่า คำแนะนำปรึกษาที่ได้ให้แก่ผู้ป่วยนั้น มีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยหาได้ปฏิบัติตามไม่ แพทย์ที่มีความรู้ทาง Psychodynamic ไม่เพียงพอ จะโกรธเคืองและหัวเสียเอาง่ายๆ

การให้คำแนะนำหรือปรึกษานี้ บางครั้งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ตัวอย่างเช่น คนจากต่างจังหวัดย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร หรือคนจากประเทศไทยที่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ หรือเด็กที่เรียนจบการศึกษาชั้นต้นแล้ว เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เป็นต้น ในกรณีอย่างนี้ การให้คำแนะนำและปรึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นในการปรับตัว

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า