สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คุณสมบัติของเด็กในครรภ์

เด็กในครรภ์ (Fetus) มีคุณสมบัติมิใช่น้อย
มักนึกกันว่าสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาขึ้นในครรภ์เป็นการงอกงามทางชีวภาพ ที่รู้ละเอียดขึ้นอีกหน่อยก็ว่า เมื่อมีอายุพอควรแล้วก็แสดงพฤติกรรมได้ เช่น แม่รู้สึกว่าเด็กในครรภ์ดิ้นได้ ในปัจจุบันมีการศึกษาลึกซึ้งกว่านั้น ทั้งมีเครื่องมือดีเยี่ยมเช่น กล้องจุลทัศน์ กล้องถ่ายภาพในครรภ์คุณภาพสูง อีกทั้งผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ได้รายงานผลการศึกษาพฤติกรรมของ Fetus นำมาเพิ่มพูนความรู้ ทำให้เราเชื่อได้ว่า Fetus มีคุณสมบัติในตัวหลายอย่าง ถ้าคลอดจากครรภ์โดยเรียบร้อยและปรับตัวเข้ากับโลกภายนอกได้ ก็แสดงว่าเขามีความพร้อมอยู่มากที่จะอยู่ร่วมโลกกับพวกเราๆ ที่เกิดก่อน

ความพร้อมประกอบด้วย
1. Fetus มีอวัยวะทำหน้าที่ต่างๆ
2. มีการควบคุมและสั่งงานให้อวัยวะทำตามหน้าที่ สิ่งซึ่งจะทำหน้าที่นี้คือ สมอง และเส้นประสาท

จากการศึกษาพัฒนาการเป็นรายเดือน เรารู้ได้ว่าเพียงเดือนที่สองของชีวิตในครรภ์ Embryo มีสมองที่เริ่มทำงานแล้ว ฉะนั้นจะได้อภิปรายถึงเรื่องสมองและเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องตามสมควรต่อไป

ระบบประสาทส่วนกลาง
ก่อนอื่นขอให้ศึกษาภาพต่อไปนี้
health-0093 - Copy

ภาพนี้ไม่ได้มุ่งหมายแสดงว่าคนเรามีกำเนิดร่วมกับปลา ไก่ วัว ต้องการแสดงให้เห็นว่าบรรดาสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เริ่มชีวิตด้วยการเป็น Embryo คล้ายกันในตอนแรกเท่านั้น ต่อไปก็พัฒนาไปตามธรรมชาติ
ซึ่งมีหลักใหญ่คือ มีส่วนหัวและส่วนหาง ซึ่งพัฒนาเป็นกระดูกสันหลังเหมือนๆ กัน เมื่อถึงขั้นเกิดสมองขึ้น สมองตั้งอยู่ในหัวแล้วยื่นเข้ามาในส่วนกระดูกสันหลัง เป็นลักษณะเหมือนกันในสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด สำหรับในมนุษยชาติวัยแรกเกิด ขอให้ศึกษาจากภาพต่อไปนี้
health-0094 - Copy
เริ่มกำเนิดระบบประสาท (ภาพจาก Houston และคณะ, 1979 หน้า 49)

ภาพซ้ายสุดคือ Neural tube ได้กล่าวถึงแล้วในหัวข้อพัฒนาจากเซลล์มาเป็นคน ช่วงเวลา Germinal period ถัดมาทางขวาเป็นการแสดงพัฒนาเป็นส่วนของสมอง สีขาวคือ ไขสันหลัง (Spinal cord) สีเทาเป็น สมองส่วน Hind brain สีเขียวเป็นสมองส่วน Mid brain และสีเขียวแกมเทาคือ สมองส่วน Fore brain รูปทางขวาแสดงการพัฒนาในรายละเอียดต่อมา

Houston และคณะ (1979,หน้า 48) อธิบายว่าในช่วงเวลา Fetal period เราเห็นโครงสร้างของระบบประสาทเป็นท่อเนื้อเยื่อประสาท (Neural tissue) ส่วนล่างของท่อเป็นไขสันหลัง ต่อมาตอนล่างของท่อแตกแขนงเป็นเนื้อเยื่อประสาทยืดไปตามยาว จะกลายเป็นระบบประสาทเชื่อมถึงร่างกายส่วนนอก ส่วนบนของท่อขยายออกไปเป็นสมอง ส่วนนี้โตเร็วมาก ในไม่ช้าก็แบ่งหน้าที่ไปต่างๆ กัน

