สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พัฒนาการทางความคิดวัยเด็กตอนกลาง

โลกของเด็กวัยเด็กตอนกลาง เป็นโลกที่ขยายขอบเขตกว้างขวางทางสังคมและความคิด การเริ่มเรียนในโรงเรียนอย่างจริงๆ จังๆ การได้มีกลุ่มเพื่อนร่วมวัยมากหน้าหลายตา วิชาต่างๆ ที่เด็กได้มีโอกาสได้เรียนอันหลากหลาย ทำให้ขอบข่ายความคิด สติปัญญาของเด็กขยายทั้งแนวกว้างและแนวลึกตามวัย

เนื่องจากวัยเด็กตอนกลางเป็นระยะเวลาที่เป็นการ “วางรากฐานทางการศึกษา” ด้านความรู้พื้นฐาน ด้านการอ่าน การเขียน การคิดเลข การพัฒนาทักษะที่ปราณีตขึ้น (Fine motor) (เช่นการทำการฝีมือ การวาดเขียนที่มีรายละเอียดมากขึ้น ฯลฯ) ซึ่งการพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ ต้องอาศัยเชาวน์ปัญญาและต้องมีวิธีการเรียนรู้ จึงจะมีสัมฤทธิผล

เด็กที่พัฒนาสมวัยย่อมสามารถนับเลขย้อนหลังได้ ท่องสูตรคูณได้ รู้จักดูนาฬิกา ความสามารถใช้เหตุผลเจริญยิ่งขึ้น รู้จักใช้ความคิดว่าอะไรเป็นต้นเหตุและจะเกิดอะไรเป็นผล เด็กฉลาดบางคนยังรู้จักวิพากษ์วิจารณ์อีกด้วย สามารถเข้าใจกฎระเบียบและคำสั่งดีขึ้น เป็นเวลาเหมาะที่จะสอนและฝึกระเบียบวินัย

พัฒนาการทางสติปัญญาซึ่งเกี่ยวเนื่องกันกับความคิด ตั้งอยู่บนรากฐานของการปรับตัวในการเข้ากลุ่ม ถ้าเด็กมีกลุ่มดี เข้ากับกลุ่มเพื่อนร่วมวัยได้ และไม่มีความขัดแย้งกับบิดามารดาและครู เด็กก็มี โอกาสฝึกฝนพัฒนาการทางด้านสติปัญญาโดยปลอดโปร่ง ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า พัฒนาการทางด้านสังคม และพัฒนาการทางสติปัญญา มีอิทธิพลส่งเสริมซึ่งกันและกัน

เด็กคนใดที่มีฐานไม่มั่นคงทางวิชาการด้านต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็กตอนกลาง จะเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านบุคลิกภาพ ด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านการเรียนรู้ และด้านอื่นๆ ในอนาคตเป็นอันมาก อนึ่ง มีการ แข่งขันสูงมากทางวิชาการในสังคมสมัยใหม่ นักจิตวิทยาพัฒนาการสมัยปัจจุบัน จึงให้ความสนใจ ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านความคิด สติปัญญาของเด็กวัยนี้ รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาการเรียน เด็กพิเศษ ประเภทต่างๆ วิธีการช่วยเหลือเด็กพิเศษ และวิธีช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการเรียนรู้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนปี ค.ศ.1980

สติปัญญา : คำจำกัดความ
ในระยะวัยเด็กตอนกลาง พัฒนาความคิดสติปัญญาของเด็ก จะพัฒนาได้เจริญมาก เพราะโดยพื้นฐานทางกาย เด็กสามารถคิดเป็นเหตุเป็นผล เริ่มเข้าใจแนวคิดเชิงนามธรรมพื้นฐานง่ายๆ เข้าใจแนวคิดเชิงเลขง่ายๆ ทางภาษาพัฒนาเต็มทุกขั้นตอนตั้งแต่วัยเด็กตอนต้น ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับเด็กจะเริ่มเล่าเรียนเขียนอ่านอย่างจริงๆ จังๆ ในกระบวนความรู้ความคิดที่จะเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และที่จะเป็นเสมือนเมล็ดพืชพันธุ์ เพื่อเจริญงอกงามต่อไปในภายภาคหน้า

เด็กจะเรียนรู้วิชาใดๆ ได้ดีมากน้อยเพียงใด นอกจากจะขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่บ้าน ที่โรงเรียน เด็ก เพื่อนและครูที่เด็กผูกพันด้วยแล้ว ยังขึ้นกับลักษณะสติปัญญาเฉพาะตัวของเด็ก คำว่าสติปัญญา เป็นคำที่เราท่านมักใช้กันบ่อยๆ เป็นคำสามัญที่คุ้นหู แต่หากจะตั้งคำถามว่า คำนี้หมายความว่าอย่างไร คงได้รับคำตอบหลายแนวคิด เนื่องจากการพัฒนาความคิด มักควบคู่กันไปกับสติปัญญา ดังนั้น จึงใคร่เสนอความหมายของคำว่า สติปัญญาตามที่ได้มีการ ศึกษาค้นคว้ากันมาในวงการจิตวิทยาอย่างยาวนาน โดยจะอภิปรายในแง่ของประวัติความเป็นมา ประกอบตามสมควร เนื้อหาที่บรรยายต่อไปนี้ เก็บใจความมาจาก Papalia & Olds, (1975) และ Lefrancois (1990)

