สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความดันตกในท่ายืน(Postural hypotension)

ในคนปกติเมื่อลุกขึ้นยืนจะมีเลือดคั่งที่เท้าเป็นเหตุให้การไหลเวียนของกระแสเลือดลดลง หลอดเลือดแดงจะหดตัวทันทีเพื่อให้ความดันโลหิตอยู่ในภาวะปกติจากการปรับตัวโดยอัตโนมัติของร่างกาย แต่ในบางรายการปรับตัวของกระแสเลือดผิดปกติเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอทำให้มีภาวะความดันต่ำเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลมชั่วขณะ ซึ่งเรียกความดันในลักษณะนี้ว่า ความดันตกในท่ายืนความดันตกในท่ายืน

สาเหตุ
สาเหตุความดันตกในท่ายืนที่พบได้บ่อย เช่น อายุที่มากขึ้น ปริมาตรเลือดลดลงจากจากภาวะตกเลือด ภาวะขาดน้ำ การใช้ยา ประสาทอัตโนมัติเสื่อม เบาหวาน หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ขาดอาหาร โพแทสเซียมในเลือดต่ำ โรคแอดดิสัน โรคพาร์กินสัน กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร เนื้องอกของต่อมหมวกไตฟีโอโครโมไซโตมา ภาวะหัวใจวายรุนแรง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เป็นต้น หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุในบางราย

อาการ
ขณะลุกขึ้นนั่งหรือยืนทุกครั้งจะมีอาการหน้ามืด วิงเวียนจะเป็นลม อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่าตาลายร่วมด้วย มักจะหายเป็นปกติในระยะเวลาสั้นๆ

อาจมีอาการหมดสติหรือชักร่วมด้วยในรายที่เป็นมากๆ แต่จะหายไปเองเมื่อล้มตัวลงนอน

สิ่งตรวจพบ
การวัดความดันในท่ายืนหลังจากยืนขึ้น 2-5 นาทีเทียบกับท่านอน มักพบว่าความดันช่วงบนลดลงมากกว่า 20 มม.ปรอท หรือความดันช่วงล่างลดลงมากกว่า 10 มม.ปรอท หรืออาจจะพบทั้งสองอย่าง หรืออาจพบว่าความดันช่วงบนในท่ายืนน้อยกว่า 90 มม.ปรอท

การรักษา
1. ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ให้น้ำเกลือหรือให้เลือดในภาวะขาดน้ำหรือตกเลือด ปรับยาใช้ให้เหมาะสมถ้าเกิดจากการลดหรือเพิ่มขนาดยา อย่าลุกขึ้นยืนให้นั่งลงก่อนเวลาจะอมยากลุ่มไนเทรต เช่น ไอโซซอร์ไบด์ หรือไนโตรกลีเซอรีน เป็นต้น

2. แพทย์อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อค้นหาสาเหตุที่ชัดเจนเพื่อให้การรักษาตามสาเหตุที่แท้จริงร่วมด้วย

แพทย์อาจให้ยากลุ่ม mineralocorticoid เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน 0.1-0.2 มก.วันละครั้ง หรือให้ยาหดหลอดเลือด เช่น เอฟีดรีน 15-30 มก. หรือไมโดดรีน 2.5-10 มก. วันละ 3 ครั้ง ในรายที่มีอาการบ่อยๆ

ถ้าพบในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วยการรักษาอาจได้ผลดีหรือหายขาด แต่ถ้าพบจากสาเหตุบางอย่างก็อาจได้ผลไม่ดีนัก ซึ่งผลการรักษามักขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบ

ข้อแนะนำ
1. ภาวะความดันตกในท่ายืนไม่ใช่โรคเป็นเพียงอาการที่ปรากฏให้เห็น จึงควรค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

2. ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มากๆ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะจึงไม่ควรดื่มเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เมื่อจะเปลี่ยนจากท่านอนหรือท่านั่งควรทำแบบช้าๆ สามารถเพิ่มปริมาตรเลือดไหลกลับสู่หัวใจทำให้มีอาการน้อยลงได้หากมีการขยับขาก่อนลุกขึ้น หรืออาจจะใช้วิธีใช้ถุงรัดน่องหรือนอนให้ศีรษะสูงก็ช่วยได้เช่นกัน

3. ควรวัดความดันในท่ายืนเทียบกับท่านอนดูว่าเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะความดันตกในท่ายืนหรือไม่ ซึ่งบางครั้งอาจตรวจพบความดันโลหิตต่ำกว่าคนทั่วไปในกลุ่มที่มีสาเหตุไม่ชัดเจนจากอาการเวียนศีรษะ ซึ่งการรักษาและสาเหตุของการเกิดมักแตกต่างกันไปใน 2 กลุ่มนี้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า