สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นกลางชนิด Desensitization

จิตบำบัดชั้นกลางชนิดที่สาม เรียกว่า Desensitization

จิตบำบัดชนิดนี้เทียบได้กับการลดปฏิกิริยาการแพ้ (Allergic Disturbances) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การฉีดสารที่ร่างกายแพ้ทีละน้อยๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างความต้านทานโรคขึ้นมาได้

การทำจิตบำบัดชนิดนี้ ก็มีความคล้ายคลึงกันคือ เราพบว่าผู้ป่วยบางคนมีความไว หรือ Hypersensitive ต่อปัญหาทางอารมณ์บางอย่างมากเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้รักษาจะต้องนำปัญหาเหล่านี้มาพูด ปรึกษาหารือ และชี้แจงกับคนไข้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้คนไข้ เกิดความ “เคยชิน” เมื่อมีปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะได้ไม่ Hypersensitive มากเกินไป

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็นหญิง มีความหงุดหงิดวิตกกังวลมาก สาเหตุเนื่องมาจาก ต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ผลักดันให้นอกใจสามี แต่ผู้ป่วยเองยังไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว ผู้ป่วยได้พยายามต่อสู้ดิ้นรน เพื่อไม่ให้ความคิดความรู้สึกดังกล่าว ชักนำไปในทางที่ผิด เช่น พยายามข่มใจลืม พยายามคิดเรื่องอื่นๆ แทน พยายามหลีกหนีสถานการณ์ที่เป็นไปในทางยั่วยวน ฯลฯ ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังถูกความคิดความรู้สึกดังกล่าวโผล่ขึ้นมารังควานบ่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีนี้ ถ้าผู้รักษาต้องการใช้วิธี Desensitization ผู้รักษาจะต้องนำเรื่องนี้มาพูดกับผู้ป่วย ในตอนแรกผู้รักษาจะต้องพูดในทำนองว่าชีวิตแต่งงานที่ถูกต้องนั้น มีความดีอย่างไรบ้าง ในระยะต่อมา ผู้รักษาจะพูดถึงปัญหาหรือความยุ่งยาก ซึ่งอาจจะเป็นผลที่เกิดมาจากการแต่งงาน ต่อมาผู้รักษาจะพูดว่า ในการมีมนุษยสัมพันธ์นั้น มักจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นทั้งสองด้าน คือ รักใคร่ชอบพอกัน และบางครั้งก็โกรธเกลียด ไม่ พอใจซึ่งกันและกัน บ่อยครั้งที่เราโกรธ ไม่พอใจในคนที่เรารักด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติของความรู้สึก หรืออารมณ์ของคนนั้น ย่อมจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ เมื่อผู้ป่วยเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดีแล้ว ผู้รักษาก็จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยเล่าความรู้สึกต่างๆ ที่ผู้ป่วยมีกับสามีแบบค่อยเป็น ค่อยไป คือ ให้พูดทั้งแง่ลบและแง่บวก เมื่อผู้ป่วยมีความกล้า และไว้ใจผู้รักษามากขึ้น ก็อาจกระตุ้นให้พูดในด้านลบด้านเดียวและมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดถึงความรู้สึกต่างๆ จน “หมดเปลือก” มีข้อที่ควรระวังคือ ผู้รักษาจะต้องสังเกตดูว่า ผู้ป่วย พร้อมที่จะพูดแล้วหรือยัง เพราะว่าถ้าผู้ป่วยไม่พร้อม และผู้รักษากระตุ้นเร็วเกินไป หรือมีปริมาณมากเกินไปแล้ว ผู้ป่วยจะทนไม่ได้ และการรักษาจะประสบความล้มเหลว วิธีสังเกตว่าผู้ป่วยพร้อมหรือยัง ให้ดูจากกริยาท่าทาง สีหน้า ความเครียด น้ำเสียง ความผ่อนคลาย (Relaxed) และการพูดจาที่อ้อมค้อม หลบหลีกหรือหลีกเลี่ยง ฯลฯ ถ้าลักษณะที่กล่าวมานี้ ส่อไปในทางลบ แสดงว่าผู้ป่วยยังไม่พร้อม ผู้รักษาจะต้องใช้เวลาให้ผู้ป่วยสบายใจและพร้อมเสียก่อน จึงจะทำการกระตุ้นต่อไป ในการทำจิตบำบัดชนิดนี้ จะต้องใช้เวลาพบผู้ป่วยหลายๆ ครั้ง แต่ละครั้งต้องคอยสังเกตความ “พร้อม” ที่จะพูดของผู้ป่วยด้วย

มีข้อที่อยากจะเรียนแนะนำสำหรับแพทย์ฝ่ายกาย หรือผู้ที่ทำจิตบำบัดชั้นสูงไม่ได้ ดังนี้ Desensitization นี้ ใช้ได้เฉพาะความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ฯลฯ ที่ผู้ป่วย “รู้สึกตัว” หรือ Conscious เท่านั้น ส่วนความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ฯลฯ ที่ผู้ป่วย “ไม่รู้สึกตัว” หรือ Unconscious จะใช้วิธีนี้ “ไม่ได้” และถ้าจะทำ ก็ต้องใช้จิตบำบัดชั้นสูงเท่านั้น

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า