สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พัฒนาการทางความคิดวัยเด็กตอนต้น

พัฒนาการทางความคิดในระยะนี้ เป็นการพัฒนาการสืบต่อจากวัยทารกอย่างเป็นการเจริญตามลำดับขั้นที่โดดเด่นหลายประเภท ซึ่งขอนำเสนอตามสมควรดังนี้

พัฒนาการของความคิดตามแนวเพียเจท์
แบ่งเป็น 2 ระยะคือ Preconceptional thought (2-4 ขวบ) และ Intuitive phase (4-7 ขวบ) ขยายความได้ดังนี้

สืบเนื่องมาจากวัยทารกตอนปลาย เด็กมีพัฒนาการทางความคิดเจริญขึ้นเข้าขั้นที่มีชื่อเรียกว่า “เริ่มรู้คิด ด้วยความคิด” (Preconceptional stage) มีลักษณะที่สำคัญคือ เด็กมีอายุ 2 ปีขึ้นไป มีความสามารถพอตัวในการใช้ภาษาสำหรับฟัง พูดเอง เข้าใจ และนำไปคิด ความสามารถทาง สมองพัฒนาขึ้นในด้านความจำและการใช้เหตุผล ความสามารถทั้งสองทางนี้ก่อให้เกิดผลสำคัญคือ รู้จักคิดรวบยอด (Conceptualization) และรู้จักคิดแบบมโนคติ (Imagination) ว่าเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นอะไรจะตามมา เช่น ถ้าลักขนมกิน จะถูกเฆี่ยน ในช่วงอายุนี้ คือ 2 ถึง 6 ขวบโดยประมาณ ตำราแบ่งระยะพัฒนาการเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 อายุระหว่าง 2 ถึง 4 ปี ยังยึดตนเองเป็นหลัก ไม่รู้จักคิดแบบใจเขาใจเรา ไม่สามารถนึกได้ว่าคนอื่นมีความคิดแตกต่างไปจากตนอย่างไร คิดเห็นแต่ด้านที่เหมือนกัน ยังไม่เห็นส่วนที่ต่างกันในวัตถุหรือเหตุการณ์ เช่นเด็กชนบท ได้ยินผู้ใหญ่ชี้บอกว่า “นั่นแน่ะ นายอำเภอ” เด็กเห็นผู้นั้นใส่เสื้อกางเกงสีกากี ต่อมาเห็นใครๆ ใส่เสื้อกางเกงสีกากี ก็สำคัญว่าเป็นนายอำเภอทุกคน

ระยะที่ 2 อายุระหว่าง 4 ถึง 7 ปี เด็กรู้จักสังเกตเห็นความแตกต่าง ทำให้ความคิดพัฒนา ถึงขั้นรู้คิดเปรียบเทียบ คิดแยกวัตถุออกเป็นหมวดหมู่ขั้นตอนได้ รู้จักคิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ได้ ฉะนั้นจึงรู้จักนับจำนวนเลข

ในบรรดาความคิดที่พัฒนาขึ้นใหม่ในช่วงวัยเด็กตอนต้น มีความคิดแบบหนึ่ง ซึ่งนักค้นคว้าจิตวิทยาได้ทำการทดลองและบันทึกผลไว้อย่างน่าศึกษา ความคิดแบบนั้นคือ ความเข้าใจว่าวัตถุทั้งหลายมีการทรงสภาพเดิมของปริมาณน้ำหนัก และปริมาตร แม้ว่ารูปลักษณะภายนอกเปลี่ยนแปลงไป

วิธีทดลองที่แสดงในรูปข้างล่างแสดงให้เห็นว่า เด็กผู้รับการทดลองยังเข้าใจเพียงว่าวัตถุใดมีการเปลี่ยน แปลงรูปภายนอก ปริมาณจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย กล่าวคือยังไม่มีพัฒนาการ “ความเข้าใจการทรง สภาพเดิมของปริมาณ (Conservation of quantity)” เด็กที่เข้าใจเรื่องเช่นนี้ถูกต้อง ควรมีอายุประมาณ 5 ขวบ
health-0183 - Copy
วิธีทดลองหา Cognitive development ในด้านความเข้าใจการทางสภาพเดิมของปริมาณ