คำว่าสติปัญญาที่ใช้ในที่นี้ แปลมาจากคำว่า “Intelligence” คำนี้มีความหมายเชิงนามธรรม บางคนอธิบายว่า สติปัญญาเป็นสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม พัฒนาเป็นความสามารถอันหลากหลายของบุคคล บ้างก็อธิบายว่าเป็นสมรรถภาพเฉพาะตัวที่หลากหลายของแต่ละบุคคล บ้างก็อธิบายว่า สติปัญญาคือ การรู้จักใช้เหตุผล การมีความคิดสร้างสรรค์ และการรู้จักปรับตัว

Wechsler (1944) ให้คำจำกัดความว่า สติปัญญา คือ ความสามารถที่จะ “กระทำอย่างมีจุดมุ่งหมาย คิดอย่างมีเหตุผล และจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ” คำจำกัดความนี้สอดคล้องกับแนวความคิดของ Piaget ที่เชื่อว่า พฤติกรรมการปรับตัวเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสติ ปัญญา นักจิตวิทยาสมัยใหม่ ต่างเห็นพ้องกับ Piaget ว่า มีหลักฐานที่เด่นชัดตั้งแต่เด็กแรกเกิดที่ระดับ สติปัญญาสัมพันธ์กับรูปของพฤติกรรมการปรับตัว อย่างไรก็ตาม สติปัญญามีความหมายที่ซับซ้อนกว่านั้น และการให้คำจำกัดความสติปัญญาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งคงจะเป็นเรื่องยาก

1. สติปัญญาในเชิงองค์ประกอบของความสามารถทั่วไป
นักทฤษฎีในช่วงแรกๆ เช่น Binet, Simon, Goddard และ Terman เชื่อว่าสติปัญญา คือ องค์ประกอบรวมทั้งหมด ที่มีอิทธิพลต่อความสามารถและกิจกรรมเฉพาะตัวบุคคล ยิ่งเรามีสติปัญญา มากเท่าใด เรายิ่งจะทำหรือมีความสามารถในด้านต่างๆ มากขึ้นและดีขึ้น ความสามารถพื้นฐานถูกเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ติดมากับลักษณะทางพันธุกรรม และจะคงอยู่อย่างถาวรตลอดชั่วชีวิต เราอาจขยายระดับ ของสติปัญญาได้ในระดับหนึ่งแต่ก็อยู่ในวงจำกัด

2. สติปัญญาตามทฤษฎี 2 องค์ประกอบ
Charles Spearman (1927) ได้เสนอว่า สติปัญญาแบ่งได้เป็น 2 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือ องค์ประกอบ g ซึ่งเป็นตัวแทนของสติปัญญาพื้นฐานทั่วไป (General intelligence) ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อกิจกรรมการกระทำทั่วไป แบบทดสอบวัด IQ (เช่น Stanford-Binet) ก็จะวัดองค์ประกอบ g นี้ องค์ประกอบด้านนี้มีคำอธิบายว่าเป็น “General fund of mental energy” ซึ่งอธิบายลักษณะการมีพลังทางจิตใจ ที่จะดำเนินการต่างๆ คนที่มีความสามารถสูงด้านหนึ่งก็จะมีความสามารถสูงในอีกด้านหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน หรือมีความสัมพันธ์กันอีกด้วย องค์ประกอบที่สองเรียกว่าเป็นองค์ประกอบ s (Specific abilities) เป็นส่วนที่บุคคลแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตน ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น คนที่มีความสามารถดียิ่งทางภาษา อาจจะทำคะแนนไม่ได้ดีทางคณิตศาสตร์

3. สติปัญญาที่เป็นความสามารถเฉพาะด้าน 7 ด้าน
Thurstone (1938, 1941) นักจิตวิทยาการเรียนรู้คนสำคัญ ได้อธิบายว่า สติปัญญาของมนุษย์ หมายถึง ความสามารถเฉพาะด้านในหลายๆ ด้าน โดยเขาตั้งชื่อสติปัญญาเฉพาะด้านนี้ว่า ความสามารถพื้นฐานทางจิต (Primary mental abilities) (Papalia & Olds, 1975)

Thurstone ได้ศึกษาความสามารถเฉพาะด้าน (S factor) ต่อจาก Spearman โดยใช้วิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis) โดยให้เด็กทำแบบทดสอบวัดความสามารถด้านต่างๆ เช่น คำศัพท์ การอ่านตัวเลข ฯลฯ Thurstone ได้สรุปสมรรถภาพเฉพาะด้านทางด้านสติปัญญาของมนุษย์ว่ามีด้วยกัน 7 ด้าน คือ

S (Space) สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของเส้นเชิงเรขาคณิต จากหลายมุมมอง

N (Number) ความสามารถในการคิดคำนวณ

P (Perceptual speed) ความสามารถในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างว่องไว และเห็นได้ในรายละเอียด

