สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การใช้พฤกษวัตถุอันตรายในตำรับยาแผนโบราณ

โดยการกำหนดขนาดรับประทานในแต่ละมื้อ หรือที่ใช้เป็นยาภายนอก พฤกษวัตถุเหล่านี้ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายถึงความเป็นพิษไว้ดังนี้

1. โกฐกะกลิ้ง หรือแสลงใจ (Nux vomica) Strychnos nux-vomica Linn. ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีโกฐกะกลิ้งไม่เกิน 60 มิลลิกรัม ในเมล็ดจะมีสารพิษกลุ่มกลุ่มอินโดลอัลคาลอยด์(indole alkaloids) อยู่ ได้แก่ สตริ๊กนิน(strychnine) ประมาณ 1.1-1.4% และบรูซีน(brucine) ประมาณ 1.1% สารสตริ๊กนีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง จะทำให้เกิดอาการพิษขึ้นได้ภายใน 15-30 นาที หลังจากรับประทานเข้าไป โดยจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก กลืนลำบาก และเกิดอาการชักอย่างรุนแรง ลำตัวผู้ป่วยจะโค้งหลังแอ่นโดยไม่รู้สึกตัว จะเกิดอาการชักขึ้นและหยุดเป็นพักๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดทรมานมาก และมีอาการไตวายเฉียบพลันร่วมด้วย และในที่สุดก็จะตายเนื่องจากหยุดหายใจ ขนาดของสตริ๊กนีนเพียง 15-30 มิลลิกรัมหากรับเข้าไปก็ทำให้ถึงตายได้ เพราะมีความเป็นพิษอยู่มาก ซึ่งมักใช้ทำเป็นยาเบื่อหนู ส่วนอนุพันธ์ของสตริ๊กนีนคือ บรูซีน จะออกฤทธิ์อ่อนกว่าสตริ๊กนีน แต่มีผลกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางเช่นกัน

2. รากเจตมูลเพลิงขาว (Plumbago zeylanica Linn. ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทาน โดยมีรากเจตมูลเพลิงขาวคิดเป็นน้ำหนักรากแห้งในมื้อหนึ่งไม่เกิน 1 กรัม

3. รากเจตมูลเพลิงแดง (Plumbago indica Linn.) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทาน โดยมีรากเจตมูลเพลิงแดงคิดเป็นน้ำหนักรากแห้งในมื้อหนึ่งไม่เกิน 1 กรัม มีสารพวก แนฟธาควิโนน(naphthaquinone) ชื่อพลัมบาจิน(plumbagin) และคลอโรพลัมบาจิน(3-chloroplumbagin) อยู่ในรากเจตมูลเพลิงทั้ง 2 ชนิดนี้ มีฤทธิ์บีบมดลูก เมื่อผิวหนังถูกกับยางจากรากก็จะทำให้เกิดอาการไหม้ พอง เหมือนโดนไฟลวก แต่รากเจตมูลเพลิงแดงจะมีฤทธิ์แรงกว่า แพทย์แผนโบราณจึงนิยมนำมาใช้กัน

4. เมล็ดตีนเป็ดทราย (Cerbera manghas Linn. ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ภายนอก ยางสีขาวและเนื้อในเมล็ดเป็นส่วนที่มีพิษ มีสารพิษไกลโคไซด์ เช่น ธีวีติน(thevetin) เซอร์เบอริน(cerberin) และเซอร์เบอโรไซด์(cerberoside) ที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและระบบประสาท เมื่อรับประทานเนื้อในเมล็ดเข้าไปจะทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย และอาจถึงตายได้ถ้ารับประทานเข้าไปมาก จะทำให้เกิดผื่นคัน พุพองที่ผิวหนังถ้าถูกยางของมัน และอาจเกิดบาดแผลในตาจนถึงตาบอดได้ถ้าเข้าตา

5. เมล็ดตีนเป็ดน้ำ Cerbera odollam Gaertn. ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับใช้ภายนอก ผลและน้ำยางสีขาวจากต้นจะมีสารพิษพวกเซอร์เบอโรไซด์(cerberoside) และธีโวบิโอไซด์(thevobioside) อยู่ หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย ง่วงนอน ม่านตาขยาย ความดันต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ชีพจรเต้นช้าอาจถึงตายได้ในที่สุด เมื่อน้ำยางถูกบริเวณผิวหนังจะทำให้เกิดผื่นแดง แสบและคัน