เด็กผู้รับการทดลองในรูปนี้ ยังไม่เข้าใจเรื่องการทรงสภาพเดิมของปริมาณ เขาคาดคะเนความมากน้อยของดินน้ำมันจากลักษณะใหญ่เล็กโดยอาศัยรูปภายนอกตามที่คิดเห็น

ความเข้าใจการทรงสภาพเดิมของนํ้าหนัก (Conservation of weight) มีลักษณะนามธรรมแฝงอยู่ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจยากขึ้น เด็กอายุราว 6 ขวบจึงจะมีความเข้าใจเรื่องนี้
health-0183 - Copy1
วิธีทดลองหา Cognitive development ในด้านความเข้าใจการทรงสภาพเดิมของน้ำหนัก

เด็กผู้รับการทดลองในรูปนี้ยังไม่เข้าใจเรื่องการทรงสภาพเดิมของน้ำหนัก

แผนภูมิต่อไปนี้ แสดงตัวอย่างการทดลองเรื่องพัฒนาการทางความคิด ขั้นตอนที่ 2
ตัวอย่าง : Preoperational Thought แสดงด้วยการทดลอง
health-0184 - Copy
ภาพจาก Lefrancois, 1990, หน้า 161

Lefrancois (1990, หน้า 260-262) อธิบายว่า ได้มีผู้นำเรื่องขั้นตอนของความคิดของเพียเจท์ ไปทำการศึกษาทดลองกับเด็กทั่วโลก ได้ข้อสรุปว่าขั้นตอนความคิดของเด็กมีการพัฒนาตามลำดับขั้น เหมือนกันหมด แต่แตกต่างกันในเรื่องระยะอายุที่ต้องพัฒนา ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะสังคมและวัฒนธรรมของเด็กที่ถูกทดลอง

เด็กคิดโดยเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentrism)
ในระยะนี้เด็กยังไม่สามารถเข้าใจแนวคิดของผู้อื่น เช่นถ้าให้รูปที่มีทรง 3 ด้านให้เด็กดูและถามเด็กว่า เด็กอื่นๆ จะเห็นเป็นรูปทรงอย่างไรถ้ามองดูอีกด้านหนึ่ง เด็กจะอธิบายไม่ได้แต่จะอธิบายตามที่ตนมองเห็นเท่านั้น หรือเมื่อเด็กปิดตา เด็กก็จะคิดว่า “ถ้าฉันไม่เห็นเธอ เธอก็ต้องไม่เห็นฉัน เช่นเดียวกับฉันไม่เห็นเธอ”

ไม่สามารถเห็นความแตกต่างของความเป็นจริงกับความนึกฝัน
เด็กที่ดูโทรทัศน์เรื่อง ซุปเปอร์แมน แล้วทำตัวเป็นซุปเปอร์แมน เพราะไม่สามารถเข้าใจว่า ซุปเปอร์แมนไม่มีจริงๆ การเล่นสมมุติของเด็กสะท้อนแนวคิดด้านนี้ของเด็ก

พัฒนาความเข้าไจเรื่องเวลา ระยะห่าง และขนาด (Time, space and size)
ในวัยทารกเด็กจะไม่เข้าใจความหมายของ “เมื่อวานนี้” “เดือนที่แล้ว” “วันพรุ่งนี้” “เดือนหน้า” หรือ “ใกล้” “ไกล” “เล็ก” “ใหญ่” แต่เด็กวัยเด็กตอนต้นจะมีความเข้าใจเรื่องเวลา ระยะห่าง และขนาด ได้แล้ว

พัฒนาความเข้าใจเรื่องการจัดกลุ่ม (Classification)
เพียเจท์ และอินเฮลเดอร์ (1959) ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับพัฒนาการด้านนี้ของเด็กอย่างมาก (อ้างจาก Papalia & Olds, 1975, หน้า 282-283)

วิธีการ : ให้เด็กอายุต่างๆ กัน เลือกของที่ทำด้วยพลาสติก มีขนาด สีต่างๆ กัน เข้าด้วยกัน เป็นกลุ่ม ผลปรากฏว่า

เด็กอายุ 2 1/2-4 1/2 จัดกลุ่มตามรูปเส้นที่ตนมองเห็น (Figure) ซึ่งมักเป็นรูปเส้นตรง และวงกลม