V (Verbal meanings) ความสามารถเชิงเข้าใจภาษา และความหมายของภาษา

W (Word fluency) ความคล่องแคล่วในการใช้คำศัพท์ต่างๆ

M (Rote memory) รู้จักจำเรื่องต่างๆ

I (Induction) สามารถใช้เหตุผลอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้จริงจัง

4. ความสามารถทางสติปัญญา : องค์ประกอบใหญ่ๆ 3 ด้าน

Guilford (1959) ได้ทำการวิเคราะห์แยกองค์ประกอบเพิ่มเติมต่อมา และสรุปว่า ความสามารถทางสติปัญญาเกิดจากการมีความสัมพันธ์ระหว่างกันขององค์ประกอบใหญ่ๆ 3 ด้าน คือ ด้าน operation (วิธีที่เราคิดมี 5 วิธี) ด้าน contents (สิ่งที่เราคิด 4 ด้าน) และด้าน products (ผลของการคิด คำนึงถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยวิธีการคิดที่แตกต่างกันรวม 6 ด้าน) ด้วยลักษณะย่อยขององค์ประกอบใหญ่ๆ 3 ด้าน ทำให้เกิดลักษณะย่อยของสติปัญญา 120 (5x4x6) ลักษณะย่อย

องค์ประกอบหลัก 3 ด้านของสติปัญญามีรายละเอียดดังแสดงด้วยแผนภูมิข้างล่างนี้
………………………………………………………………………………
ด้าน Operation – วิธีที่เราคิด:
1. Cognition (การค้นพบ ค้นคว้า การรับรู้และจดจำได้)
2. Memory (การเก็บไว้ในหน่วยความจำ การระลึกถึงได้ในภายหลัง)
3. Divergent thinking (การหาคำตอบใหม่ๆ จากการสำรวจค้นคว้า และหาคำตอบอันหลากหลาย)
4. Convergent thinking (การสรุปหาคำตอบ 1 คำตอบ หรือคำตอบที่ดีที่สุดถูกต้องที่สุด)
5. Evaluation (การประเมินค่า ในด้านความเหมาะสมถูกต้องขององค์ความรู้)

ด้าน Content – สิ่งที่เราคิด ได้แก่
1. Figural (ข้อมูลข่าวสารด้านรูปธรรมที่เกิดจาการรับรู้)
2. Symbolic (คำศัพท์ต่างๆ และจำนวนนับ)
3. Semantic (ถ้อยคำที่มีความหมายและแนวคิด)
4. Behavioral (เชาวน์ปัญญาเชิงสังคม)

ด้าน Product – เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการที่เราได้คิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือคือผลรวมของสิ่งที่เราคิดและวิธีคิด ได้แก่
1. Unit (คำ 1 คำ, จำนวนนับหนึ่งหน่วย หรือความคิดเห็น 1 อย่าง)
2. Classes (ชุดของ Unit ที่สัมพันธ์กัน)
3. Relations (ความสัมพันธ์กันระหว่าง Class และ Unit)
4. Systems (แนวคิดที่จัดระบบอย่างมีเหตุผล)
5. Transformation (การเปลี่ยนแปลง การขยายความหมาย การจัดระบบ การวางระเบียบแบบแผน)
6. Implication (เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากข้อมูลที่รับรู้)
……………………………………………………………………………………………………..
แผนภูมิแสดงองค์ประกอบหลัก 3 ด้านของสติปัญญา (Guilford, 1959, อ้างจาก Papalia & Olds, 1975, หน้า 311)

องค์ประกอบหลัก 3 ด้านของสติปัญญา แสดงโดยรูปภาพได้ดังนี้
health-0229
จาก Papalia&Olds, 1975, หน้า 310-311

5. องค์ประกอบทางด้านประสาทวิทยาและการเรียนรู้: Fluid & Crystallized
เป็นที่ยอมรับกันว่า เชาวน์ปัญญาของบุคคล ส่วนหนึ่งคือองค์ประกอบด้านประสาทและสมอง รวมทั้งสมรรถภาพทางประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว (Sensorimotor) องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ เป็นส่วนที่เด็กได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม การประสานสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้กับสิ่งแวดล้อม ทำให้มนุษย์มีเชาวน์ปัญญาเจริญขึ้น ดังนั้นประสบการณ์และสภาพแวดล้อม ตั้งแต่วัยทารกสืบมาเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งต่อความเจริญเติบโตของเชาวน์ปัญญา เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่ไม่หยุดอยู่กับที่ แต่สามารถพัฒนาให้เจริญขึ้นได้ตลอดอายุขัย Cattell (1965) และ Horn (1970) ได้แยกชนิดของสติปัญญาออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ (ซึ่งยังเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน) คือ สติปัญญาแบบ “Fluid” และแบบ “Crystallized”

สติปัญญาแบบ “Fluid” หมายถึงสติปัญญาที่ต้องอาศัยสมรรถภาพด้านองค์ประกอบทางสมอง และระบบประสาทเป็นส่วนมาก ส่วนสติปัญญาแบบ Crystallized เกิดจากการเรียนรู้ที่มาจากประสบการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม ศิลปะ เป็นส่วนมาก