1. ขั้นตอนพัฒนาการสมองของ Fetus
ได้มีผู้เรียงลำดับพัฒนาการของสมองของ Fetus ซึ่งขอนำมาเสริมไว้ในที่นี้คือ Schell & Hall (1979, หน้า78) กล่าวว่า พัฒนาการของระบบประสาทส่วนกลางคือสมองและไขสันหลัง ใช้เวลารวดเร็วมาก ดังนี้

1.1 เริ่มตั้งแต่เป็นเซลล์กลุ่มหนึ่ง แล้วจำแนกหน้าที่พร้อมขยายจำนวนขึ้น จนรูปทรงเหมือนท่อ พอยาวออกก็โค้งที่ปลาย (ตอนบน) ปลายนี้พัฒนาเป็นสมอง

1.2 เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่ 4 มีไขสันหลังและสมองขนาดพอให้มองเห็นได้ว่ามี 2 ส่วน (Lobe)

1.3 ในสัปดาห์ที่ 16 โครงสร้างส่วนรวมของสมองมีรูปคล้ายสมองผู้ใหญ่ พร้อมทั้งมีสมองชั้นนอก (Cortex) ผู้เขียนตำราภาษาไทยมักเรียกว่าเปลือกสมอง คือแผ่นเซลล์ประสาทคลุมซีก Cerebral (ชื่อเฉพาะของสมองส่วนหนึ่ง) แผ่ไปตลอดส่วนล่างของสมอง

1.4 ราวสัปดาห์ที่ 32 ถึง 36 Cortical area (ชื่อเฉพาะของแดนส่วนหนึ่งในสมอง) ซึ่งมีหน้าที่สั่งพฤติกรรมเคลื่อนไหวและประสาทสัมผัสก็ถึงวุฒิภาวะของมัน พร้อมกับส่วนต่างๆ ของแดนการฟังเบื้องต้น แต่เมื่อคลอดนั้นส่วนใหญ่ของสมองชั้นนอกยังไม่บรรลุวุฒิภาวะอยู่มาก

2. สมองสามชั้นในวัย Fetus
ตามที่กล่าวข้างบนถึงส่วนของสมองที่ยื่นเข้ามาในกระดูกสันหลังนั้น Scarr และคณะ (1986, หน้า 144) บรรยายเพิ่มเติมว่า สมองมี 3 ชั้น ชั้นแรกคือ ก้านสมอง (Brain stem) ตั้งอยู่ที่ศีรษะต่อกับคอ ควบคุมหน้าที่ร่างกายรอบนอก เช่น หายใจโดยอัตโนมัติ ย่อยอาหาร และการเต้นของหัวใจ ก้านสมองถึงขั้นมีวุฒิภาวะอย่างดีเมื่อเด็กกำเนิด ถ้าไม่มีสมองส่วนนี้แล้วเด็กที่คลอดออกมาจะไม่มีชีวิตรอด ชั้นต่อมาเรียกว่า Mid brain หุ้มรอบก้านสมอง ควบคุมปฏิกิริยารีเฟลกซ์ เช่น การตื่นตกใจและถอยหนีจากเครื่องเร้าที่นำความเจ็บปวด คุมการตื่นนอน ประสาทสัมผัส อารมณ์ และพฤติกรรมอื่นๆ ที่ทำโดยไม่ตั้งเจตนา Mid brain พัฒนามากแล้วเมื่อเด็กเกิด แต่ยังไม่เท่าระดับผู้ใหญ่ต้องให้เวลาพัฒนาอีกหลายเดือน Neocortex เป็นชั้นนอกของสมอง ควบคุมความคิด การตัดสินใจ การประสานงานกันของอวัยวะที่ทำการเคลื่อนไหว และการพูด สมองส่วนนี้ทำหน้าที่ไม่ได้ดีเมื่อเด็กคลอดออกมาใหม่ๆ จะบรรลุถึงวุฒิภาวะเต็มที่ในหนุ่มสาว อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กอายุ 6 ขวบ สมองก็พัฒนาได้ประมาณร้อยละ 90 แล้ว และจะพัฒนาได้บริบูรณ์ในวัยรุ่น

