สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความเป็นผู้มีใจเบิกบาน (Cheerfulness)

โลกเรานี้ คนที่อยู่อาศัยจะมองในแง่เป็นทุกข์ หรือเป็นสิ่งเลวร้าย หรือมองในแง่ลบก็ได้ หรือจะมองในแง่เป็นสุข เป็นสิ่งที่ดีงาม หรือในแง่บวกก็ได้ ดังมีคำประพันธ์บทหนึ่งว่า

“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
คนหนึ่งตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย”

คำกวีบทนี้ หมายถึง นักโทษสองคนที่ติดคุกอยู่ มีโอกาสมองลอดออกไปจากซี่ลูกกรงที่จะเห็นโลกภายนอกเท่านั้น นักโทษคนหนึ่งมองดูโลก โดยก้มดูต่ำๆ ก็มองเห็นแต่โคลนตม แล้วก็โทษว่า โลกนี้เป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่อีกคนหนึ่งมีกำลังใจดีอยู่เสมอ เมื่อมองออกไปภายนอก ก็
พยายามเงยหน้ามองดูเบื้องสูง ก็เลยเห็นดวงดาวพราวพราย และเห็น โลกเป็นสิ่งงดงามไปได้

คนที่มองโลกในแง่ดี ก็ย่อมทำให้ผู้มองมีจิตใจเบิกบานแจ่มใสได้ง่าย มีอะไรไม่ว่าร้ายแรงเพียงใดเกิดขึ้น ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้อยู่เสมอ คนที่มาเกี่ยวข้องก็รู้สึกอยากจะร่วมเสวนาด้วย เพราะจิตใจที่ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ ย่อมเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่จะจูงใจให้คนอยากเข้าใกล้ ตรงข้ามคนที่ชอบเป็นทุกข์ จับเจ่า เศร้าโศก และขี้วิตกกังวล คนอื่นๆ ก็ไม่อยากเข้าใกล้ อยากอยู่ห่างๆ  หรือเบื่อที่จะคบด้วย

มีภาษิตอีกบทว่า “เมื่อท่านหัวเราะ โลกก็จะร่วมหัวเราะไปกับท่าน แต่เมื่อท่านร้องไห้ ท่านจะต้องร้องไห้เพียงคนเดียว”

คนที่มีคุณสมบัติ ในทางเป็นผู้มีหัวใจเบิกบานอยู่เสมอนั้น บางครั้งก็ช่วยให้เขารอดพ้นจากภยันตรายมาได้ กล่าวกันว่า ในสมัยที่ญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น นายควงได้ใช้คุณสมบัตินี้นำประเทศ ให้รอดจากภาวะบีบคั้นของญี่ปุ่นได้หลายต่อหลายครั้ง นายควงพยายาม ทำเรื่องที่ดูเคร่งเครียด กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮา จนกระทั่งญี่ปุ่นเอง ใจอ่อนไม่อาจบีบบังคับประเทศไทยได้มากนัก

การที่จะฝึกใจให้มีความเบิกบาน สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก ประการแรก ต้องฝึกหัดมองเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแง่ดี หรือมองในทางบวก เรียกว่ามี Positive Thinking ก่อน เมื่อเราประสบเรื่องทุกข์ร้อนใดๆ ก็อย่าให้ความทุกข์นั้นมากัดกร่อนกินใจเรา จงเหยียดเคราะห์กรรมทั้งหลายออกไป มองเป็นเรื่องตลก หรือเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะได้ฝึกจิตใจให้อดทนต่อความยากลำบาก เป็นต้น

ประการต่อมา เราต้องหมั่นคบกับผู้ที่มีอัธยาศัยรื่นเริงเบิกบานแจ่มใส่ หมั่นจัดกิจกรรมที่ทำให้จิตใจเราเบิกบาน เมื่อเกิดความเครียดหรือเหน็ดเหนื่อยจากการงาน ก็ควรพักผ่อน และดูมหรสพเป็นครั้งคราว เรียกว่าหัดมีสันทนาการในชีวิตประจำวัน สันทนาการนั้นอาจเป็นการละเล่นกับเพื่อน กับพี่น้อง เล่นกีฬาต่างๆ ทั้งในร่ม และกลางแจ้ง แม้การเล่นกับเด็กๆ หรือลูกเต้า ก็ถือเป็นสันทนาการได้

ประการที่สาม ควรฝึกใจให้เป็นคนสันโดษ รู้จักหาความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่โลภในสิ่งที่เราไม่อาจมีได้หรือสูงเกินเอื้อมมือคว้า เราอาจมีความสุขกับการอ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นกล้วยไม้ เลี้ยงสัตว์ หรือเล่นดนตรี การมีงานอดิเรกในยามว่างก็จะช่วยให้จิตใจเบิกบานแจ่มใส และเป็นการทำให้สุขภาพกายใจดีขึ้นด้วย ทำให้จิตใจหย่อนคลายจากภาระประจำวัน มีอารมณ์สงบแจ่มใส และงานอดิเรกบางอย่าง ก็อาจช่วยให้มีรายได้พิเศษเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเรายังไม่มีงานอดิเรกก็ควรสำรวจตัวเองว่ามีสิ่งใดที่เราชอบ ลองค้นหาจริงๆ แล้วริเริ่มขึ้นในไม่ช้าก็จะมีสิ่งที่ถูกใจให้เราทำเพลินอารมณ์ได้