แบบทดสอบทางเชาวน์ปัญญา
ด้วยเหตุที่มีคำอธิบายความหมายของสติปัญญาอย่างหลากหลาย และสติปัญญาเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะประเมินว่า คนนี้หรือคนนั้น มีสติปัญญาสูงตํ่าอย่างไร แต่ก็มีความจำเป็นในการศึกษาและในการประกอบอาชีพ ที่ต้องประเมินสมรรถภาพของบุคคลจากระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กและผู้ใหญ่ ฉะนั้นจึงมีความพยายามสร้างแบบทดสอบวัดเชาวน์ปัญญาขึ้น

แท้จริงแล้วการใช้แบบทดสอบวัดเชาวน์ปัญญาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความโง่-ฉลาด ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งอย่างมากมาย แต่แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา ก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อประเมินค่าสมรรถภาพทางเชาวน์ปัญญาของบุคคล ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

นักทฤษฎีต่างๆ ผู้พยายามให้ความหมายของคำว่าสติปัญญา ต่างยอมรับว่า สติปัญญาประกอบด้วยสมรรถภาพหลายๆ ด้านของบุคคล ผู้ที่สร้างแบบทดสอบวัดเชาวน์ปัญญาแต่ละท่าน มีจุดหมายที่จะวัดสมรรถภาพที่สำคัญๆ ของเชาวน์ปัญญาบางด้าน และที่ควรจะจดจำยิ่งสำหรับผู้ใช้แบบทดสอบประเภทนี้ก็คือ แบบทดสอบเชาวน์ปัญญาส่วนใหญ่เน้นสมรรถภาพบางด้าน เช่น ภาษา และมักใช้ภาษาเป็นสื่ออย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะพัฒนาการทางภาษาเป็นเครื่องชี้นำสมรรถภาพทางสติปัญญาด้านอื่นๆ ด้วย (Papalia & Olds, 1975, หน้า 313)

ระดับเชาวน์ปัญญา IQ (Intelligent quotient)
ระดับเชาวน์ปัญญา ประเมินด้วยค่า IQ แบบวัด IQ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นแบบวัดที่ค่อนข้างลึกลับ ไม่แน่ใจว่าจะมีความเที่ยงตรงเชื่อถือได้จริงกับบุคคลทุกๆ สังคม วัฒนธรรม (Universal) หรือไม่ แนวคิดเรื่องวัด IQ ได้รับการพัฒนาในฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก โดย Alfred Binet ได้สร้างแบบทดสอบจัดลำดับจากง่ายไปหายาก ใช้เป็นเครื่องวัดอายุทางสมอง MA (Mental age) เมื่อทำการทดสอบเด็กได้ทราบคะแนนแล้วนำมาเปรียบเทียบกับอายุนับทางปฏิทิน CA (Chronological age)

โดยใช้สูตร IQ =    MA/CA X 100

เด็กที่มีอายุสมองเท่ากับอายุปฏิทินจะมี IQ เท่ากับ 100 ถ้ามีอายุสมองมากกว่า จะมี IQ มากกว่า 100 และถ้ามีอายุสมองตํ่ากว่าอายุปฏิทิน จะมีคะแนน IQ ตํ่ากว่า 100 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ IQ ที่พึงสำนึกไว้เสมอก็คือ IQ มิใช่สิ่งที่ได้รับติดตัวมาแต่กำเนิด IQ เปลี่ยนแปลงได้ทั้งขึ้นและลง ขึ้นอยู่กับสภาพอารมณ์จิตใจของเด็ก และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อหรือไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ จึงเป็น”ความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง” ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองจะถือ IQ ของเด็กๆ เป็นเครื่องชี้ขาดความโง่หรือฉลาดของเด็กอย่างเหนียวแน่น

นอกจากนี้แล้ว IQ ไม่ใช่แบบทดสอบวัดความถนัด แต่เป็นแบบทดสอบที่อาจทำให้เราท่านทราบว่า เด็กได้เรียนรู้อะไรมามากน้อยเพียงไรแล้ว ดังนั้น เด็กที่มาจากสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ก็มักจะมี IQ สูงกว่าเด็กที่มาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ อนึ่งเด็กที่มีพื้นฐานทางการเรียนรู้ และประสบการณ์ชีวิตที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตั้งแต่วัยทารก ก็มักจะมีภาษีดีกว่าเด็กที่ไม่มีโอกาสเช่นนั้น เพราะสมรรถภาพและสัมฤทธิผลในการเรียนรู้เป็นประสบการณ์สั่งสม (Accumulative) (Lefrancois, 1990 หน้า 354-356)

จุดด้อยของแบบทดสอบ IQ คือ ไม่สามารถวัดทักษะด้านต่อไปนี้
1. ทักษะเชิงสังคม (Interpersonal skills)
2. ทักษะทางกีฬา
3. ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงศิลป์
4. ลักษณะบุคลิกภาพบางประการ