6. พญามือเหล็ก หรือพญามูลเหล็ก Strychnos lucida R.Br. (Strychnos roborans A.W.Hill.) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีเนื้อไม้และ/ หรือเปลือกพญามือเหล็ก คิดเป็นน้ำหนักเนื้อไม้และ/หรือเปลือกแห้งไม่เกิน 60 มิลลิกรัม มีสารพิษพวกอัลคาลอยด์ สตริ๊กนีน และบรูซีนในเนื้อไม้และเปลือกไม้ ทำให้เกิดพิษคล้ายกับโกฐกะกลิ้ง

7. เมล็ดในพญามือเหล็กเถา Strychnos ignatii Bergius (Strychnos Krabiensis A.W.Hill.) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีเมล็ดในพญามือเหล็กเถาไม่เกิน 60 มิลลิกรัม อาการพิษที่เกิดจะคล้ายกับโกฐกะกลิ้ง เนื่องจากมีสารพิษพวกอัลคาลอยด์ คือ มีสตริ๊กนีนอยู่ 2-3% มีบรูซีนประมาณ 1-1.2% พืชชนิดนี้ในประเทศมาเลเซียนำมาทำยาพิษอาบหัวลูกดอก จะออกฤทธิ์ทำให้มีอาการชัก

8. รง (Garcinia acuminate Planch. & Trinan, G. hanburyi Hook, G. Morella Desrouss. ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีรงไม่เกิน 60 มิลลิกรัม มีสารพิษพวก แอลฟากัตติเฟอริน(-guttiferin) และ บีตา-กัตติเฟอริน(-guttiferin) ที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง

9. รากระย่อม Rauvolfia serpentine Benth. ex Kurz ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีรากระย่อมคิดเป็นน้ำหนักรากแห้งไม่เกิน 50 มิลลิกรัม มีสารพวกอัลคาลอยด์รีเซอร์ปีน และเรสซินนามีน อยู่ในรากระย่อม จะออกฤทธิ์ต่อระบบปลายประสาทแอดรีเนอร์จิค(adrenergic nerve terminal) ทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาท นอร์อีพิเนฟฟริน(norepinephrine) ออกมาจนหมด เดิมใช้เป็นยาลดความดันโลหิต แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้วเนื่องจากมีฤทธิ์ข้างเคียงสูง อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้หากมีการใช้รากระย่อมหรือรีเซอร์ปีนเป็นเวลานานๆ และมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ในบางราย และทำให้มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน

10. เมล็ดในราชดัด (Brucea javanica Merr. (Brucea amarissima Desv. Ex Gomes, B. sumatrana Roxb.) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทาน โดยมีผลราชดัดคิดเป็นน้ำหนักเมล็ดในราชดัดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม การทดลองฉีดสารสกัดของผลราชดัดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรพบว่า จะทำให้หนูตายเมื่อฉีดสารสกัดด้วยบิวทานอลในขนาด 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม(มก./กก.) หรือสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มในขนาด 300 มก./กก.

11. ลำโพง (Datura alba Nees., D. fastuosa Linn., D. metel Linn., D. stramonium Linn.) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีรากลำโพงที่สุมแล้วคิดเป็นน้ำหนักรากแห้งไม่เกิน 75 มิลลิกรัม และยาที่ผลิตขึ้น โดยมีใบและ/หรือดอกลำโพงเป็นส่วนประกอบไม่เกินร้อยละ 15 ของปริมาณตัวยาทั้งหมด ใช้เพื่อสำหรับสูบ สารพิษที่อยู่ในกลุ่มของ โทรเปนอัลคาลอยด์(tropane alkaloids) ได้แก่ สโคโปลามีน(scopolamine) และฮัยออสซัยยามีน(hyoscyamine) จะอยู่ในส่วนใบ ดอก และเมล็ด ถ้ากินเมล็ดเข้าไปจะทำให้มีอาการกระหายน้ำรุนแรง ปากและคอแห้ง ตาพร่า ม่านตาขยาย ตาสู้แสงไม่ได้ น้ำลายแห้ง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด ผิวหนังร้อนแดงและแห้ง ตัวร้อน ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน มึนงง ประสาทหลอน หายใจติดขัดและช้า ผิวหนังมีสีคล้ำเนื่องจากขาดออกซิเจน อาการดังกล่าวจะปรากฏหลังจากที่กินเมล็ดเข้าไปเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น อาจมีอาการชัก ชีพจรเต้นเร็วและอ่อนในเด็กบางคน อาจมีอาการท้องผูก ปัสสาวะคั่ง หากมีความรุนแรงอาจถึงขั้นหมดสติและโคม่าได้

