สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูแลผู้ป่วยที่คลินิกผู้ป่วยนอก

คลินิกเด็ก
คลินิกผู้ป่วยนอก (OUT PATIENT CLINIC)
โดยทั่วไปคลินิกตรวจโรคผู้ป่วยนอกจะมีผู้ป่วยมารอตรวจเป็นจำนวนมาก แพทย์ต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย และให้การรักษาในเวลาจำกัด จึงควรจะรู้จักเลือกคำถามที่สำคัญและจำเป็นนอกเหนือไปจากอาการสำคัญ และการเจ็บป่วยที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กได้บอกมาแล้ว ขณะที่ตรวจก็ต้องสังเกตผู้ป่วยไปด้วย เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด

ความเมตตากรุณาเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการดูแลผู้ป่วย เมื่อเด็กป่วยแม่จะต้องกังวลมาก เด็กทุกคนต้องการความนุ่มนวล อ่อนโยน แม่ต้องการคำอธิบายว่าเด็กป่วยเป็นอะไร จะรักษาอย่างไร จะหายหรือไม่ ความเมตตากรุณานั้นเป็นสิ่งที่วัดได้ยาก มันประกอบด้วยสิ่งละอันพันละน้อยหลายๆ อย่างด้วยกัน จงทำความรู้จักแม่และรู้จักเด็ก ถ้ารู้จักชื่อเด็ก ก็ควรจะเรียกชื่อเด็ก ถ้าเด็กกลัวกังวลหรือเจ็บปวดอย่าทำให้เป็นมากขึ้น อย่าแตะต้องส่วนที่เด็กเจ็บเกินความจำเป็น สำหรับเด็กโตถ้าจะหาอะไรที่เด็กเจ็บต้องอธิบาย สำหรับอาการป่วยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น อาการไข้, ท้องเสีย ควรจะสอนแม่เด็กว่าจะดูแลเด็กอย่างไรถ้าเกิดขึ้นอีก ถ้าจะให้ยาใช้อย่างไร ให้อะไรบ้าง ขนาดที่ใช้เท่าไร ควรจะได้อธิบายและซักซ้อมให้แน่ใจว่าแม่สามารถจะเข้าใจได้ถูกต้องตามที่เราต้องการ

ที่คลินิกผู้ป่วยนอก แพทย์นอกจากจะประเมินการป่วย ให้การวินิจฉัยหรือแจงปัญหา และรักษาปัญหาที่นำมาแล้ว ยังต้องคำนึงถึง

1. ความผิดปกติหรือปัญหาอย่างอื่นที่พ่อแม่ไม่ทราบ หรือไม่นึกถึงความสำคัญ เช่น โรคหัวใจที่ไม่มีอาการ ก้อนในท้อง ตาเหล่ ภาวะซีดจากการขาดเหล็ก ปัญหาทางพฤติกรรม การให้อาหารที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับวัย เป็นต้น

2. ความเสี่ยงต่อสุขภาพของบุคคลในครอบครัว เช่น ประวัติการเป็นวัณโรค ประวัติการเป็นโรคภูมิแพ้และโรคเลือด

3. ให้การส่งเสริมสุขภาพเด็กทั่วๆ ไป สุขภาพของฟันและช่องปาก และให้ภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคอื่นๆ และ
อุปัทวเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นและยังได้มีโอกาสรับฟังปัญหาและให้คำอธิบายแก่พ่อแม่เด็ก เมื่อมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการดูแลเด็กด้วย

การตรวจรักษาผู้ป่วยเด็กที่ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก มีขั้นตอนดังนี้
1. การซักประวัติ
-อาการสำคัญหรือปัญหาที่นำมาคืออะไร เป็นมานานเท่าไร
-อาการร่วมอื่นๆ มีอะไรบ้าง และเป็นมานานเท่าไร
-อาการหรือปัญหาเหล่านั้นพ่อแม่ได้ทำอะไรให้หรือได้รับการรักษา อย่างไรบ้าง
-เด็กเป็นอย่างไรหลังการรักษาแล้ว
-เด็กกินอะไรได้บ้างหรือไม่