อนึ่ง แบบทดสอบ IQ ยังมีอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างยิ่ง (Culturally bias) เพราะเมื่อแรกสร้างขึ้นนั้น จุดเป้าหมายเพื่อใช้กับเด็กที่อยู่ในระดับสังคมเศรษฐกิจพ่อแม่ชนชั้นกลาง ในสังคมตะวันตก (Lefrancois, 1990, หน้า 355)

ถึงแม้ว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในเรื่องความน่าเชื่อถือของแบบทดสอบวัดสติปัญญา แต่นักจิตวิทยา นักการศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ ก็อาจยังต้องพึ่งแบบทดสอบ เพื่อเป็นเกณฑ์สำหรับชี้นำ ในการทำนายวิเคราะห์ความสามารถเชิงสติปัญญาหรือพฤติกรรมอื่นๆ ในระดับใดหนึ่ง

ได้มีผู้สร้างแบบทดสอบวัดสติปัญญาขึ้นหลายท่านด้วยกัน แต่ใครจะเสนอแบบทดสอบมาตรฐาน ซึ่งมีผู้รู้จักกันมาก และที่ได้รับการยอมรับนำมาใช้ในประเทศไทย 2 แบบทดสอบ คือ Stanford Binet และ WISC-R

แบบทดสอบมาตรฐาน (Standardized tests) ที่มักนำมาใช้วัดสติปัญญากับเด็ก
1. Stanford-Binet
แบบทดสอบนี้จริงๆ แล้วสร้างขึ้นสำหรับเด็กอายุ 2 1/2 – 18 ปี แต่ตามความเป็นจริงแล้ว มักนำมาใช้กับเด็กอายุ 3-8 ปี (Papalia & Olds, 1975, หน้า 318) ผู้พัฒนาแบบทดสอบนี้ครั้งแรกคือ Alfred Binet (1916) เพื่อใช้วัดระดับสติปัญญาของเด็ก (3-15 ปี) ในประเทศฝรั่งเศส ต่อมา Lewis Terman (1937, 1960) แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ได้ปรับปรุงขึ้น และให้ชื่อว่า Stanford Binet แบบทดสอบนี้มีข้อกระทงที่สอบถามหลายแง่มุม เช่น บอกชื่อวัตถุสิ่งของที่รู้จักกันโดยทั่วๆ ไป บอก ให้ได้ว่าส่วนที่หายไปจากภาพที่ให้ดูคืออะไร จำแนกแจกแจง (Sorting) จำจำนวนเลขที่เป็นชุด บอกความหมายของคำ และลอกรูปภาพ มีเกณฑ์คะแนนที่ตอบถูกของแต่ละกลุ่มอายุ เด็กที่ถูกทดสอบจะได้รับการประเมินอายุสมอง (MA) จากคะแนนสูงสุดที่ตนทำแบบทดสอบได้ ตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 10 ขวบ ที่สามารถตอบข้อคำถามสำหรับเด็กอายุ 10 ขวบได้ ก็จะได้คะแนนอายุสมองของเด็ก 10 ขวบ

วิธีหนึ่งที่จะคำนวณหา IQ (Intelligence quotient) หรือสมรรถภาพทางสมองของเด็ก ก็คือใช้

สูตร
IQ = MA/CA x 100

ดังนั้น เด็กตามตัวอย่างข้างต้นจะมี IQ = 10/10 X 100 = 100 ซึ่งหมายความว่าเด็กคนนี้ มี IQ 100 อายุสมองเท่ากับอายุปฏิทิน

แต่ถ้าเด็กอายุ 8 ขวบ ทำคะแนน Mental age ได้เท่ากับเด็กอายุ 10 ขวบ IQ ของเด็กคนนี้คือ 125
IQ = 10/8 X 100 = 125

ซึ่งจัดได้ว่าเด็กคนนี้มีสติปัญญาอยู่ในระดับสูงกว่าธรรมดาขั้น Superior (Gormly & Brodzinsky, 1989, หน้า 250-251)

เกณฑ์คะแนนเพื่อจัดกลุ่มระดับสติปัญญาของเด็ก แสดงโดยตารางข้างล่างนี้
health-0233
จาก: Thorndike, Hagen & Sattler, 1986, หน้า 127.

แบบทดสอบ สแตนฟอร์ด ปิเนท์ ได้รับการวิพากษ์ว่า เน้นสมรรถภาพทางภาษามากเกินไป ดังนั้น เด็กๆ ที่มีความด้อยทางภาษาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำแบบทดสอบนี้ได้ไม่ดี (เช่นไม่ได้ใช้ภาษากลาง) ส่วนเด็กที่มีทักษะเชิงภาษาสูง ก็อาจด้อยทางการรับรู้และสมรรถภาพเชิงการใช้กล้ามเนื้ออวัยวะ ประสาทสัมผัส ซึ่งแบบทดสอบนี้ไม่สามารถวัดได้ (Papalia & Olds, 1975, หน้า 441)

