สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การได้รับสารพิษในเด็ก (poisoning)

สารพิษ
แบ่งได้ 2 พวกคือ

1. Ingestion หมายถึง การได้รับสารอย่างใดอย่างหนึ่งโดยบังเอิญ หรือตั้งใจ ซึ่งสารนั้นอาจจะเป็นพิษต่อร่างกาย อาจเป็นทางปาก ทางผิวหนัง หรือทางหายใจ

2. Poisoning หมายถึง การได้รับสารนั้นแล้วเกิดอาการขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีที่เรียกว่า acute poisoning หรือสะสมไว้ในร่างกายแล้วเกิดอาการภายหลัง เรียกว่า chronic poisoning

การได้รับสารพิษในเด็กส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มี peak incidence ที่อายุ 2-3 ปี และกว่าร้อยละ 90 เกิดขึ้นในบ้าน

สารพิษเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี คือ
1. ทางปาก พบมากที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
2. ทางปอด โดยการหายใจเอาก๊าซหรือสารที่เป็นละอองเข้าไป เช่น ยาฆ่าแมลงที่ใช้ฉีด เป็นต้น
3. ทางผิวหนัง โดยการดูดซึมผ่านผิวหนัง ที่พบบ่อยได้แก่ ยาฆ่าแมลงที่มี or¬ganic phosphate เช่น พาราไธออน เป็นต้น
4. ทางตา ส่วนใหญ่ได้แก่ กรดและด่าง
5. การฉีด อาจเป็นการฉีดเข้าหลอดเลือด, กล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่เกิดจากแพ้ยา ได้ยาเกินขนาดหรือได้ยาผิด

อาการและอาการแสดง
มีได้ทุกระบบแล้วแต่ชนิด จำนวนและระยะเวลาที่ได้รับสารพิษเข้าไป

หลักการรักษา
เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล การรักษาต้องคำนึงถึงหลักใหญ่ๆ คือ
1. ต้องพยายามรู้ให้ได้ว่าสารพิษคืออะไร
2. ต้องพยายามเอาสารพิษออกจากร่างกาย
3. ถ้าเอาออกไม่ได้ต้องพยายามทำให้เจือจาง
4. พยายามให้ vital signs ปกติ
5. ให้ยาแก้พิษต่อสารนั้นโดยตรง ถ้ามี

1. Identification พยายามรู้ให้ได้ว่าสารพิษที่ได้รับคืออะไร เข้าสู่ร่าง กายทางไหน จำนวนที่ได้รับและระยะเวลาหลังได้รับสารพิษ ผู้ที่จะให้ข้อมูลได้ดีที่สุดคือ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ อาจเป็นพ่อแม่ ปูย่า ตายายหรือพี่เลี้ยง ให้น้ำภาชนะบรรจุ สลาก พร้อมสารที่บรรจุมาด้วย จะได้ทราบชนิดของสารพิษและอาจทราบ antidote ด้วย ในกรณีที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ต้องใช้ข้อมูลอื่นช่วย เช่น เป็นน้ำ น้ำมัน หรือเป็นเม็ด กลิ่นเป็นอย่างไร ชื่อการค้า ใช้ประโยชน์อะไร เป็นต้น

2. Removal รีบทำโดยเร็ว ไม่ต้องรอให้ทราบว่าสารพิษคืออะไร

2.1  ทำให้อาเจียน (induce emesis) ได้ผลหลังกินสารพิษไม่เกิน 6 ชม. ยกเว้นสารบางอย่างที่อาจอยู่ในกระเพาะอาหารได้เป็นเวลานาน เช่น salicylate เป็นต้น อาจทำได้หลายวิธีคือ

2.1.1 การล้วงคอ ใช้นิ้ว หรือของแข็งกระตุ้นให้เกิด gag reflex แต่ไม่ค่อยได้ผล

2.1.2 ให้ syrup of ipecac 15 มล. และดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว ถ้าไม่อาเจียนภายใน 15-30 นาที ให้การรักษาแบบเดิมได้อีกครั้งหนึ่ง

ข้อควรระวัง
-ห้ามใช้ fluid extract of ipecac เพราะแรงกว่า syrup of ipecac ถึง 14 เท่าและมีพิษมาก
-ห้ามให้ activated charcoal ก่อนหรือร่วมกับ syrup of ipecac เพราะ activated charcoal จะทำให้ฤทธิ์ของ ipecac หมดไป

2.1.3 ฉีด apomorphine 0.066 มก./กก. subcutaneous ได้ผลดีและเร็ว มักอาเจียนภายใน 5 นาที ห้ามใช้ถ้าผู้ป่วยมี depression

ข้อห้ามของ induce emesis
-ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว
-กิน corrosive agents เช่น กรด ด่าง
-กิน strychnine
-กิน volatile hydrocarbon เช่น gasoline, kerosene

2.2 การล้างท้อง (gastric lavage) ผลไม่ดีเท่า induced emesis แต่อาจใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หรือไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะผู้ป่วยอาจสูดสำลักเข้าปอดได้