เด็กอายุ 4 1/2 – 6-7 มีวิธีการจัดกลุ่มต่างๆ กันไปหลากหลาย คือบางคนจัดกลุ่มตามสี บางคนจัดกลุ่มตามรูปทรง บางคนจัดกลุ่มตามเส้นสามเหลี่ยม บางคนจัดกลุ่มตามรูปวงกลม บางคนจัดกลุ่มตามรูปสี่เหลี่ยม แต่ในที่สุดเด็กในวัยเด็กตอนต้นช่วงสุดท้าย (ประมาณ 7 ขวบ) จะจัดกลุ่มตามสี ขนาด หรือรูปทรง เท่านั้น กล่าวคือเมื่อสิ้นสุดวัยเด็กตอนต้น การจัดกลุ่มของเด็กมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

พัฒนาความเข้าใจเรื่อง “ชุด” (Seriation)
เด็กวัยเด็กตอนต้นจะพัฒนาความเข้าใจแนวคิดเรื่องสิ่งที่มาด้วยกัน “เป็นชุด” ดังนั้นจึงสามารถจัดแจงกับวัตถุต่างๆ ที่ตนมองเห็นให้เข้าชุดกันได้ เช่น เสื้อผ้า ของใช้ ของเล่น รูปภาพ ฯลฯ เพียเจท์ (1952) ได้ทำการทดลองความสามารถเข้าใจความคิดของเด็กวัยตอนต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนำจำนวนก้านไม้หลายขนาดมาทำการทดลองกับเด็ก

ขั้นแรก : ให้เด็กบอกว่าก้านไม้อันไหนยาวที่สุด และก้านไหนสั้นที่สุด เด็ก 4,5 ขวบ จะสามารถตอบข้อคำถามนี้ได้ถูกต้องเกือบทุกคน

ขั้นสอง : ต่อมาเขานำด้านไม้เหล่านั้นมาเรียงจากสั้นสุดไปยาวสุดคล้ายขั้นบันได (ภาพ ก) แล้วทำให้พังเสีย แล้วบอกให้เด็กทำขึ้นมาใหม่เหมือนรูปเดิม เด็ก 5,6 ขวบจะทำได้ แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เด็ก 3-4 ขวบทำได้ แต่ทำได้เฉพาะท่อนบนที่มีรูปคล้ายขั้นบันได (ภาพ ข) จึงกล่าวได้ว่า เด็กเล็กๆ อาจสามารถมีแนวคิดเรื่องการจัดเรียงเป็นชุดได้แล้วแต่ชุดต้องมีจำนวนน้อย
health-0186 - Copy

ขั้นสาม : เด็กที่สามารถผ่านกระบวนการจัดชุดได้มากแล้ว เพียเจท์เรียงก้านไม้ชุดใหม่ที่มีขนาดต่างๆ แต่เว้นช่องบางช่อง เพื่อให้เด็กสอดใส่ก้านไม้เข้าไปให้เป็นรูปขั้นบันได (ภาพ ค) ปรากฏว่าเด็ก 6-7 ขวบ สอดได้ตรงตามช่อง แต่เด็ก 5-6 ขวบ สอดใส่ให้ตรงตามช่องไม่ได้ แต่หากให้ จัดเป็นแถวเหมือนขั้นบันไดจะทำได้
health-0186 - Copy1
(ภาพ ก, ข, และ ค มาจาก Scarr et al., 1986, หน้า 351)

การทดลองนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความเข้าใจของเด็กค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด (ภาพ ข) คือจัดได้เฉพาะชุดที่มีจำนวนน้อย การมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเด็กยังไม่กว้างไกล จนกระทั่งอายุ 5-6 ขวบ การมองเห็นความสัมพันธ์จึงพัฒนาขึ้นไปอีก 1 ขั้น และเมื่ออายุประมาณ 6-7 ขวบจึงจะเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้ากับสิ่งที่สูญหายไป (Papalia & Olds, 1975, หน้า 280-282)

ความเข้าใจเรื่องส่วนรวมกับส่วนย่อย (Class inclusion)
เด็กวัยเด็กตอนต้นยังแยกไม่ค่อยถูกต้องเรื่อง “ส่วนย่อย” กับ “ส่วนรวม”