นักจิตวิทยาหลายท่านได้เสนอแนะว่า เนื่องจากแบบทดสอบ Stanford-Binet มีลักษณะถามสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้มาแล้วมากกว่าสมรรถภาพของเด็กที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ดังนั้น แบบทดสอบนี้ควรเป็นแบบทดสอบวัดความสามารถด้านการเรียนในโรงเรียน (School ability) หรือความถนัดด้านวิชาการ (Academic aptitude) มากกว่าเป็นแบบทดสอบวัดสติปัญญา ถ้าหากเข้าใจกันเช่นนี้แล้ว ก็จะเป็นการป้องกันการเข้าใจผิดว่า IQ Test ของ Stanford Binet เป็นการชี้ธรรมชาติของสติปัญญาของเด็กแต่ละคน (Gormly & Brodzinsky, 1989, หน้า 251-252)

2. WISC-R (Wechsler Intelligence Scale for Children ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
แบบทดสอบนี้พัฒนาโดย David Wechsler (1939) ตอนแรกสุดเขาสร้างแบบทดสอบเพื่อวัดสติปัญญาของผู้ใหญ่ แต่ 10 ปีต่อมาได้สร้างแบบทดสอบ (WISC) เพื่อวัดสติปัญญาเด็ก 6-16 ปี และต่อมาได้สร้างแบบทดสอบ WIPPSI สำหรับวัดสติปัญญาเด็กอายุ 4-6 1/2 ขวบ แบบทดสอบ WISE ได้รับการปรับปรุงแก้ไข และใช้ชื่อว่า WISC-R ซึ่งมีสาระโดยสังเขปต่อไปนี้

WISC-R เป็นแบบทดสอบที่ต่างจาก Stanford-Binet ในแง่ที่มิได้วัดสติปัญญาโดยถืออายุเป็นเกณฑ์ แต่ใช้เกณฑ์สมรรถภาพด้านทักษะที่จำเป็นและสำคัญสำหรับทำแบบทดสอบ ทักษะ 2 ประการที่ปรากฏในแบบทดสอบคือ
1. ทักษะด้านภาษา (Verbal)
2. ทักษะด้านการกระทำ (Performance)

มีข้อคำถามที่เป็น Subtest ของแต่ละด้านทั้ง 2 ด้านแยกย่อยออกไป โดยคิดคะแนนแยกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนภาษา (Verbal IQ) ส่วนการกระทำ (Performance IQ) และคะแนน IQ รวม (Full scale
IQ)

WISC-R ส่วนภาษาประกอบด้วยส่วนย่อย (Subtest) คือ
1. ด้านข้อมูลข่าวสาร (Information)
2. ด้านความเข้าใจเรื่องราว (Comprehension)
3. ด้านคณิตศาสตร์ (Arithmetic)
4. ด้านเห็นความเหมือน (Similarities)
5. ด้านคำศัพท์ (Vocabulary)
6. ด้าน Digit Span

WISC-R ส่วนการแสดงออกแยกเป็นส่วนย่อย (Subtest) คือ
1. เติมรูปให้เต็ม (Picture completion)
2. จัดรูปภาพ (Picture arrangement)
3. ต่อแท่งโม้ (Block design)
4. จัดสิ่งของเข้าด้วยกัน (Object assembly)
5. Coding
(เก็บความจาก Gormly & Brodzinsky, หน้า 251-252, และ Papalia & Olds, 1975, หน้า 318, 319, 441)

สำหรับแบบทสอบทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวมานี้ นักจิตวิทยาไทยได้นำมาแปลและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีรายละเอียดด้านต่างๆ เช่น วิธีการใช้ การแปลผล ฯลฯ ผู้สนใจอาจศึกษาเพิ่มเติมได้ในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภาษาไทย

แนวทางที่ช่วยให้เด็กมีสัมฤทธิผลด้านการเรียน
ถ้าเด็กไม่ใช่เด็กด้อยสมรรถภาพในการเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองครูควรเสริมสร้างประสิทธิภาพในด้านการเรียนของเด็กด้วยวัยเด็กตอนกลาง เป็นช่วงเวลาแห่งการวางรากฐานวิชาพื้นฐานของเด็ก เด็กที่มีรากฐานทางวิชาการดีตั้งแต่วัยประถมศึกษา มักเป็นเด็กไม่ค่อยมีปัญหาด้านการเรียนในอนาคต การมีสัมฤทธิผลทางการเรียนในระยะวัยเด็กตอนกลาง ยังเป็นฐานของการพัฒนาทางด้านความคิดสติปัญญาต่อไปภายหน้า จึงใคร่เสนอแนวคิดในการช่วยเหลือเด็กให้ประสบผลสำเร็จทางวิชาการ บนพื้นฐานความคิดว่า การที่เด็กจะประสบผลสำเร็จทางการเรียนและทางวิชาการนั้น มีองค์ประกอบมากมาย พ่อแม่ผู้ปกครองและครูควรคำนึงถึงหลักการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งขอนำเสนอบางประการดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมจุดเด่น พยายามหาจุดด้อยจุดเด่นในตัวเด็ก และส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนา และแสดงออกซึ่งจุดเด่นของตน