ขณะซักประวัติควรจะสังเกตด้วยว่า เด็กดูสบายดี ซึม งอแง หรือป่วยมาก น้ำหนักเหมาะสมกับอายุหรือไม่

ประวัติอดีต ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรจะซักประวัติ
-อาหารการกินและวิธีการให้อาหารและนม
-การฉีดยาป้องกันโรค
-การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
-การเจ็บป่วยอื่นๆ ในอดีตรวมทั้งโรคติดต่อเช่น หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และคางทูม

ในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ควรจะซักประวัติ
-การคบเพื่อน
-อาหารประจำวัน และบริโภคนิสัย
-การฉีดยาป้องกันโรคที่เคยได้รับก่อนเข้าเรียนและที่โรงเรียน
-การเจ็บป่วยอื่นๆ

2. การสังเกตเด็กป่วย
ในขณะที่กำลังซักประวัติ แพทย์ควรสังเกตท่าทางการแสดงออกของเด็กที่มีต่อแพทย์และสภาพแวดล้อม เพื่อประกอบการประเมินความรุนแรงของการเจ็บป่วย ดังนี้

2.1 สบายดี (Well) เด็กจะดูสบายดี มีความสุข สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว อาจจะเล่นและดูดนมได้ดี ร้องเสียงดังหรือหลับ

2.2 เพลีย (Tired) บางครั้งเด็กจะเพลียโดยเฉพาะตอนบ่ายๆ ท่าทางง่วงนอน หาว นอนหลับไปบนตักแม่หรือร้องกวนงอแงมากกว่าปกติ ไม่ยอมให้ตรวจ แต่ถ้าเด็กได้กินหรือดูดนมก็อาจอยู่นิ่งๆ เล่นได้เหมือนปกติ

2.3 เจ็บป่วยเล็กน้อยหรือปานกลาง (Mildly or moderately ill) เด็กพวกนี้ป่วยไม่มาก ถ้าเด็กที่แข็งแรงดีมาก่อนอาจจะร้อง กวน หงุดหงิด กระสับกระส่ายหรืออยู่นิ่งๆ บางเวลา และมักจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกันทุกวัน ซึ่งแม่มักจะสังเกตได้ ถ้าเด็กร้องกวนผิดปกติหรือผิดเวลา อาจจะเป็นสัญญาณว่าเขาเริ่มป่วย เด็กที่ป่วย เมื่อร้องกวนแม่ก็จะปลอบให้หยุดไม่ได้หรืออาจจะหยุดร้องชั่วคราว เมื่ออุ้มแล้วไม่ยอมให้วาง อาจจะตื่นร้องกวนกลางคืน ไม่ยอมดูดนม เด็กโตอาจจะไม่ยอมกิน ถ้าเดินได้หรือพูดได้อาจจะหยุดเดินหยุดพูด ไม่วิงไม่เล่น มักอยู่เฉยๆ ถ้าเป็นมากๆ จะซึมอ่อนเพลียหรืออ่อนปวกเปียก แขนขาไม่มีแรง เวลาตรวจจะไม่ร่วมมือ แต่ไม่ออกแรงสู้

2.4 เด็กป่วยมาก (Severely ill) เด็กพวกนี้จะซึมคล้ายๆ จะหลับ ถ้ากระตุ้นจะหลับๆ ตื่นๆ เอะอะโวยวายพูดไม่รู้เรื่อง อาการอื่นๆ
ทีอาจจะเห็นคือ เขียว, ซีด, ชัก, หอบ ซึ่งถ้าไม่รีบให้การดูแลรักษา อาจถึงขั้นไม่รู้สึกตัว หยุดหายใจ ไม่มีชีพจร และถึงแก่ความตาย

3. การตรวจร่างกาย มีหลักการดังนี้
3.1 ควรจะถอดเสื้อเด็กออกก่อน ซึ่งอาจทำทีละส่วน

3.2 ในเด็กเล็กควรจะให้แม่อุ้มหรือนอนบนตัก ฟังหัวใจและปอดให้ทั่ว เสียก่อนทีเด็กจะร้อง ตรวจท้อง แล้วจึงตรวจระบบอื่น เช่น การดูคอ ดูหู ซึ่งจะรบกวนจนเด็กร้อง และไม่ร่วมมือหรือไม่ยอมให้ตรวจต่อไป