ข้อห้ามของการล้างท้อง
-กิน corrosive agents
-ผู้ป่วยที่กำลังชัก ถ้าจำเป็นต้องควบคุมการชักให้ได้ก่อน
-กิน volatile hydrocarbon เช่น kerosene แต่อาจต้องทำ ถ้ากินเป็นจำนวนมากกว่า 1-2 มล./กก. หรือมากกว่า 30 มล. หรือเป็นตัวทำ
ละลายของสารที่มีพิษร้ายแรง เช่น ยาฆ่าแมลง ต้องทำด้วยความระมัดระวังมาก ถ้าจำเป็นอาจใส่ endotracheal tube with inflatable cuff ก่อน

2.3 การให้ยาถ่ายหรือสวนอุจจาระ (catharsis or colonic ir¬rigations) ยังไม่มีข้อมูลพอที่จะบอกถึงประสิทธิภาพ แต่มีข้อเสีย คือ ทำให้มี fluid loss

3. Dilution and inactivation of poison ถ้ากินกรดหรือด่าง ให้ผู้ป่วยดื่มนมหรือน้ำ เพื่อทำให้เจือจางลง หลังทำให้อาเจียนหรือล้างท้อง ให้ activated charcoal 0.5 มก./กก. สูงสุด 15-30 กรัม ผสมน้ำ 30-120 มล. เพื่อช่วยดูดซึมสารพิษและชะลอการดูดซึม

4. Maintain of vital function ให้การรักษาอาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น peripheral vascular collapse, respiratory obstruction, fluid imbalance, CNS excitement or depression เป็นต้น

5. Specific antidote มีน้อยเมื่อเทียบกับสารพิษ

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการได้รับสารพิษทางปาก ถ้าได้รับสารพิษทางอื่น อาจให้การรักษาเบื้องต้นดังนี้

1. สารพิษเข้าตา
-ล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือ NSS ประมาณ 5 นาที
-ห้ามใช้ chemical antidote หยอดตา
-ปรึกษาจักษุแพทย์

2. ผิวหนังถูกสารพิษ
-ล้างส่วนที่เปื้อนด้วยน้ำจำนวนมาก
-ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออก
-ห้ามใช้ chemical antidote ทา

3. ได้ยาฉีดมากเกินไปหรือแพ้ยาฉีด
-ใช้ยางรัดเหนือรอยฉีด โดยยังคลำชีพจรที่ต่ำกว่ารอยรัดได้ รัดนาน 15 นาที และคลาย 1 นาที สลับกัน ถ้ามีอาการของ anaphylaxis ให้การรักษาทันที

ผู้ป่วยที่ควรรับไว้ในโรงพยาบาล
1. กรณีที่ต้องการ specific antidote
2. กินสารที่มีพิษมาก เช่น iron salts, large dose of aspirin, corrosive agents แม้จะไม่มีอาการหรืออาการแสดง เพื่อจะได้ให้การดูแลรักษาได้ทันท่วงที

การป้องกัน
1. อย่าปล่อยเด็กทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปีไว้คนเดียว

2. เก็บยา น้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง น้ำมันก๊าซ เบนซินให้พ้นสายตา และมือของเด็ก หรือเก็บใส่ตู้กุญแจ

3. ไม่ควรเก็บอาหารและน้ำยาทำความสะอาดของในบ้านไว้ด้วยกัน

4. อย่ากินยาให้เด็กเห็น เพราะเด็กชอบเอาอย่าง และเวลาให้ยาอย่าหลอกเด็กว่าเป็นขนม จะทำให้เด็กเข้าใจผิดภายหลังได้

5. ถ้าจะต้องให้ยาเด็กในเวลากลางคืน อย่าหยิบยา รินยา โดยไม่เปิดไฟ เพราะจะผิดได้ทั้งชนิดและขนาดที่ให้

6. เมื่อได้รับยามาจากแพทย์ควรอ่านสลากยาให้เข้าใจ และควรถามถึง
ลักษณะการแพ้ยา หรือการได้รับยาเกินขนาดให้ทราบก่อน และถ้ายาอยู่ในขวดที่เรียกว่า child proof ได้จะดีมาก เพราะขวดชนิดนี้เด็กต่ำกว่า 5 ปีจะเปิดไม่ได้

7. ขณะที่ทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาด ถ้าจะต้องวางมือชั่วคราวให้เก็บของนั้นให้เรียบร้อยก่อน หรือไม่ก็เอาตัวเด็กไปกับเรา ไม่ควรปล่อยไว้คนเดียว

8. ควรจะต้องรู้การพัฒนาการของเด็กว่าทำอะไรได้ เช่น ถ้าคลานได้ก็ต้องระวังเรื่องสายไฟที่อยู่ต่ำ, เก็บของไว้ในที่สูง

9. ควรมีเบอร์โทรศัพท์ ญาติ แพทย์ โรงพยาบาล สถานีตำรวจไว้ในที่ที่หยิบง่าย เพราะเวลาตกใจจะนึกไม่ออก

ที่มา:สมชาย  สุนทรโลหะนะกูล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า