2. รู้จักเทคนิคการจูงใจ
เทคนิคการจูงใจมี 4 ประเด็นหลักคือ
-กระตุ้นความสนใจ
-ตั้งความคาดหวังในระดับที่เด็กสามารถทำได้
-ให้รางวัลตามความเหมาะสม
-ต้องสร้างระเบียบวินัยในการเรียน

3. สร้างแรงจูงใจภายใน เช่น
-สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น อารมณ์ดี เสริมแรง
-ให้เด็กมีโอกาสแสดงออกอย่างเต็มที่ ได้สร้างสรรค์ รู้จักคิดโดยอิสระ ไม่ทำตามกรอบเพียงอย่างเดียว
-สอนโดยใช้เทคนิคให้เด็กรู้จักการค้นพบ เสริมความมั่นใจในตนเอง ให้ปัญหาที่กระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด
-เสนอกิจกรรมที่ง่ายเป็นประโยชน์ สร้างความพอใจ สร้างความภูมิใจในตัวเอง พัฒนาความรู้ของตนเอง
-ให้เด็กรู้จักมองเห็นพัฒนาการของตนเอง
-ให้เด็กรู้สึกและเชื่อมั่น ให้ทำกิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกมีความหวัง
-สร้างความเชื่อมั่น “เรารู้ว่าหนูทำได้ ถ้าหนูจะพยายาม”
-สร้างความรู้สึกที่ดี “เห็นไหมว่าหนูทำได้สำเร็จ และทำได้ดี ถ้าหนูต้องการจะทำ” ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนมีความสามารถ
-ให้เด็กรู้สึกถึงคุณค่าของการศึกษา ทำให้เห็นว่าการอ่าน เขียน คิดเลข เป็นสิ่งที่น่าสนุก

4. สร้างแรงจูงใจภายนอก เช่น
-จัดห้องเรียนและบ้านให้น่าอยู่
-มีบุคลิกภาพที่น่าพอใจให้เด็กเห็น
-ให้รางวัลเสริมแรง ให้ดาว แสตมป์ ปากกา ของขวัญในโอกาสที่ควร
-เขียนกราฟแสดงการพัฒนาการของเด็ก
-ใช้วิธีการสร้างความกลัวและกังวลให้เด็กบ้าง ด้วยการให้ทำการบ้านและทำแบบทดสอบ
-ติดแสดงผลงานของเด็กที่บ้านและโรงเรียน
-ส่งเสริมการเจรจาอภิปรายในหมู่เด็ก
-ให้การตอบสนอง ตรวจงานของเด็กอย่างรวดเร็ว
-ยกย่อง ชื่นชม ในกิจกรรมที่เด็กทำได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการแสดงการเอาใจใส่
-ให้โอกาสเด็กเปิดโลกกว้าง ดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์การศึกษา
-ให้เด็กรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในบ้านและโรงเรียน
-กำหนดทิศทางให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ขาดความคิดสร้างสรรค์
-ให้หน้าที่ที่เด็กควรจะรับผิดชอบได้ และสามารถทำได้สำเร็จ
-เห็นความสำคัญและความต้องการของเด็กแต่ละคน
-ให้เป้าหมาย ทำให้เด็กเห็นเป้าหมายเด่นชัด
-เสริมสร้างลักษณะทางกายภาพของเด็กในการเห็น ได้ยิน และสุขภาพทั่วไป
-ให้แนวทางในการเรียน เน้นการมีความมั่นใจในตนเอง การผูกพันตัวเองกับมาตรฐานแห่งความเป็นเลิศ
-ตอบสนองและกระตุ้นการอยากรู้อยากเห็นของเด็ก

5. จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก เช่น
-ลดการกระตุ้นมากเกินไป ที่จะทำให้เด็กรู้สึกอ่อนล้า
-ลดการแข่งขันในการตอบโต้
-ควรสอนทีละเรื่องทีละประเด็น
-ใช้วิธีการอธิบายที่กระตุ้นความสนใจ
-เพิ่มระยะเวลาในการฟังคำพูด คำตอบจากเด็ก
-สอนให้รู้จักการนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้งานจริง ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา
-สอนให้รู้จักเทคนิคการเรียนรู้ ใช้เทคนิคการถามตอบ การวางแผนงาน การเตรียมตัว การศึกษาจากความผิดพลาดของตนเอง

ขั้นตอนพัฒนาความคิดตามแนวคิดของ Piaget : ความเข้าใจเรื่องการทรงสภาพเดิม (Conservation)
ความเข้าใจเรื่องทรงสภาพเดิมหมายความว่า ความสามารถตระหนักว่า สิ่งใดๆ ที่แม้มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอกบางลักษณะก็ยังคงสภาพเดิมได้ ถ้าหากสิ่งนั้นมิได้มีการเติมเข้ามาหรือตัดทอนออกไป