12. ยางสลัดได (Euphorbia antiquorum Linn., E. trigona Haw.)ยกเว้นยาที่ผลิตสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมียางสลัดไดไม่เกิน 130 มิลลิกรัม สารพิษที่พบจากน้ำยางสีขาว และจากต้น ได้แก่ caoutchouc 4-7% ยูฟอร์บิน(euphorbin) เตตราไซคลิก ไดเทอร์ปีน(tetracyclic diterpene) และไตรไซคลิก ไดเทอร์ปีน (tricyclic diterpene) ยางที่ถูกผิวหนังจะทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน อักเสบ บวมพอง และอาจทำให้ตาบอดได้ถ้าเข้าตา

13. เมล็ดสารพัดพิษ (Sophora tomentosa Linn.) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีเมล็ดสารพัดพิษไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ในเมล็ดจะพบสารพิษกลุ่ม ควิโนลิซิดีน อัลคาลอยด์ (quinolizidine alkaloids) ได้แก่ ไซติซีน(cytosine) เมธิลไซติซีน(methylcytisine) และแมทรีน เอ็น ออกไซด์(matrine N-oxide) สารไซติซีน จะมีฤทธิ์คล้ายนิโคติน(nicotine) แต่ออกฤทธิ์เร็วกว่านิโคตินเนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมได้เร็วกว่า จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ซึม หัวใจเต้นเร็วไม่เป็นจังหวะ และอาจทำให้หัวใจวายได้ อาการพิษอาจเกิดขึ้นหลังจากรับสารนี้เข้าไปเพียง 15 นาที

14. โหราเดือยไก่ (Aconitum kusnezoffii Reichb.) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีโหราเดือยไก่ที่ทำให้หมดความเป็นพิษแล้วไม่เกิน 2.5 กรัม และที่ผลิตขึ้นเป็นยาใช้ภายนอก

15. โหราบอน (Aconitum carmichaeli Debx. (Aconitum chinense Auch. non Paxt) ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีโหราบอนที่ทำให้หมดความเป็นพิษแล้วไม่เกิน 4 กรัม และที่ผลิตขึ้นเป็นยาใช้ภายนอกด้วย

รากของโหราทั้งสองชนิดมีชื่อเป็นภาษาจีนว่า เซี่ยว วู(Cao Wu) มีสารพิษสำคัญเป็นอัลคาลอยด์ ได้แก่ อะโคนิทีน(aconitine) ฮัยพาโคนิทีน(hypaconitine) อะโคนีน(aconine) อัลคาลอยด์เหล่านี้มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่เมื่อใช้กับเยื่อบุต่างๆ แก้ปวด ทำให้นอนหลับ แต่เนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปก็ไม่สามารถที่จะออกฤทธิ์เป็นยาชาได้ หากรับโหราที่มีพิษอะโคนิทีนเข้าไปในขนาดสูงจะทำให้เกิดความผิดปกติของการรับความรู้สึก ปากแห้ง พูดลำบาก การมองเห็นถูกรบกวน หัวใจเต้นช้า ความดันต่ำ และอาจหมดสติได้ถ้ามีอาการรุนแรง

การทดลองฉีดยาชงจากโหราเดือยไก่ และโหราบอนในหนูถีบจักรพบว่า ทำให้เกิดพิษต่อตับและไตของหนู เมื่อฉีดยาในขนาด 5-10 มิลลิกรัมของสมุนไพรต่อน้ำหนักหนู 25 กรัม โดยฉีดวันละครั้งเป็นเวลา 4 วัน

16. ยาสมุนไพรที่ได้จากพฤกษชาติที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ephedra equisetina Bge., E. gerardiana Wall., E. intermedia Schrenk et Mey., E. sinica Stapf. ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีลำต้น และ/หรือกิ่งเอเฟดรา(Ephedra) ที่ชาวจีนเรียกว่า มาฮวง(Ma Huang) คิดเป็นน้ำหนักของลำต้น และ/หรือกิ่งแห้งไม่เกิน 2 กรัม อัลคาลอยด์ในพืชชนิดนี้มีอยู่ประมาณ 1.3% มีที่เป็นอีฟีดรีน(ephedrine) 80-90% และเป็นอัลคาลอยด์อื่นๆ ได้แก่ สูโดอีฟีดรีน(d-pseudoephedrine) เมธิลอีฟีดรีน(methylephedrine) เมธิลสูโดอีฟีดรีน(d-methylpseudoephedrine) และนออีฟีดรีน(l-norephedrine) ฤทธิ์ของอีฟีดรีนจะคล้ายกับสารสื่อประสาทนอร์อีพิเนฟฟริน(norepinephrine) หรือคล้ายกับการกระตุ้นของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติค(sympathetic nervous system) แต่จะไปกระตุ้นที่ระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันของโลหิต ทำให้มีอาการใจสั่น ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแดงตีบ เบาหวาน ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้

เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 9 ขวบ หรือสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ยาสมุนไพรดังที่กล่าวมาทั้งหมด

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า