สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

งานของนักจิตบำบัด

งานหลักของนักจิตบำบัดชนิดนี้ คือ การช่วยให้ผู้ป่วย “เข้าใจ” ความคิด ความทรงจำ จินตนาการและพฤติกรรมของผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แรงผลักดันของสิ่งเหล่านี้ จะอยู่ในระดับ “จิตไร้สำนึก” คือ ผู้ป่วย “ไม่รู้สึกตัว” นักจิตบำบัดใช้ Interposition และ Interpretation ช่วยให้คนไข้ “รู้สึกตัว”

นักจิตบำบัดชั้นสูง “ไม่มีหน้าที่” ให้ความรักกับคนไข้ หรือ ยกตน ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนไข้ หรือสอนคนไข้ว่า ควรจะดำเนินวิถีชีวิตอย่างไร? เหตุผลก็คือ สิ่งเหล่านี้ ผู้ป่วยได้ยิน ได้ฟังมาจากคนอื่นๆ แล้ว จนตลอดชีวิต นักจิตบำบัดจึง “ไม่ควรทำซ้ำกับคนอื่นอีก” การที่ผู้ป่วยมาพบนักจิตบำบัดนั้น นับว่าเป็น “ประสบการณ์” ใหม่ สำหรับชีวิตของผู้ป่วย

“ประสบการณ์” ใหม่นี้ คือ ผู้ป่วยสามารถพูดได้ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่ต้องกลัวว่า จะถูกหาว่าจู้จี้ พูดไม่รู้เรื่อง พูดจาหยาบคาย พูดเอาแต่ได้ ไม่สำรวมคำพูด พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ฯลฯ ประสบการณ์ “ใหม่” นี้ ทำให้ผู้ป่วย “กล้า” และสามารถพูดถึงความรู้สึกได้ทุกอย่าง โดยนักจิตบำบัดที่ดีจะเคารพในการแสดงความรู้สึก ความคิด จินตนาการ ฯลฯ ของผู้ป่วย ซึ่งถ้าผู้ป่วยพูดเช่นนี้กับผู้อื่น ก็คงจะถูกกล่าวหาว่า “บ้า” เป็นต้น “ไม่ดี” หรือ “ไร้สาระ”

ลักษณะท่าทีของนักจิตบำบัดที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง คือ ควรจะแสดงความ สงบ มีไมตรีจิต มีความสุภาพอ่อนโยน แต่เข้มแข็ง (ไม่อ่อนแอ) และต้องกล้าพูดความจริง กับผู้ป่วยเมื่อถึงเวลาอันสมควร Plato นักปราชญ์ชาวกรีกได้ให้คำแนะนำอย่างน่าฟังว่า ผู้ที่จะเป็นผู้รักษาจิตใจคนอื่นได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ดี มีความสุภาพอ่อนโยน และมีความกล้าหาญ รวมความก็คือ เป็น One-Up นั่นเอง

สำหรับการวางตัวของนักจิตบำบัด ในขณะทำการรักษานั้น ควรวางตัวอย่างธรรมชาติที่สุด ถ้าการวางตัวในขณะทำการรักษา แตกต่างกว่าความเป็นจริงมากแล้ว นักจิตบำบัดย่อมจะสูญเสีย “พลังงาน” ในการทำให้ผิดไปจากเดิม โดยไม่เกิดประโยชน์ และในที่สุด คนไข้ก็จะจับได้ว่า นักจิตบำบัดกำลัง “เล่นละครกับตน”

นอกจากนี้ นักจิตบำบัดไม่ควรถือเอาประโยชน์จาก Transference ของคนไข้ เช่น ทำตัวเหมือนบิดากับคนไข้คนหนึ่ง และทำตัวเหมือนพี่กับคนไข้อีกคนหนึ่ง เป็นต้น นักจิตบำบัดที่ดีต้องปล่อยให้ Transference เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของการรักษา

ในการทำจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ นักจิตบำบัดต้องมีสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตดี เพราะว่า การจะทำตนเป็น One-up เมื่อถูกคนไข้ก้าวร้าว หรือโจมตี จะเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ถ้าสุขภาพทางกายและทางจิตของนักจิตบำบัดเองไม่เอื้ออำนวย

ถ้านักจิตบำบัดมีอาการเจ็บป่วย ง่วงนอน อ่อนเพลีย หรือได้รับความกระทบกระเทือนใจเกี่ยวกับปัญหาของนักจิตบำบัดเอง ทำให้มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า หรืออารมณ์ขุ่นมัว หรือเสียความเป็น One-up แล้วนักจิตบำบัดควรจะบอกเลื่อนการรักษาคนไข้ออกไป จนกว่าอาการเหล่านั้นจะดีขึ้น นักจิตบำบัดนั้น เปรียบเสมือนนักกีฬา ซึ่งต้องระมัดระวังสุขภาพของตนเองให้สมบูรณ์ดีตลอดเวลา จึงจะทำการรักษาคนไข้ได้ผลดี

นอกจากนี้ นักจิตบำบัดจะต้องคอยเฝ้าสังเกตอารมณ์ของตนเอง ตลอดเวลาที่ทำการรักษา แต่ไม่ต้องบอกให้ผู้ป่วยทราบ ถึงความรู้สึกของนักจิตบำบัดเอง เหตุผลคือ การที่คนไข้รู้จักนักจิตบำบัดยิ่งน้อยเท่าใด Transference ที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นไปตามธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น

มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่า การจะเป็นนักจิตบำบัดชั้นสูงนั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็น เกินกำลังความสามารถ หรือสุดวิสัย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การจะเป็นนักจิตบำบัดชั้นสูงนั้น ต้องการความฉลาดสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ ย่อมมีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นนักจิตบำบัดได้ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องมีความตั้งใจ และสนใจจริง มีความมานะในการอ่านตำราและได้รับการฝึกอบรมมาอย่างถูกต้อง ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องจริงใจ และกล้าเปิดเผยความรู้สึกของตนเองต่ออาจารย์ผู้สอน เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ก็จะเกิดความมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น และจะทำจิตบำบัดได้โดยไม่ยากนัก เว้นไว้เสียแต่ว่า คนไข้เป็นประเภทที่รักษายากจริงๆ เท่านั้น

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า