สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กาลสมุฏฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

1. กาลสมุฏฐาน ตามเวลาในแต่ละวัน
ลำดับนี้จะได้สำแดงในกองกาลสมุฏฐานสืบต่อไป ว่าด้วย เวลาวันอันเจือระคนกำเริบ

ในกำหนดทุ่มและโมงทั้งปวง คือ วันหนึ่ง 12 โมง คืนหนึ่ง 12 ทุ่ม แบ่ง ได้ 3 และ 3 เป็น 6 สมุฏฐาน ดังนี้

ย่ำรุ่งแล้วไป จน 4 โมง เป็นสมุฏฐาน 1
แต่ 5 โมงไปจนบ่าย 2 โมง เป็นสมุฏฐาน 1
แต่บ่าย 3 โมง ไปจนย่ำค่ำ เป็นสมุฏฐาน 1
แต่ย่ำค่ำแล้วไปจน 4 ทุ่ม เป็นสมุฏฐาน 1
แต่ 5 ทุ่มไปจน 8 ทุ่ม เป็นสมุฏฐาน 1
แต่ 9 ทุ่มไปจนย่ำรุ่ง เป็นสมุฏฐาน 1

2. กาลสมุฏฐานตามกลางวันกลางคืน
กลางวัน กลางคืนเป็น 6 สมุฏฐาน

กลางวัน แบ่งได้ดังนี้
ตั้งแต่ย่ำรุ่งไปจนถึง 4 โมง เป็นพนักงานแห่งเสมหะกระทำ
ตั้งแต่ 5 โมงเช้าไปจนถึงบ่าย 2 เป็นพนักงานแห่ง ปิตตะพิกัดกระทำ
ตั้งแต่บ่าย 3 โมงไปจนถึงย่ำค่ำราว 6 โมงเย็น เป็นพนักงานวาตะพิกัดกระทำ

กลางคืน แบ่งได้ดังนี้
ตั้งแต่ย่ำค่ำไปจนถึง 4 ทุ่ม เป็นพนักงานแห่งเสมหะกระทำ
ตั้งแต่ 5 ทุ่มไปจนถึงตี 2 เป็นพนักงานแห่งปิตตะพิกัดกระทำ
ตั้งแต่ตี 3 ไปจนถึงย่ำรุ่ง เป็นพนักงานแห่งวาตะพิกัดกระทำ

3. กาลสมุฏฐานกระทำโทษแก่ร่างกาย
-กาลสมุฏฐานกระทำโทษแก่ร่างกายในเวลาต่างๆ สมุฏฐานทั้ง 3 นี้ มีอยู่ทั่วไปในกองโรคทั้งปวง ถ้าโรคเกิดขึ้นในระหว่างสมุฏฐานอันใด ให้ตั้งเสมหะในกาลย่ำรุ่ง ตามที่กล่าวไว้ในพิกัด
1. เสมหะเมื่อกำเริบขึ้นในเวลาเช้า เมื่อบริโภคอาหาร หรือเมื่อพลบค่ำ ก็ให้ถือเป็นกระทรวงกาลสมุฏฐานเสมหะกระทำ

2. เมื่อปิตตะกำเริบในกาลเมื่อตะวันเที่ยง เมื่ออาหารยังไม่ย่อย หรือเมื่อเที่ยงคืนก็ดี ให้ถือเป็นกระทรวงกาลสมุฏฐานปิตตะกระทำ

3. เมื่อวาตะกำเริบในกาลเมื่อตะวันบ่าย เมื่ออาหารย่อยแล้ว หรือเมื่อนอนหลับก็ดี ให้ถือเป็นกระทรวงกาลสมุฏฐานวาตะกระทำ

แพทย์จะให้ยาได้ถูกต้องเมื่อรู้ถึงกำหนดกาลเวลาดังกล่าว และได้กล่าวถึงสมุฏฐานเวลาที่กำเริบโดยนัยพิกัดดังนี้
-จำนวนธาตุที่กระทำโทษแก่ร่างกายในเวลาต่างๆ เมื่อเสมหะ ปิตตะ วาตะ สมุฏฐาน กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งยังไม่สำเร็จตามกาลเวลา เกิด ชาติ จลนะ ภินนะ มีอยู่ 3 ฐาน เกิดธาตุอื่นระคน คือ เอกโทษ ทุวันโทษ ตรีโทษ