3. น้ำหนัก ขนาด รูปร่างของสมอง
มีผู้แสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสมองที่น่ารู้ คือ สมองเมื่อเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักร้อยละ 25 ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่ เป็นสัดส่วนใหญ่มากเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่น เช่น หัวใจและปอดหนักประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักในผู้ใหญ่ นอกจากใหญ่แล้วยังโตเร็วด้วย เมื่อทารกอายุ 6 เดือน สมองหนักเพิ่ม 2 เท่าพออายุ 3 ขวบ เพิ่มเป็น 3 เท่า อย่างไรก็ดีสมองของทารกเกิดใหม่ยังไม่ถึงขั้นบริบูรณ์ ถ้าเปรียบเทียบทางกายวิภาคกับสัตว์อื่น เช่น สัตว์พวกไพรเมทที่ไม่ใช่มนุษย์ (คือลิงใหญ่และเล็ก) เมื่อมันเกิดมีสมองหนักตั้งร้อยละ 40 ถึง 60 ของน้ำหนักสมอง พวกมันที่โตเต็มที่ นอกจากสมองทารกไม่มีน้ำหนักมากเท่าสัตว์พวกนั้นแล้ว การทำหน้าที่ต่างๆ ก็ยังไม่ดีนักด้วยพฤติกรรมของทารกเป็นไปตามปฏิกิริยารีเฟลกซ์มากกว่า ดังนั้นทำให้ทารกไม่สามารถช่วยตัวเองได้ (McGraw, 1987, หน้า 288-290) โปรดดูภาพสมองของเด็กในครรภ์ ซึ่งแสดงความเปลี่ยนแปลง ขนาดและรูปร่างไปตามเวลาต่อไปข้างล่างนี้
health-0096 - Copy
พัฒนาการของสมอง Fetus ภาพจาก McGraw, 1987 หน้า 289

ความสามารถและพฤติกรรมของ Fetus
ได้กล่าวมาแล้วในที่อื่นๆ ว่า Fetus แสดงพฤติกรรมหลายอย่างที่แม่รู้สึกได้ นักวิจัยสมัยปัจจุบันทราบโดยการใช้เครื่องมือต่างๆ เรื่องเหล่านั้นมักเป็นไปทางกายภาพ ในที่นี้จะกล่าวถึงความสามารถและพฤติกรรมของ Fetus ที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสและอารมณ์ตามสมควร

1. การได้ยินของ Fetus
ปัญหาว่า Fetus ได้ยินอะไรบ้างหรือไม่นั้น มีผู้พบคำตอบมากในการเล่นของเด็กทารก

2. Fetus อ่อนไหวตามสถานการณ์ของแม่
ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถระบุได้ว่า Fetus แสดงความเคลื่อนไหวสนองตอบต่อความโศกเศร้า กลัว และหวาดกังวล ที่กระทบใจแม่ หญิงมีครรภ์คนหนึ่งตกใจอย่างยิ่งกับการอาละวาดของสามีที่เป็นบ้า Fetus เคลื่อนไหวอย่างรุนแรง จนหน้าท้องนูนสูงขึ้นมาก (Papalia & Olds, 1975, หน้า 46-49)

เรื่องทำนองนี้ได้เรียบเรียงไว้อีกบ้างในเรื่องพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่สร้างปัญหา

3. การดิ้นของ Fetus
แม่ที่มีลูกมากกว่า 1 คน บอกได้ว่าลูกแต่ละคนดิ้นไม่เหมือนกัน บางคนดิ้นแรง บางคนดิ้นไม่แรงนัก การดิ้นมี 3 แบบ คือ แบบแรก ใช้แขนขาถองหรือถีบ มักจะเกิดระหว่าง 6 เดือนจนคลอด แบบที่สอง บิดตัวช้าๆ ปรากฏในเดือนที่สามหรือสี่ก่อนคลอด แบบที่สามเป็นการเคลื่อนไหวอย่างกระชั้น ซึ่งเข้าใจว่า Fetus สะอึก เด็กที่ดิ้นแรง เมื่อคลอดออกมาพออายุ 6 เดือน มักจะเป็นเด็กคล่องแคล่วว่องไว (Papalia & Olds, 1975, หน้า 46-49)

4. การเรียนรู้ของ Fetus
ได้มีการทดลองเพื่อตอบคำถามเรื่องนี้ หญิงมีครรภ์ 38 สัปดาห์คนหนึ่ง ได้รับการฉายแสงสว่างจ้า ที่หน้าท้อง Fetus แสดงการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น เห็นได้ว่าแสงสว่างจ้านั้นเป็นสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (คือ Fetus สนองตอบโดยไม่ได้เรียนรู้) แล้วต่อมาทำให้เกิดเสียงดังก่อนเปิดไฟให้มีแสงสว่างจ้า หลังจากจับคู่กันระหว่างเสียงกับแสงหลายครั้งแล้ว ต่อมาให้แต่เพียงได้ยินเสียง Fetus ก็สนองตอบเสียงเหมือนกับสนองตอบต่อแสงเช่นกัน ในวงการเรียนรู้เชื่อว่าการเรียนรู้จากวิธีเช่นนี้ เป็นการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Scarr และคณะ, 1986 หน้า 91)

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า