สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คีลอยด์/แผลปูด(Keloid)

เป็นแผลเป็นที่ปูดโปนและมีขนาดใหญ่กว่าแผลเป็นธรรมดา พบภาวะนี้ได้เฉพาะบางคน เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นก็มักจะกลายเป็นคีลอยด์ได้อีกในรายที่เคยเป็นแล้วคีลอยด์

สาเหตุ
เกิดจากเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นแผลเป็นมีการงอกอย่างผิดปกติ อาจเกิดขึ้นได้กับบาดแผลทุกชนิด เช่น บาดแผลผ่าตัด แผลจากการได้รับบาดเจ็บ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ถูกแมงกะพรุนไฟ รอยฉีดวัคซีนบีซีจี รอยสิว รอยเจาะหู รอยแผลอีสุกอีใส เป็นต้น และอาจมีลักษณะปกติเมื่อหายใหม่ๆ แต่จะค่อยๆ งอกโตขึ้นจนเป็นแผลปูดเมื่อหลายสัปดาห์ต่อมา ซึ่งในบางครั้งคีลอยด์อาจเกิดจากแผลเป็นธรรมดาที่มีอยู่นานแล้วหรือเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่รอยแผลเป็นมาก่อนก็ได้ ส่วนที่เนื้อเยื่อผิวหนังส่วนที่เป็นแผลเป็นงอกผิดปกตินั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงในผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นคีลอยด์ ซึ่งเชื่อว่าโรคนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธ์

อาการ
ก้อนเนื้องอกจะมีลักษณะแข็งและหยุ่นๆ คล้ายยาง เป็นรูปไข่แผ่ออกคล้ายก้ามปู มีสีแดงหรือชมพู ผิวมัน ผู้ป่วยอาจมีอาการคัน กดเจ็บ เนื้องอกนี้อาจคงที่หรือค่อยๆ โตขึ้นก็ได้ และไม่สามารถหายได้เอง ก้อนเนื้องอกนี้พบไดทุกแห่งของร่างกาย และพบมากที่บริเวณหน้าอก หลัง ไหล่ แขนและขา อาจพบเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้

การรักษา
ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใดถ้าขึ้นในบริเวณที่มิดชิดหรือไม่มีลักษณะที่น่าเกลียด แต่มักให้ทาด้วยครีมสตีรอยด์ถ้ามีอาการคัน หรืออาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาสตีรอยด์ เช่น ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์(triamcinolone acetonide) เข้าไปในแผลคีลอยด์ซึ่งจะช่วยให้แผลเป็นฝ่อเล็กลงได้บ้างในรายที่มีก้อนคีลอยด์โตจนน่าเกลียดหรือทำให้ขาดความสวยงาม หรืออาจต้องทำการผ่าตัดในรายที่มีขนาดใหญ่แล้วฉีดยานี้เมื่อแผลเริ่มหายภายใน 1-2 สัปดาห์ หรืออาจรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ก็ได้ เช่น รังสีบำบัด การผ่าตัดด้วยความเย็นที่เรียกว่า ไครโอเซอเจอรี การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. คีลอยด์เป็นเนื้องอกธรรมดาไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด ไม่ใช่มะเร็งหรือเนื้อร้าย

2. ผู้ที่ผิวหนังมีธรรมชาติแตกต่างไปจากคนปกติมักจะทำให้เกิดเป็นคีลอยด์ขึ้น เช่น เมื่อมีบาดแผลมักจะทำให้เกิดเป็นแผลปูดขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการกินของแสลง เช่น เนื้อ หรือไข่ เหมือนที่ชาวบ้านเข้าใจกัน

3. ไม่ควรรักษาคีลอยด์ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเป็นอันขาดเพราะแผลเป็นที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นแผลคีลอยด์ที่ใหญ่กว่าเดิมเสียอีก ดังนั้นภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อมาหลังจากการผ่าตัดควรฉีดยาสตีรอยด์เพื่อช่วยในการรักษาร่วมด้วย

4. ควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้เกิดแผลเป็นขึ้น เช่น การบีบหรือแกะสิว เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า