4. กาลสมุฏฐานตามจักราศี
คำว่า กาลสมุฏฐาน ยังนับเวลาสิ้นอายุขัยที่เราต้องมีชีวิตดำเนินไปบนโลก ที่ตกอยู่ในอิทธิพลของธรรมชาติในจักรวาล ไม่ได้หมายความแค่เพียงกาลเวลา 24 ชั่วโมง หรือ 1 วันเท่านั้น ซึ่งยังมีอีกตำราหนึ่งของคนไทยซึ่งเป็นตำรา สุริยยาตร มหาทักษา และโหราการแพทย์ต่างๆ ที่ได้รวบรวมเอาไว้ การหย่อน กำเริบ พิการของธาตุทั้ง 4 ตามจักราศี ในคัมภีร์สมุฏฐานวิฉัยก็ได้เอ่ยไว้ คำว่า พระอาทิตย์สถิตในราศี ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ได้เขียนไว้ จึงทำให้ผู้เรียนแผนโบราณไม่เข้าใจ

-ความหมายของสถิตราศี เป็นช่วงนาที ของเวลาขณะที่แนวของดวงอาทิตย์อยู่แนวเดียวกับหมู่ดาวฤกษ์อื่น โลกจะพบแนวที่ตรงกันนี้ 12 แนวใน 1 ปี จึงมีเป็น 12 ราศี เช่น พระอาทิตย์สถิตในราศีเมษ หมายถึง เมื่อมองดวงอาทิตย์ก็จะอยู่แนวเดียวกับดาวฤกษ์ที่ประจำราศีเมษ โบราณว่ามักเกิดโรคที่เกี่ยวกับศีรษะ โดยแบ่งร่างกายเป็น 12 ส่วน และมีราศีอยู่ประจำในส่วนต่างๆ

ลักษณะเช่นนี้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องหมอดูหรือเรื่องธาตุ เพียงแต่ใช้โครงสร้างของโลกและจักรวาลในตาราง 12 ราศีที่เหมือนกันเท่านั้น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ท่ามกลางดาวเคราะห์อื่นๆ เมื่อโลกโคจรไปครบ 365 วัน ก็ไม่ได้ผ่านแค่ดาวอื่นในกาแลกซี แต่ยังมองเห็นดาวฤกษ์กลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจนครบ 12 เดือน 12 กลุ่ม คำว่า พระอาทิตย์สถิตในราศี จึงหมายถึง การมองเห็นดวงอาทิตย์ในยามรุ่งอรุณ ขึ้นสู่ขอบฟ้าผ่านตำแหน่งที่เราเห็นดาวฤกษ์นั้นๆ ในค่ำคืน และเดือนอื่นๆ โดยเปลี่ยนตำแหน่งไปจนครบ 12 จุด โบราณได้สังเกตและสรุปไว้ว่า ธาตุทั้ง 4 และตัวคุมธาตุอะไรกำเริบ หย่อน พิการ และสังเกตว่าแต่ละราศีมีผลกับร่างกายส่วนใดด้วย

-กาลสมุฏฐาน กระทำโทษแก่ร่างกายตามจักราศีต่างๆ
การกำเริบ หย่อน พิการของสมุฏฐานทั้ง 4 ประการ ตามสุริยคติ ดำเนินไปในห้องจักราศี ดังนี้
1. พระอาทิตย์สถิตในราศี เมษ สิงห์ ธนู เป็นราศีเตโช
2. พระอาทิตย์สถิตในราศี พฤษภ กันย์ มังกร เป็นราศีปถวี
3. พระอาทิตย์สถิตในราศี เมถุน ตุลย์ กุมภ์ เป็นราศีวาโย
4. พระอาทิตย์สถิตในราศีกรกฎ พิจิต มีน เป็นราศีอาโป

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า