3.3 ในรายที่มีไข้ให้ตรวจหู คอ ทุกราย

3.4 ถ้ามีอาการไอให้สังเกตการหายใจ และนับจำนวนของการหายใจ ด้วยตนเองเสมอ

3.5 ถ้าท้องเสียให้ประเมินภาวะขาดน้ำ โดยคลำ fontanel ในเด็กเล็ก ดู sunken eyeballs และตรวจ skin turgor และถามประวัติปัสสาวะ และอาเจียนเพิ่มเติมด้วย

4. สรุป
4.1 เมื่อตรวจแล้ว ควรจะสรุปปัญหาว่ามีอะไรบ้าง

4.2 จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมต่อหรือไม่ ควรจะ เป็นการส่งตรวจที่จะให้ทราบผลในระยะเวลาสั้น ซึ่งจะช่วยในการ วินิจฉัยหรือรักษาเบื้องต้นภายในวันนั้น

4.3 ควรจะอธิบายแม่ หรือผู้ปกครองเด็กทุกครั้งว่าเด็กป่วยเป็นอะไร ทำไมจึงป่วย และการเจ็บป่วยนี้แม่จะช่วยดูแลพยาบาลเด็กอย่างไร บ้าง

4.4 นอกจากนี้ควรจะพยายามให้สุขศึกษาเกี่ยวกับการให้อาหาร การ เลี้ยงดู การฉีดยาป้องกันโรค การป้องกันอุปัทวเหตุในเด็กด้วย

5. การรักษา
ควรจะอธิบายทุกครั้งว่าได้ให้ยาอะไรไปบ้าง เพื่ออะไร ให้ขนาดเท่าไร ให้อย่างไร บ่อยแค่ไหน เมื่อไรควรจะหยุดยา และยาเหล่านั้นจะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

6. การอธิบายและให้ความรู้เพิ่มเติม (Explanation and education)
มีวัตถุประสงค์ดังนี้

6.1 บอกพ่อแม่ผู้ป่วยว่าเด็กเป็นอะไร จะรักษาอย่างไร เมื่อไรจะดีขึ้น ถ้าอาการเลวลงจะทำอย่างไร และควรกลับมาพบแพทย์อีกเมื่อไร โรคนี้จะมีทางป้องกันอย่างไร

6.2 ให้พ่อแม่มีโอกาสซักถามปัญหาที่ยังข้องใจ เช่น ทำไมลูกจึงป่วย จะหายไหม ติดต่อไหม

6.3 เด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง ควรจะต้องอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจถึงปัญหา และระยะเวลาที่จะต้องรักษา เพื่อจะได้รับความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยต่อไป

6.4 ควรจะบอกถึงน้ำหนักของเด็กเปรียบเทียบใน growth chart ว่า เหมาะสมหรือไม่

6.5 แนะนำเกี่ยวกับการให้อาหารในขณะเด็กป่วย

6.6 แนะนำเกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์สำหรับเด็กแต่ ละวัย แนะนำการให้ภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็กและพี่น้องของเขาด้วย

6.7 แนะนำการดูแลพี่น้องของผู้ป่วยในกรณีที่เป็นโรคที่ติดต่อ หรือโรค ทางกรรมพันธุ์

7. การติดตามผู้ป่วย
เพื่อประเมินผลของการรักษาที่ให้ไป และให้การรักษาต่อจนหายดี หรือส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางดูแลต่อไป ในกรณีที่เป็นโรคเรื้อรัง

ในการนัดติดตามผู้ป่วย  ควรคำนึงถึงที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยว่าห่างไกลจากโรงพยาบาลมากน้อยเพียงใด การเดินทางสะดวกไหม ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินทาง ในกรณีที่ไม่สะดวกควรแนะนำสถานที่ที่ผู้ป่วยจะไปดูแลรักษาต่อได้สะดวก และเขียนจดหมายส่งต่อผู้ป่วยในรายที่จำเป็น

ที่มา:พันธ์ทิพย์  สงวนเชื้อ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า