สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความหวังผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์

การที่ผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดนั้น ผู้ป่วยตั้งความหวังไว้อย่างไรบ้าง?
ผู้ป่วยทุกคนย่อมตั้งความหวัง ทั้งในระดับที่รู้สึกตัว และในระดับจิตไร้สำนึก ดังต่อไปนี้

ในระดับที่รู้สึกตัว ผู้ป่วยหวังจะได้รับคำแนะนำ การชี้แนวทาง การสอน และการให้กำลังใจ โดยหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นเอง โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องทำอะไรเลย

ในระดับจิตไร้สำนึกนั้น ผู้ป่วยหวังไว้ว่า นักจิตบำบัดมีความสามารถที่จะบันดาลให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ทุกอย่าง เช่นเดียวกับเด็กเล็กๆ ที่มีความรู้สึกต่อบิดามารดา เรียกเป็น ภาษาอังกฤษว่า Parental Omnipotence นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังหวังจะสร้างความประทับใจให้แก่นักจิตบำบัด และหวังว่าจะได้รับความรักความอบอุ่นเป็นการตอบแทน นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางราย อาจหวังมากจนเลยเถิดถึงกับว่า ต้องการเป็นเพื่อน เป็นคู่รัก หรือแต่งงานกับนักจิตบำบัด

ผู้บ่วยที่มีบุคลิกภาพแบบก้าวร้าว และต่อต้าน Authority อาจหวังว่า ชั่วโมงการรักษาจะเป็น “เวที” สำหรับปะทะคารม หรือโต้เถียงกับนักจิตบำบัด ผู้เขียนมีผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นชาย อายุ 26 ปี มารับการรักษาเพราะว่าเข้ากับผู้ใหญ่ไม่ได้ ผู้ป่วยได้รับการศึกษาจบชั้น ระดับปริญญาตรี ชีวิตในวัยเด็ก เต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้งกับบิดามารดา และพี่น้อง ผู้ป่วยมีนิสัยต่อต้าน Authority อย่างเห็นได้ชัด เมื่อทำการรักษามาได้ประมาณ 6 เดือน วันหนึ่งผู้ป่วยก็พูดขึ้นมาว่า “หมอแน่ใจหรือว่า รู้จักผมดีพอ” ผู้เขียนนิ่งเงียบพักหนึ่ง แล้ว จึงพูดว่า “ทำไมคุณถึงถาม?” ผู้ป่วยพูดตอบว่า “ผมไม่เชื่อว่าหมอรู้จักผมดีพอ มาพนันกันก็ได้ว่า ใครจะรู้จักผมมากกว่ากัน ผมรู้จักตัวผมมาตั้ง 26 ปี ส่วนหมอรู้จักผมเพียงแค่ 6 เดือน หมอกล้าพนันกับผมไหม?”

สำหรับผู้ป่วยบางคน อาจมีความปรารถนาในระดับจิตไร้สำนึก ที่ต้องการลงโทษตัวเอง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยเหล่านี้ จึงมาพบจิตแพทย์เพื่อต้องการพิสูจน์ว่า ตนเองนั้นเลว ชั่วช้า และไม่สามารถรักษาให้หายได้ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ Psychodynamic ของคนไข้ ในระดับจิตไร้สำนึก ที่เกี่ยวกับความหวังของคนไข้ที่มีต่อผู้รักษา

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า