ประการที่สี่ สิ่งที่จะทำลายความเบิกบาน หรืออารมณ์สดชื่น แจ่มใส ก็ได้แก่ หัวใจที่เจ้าทุกข์ ความวิตกกังวล เราจงอย่ายอมให้จิตใจเป็นเช่นนั้นนานๆ เพราะจะทำลายนิสัยเบิกบานแจ่มใสได้ ถ้ามีทางระบายความวิตกทุกข์ร้อนกับเพื่อนฝูง หรือกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หรือหาทางปรึกษากับผู้ใหญ่ที่พอแนะช่องทางให้กับเราได้ ก็จงรีบกระทำ เสียโดยเร็ว ถ้าเราสามารถไล่ตัวทุกข์ออกไปจากจิตใจเราได้ ความเบิกบานแจ่มใสก็ย่อมกลับมาหาเรา

ประการสุดท้าย เราต้องหัดฝึกใจตนเอง ถ้าเราปกติเป็นคนที่หน้าบึ้ง หรือเฉยเมย ก็ลองหัดฝืนยิ้มดู ครั้งแรกอาจยิ้มกับกระจก ต่อไปเมื่อพบเพื่อนฝูง หรือคนรู้จักก็ควรหัดยิ้มเป็นการทักทาย ถ้าฝืนถึงขั้นหัวเราะได้ ก็จงฝืนทำ จิตใจเราย่อมสัมพันธ์กับร่างกาย คนที่มีการแสดงออกโดยยิ้มอยู่เสมอ และหัวเราะอยู่เสมอ ในที่สุด เขาจะสามารถขับไล่ความทุกข์ร้อนออกไปได้ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์เราอยู่เองที่ไม่ สามารถจะหัวเราะ หรือยิ้มพร้อมกับมีความทุกข์ขนาดหนักอยู่ในขณะเดียวกัน เดล คาร์เนกี้ นักปราชญ์ชาวอเมริกัน แนะนำว่า จงหัดใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มีความสุข เขาว่า “จงอยู่ในห้องที่มีแต่วันนี้” พระเยซู คริสต์ สอนว่า “จงเลิกวิตกถึงวันพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งนี้จะดูแลตัวของ มันเอง” เพราะฉะนั้น อย่ากังวลว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน จะเอาอะไรดื่ม อย่ากังวลว่า จะมีสิ่งร้ายเกิดขึ้น จงทำชีวิตในวันนี้ให้สุข สดชื่น แจ่มใสให้มากที่สุด แล้วอารมณ์นี้จะเป็นนิสัยเคยชินของเรา เมื่อมีความเคยชินในทางเบิกบานแจ่มใสแล้ว ก็ควรรักษาความเบิกบานแจ่มใสไว้ตลอดวัน

“กาลิทาล” กวีชาวอินเดีย ได้ประพันธ์บทกวีไว้บทหนึ่ง เป็นภาษาอินเดีย ซึ่งได้ถอดความออกเป็นบทกลอนในภาษาไทย ดังนี้

                                      วันนี้
จงเตรียมตัวรับขวัญวันนี้ได้                    เพื่อทำให้ชีวิตจิตสุขสันต์
ในระยะวันนี้อันสั้นนั้น                              ในชีวิตของท่านให้อยู่ดี
ให้แวดล้อมด้วยความสำราญรื่น            ทำกายใจให้สดชื่นย่อมสุขี
ประพฤติแต่คุณงามและความดี             ทำหน้าที่ให้เสร็จสำเร็จไป
เพราะวันก่อนนั้นเป็นเช่นความฝัน       พรุ่งนี้นั้นหาความแน่นอนไม่
แต่ความสุขในวันนี้อาจชี้ชัย                  และทำให้อดีตนั้นคือฝันดี
ยังทำให้อนาคตพลอยสดใส                 มีความหวังมั่นใจได้เต็มที่
เพราะฉะนั้นเตรียมขวัญรับวันนี้             เคารพแต่แสงระวีรุ่งอรุณ

อารมณ์เบิกบานแจ่มใสนั้น เป็นสิ่งที่ปลูกได้ สร้างได้ เช่นเดียวกับนิสัยที่ชอบจับเจ่าเจ้าทุกข์ เราต้องเลือกเอาเองว่า เราอยากจะมีชีวิตแบบใด ถ้าเราคิดว่า การทำตนเป็นคนจับเจ่าเจ้าทุกข์จะทำให้เป็นที่น่าสงสารแก่คนอื่น แล้วจะมีคนที่เห็นใจให้ความช่วยเหลือท่าน ก็นับว่าเป็นความเข้าใจผิด คนที่สามารถทำใจให้สดชื่นแจ่มใสได้ตลอดเวลา ไม่ว่าโชคเคราะห์จะเล่นงานเขาขนาดไหน นั่นแหละที่มีคนชมเชย และเห็นใจ และเต็มใจที่จะช่วยเหลือ คนที่ขี้บ่น ชอบร้องทุกข์ ชอบพูดว่า “แย่ ไม่ไหว จะตายอยู่แล้ว เบื่อจริงๆ เซ็งจริงๆ” เหล่านี้ คนที่ได้รับฟังมักจะเอือมระอา และไม่อยากจะคบหาสมาคมด้วย แต่คนที่มีนิสัยทรหดอดทน กัดฟันสู้กับความทุกข์และอุปสรรคต่างๆ โดยไม่บ่น ไม่ร้องทุกข์ต่างหาก ที่ทำให้เขาผ่านเคราะห์ร้ายไปได้ หากเทวดามีจริง เทวดาก็คงจะเลือกช่วยเหลือคนประเภทหลังนี้ ไม่มีใครอยากจะช่วยคนที่ปล่อยตัวเองตามกระแสโลก และไม่ยอมช่วยตนเองก่อน

นิสัยข้อนี้เอง เป็นเคล็ดลับของมหาบุรุษอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เขาสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเอง

ที่มา:สมิต อาชวนิจกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า