ตัวอย่าง : ผู้ทดลองถือดอกกุหลาบเหลือง 4 ดอก และดอกไม้อื่นๆ อีก 4 ดอกในมือ แล้วถามเด็กว่า ถ้าผู้ทดลองทำช่อดอกไม้ด้วยดอกกุหลาบเหลือง และให้เด็กทำช่อดอกไม้ด้วยดอกไม้ทั้งหมด ใครจะมีช่อดอกไม้ใหญ่กว่ากัน

เด็กตอบว่า : ของผู้ทดลอง

คำตอบนี้แสดงว่าเด็กยังไม่เข้าใจว่าส่วนย่อยมีจำนวนน้อยกว่าส่วนรวมทั้งหมด (ดอกไม้ทั้งหมด) เด็กไม่เข้าใจว่าดอกกุหลาบเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของดอกไม้ทั้งหมด เด็กอายุประมาณ 7 ขวบ ขึ้นไป จึงจะสามารถตอบได้ว่าช่อดอกไม้อื่นๆ เท่ากับช่อดอกกุหลาบเหลืองของผู้ทดลอง และจะเข้าใจว่า คำว่าดอกไม้หมายรวมถึงดอกไม้หลายชนิด (Papalia & Olds, 1975, หน้า 282)

ความจำ
ความจำเป็นส่วนของความคิดและสติปัญญา    เด็กเริ่มพัฒนาความจำมาเป็นลำดับขั้นตั้งแต่วัยทารก เมื่อเขาอายุประมาณ 4 เดือน เด็กเริ่มจำได้ว่า วัตถุบางอย่างแม้ว่าหายลับไปจากสายตา แต่วัตถุนั้นจะยังคงดำรงอยู่ประมาณอายุ 6 เดือนเด็กจะเริ่มจำ “แม่” ของตนได้ และพอประมาณ 8 เดือนเขาจะ “มองหา” วัตถุที่เขารู้จักและมีคนนำไปซ่อนไว้ การเริ่มเรียนรู้ และเข้าใจภาษาก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าเด็กทารกพัฒนาความจำขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ วัน

เด็ก 3-4 ขวบ จำเรื่องราวหรือสิ่งของที่ล่วงไปแล้ว หรือที่เด็กเคยเห็นหลายเดือนมาแล้วได้ เช่น คุณป้าที่มาเยี่ยมเมื่อ 4 เดือนก่อน สวมเสื้อสีขาว ใส่ผ้าถุงสีฟ้า ซื้อไอศกรีมแท่งสีส้มมาให้ ทั้งๆ ที่รายละเอียดเหล่านี้ผู้ใหญ่อาจไม่ใส่ใจจำ

สมรรถภาพเชิงภาษาของเด็ก เช่น การจำคำศัพท์ต่างๆ เพิ่มขึ้นรวดเร็วมากในระยะวัยเด็กตอนต้น เด็กวัยนี้ชอบเล่นและชอบจำคำและเสียงแปลกๆ ดังนั้นเด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของหลายภาษา จะเรียนภาษาได้ดีกว่าผู้ใหญ่มาก สิ่งที่มีความหมายเป็นพิเศษกับเด็ก เด็กมักจะจำได้ดี  ประสบการณ์ที่ประทับใจเด็กทั้งบวกและลบ เด็กมักจะจำฝังใจไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กจะจำสิ่งที่สอนอย่างเป็นระเบียบขั้นตอนได้ดี แต่ถ้าให้เด็กจัดระบบระเบียบเองเพื่อจดจำ เด็กจะจำไม่ใคร่ได้ หรือถ้าจะให้จำย้อนลำดับขั้น เช่น จาก 10 ไป 0 (3-4 ขวบ) เด็กก็จำไม่ใคร่ได้เช่นกัน หรือถ้าให้เล่านิทานย้อนปลายเรื่องไปต้นเรื่องเด็กก็จะสับสน

เนื่องจากระยะนี้ เป็นระยะที่เด็กสามารถจดจำเสียงและเริ่มแยกแยะประเภทของเสียงได้แล้ว การสอนเด็กร้องรำทำเพลง หรือแม้แต่สอนดนตรีง่ายๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เด็กสนุกสนาน เบิกบาน และรักความไพเราะของเสียงเพลงและเสียงดนตรี

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า