จากตัวอย่างเรื่องการทรงสภาพเดิมของวัตถุที่ทดลองกับเด็กวัยเด็กตอนต้น ในภาพที่เด็กวัยเด็กตอนต้นได้รับการทดสอบเรื่องการทรงสภาพเดิม โดยถามเด็กว่า ถ้านำดินน้ำมันทรงกลมที่เท่ากัน 2 ก้อน ก้อนหนึ่งถูกทำให้แบน ดินน้ำมันที่ทำให้แบนจะยังคงมีปริมาณเท่ากับดินน้ำมันอีกก้อนหนึ่งหรือไม่ ถ้าเด็กสามารถตอบได้ว่า “เท่ากัน” นั่นหมายความว่า พัฒนาการทางความคิดของเด็กได้เลื่อนลำดับ จากระยะ “คิดเบื้องต้น (Preoperational thought)” สู่ระดับ “คิดเชิงรูปธรรม (Concrete operation)” แล้ว ซึ่งหมายความว่า เด็กจะเริ่มรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลขึ้น รู้ว่าความรู้ และความจริงใดๆ ต้องมีกฎเกณฑ์ กฎเกณฑ์นั้นๆ มิได้มีขอบเขตจำกัดเฉพาะการมองเห็นด้วยตาและประสาทสัมผัสอย่างเดียวเท่านั้น

กฎ 3 ข้อที่เด็กใช้เป็นฐานในการคิดเป็นเหตุผล ด้าน Conservation
เด็กวัยเด็กตอนกลาง มีการใช้กฎ 3 ข้อเป็นฐานในการใช้เหตุผลด้าน Conservation ได้แก่
1. เห็นความเหมือนกันได้ (Identity)
2. เห็นย้อนกลับได้ (Reversibility)
3. เห็นสิ่งที่ทดแทนกันได้ (Compensation)

ตัวอย่าง ตัวอย่างเรื่องดินน้ำมันทรงกลม 2 ก้อนที่เท่ากัน และต่อมาทำดินน้ำมันก้อนหนึ่งให้แบน แล้วถามเด็กว่าดินนํ้ามันทั้งสองก้อนยังคงมีปริมาณเท่ากันหรือไม่ (ตัวอย่างเช่นข้างต้น)
ถ้าเด็กตอบว่า “เท่ากัน”
หมายความว่า เขาใช้เหตุผลครบทั้ง 3 ข้อที่กล่าวคือ

1. เห็นความเหมือน : โดยคิดว่าดินน้ำมันที่ทำให้แบนไม่ได้เพิ่มหรือลดลงจากดินน้ำมันที่เคยเป็นรูปกลม (Identity)

2. เห็นย้อนกลับได้ : เด็กคิดว่าถ้าเอาดินน้ำมันที่ทำให้แบนนี้กลับเป็นรูปทรงกลมเหมือนเดิม ก็จะต้องมีจำนวนเท่ากัน (Reversibility)

3. ทดแทนกันได้ : เด็กคิดว่าดินน้ำมันที่ทำให้แบนดูใหญ่กว่าก็จริง แต่ก็ผอมกว่า ดังนั้น ส่วนใหญ่ทดแทนส่วนผอม (Compensation) ฉะนั้นจริงๆ แล้ว ดินน้ำมันรูปแบนกับรูปกลม ต้องมีปริมาณเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กสามารถเข้าใจเรื่องการทรงสภาพเดิมของปริมาณได้แล้ว มีคำถามว่า เด็กๆ จะเข้าใจการทรงสภาพเดิมของสิ่งอื่นๆ หมดทุกประการหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่”

การพัฒนาความเข้าใจเรื่องการทรงสภาพเดิมมีหลายประเภท ซึ่งต้องพัฒนาไปตามลำดับขั้นตอน ตัวอย่างข้างล่างนี้เป็นการทดลองเรื่องการทรงสภาพเดิมของสิ่งต่างๆ อย่างง่ายๆ กับเด็กวัยเด็กตอนกลาง

การทดลองสมรรถภาพในด้านความเข้าใจเรื่องการทรงสภาพเดิม
health-0239

health-0240

ตัวอย่างจาก Lefrancois, 1990, หน้า 340

การรู้จักตนเอง
ความสำนึกว่าตนเองเป็นบุคคลคนหนึ่ง ต่างจากบุคคลอื่น ต่างจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวนั้น ได้เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ระยะวัยทารกตอนปลาย ความสำนึกเช่นนี้พัฒนาเป็นความเข้าใจตนเอง แม้ว่าในระยะนี้ยังไม่จริงจัง และถูกต้องตามความเป็นจริงมากนัก แต่เด็กเริ่มเห็นตนเอง กับรู้จักวิพากษ์ วิจารณ์เกี่ยวกับตัวเอง กรณีนี้เป็นผลมาจากการที่เด็กออกจากสังคมในบ้านมาสู่สังคมนอกบ้าน การเข้าร่วมกลุ่ม การแข่งขันในกลุ่ม การทำตัวให้เพื่อนยอมรับ นอกจากนั้นการรู้จักตนเองยังเกิดจากพัฒนาการทางความคิดและการเรียนรู้วิชาการต่างๆ ในโรงเรียนอีกด้วย

ความสำนึกรู้ว่าเราคือใครนี้ จะเป็นรากฐานของการค้นหาตัวเองอย่างจริงจัง (Search for self identity) ในระยะวัยรุ่น

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า