สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คอตีบ/ดิฟทีเรีย(Diphtheria)

เป็นโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ปัจจุบันพบได้น้อยเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน มักพบในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุ 1-10 ปีโรคคอตีบ

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ โครินแบคทีเรียมดิฟทีเรีย(Corynbacterium diphtheria) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูกน้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยทางเดินหายใจด้วยการไอหรือจามจากผู้เป็นพาหะของโรค

เชื้อคอตีบมีสารพิษทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ บริเวณคอหอย กล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาท ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-7 วัน

อาการ
มีไข้เล็กน้อย ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลียมาก เจ็บคอ กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน

ถ้ากล่องเสียงอักเสบจะมีเสียงแหบ ไอเสียงก้อง มีเสียงฮื้ด(stridor)เมื่อหายใจเข้า หายใจลำบาก ตัวเขียว

กรณีที่พบได้น้อย เช่น หากโพรงจมูกอักเสบอาจทำให้มีเลือดปนน้ำเหลืองไหลออกจากจมูก ส่วนใหญ่จะออกจากจมูกข้างเดียว

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ประมาณ 38.5-39 องศาเซลเซียส  หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเต้นเร็ว
มักพบแผ่นเยื่อสีเทาหรือเหลืองปนเทาคล้ายผ้าเศษผ้าติดแน่นกับเนื้อเยื่อบนทอนซิล คอหอยลิ้นไก่ เพดานปาก เขี่ยออกได้ยาก ถ้าเขี่ยจะมีเลือดออก ต่อมน้ำเหลืองคอโต คอจะบวมมากในบางราย ที่เรียกว่าอาการคอวัว(bull neck) ซึ่งอาจกดทับหลอดเลือดดำบริเวณคอเกิดการคั่งของเลือดทำให้ใบหน้ามีสีคล้ำ

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยมักเสียชีวิตหากเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง คือ ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เนื่องจากแผ่นเยื่อปิดกั้นกล่องเสียง จะพบในวันที่ 2 ของโรค หากไม่ได้รักษาด้วยการเจาะคอช่วยหายใจได้ทันท่วงที

ภาวะแทรกซ้อนจากสารพิษที่ปล่อยออกมาที่สำคัญๆ คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  จะเกิดระหว่างวันที่ 10-14 ของการเจ็บป่วย หรือระหว่างสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 6 โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการคอวัวชีพจรจะเต้นไม่สม่ำเสมอหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย มีอัตราตายจากภาวะนี้สูงถึงร้อยละ 50

เส้นประสาทอักเสบ  ทำให้ร่างกายเป็นอัมพาต อาจมีอาการกลืนลำบาก พูดเสียงขึ้นจมูก กล้ามเนื้อเพดานอ่อนเป็นอัมพาตทำให้ขย้อนน้ำและอาหารทางจมูก มักเป็นในสัปดาห์ที่ 3 ของโรค กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ทำให้ตาเหล่ เห็นภาพซ้อนในสัปดาห์ที่ 5 ของโรค และในสัปดาห์ที่ 6-10ของโรคอาจทำให้แขนขาเป็นอัมพาต อาการเหล่านี้มักเป็นเพียงชั่วคราวและหายไปเองได้ในที่สุด

บางรายหายใจลำบากถึงขั้นเสียชีวิตในสัปดาห์ที่ 5-7 เนื่องจากมีการอัมพาตของกะบังลม

โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่พบได้แก่ ปอดอักเสบ ไตทำงานผิดปกติ เป็นต้น

การรักษา
หากสงสัยว่าเป็นคอตีบให้อีริโทรไม่ซินก่อนแล้วจึงส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

แพทย์มักทำการวินิจฉัยด้วยการนำหนองในลำคอไปตรวจย้อมดูเชื้อ เพาะเชื้อ อาจพบเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติจากการตรวจเลือด อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วยจากการตรวจคลื่นหัวใจ

ให้ยาต้านคอตีบและยาปฏิชีวนะในการรักษา ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น การฉีดด้วยเพนิซิลลินจี 1-1.5 แสนยูนิต/กก./วัน ทุก 4-6 ชม. ถ้าแพ้เพนิซิลลินให้กินอีริโทรไมซิน ขนาด 50 มก./กก./วัน ให้ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์  อาจต้องเจาะคอช่วยหายใจในรายที่หายใจลำบาก

ข้อแนะนำ
1. แยกผู้ป่วย และกำจัดน้ำมูกน้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย
2. เมื่อกลับจากโรงพยาบาลผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเส้นประสาทอักเสบแทรกซ้อน ควรดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะปลอดภัย
3. ถ้าพบแผลเรื้อรังที่ผิวหนังจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยคอตีบอาจเป็นสาเหตุจากเชื้อคอตีบได้

การป้องกัน
1. ฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน(DTP) ตั้งแต่อายุ 2 เดือน
2. ควรได้รับการป้องกันหากได้สัมผัสโรคหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยคอตีบ
-เพาะเชื้อจากคอหอย ติดตามอาการนาน 7 วัน ให้กินยาอีริโทรไมซิน 7 วัน
-ฉีดวัคซีนป้องกันถ้าไม่เคยฉีดมาก่อน ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นหากได้ฉีดป้องกันมานานเกินกว่า 5 ปี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า